Facilitate ให้คน 20 คนตัดสินใจร่วมกัน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readMar 22, 2021
Photo by Duy Pham on Unsplash

มีน้องมาฝึกงานสหกิจ 5 คน ผมในฐานะสกรัมมาสเตอร์กับเจนในฐานะ product owner ก็เลยนั่งคุยกันว่าจะเป็นยังไงบ้างถ้าเราจะให้ 5 คนนี้เข้ามาเสริมทัพใน LeSS Example ของเรา

อย่างไรก็ดี LeSS บอกว่าการจะมีสมาชิกเข้าหรือออกทีมควรเป็นการตัดสินใจของทีม ตามความเข้าใจของเรา นั่นหมายถึงว่า product owner ตัดสินใจแล้วว่าเขามีกำลังที่จะจ้างคนเพิ่ม ส่วนสมาชิกใหม่จะเข้าไปเติมในทีมเดิมหรือจะกลายเป็นทีมใหม่อีกหนึ่งทีม ทีมควรมีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องนี้

ซึ่งตอนนี้ทีม blackcat มีสมาชิก 9 คนขณะที่ทีม pilot มีสมาชิก 8 คน ถ้าว่าตามหลักสกรัมที่เค้าแนะนำว่าสมาชิกควรจะมีระหว่าง 5–9 คน นั่นหมายความว่าทีม pilot สามารถรับสมาชิกเพิ่มได้อีกหนึ่งคน

จากตรงนี้ทำให้เราคิดได้ว่ามันอาจจะมีทางเลือก 2 ทางที่จะเกิดขึ้นได้ ทางแรกคือมีน้องสหกิจคนหนึ่งได้รับเลือกให้เค้าไปเติมในทีม pilot ขณะที่น้องอีกสี่คนที่มีขนาดไม่พอจะสร้างอีกทีมอาจจะต้องไปช่วยตรงอื่นที่ไม่อยู่ใน LeSS Example นี้

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือให้น้องใหม่ 5 คนนี้ฟอร์มทีมตัวเองเป็นทีมที่สามใน LeSS นี้

ผมกับเจนก็นั่งคุยกันว่าเราจะ facilitate การตัดสินใจนี้อย่างไรดี เพราะมันเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่เหมือนกันและเราก็ต้องการ commitment จากทุกคน

น้องใหม่มีสิทธิ์เลือกแค่ไหน?

เป็นคำถามแรกที่เราหาคำตอบ ผมกับเจนเห็นพ้องต้องกันว่าอย่างน้อยเค้าควรจะได้เลือกว่าอยากมาทำตัวเป็นตัวอย่างให้คนไทยได้ดูไหม ว่า Large Scale Scrum ในชีวิตจริงมันเวิร์คยังไง ถ้าเค้าไม่สะดวกใจ เรื่องอื่น ๆ ไม่ต้องพูดถึง

หลังแบ่งปันกับน้อง ๆ ว่า LeSS คืออะไร และเล่าความฝันของพวกเราให้น้อง ๆ ฟัง ว่าซักวันหนึ่ง เราหวังว่าจะมีตัวอย่างให้คนไทยได้ดูได้ว่าการทำสกรัมใน scale ใหญ่ ๆ มันทำแบบนี้ได้ด้วยนะ น้อง ๆ ก็บอกว่าสนใจ

ทีมเลือกอะไรบ้าง?

หลังจากนั้นเราก็คุยกับทีม pilot และ blackcat เราแชร์ให้ฟังว่ามีน้องเข้ามาใหม่ 5 คน เราเล่าว่ามี 2 ทางเลือกที่เป็นไปได้ แล้วเราก็ให้แต่ละคนเลือกพร้อมกับเขียนเหตุผล 2 ข้อที่ฉันเลือกทางนี้เพื่อเชิญชวนให้เค้าคิดให้ลึกขึ้นว่าฉันเลือกทางนี้เพราะอะไร หลังจากนั้นเราก็ให้จับกลุ่ม 3 คนแล้วแบ่งปันทางเลือกและเหตุผลกันและกัน

