Photo by Dan Smedley on Unsplash

Lower Your Time Preference

ลงทุนแรงและเวลาในวันนี้ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

Jerome Tana
Published in
2 min readApr 16, 2024

--

Time preference

หรือ ความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น คืออัตราส่วนของ การให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่อยู่ตรงหน้า กับ การอดทนรอรับผลตอบแทนในอนาคต

โดยปกติ time preference ของคนเราจะเป็นบวกเสมอ เพราะในทางธรรมชาติแล้ว เราจะให้คุณค่ากับปัจจุบันมากกว่าอนาคต

สมมติว่าเราหิว แล้วเลือกกินข้าวได้ 1 จาน แต่มีตัวเลือกคือ จะกินตอนนี้ หรือจะรอ 2 วันค่อยกิน แต่ก็ได้ข้าว 1 จานเท่ากันนะ

ถ้าถามใคร ก็เลือกกินวันนี้ เป็นผมก็เลือก ก็ตอนนี้หิวอะ รอไปก็ได้เท่าเดิม

แล้วก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงปล่อยท้องหิว เพราะถ้าเราม่องเท่งไปซะก่อน จะได้ข้าวกี่จานก็ไม่มีความหมายแล้ว เพราะเรามีชีวิตอยู่ไม่ถึง

ถึงแม้จะเป็นบวกเสมอ แต่ค่านี้ของแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน และเมื่อเราเห็นว่าผลตอบแทนในอนาคตมีความคุ้มค่า การตัดสินใจของเราก็อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งความคุ้มค่านี้ที่แต่ละคนมองเห็น ก็จะขึ้นอยู่กับ time preference

สถานการณ์เดิมเลย แต่คราวนี้เพิ่มรางวัลเป็น ถ้าทนรออีก 2 วันได้ จะได้ข้าวเพิ่มเป็น 3 จาน แถมไข่ดาวด้วย คราวนี้ก็อาจจะมีคนเปลี่ยนใจไปอดทนรอ เพื่อแลกกับรางวัลที่มากขึ้น คุ้มค่ามากขึ้น แต่ก็ยังมีบางคน ที่ซื้อมากินวันนี้เหมือนเดิม เพราะมองว่ากินวันนี้มันคุ้มกว่า

ตามสำนวนไทย มันคือ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” นั่นแหละครับ

time preference ของสัตว์นั้น มีสูงกว่ามนุษย์มาก เพราะพวกมันทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ ณ ตอนนั้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มนุษย์เราสามารถควบคุมสัญชาตญาณ และความชั่ววูบยิ่งสัตว์ป่าได้ โดยคิดได้ว่า อะไรดีสำหรับอนาคตของเรา และสามารถทำตามหลักเหตุและผลได้

มาร์ชเมลโล่

การทดลองของคุณ Walter Mischel ที่ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องเพียงลำพังกับมาร์ชเมลโล่ โดยบอกกับเด็กไว้ว่า สามารถหยิบมากินได้เลยถ้าต้องการ เดี๋ยวพวกเขาจะกลับมาใหม่ใน 15 นาที ถ้ายังไม่กินขนมที่วางไว้ จะแถมขนมให้อีกชิ้นหนึ่ง

Walter Mischel source: https://www.psychologicalscience.org/observer/remembering-walter-mischel

สิ่งนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ในการวัด time preference ของเด็ก ๆ

โดยเด็กที่มี time preference ที่ต่ำกว่า จะอดทนรอเพื่อให้ได้ขนมเพิ่มขึ้นอีกชิ้นได้ ส่วนเด็กที่มี time preference ที่สูงกว่า จะทนไม่ไหว และที่หยิบขนมไปกิน

หลังจากนั้น คุณ Mischel ก็ได้ติดตามชีวิตเด็ก ๆ เหล่านั้นไปอีกหลายสิบปี และพบว่า เด็กที่อดทนไม่กินมาร์ชเมลโล่ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประสบความสำเร็จทางการศึกษา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือไม่ติดสารเสพติด

ซึ่งการยับยั้งชั่งใจในปัจจุบัน อดทนไม่กินมาร์ชเมลโล่ในตอนนี้ เพื่อให้ได้รับรางวัลตอบแทนเป็นมาร์ชเมลโล่อีกชิ้น สิ่งนี้ คือการแลกเปลี่ยนกับตัวเองในอนาคต

