Mindful walk

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readMar 18, 2020

ช่วงที่ผ่านมา ผมอาสารับจัดงาน Problem Solving Leadership in Asia เป็นเรื่องราวที่บังเอิญจนผมคิดแล้วยังอดขนลุกไม่หาย ถ้าใครร้อนใจอยากรู้เรื่อง Mindful walk กระโดดไปล่างสุดได้เลยนะครับ

กว่าจะได้จัด PSL

ย้อนไป 5 ปีที่แล้ว ในปี 2015 ผมตัดสินใจไปเรียน workshop นี้ที่ Albuquerque, New Mexico จริง ๆ ตอนนั้นผมไม่มีพื้นฐานจะเรียนมันเลย แต่ตัดสินใจไปเพราะเพื่อนที่ไปเรียนมาบอกว่า Gerald Weinberg (ผมเรียกเค้าว่า Jerry) ท่านอายุมากแล้ว ไม่รู้จะมีแรงสอนไหวอีกแค่ไหน และบางคนบอกว่าแค่ได้ไปเจอ Jerry ตัวจริงก็คุ้มแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไป นับเป็น workshop ที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่เคยเรียนมาในชีวิตจนถึงวันนี้เลย

ตอนไปเรียน Jerry สอนด้วยกันกับ Esther Derby ซึ่งตอนนั้น ผมไม่ได้รู้เลยว่าเธอได้ฉายาว่าหนึ่งในเทพธิดา retrospective และทั้งเธอและ Jerry จะกลายเป็นไอดอลของผมในเวลาถัดมา ผมไปไล่อ่านหนังสือของพวกเขา และใช้ชีวิตและแนวคิดการทำงานตามที่ได้เรียนรู้มาจากพวกเขา แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากผมไปเรียนกลับมาแล้วหลายปี

ในตอนนั้นด้วยพื้นฐานที่อ่อนด้อยของผม ผมเลยเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ จำกลับมาได้เป็นคำ ๆ เช่น NVC บ้าง, Satir model บ้าง แต่ละคำ เอากลับมาหาคอร์สเรียนต่อที่เมืองไทยอีกเป็นปี ๆ กว่าจะเข้าใจ

อีกอย่างหนึ่งที่จำได้ คือ Esther บอกว่า ผมเป็นคนไทยคนแรกที่ Esther เห็นไปเรียน workshop นี้

ปีถัดมา workshop PSL ในปี 2016 ถูกยกเลิก เพราะ Jerry สอนไม่ไหว

สองปีต่อมา ในปี 2018 Jerry ก็จากพวกเราไป

หลังจากนั้น ผมก็เห็น mail จาก Esther บอกว่า Jerry อยากให้ worshop PSL มันอยู่ต่อไป โดยส่งต่อให้ Esther กับ Don Gray เป็นคนสอนต่อแทน

ในปี 2019 Stanly Lau เป็นตัวแทนจาก Agile Singapore ติดต่อมาบอกว่าอยากจัด PSL ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกหนึ่งในสถานที่จัด แต่ Esther กับ Don มีเงื่อนไขว่า คนที่จะช่วยจัดนั้น ต้องเป็นคนที่เคยเรียนมาแล้วเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นพี่รูฟกับเจน (เพื่อนในออด-อีทีมไทยของผม) ก็สมัคร PSL ไปแล้วแหละ แต่ยังไม่ได้ไปเรียน เลยเหลือผมอยู่คนเดียว ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้ตัวนะว่าผมเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เรียน PSL ที่ Esther สอนกับ Jerry ผมยังคิดออกแค่ผมเป็นคนไทยคนแรกอยู่ ด้วยความอยากจะสนับสนุนให้คนเอเชียได้เรียน ก็เลยตัดสินใจช่วยจัด

photo by Stanly Lau

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 Esther กับ Don ก็บินมาสอน PSL workshop ที่เมืองไทย

photo by Ealden Escañan

กิจกรรม Mindful walk

ระหว่างเรียน ผมมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกันเรียกว่า mindful walk คือการเดินช้า ๆ ใครที่สงสัยว่าช้าเบอร์ไหน คำตอบคือช้าเบอร์ 100 เมตรต่อ 15 นาที ซึ่งสำหรับคนเริ่มเดินครั้งแรกอย่างผม เพื่อนคนที่สอน เค้าแนะนำเพียงระหว่างเดิน ให้พยายามเอาสมาธิอยู่กับตัวเรา, สัมผัสที่รู้สึกได้ และน้ำหนักที่ถ่ายเทก็พอ ไม่ต้องทำอะไรลึกซึ้งมาก

photo by Samantha Yuen

ผมพบว่ามันเป็นการทำสมาธิที่ดีมาก สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือ ผมไม่เคยรู้เลยว่าการเดินช้า ๆ มันจะยากขนาดนี้ ผมไม่ได้พูดถึงแค่ความร้อนใจเพราะปรกติผมเดินเร็วกว่านี้มาก แต่ผมรวมถึงการถ่ายน้ำหนัก และกล้ามเนื้อที่ต้องใช้เพื่อเดินช้า ๆ ระหว่างเดินรู้สึกเลยว่าเฮ้ยยย เดินมันเมื่อยขนาดนี้เลยเหรอ หรือกล้ามเนื้อแถวนี้มันเกร็งมากเลย เพราะท่าเดินเราเป็นแบบนี้ แล้วก็ได้ลองปรับท่าเดินดู บางทีที่สมาธิหลุด เซไปก้าวสองก้าวก็มี แต่ปรกติผมไม่ได้รับรู้รายละเอียดเหล่านี้เพราะมัวแต่ทำอย่างอื่นอยู่

ผมได้เรียนรู้ว่าการลองทำอะไรให้มันช้าลงมาก ๆ เป็นกิจกรรมที่ดีในการฝึกฝนทำอะไรซักอย่าง มันทำให้เราได้ตัดสินใจในระดับละเอียด ๆ เช่น องศาการวางเท้า มัดกล้ามเนื้อที่เลือกใช้ ความสูงของเท้าที่ยก ความเร็วในการถ่ายน้ำหนัก เป็นต้น

และกิจกรรมนี้ก็ยืนยันความเชื่ออีกอย่างของผมให้หนักแน่นขึ้น นั่นก็คือข้อเสียหนึ่งของการ multitask คือการปิดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของทุก ๆ task ที่เรากำลัง multitask อยู่ ถ้าอยากฝีกฝน ต้องทำทีละอย่าง

บทเรียนสุดท้ายคือวันรุ่นขึ้น ระหว่างที่กำลังรีบเดินเพื่อไปช่วยจัด workshop ผมก็นึกถึง Mindful walk ขึ้นมาได้ ผมลองดูนาฬิกา พบว่าเหลืออีก 5 นาทีการเรียนการสอนจะเริ่มต้นขึ้น ผมเลยลอง Mindful walk แบบรีบ ๆ ปรากฏว่าไม่เวิร์ค :D

แล้วคำพูดของลุงบ๊อบก็ลอยขึ้นมา

The only way to go fast is to go well — Robert C. Martin

--

--