F*** Product Owner
เมื่อคำว่า Fake มันบาดใจ
ผมได้รู้จักคำว่า fake product owner ตอนเรียนสกรัมกับ Bas Vodde ผมได้เรียนรู้ว่าหลายครั้งในองค์กรใหญ่ ๆ ที่เริ่ม adopt สกรัม เค้าจะไม่สามารถเอาผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้ทีมนี้โฟกัสเรื่องอะไรมาเป็น product owner ได้เพราะว่าเค้าไม่ว่าง ทำให้เราอาจจะต้องเลือกใครสักคนที่เป็นลูกน้องของผู้บริหารคนนั้นมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารกลยุทธ์ของ product ให้ทีมแทน และ Bas แนะนำว่าให้เรียกคนที่มาทำตำแหน่งนั้นว่า fake product owner
การที่เราตั้งชื่อแบบนี้เพราะเราอยากจะให้ความโปร่งใสว่า ณ วันนี้เราบิดสกรัมไป เราไม่มีคนที่มีอำนาจตัดสินใจจริง ๆ มาเป็น product owner ให้เราได้ ตั้งชื่อแบบนี้เพื่อจะคอยย้ำเตือนว่านี่คือปัญหาที่แม้เราจะแก้ไม่ได้ในวันนี้ แต่เราจะไม่หยุดหาโอกาสที่จะแก้ไขมันในวันที่ทีมได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นในอนาคต
Bas ยังบอกอีกว่าถ้าคำว่า Fake มันบาดหูก็ให้ย่อว่า ‘เอฟ’ แทนก็ได้ :D
ผมเผชิญกับปัญหานี้มาตลอดตอนทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ นั่นคือคนที่มีอำนาจตัดสินใจก็จะไม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับทีม ขณะเดียวกันคนที่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับทีมได้ก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจได้ทุกเรื่องในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
fake product owner เป็นทางเลือกเดียวที่ผมมีมาโดยตลอด จนกระทั่ง ผมได้ไปเรียน Large Scale Scrum (LeSS) กับ Viktor เขาแชร์ประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยทำงานโดยมีหัวหน้าฝ่ายไอทีเป็น product owner ให้
หัวหน้าเค้ามีเวลาให้ทีมแค่ 15 นาทีเท่านั้นสำหรับการทำงาน 2 สัปดาห์ เขามาถึงแล้วก็บอกทีมว่างานใหญ่ ๆ ท็อป 5 มีอะไรสำคัญบ้าง มีอะไรที่ยังไม่ต้องทำ มีอะไรที่เขาอยากให้โฟกัสก่อน แล้วต้องไปคุยกับแผนกไหน เสร็จแล้วเค้าก็ไป
ผมรู้อยู่แล้วว่าใน LeSS ทีมที่จะทำได้ดีจะต้องมี Definition of Done ที่กว้างมาก และน่าจะครอบคลุมไปถึงการเก็บ requirement จาก user หรือ stakeholder เอง ซึ่งมันจะช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบของ product owner ทำให้เขามีเวลาโฟกัสกับการจัด priority มากขึ้น เพราะสุดท้ายการเรียงลำดับความสำคัญของงานให้กับทีม 8 ทีม เป็นภาระความรับผิดชอบที่หนักหน่วงสำหรับคน ๆ เดียว
แต่ตอน Viktor ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เค้าเจอมาตอนทำงานกับ Product owner ที่มีเวลาให้ทีมแค่ 15 นาที มันเป็นครั้งแรกเลยที่ผมเชื่อมโยงภาพของ Product owner ใน Scrum กับ LeSS เข้าด้วยกันได้
เป็นครั้งแรกที่ผมมองเห็นลำดับความสำคัญของคุณสมบัติของ product owner ว่าการมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์สำคัญกว่าการมีเวลาให้กับทีม
ความเข้าใจอันนี้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผมและทีมของผมอีกมากมาย ผมได้มีโอกาสพาทีมช่วยกันคิดว่าจะใช้เวลาอันมีค่ากับ product owner อย่างไรดี ทีมต้องเผชิญกับปัญหาว่าถ้าถามไม่ครบ อาจจะไม่มีโอกาสได้คอนเฟิร์มกับ product owner อีกแล้ว และอาจจะต้องวัดดวงโดยการเดาใจและเลือกสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายที่สุด บ่อยครั้งก็พบกับความผิดหวังเพราะเดาใจ product owner ไปผิดทาง แล้วก็เรียนรู้กันไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ที่ผมกับทีมกำลังเผชิญ มันให้ความหวังมากกว่าการพัฒนาการสื่อสารระหว่าง product owner ที่แท้จริงกับ fake product owner หรือการเฝ้าดูความอึดอัดของ fake product owner จากแรงกดดันทั้งจากทีมและหัวหน้ามากมายนัก
ถึงตรงนี้ ก็นึกถึง 2 ประโยคที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพี่รูฟ
1. คนทำอไจล์คือคนที่พอแล้วกับการแก้ปัญหาเดิม ๆ เรามาแก้ปัญหาใหม่ ๆ กันดีกว่า
2. ผมไม่รู้หรอกว่าทางที่ผมมาหน่ะถูกไหม ผมรู้แค่ทางเดิม ๆ ที่ผมเคยไปมันผิด
– รูฟ
ขอเป็นกำลังใจให้กับ fake product owner ทั้งหลาย ขอให้โชคดีเดาใจ เจ้านายได้แม่น ๆ ให้เจ้านายไม่เปลี่ยนใจทุกสัปดาห์ ให้ทีมเค้าเข้าใจ ให้มีความกล้าที่จะเรียกตัวเองว่า fake product owner เพื่อจะให้การที่เราต้องอยู่อย่างผิดธรรมชาตินี้มันสิ้นสุดลงแล้ววันในเร็ววัน