Piece a no look — EP.1 “ป้ายถนน”

Chuenchon
odds.team
Published in
2 min readJun 26, 2024

--

Intro:
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ที่แบ่งปันเรื่องราวที่(หวังว่าจะ)น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการออกแบบในชีวิตประจำวัน สิ่งละอันพันละน้อยที่พบเจอได้ทั่วไปและอยากบอกต่อ ตั้งชื่อชุดบทความว่า “Piece a no look” โดยตั้งใจจะเขียนให้สั้นพอที่จะอ่านจบได้ง่ายในคราวเดียว และมีการแนะนำบทความที่เกี่ยวข้องสำหรับไปอ่านต่อเพิ่มเติมกันได้

จุดประสงค์คืออยากมีส่วนช่วยกระตุ้นไอเดียเล็ก ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในชุมชน

EP.1 “ป้ายถนน”

Context:
ณ ชุมชนวัดสระสี่เหลี่ยม ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นละแวกบ้านของผู้เขียน ชุมชนนี้เรียกได้ว่าอยู่ขอบเมือง ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ถนนเส้นหลักของชุมชุนเป็นเส้นที่ตัดไปถึงวัดสระสี่เหลี่ยม

การเติบโตของชุมชนนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ มีการสร้างบ้านเรือนแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขนาดย่อม(4–5 หลัง) เมื่อมีการสร้างบ้านก็ต้องมีถนนหรือซอยแยกจากถนนหลักเพื่อเข้าบ้าน เข้าหมู่บ้าน โดยส่วนมากถนนย่อย ๆ จะเกิดจาก demand กล่าวคือจะมาพร้อมกับการสร้างบ้านในซอยนั้น ๆ นั่นเอง ซึ่งค่อย ๆ เกิดในระยะเวลามากกว่า 10–20 ปี ตามการเติบโตของชุมชน

สภาพถนน ความกว้าง ความยาว การดูแลรักษา ชื่อ ทั้งหมดล้วนเกิดจากผู้ใช้งานช่วยกันหล่อหลอม เรียกได้ว่ามีคาแรกเตอร์ร่วมของคนในซอยนั้น ๆ ตัวอย่างการตั้งชื่อซอยก็หลากหลายมาก ส่วนใหญ่ก็ใครมาอยู่ก่อนก็ตั้งก่อน อาจจะใช้นามสกุล ชื่อหมู่บ้านในซอย ชื่อกิจการ ชื่อเจ้าของบ้าน หรือคำกลาง ๆ มาตั้ง โดยชื่อซอยจะเริ่มเป็นที่รู้จักจากการติดป้ายบ้าง ลงใน google map บ้าง แน่นอนว่าชื่อซอยสำคัญมาก โดยเฉพาะยุคที่แทบทุกบ้านสั่งของออนไลน์ สั่งเดลิเวอรี่ และอื่น ๆ

Content:
เมื่อไม่นานมานี้ เทศบาลอรัญญิกได้มีการติดตั้งป้ายถนนในเขตตำบลอรัญญิกให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และอาจจะเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งมีการตั้งเสาก่อนนำป้ายมาติด ระหว่างนั้นผู้เขียนที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่าป้ายใหม่จะออกมารูปแบบไหน และเมื่อวันติดตั้งมาถึงก็ประหลาดใจและประทับใจมาก

ถนนเส้นหลักของชุมชนนี้คือถนนสระสี่เหลี่ยม และในความจริงมีการตั้งชื่อซอยตามชื่อถนนตามมาตรฐานไว้ก่อนแล้ว แต่ไม่เคยมีป้ายชัดเจน เช่น ถนนสระสี่เหลี่ยมซอย 1 ต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 40 กว่าซอย ตลอดความยาวเพียง 2 กม. กว่าเท่านั้น

ระยะทางถนนสระสี่เหลี่ยม

แต่นั่นไม่ใช่จุดที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ จุดที่รู้สึกชื่นชมและเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานจริงคือ การวงเล็บชื่อซอยเดิมไว้ด้านล่างชื่อใหม่ที่เป็นทางการ ในกรณีที่มีชื่อเดิมอยู่แล้ว