แต่ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม ผมขัดจังหวะทีมแล้วถามก่อนว่า “น้องใหม่มีสิทธิ์เลือกไหม?” มองมุมหนึ่ง เนื่องจากน้องใหม่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจนี้ของทีม เค้าควรมีสิทธ์เลือก ในทางกลับกัน น้องใหม่ที่ยังไม่รู้เลยว่า working agreement ของแต่ละทีมเป็นอย่างไร เค้ามีข้อมูลน้อยมาก ๆ ที่จะตัดสินใจ สุดท้าย ทีมเห็นพ้องต้องกันว่าจะให้น้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมการเลือกนี้ด้วย

การจับกลุ่ม 3 คนแบ่งปันดำเนินไป 3 รอบ ทุกคนน่าจะพอได้ยินเสียงและเหตุผลของกันและกันแล้ว ผมก็ถามว่ามีใครได้รับแรงบันดาลใจจากการแบ่งปันของเพื่อน ๆ แล้วอยากเปลี่ยนคำตอบหรือเหตุผลสนับสนุนไหม นี่เป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว

หลังจากนั้นผมก็ขอให้คนที่เลือกทางแรก (คือให้น้องคนนึงเข้าทีม อีก 4 คนไปเล่นที่อื่น) กับคนเลือกทางที่สอง (ให้น้อง 5 คนฟอร์มทีมใหม่) ไปยืนกองรวม ๆ กัน เพื่อให้คำตอบมันประจักษ์แก่สายตาทุกคน (รวมถึงผมกับเจนที่กำลัง facilitate ด้วย) ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เลือกทางที่ 2 เทียบสัดส่วนแล้วมากกว่าทางเลือกแรกประมาณ 7 ต่อ 3

ตัดสินใจร่วมกัน

“ฉิบ_ายแล้ว ไปไงต่อดีนะ?” เสียงในหัวผมดังขึ้น ขณะที่ภาพที่มองอยู่ตรงหน้า เป็นสมาชิกที่ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กำลังยืนประจันหน้ากัน แต่ละกลุ่มเลือกของเหมือน ๆ กัน กำลังมองไปยังฝั่งตรงข้ามที่เลือกทางเลือกที่แตกต่าง ช่างเป็นการ setup ที่เหมาะมากกับการแข่งขัน แต่แย่มากสำหรับการหลอมรวมการตัดสินใจร่วมกัน

หัวผมแล่นเร็วจี๋ แล้วผมให้แต่ละกลุ่มที่เลือกเหมือน ๆ กันนั่งคุยกันเองก่อน เพื่อคัดสรร 2 เหตุผลที่สำคัญที่สุดว่าทำไมฉันถึงเลือกทางนี้ แล้วแบ่งปันให้ทุกคนฟัง เจตนามี 3 อย่าง เรียงตามความสำคัญดังนี้

  1. ถ่วงเวลา >,.<
  2. เปลี่ยน setup จากการประจันหน้ากัน เป็นวง 2 วงที่โฟกัสเรื่องตัวเอง
  3. อยากฟังว่าเหตุผลของพวกเค้าคืออะไร จะได้เลือกก้าวต่อไปได้ตามสถานการณ์

แล้วพวกเค้าก็แบ่งปันเหตุผลฝ่ายละ 2 ข้อ ซึ่งผมได้ยินแค่ข้อเดียว เพราะหัวกำลังคิดวิธี facilitate ขั้นต่อไปอยู่

ฝั่งที่อยากให้น้องคนเดียวเข้าทีมให้ความสำคัญกับช่วงเวลาคุณภาพที่จะได้ pair ได้สอนน้องอย่างเต็มที่

ฝั่งที่อยากให้น้อง 5 คนฟอร์มทีมใหม่ ให้เหตุผลว่า การที่คนหนึ่งถูกเลือก แล้วอีก 4 คนไม่ถูกเลือก มันดูเศร้าสำหรับอีก 4 คนเกินไป

พอได้ฟังดังนี้ จักรวาลก็จัดสรรให้ step ถัดไปผุดขึ้นมาเองในหัวผม

บอกหน่อยได้ไหมว่าทำไมตอบ Yes ไม่ได้?