แลกเปลี่ยนกับตัวเอง

ในทุก ๆ การตัดสินใจ หมายถึงการที่เรากำลังแลกเปลี่ยนกับตัวเองในอนาคตตลอดเวลา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น

  • การเก็บเงินไว้ แทนที่จะใช้มัน ยอมไม่ได้ใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ ณ ตอนนี้ เพื่อสะสมกำลังทุน สำหรับอำนาจการจับจ่ายใช้สอยในอนาคตที่มากขึ้น
  • การอดทนใช้เวลาฝึกฝนทักษะ ลงทุนทางเวลาและกำลังในปัจจุบัน เพื่อความสามารถในการสร้างงานที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น แทนที่จะทุ่มเวลาไปกับการทำงานตามความสามารถเท่าที่มี ซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำกว่า
  • หรือการที่เด็กเลือกไม่กินมาร์ชเมลโล่ ก็คือการแลกเปลี่ยนความสุขในปัจจุบัน กับความสุขที่มากขึ้นในอนาคต จากการได้กินมาร์ชเมลโล่ 2 ชิ้น

โดยทั้งหมด ผู้ที่ได้รับหรือเสียประโยชน์ ก็มีแต่ตัวเราที่เป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น ผู้ที่มี time preference ต่ำ จะมีความยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งเร้ามากกว่า และสามารถให้ความสำคัญกับตัวเองในอนาคตได้มากกว่า

มองการณ์ไกล

สิ่งที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง คือเรื่องของความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงในการอดข้าวจนม่องเท่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมันเป็นปัจจัยหนึ่งในตาชั่งของการตัดสินใจของเรา ว่าผลตอบแทนที่มากขึ้นนั้น มันจะคุ้มค่าหรือไม่

ทำให้เราจะมองแค่ระยะเวลา กับผลตอบแทนไม่ได้แล้ว เพราะมันมีความเสี่ยงที่เราจะลงทุนแรงกับเวลาไป แล้วไม่ได้ผลตอบแทนได้อย่างที่คาดหวังไว้ด้วย

ถ้าเราเป็นเด็ก ที่ตัดสินใจไม่กินมาร์ชเมลโล่ เพื่อรอชิ้นที่สอง แต่คนที่บอกว่าจะให้เขาโกหกล่ะ?

ถ้าเราฝึกฝนทักษะนั้นมาแล้ว แต่ทักษะนั้นกำลังไม่เป็นที่ต้องการ ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าที่คาดหวังล่ะ?

ถ้าเราเก็บเงินไว้ แทนที่จะใช้ เพื่อจะอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นในอนาคต แล้วเงินมันเฟ้อ ทำให้ของแพงขึ้น แล้วอำนาจจับจ่ายของเราที่ควรจะเพิ่มขึ้น มันโดนลดลงมา จนใช้จ่ายได้เท่ากับตอนแรก หรืออาจจะน้อยลงด้วยซ้ำล่ะ?

ไม่ใช่ว่าการที่มี time preference ต่ำ แล้วเลือกก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ใช้เวลานานอย่างเดียว จะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป

ทำให้เราต้องมองการณ์ไกลให้เป็นด้วย และเลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่ผ่านการไตร่ตรองแล้ว ว่ามันมีความเป็นไปได้มากพอ ที่เราจะยอมรับได้ ในการได้รับผลตอบแทนจากการทำสิ่งนี้

time preference มีผลกระทบอย่างมาก ในมุมเศรษกิจและสังคม แต่ผมขอมาเล่าในระดับบุคคลก่อน เพราะเดี๋ยวมันจะยาว(มาก)

ถ้าอยากอ่านแบบจุใจ สามารถอ่านต่อได้ใน The Bitcoin Standard มีพูดถึงเรื่องนี้เต็ม ๆ เลยหนึ่งบทครับ

ทั้งหมดที่เล่ามา ไม่ได้หมายความว่า การมี time preference สูง เป็นเรื่องผิด หรือการมี time preference ต่ำเป็นเรื่องถูก เพราะสุดท้ายมันก็คือ preference

เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถควบคุมสิ่งนี้ให้มีระดับที่ต่ำ จะทำให้เราคิดถึงอนาคตของตัวเองได้ดีมากขึ้น ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง

ชีวิตยังอีกยืนยาว แลกเปลี่ยนสิ่งที่ดีสำหรับตัวเองในอนาคต เอาไว้ให้เยอะ ๆ นะครับ

Life is a marathon, not a sprint

--

--