ผมให้แต่ละกลุ่มคุยกันเองเพื่อหาเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้ฉันยอมรับทางเลือกของอีกฝ่ายไม่ได้

ระหว่างที่พวกเค้าคุยกัน ผมสังเกตเห็นว่าทีมทั้ง 2 ทีมแคร์น้องมาก ๆ และผมสังเกตเห็นอีกว่า น้องใหม่ทั้ง 5 คนยืนอยู่ฝั่งฟอร์มทีมใหม่ทุกคน

5 นาทีผ่านไป ไม่มีเหตุผลที่ทำให้เห็นด้วยกับอีกฝ่ายปรากฏออกมา

ผมเลยเสนอให้ทีมทดลองให้น้องฟอร์มทีมใหม่ก่อน เป็นเวลา 2 sprints แล้วเราจะมาคุยกันใหม่ว่าจะลองเปลี่ยนทางเลือกไหม

ในขณะเดียวกันผมก็ถามทีมว่า เราจะดูแลความต้องการของช่วงเวลาคุณภาพกับน้องในทีมใหม่ได้อย่างไร แล้วทีมก็เสนอว่าให้ทั้ง blackcat และ pilot ผลัดกันเป็น traveler ในทีมน้องดู

แล้วทีม Scottish ก็ถือกำเนิด!

photo captured by Chokchai Phatharamalai

เบ็ดเสร็จใช้เวลาเกือบ 30 นาที กับคน 20 คน ในการเลือกทางเลือก 2 ทาง มีวิธีมากมายที่เร็วกว่านี้ ถ้าผมอยากได้แค่คำตอบ แต่ถ้าอยากได้ความตั้งใจจากทีมพี่ ๆ ที่จะเข้าไปเป็น traveler เพื่อแบ่งปันกับน้อง อยากได้ความรู้สึกว่าน้อง ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมอุดมการณ์ในการทำ LeSS Example ร่วมกันแล้ว ผมคิดไม่ออกว่าจะเร็วกว่านี้ได้อย่างไร

พอถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงหนังสือ Self Therapy ขึ้นมา ในนั้นเค้าแบ่งปันวิธีการเจรจากับเสี้ยวส่วนในใจเราที่กำลังปกป้องพื้นที่เปราะบางลึก ๆ ในใจ ไม่ให้เรารุกล้ำเข้าไปไกลกว่านี้ ขั้นตอนที่เราจะเจรจากับเสี้ยวส่วนมีดังนี้

  1. ช่วยหลีกทางให้เราเข้าไปหน่อยได้ไหม
  2. ถ้าเสี้ยวส่วนไม่ยอมหลีก ให้อธิบายข้อดีว่าหากหลีกทางจะเกิดประโยชน์ยังไง (เหตุผลที่เลือกทางอีกฝ่าย)
  3. ถ้าเสี้ยวส่วนยังไม่ยอมหลีกอีก ให้ถามว่ากลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากหลีก แล้วให้ความมั่นใจกับเสี้ยวส่วนในความกังวลเหล่านั้น (อะไรที่ทำให้ยอมรับทางเลือกอีกฝ่ายไม่ได้)

Self Therapy เล่าถึงการทำงานจากโลกภายใน ซึ่งยึดมั่นในการให้ความเคารพกับประสบการณ์ของทุก ๆ เสี้ยวส่วนและไม่บังคับ

ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ LeSS ให้ทีมเป็นคนตัดสินใจเรื่องของทีมเอง เพราะความตั้งใจ (commitment) เป็นสิ่งที่ตามหลังการตัดสินใจ หัวใจที่ commit คือหัวใจที่เลือกแล้ว ถ้าเราข้ามขั้นตอนที่ให้ทีมเลือกเองไป จะหวังความมุ่งมั่นก็คงหวังยาก

อ้างอิง

--

--