สิ่งนี้ดีอย่างไร? แน่นอนว่าชุมชนที่ก่อร่างสร้างตัวอย่างช้า ๆ เป็นเวลา 20–30 ปี ย่อมคุ้นเคยกับชื่อเดิมมากกว่าชื่อใหม่ที่เป็นเพียงตัวเลข ตัวเลขนั้นมีข้อดีคือเป็นระเบียบ บอกระยะได้คร่าว ๆ ว่าปลายทางอยู่ช่วงใดของถนน หรือบอกได้กระทั่งว่าซอยนั้นอยู่ฝั่งไหนของถนน ตัวเลขยังไม่เป็นอุปสรรคนักสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก เด็กหรือชาวต่างชาติก็สามารถสังเกตได้ง่าย

แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับชื่อเดิมมานาน การสื่อสารด้วยชื่อเดิมคือความเคยชิน ที่อยู่จัดส่งในแอพพลิเคชันถูกบันทึกไว้ด้วยชื่อเดิม การเผยแพร่ข้อมูลในอดีตที่ตีพิมพ์ไปแล้วหรือประกาศไปแล้วตามช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะออนไลน์ สิ่งพิมพ์ หรือคำบอกเล่าที่ถูกบันทึกลงในความทรงจำล้วนเป็นชื่อเดิมมาตลอด การจะกลับไปตามแก้ข้อมูลทั้งหมดนั้นจะเป็นภาระหรืออุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนอย่างแน่นอน

ผู้เขียนมองว่าการยังคงไว้ซึ่งข้อมูลเดิมขณะที่แนะนำข้อมูลใหม่ควบคู่ไปเป็นวิธีการที่คำนึงถึงผู้ใช้งานหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน คนต่างถิ่น หรือหน่วยงานราชการ

UX design:
หากมองในบริบทของการออกแบบ user experience ผู้เขียนมองว่านี่คือการสร้าง system ของข้อมูลขึ้นมาใหม่โดยยังเคารพระบบเก่าที่ user คุ้นเคย ไม่รู้สึกเป็นการยัดเยียดจนเกินไป

สมมติว่า designer ต้องการเปลี่ยน design system ทั้งหมดของ software ที่มีผู้ใช้งานอยู่มาเป็นระยะเวลายาวนาน จะทำอย่างไรให้ user ยังสามารถ interact กับ software ได้โดยไม่เครียดจนเกินไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เราอาจจะต้องศึกษาความเคยชินหรือพฤติกรรมที่ user เข้าใจลึกซึ้งหรือมีผลกระทบแบบหยั่งรากลึกก่อนที่จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ศึกษา element ต่าง ๆ และ test เพื่อดูว่าการเปลี่ยนระดับไหนที่จะพราก comfort ไปจาก user และเลือกระดับของการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม
ตัวอย่างหัวข้อการศึกษา element ที่มีผลต่อการเข้าใจข้อมูล เช่น เปลี่ยนสี เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนชื่อปุ่ม เปลี่ยน UI โดยสิ้นเชิง เปลี่ยน movement เปลี่ยนลำดับ เป็นต้น

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นกรณีที่ยังคง function เดิมไว้ แต่ enhance อย่างไรที่ไม่ใช่การทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ เพราะราคาของการพยายามให้ user unlearn สิ่งที่คุ้นเคย มักจะสูงกว่าการ learn สิ่งใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะมากับความท้าทาย เมื่อความเข้าใจหรือสิ่งที่เรายึดถือหรือรับรู้ว่าถูกต้อง อาจจะถูกลบล้างหรือจับต้องไม่ได้อีกต่อไป เราก็จะเริ่มรู้สึกอึดอัดและเกิดอาการเหวอ และต้องใช้ความพยายามในการ เปลี่ยน ความเข้าใจนั้น

“Change in behavioural change is not about triggering people; It’s about supporting people through change.” — Lauren Alys Kelly

ขอบคุณ การปั่นจักรยานยามเย็น ที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งนี้

อ่านเพิ่ม
https://ambitiousdesigner.substack.com/p/navigating-new-ui-how-to-ease-users
https://everydayindustries.com/user-centered-design-rollout/
https://www.nngroup.com/articles/radical-incremental-redesign/
https://behav.co/library

--

--

Chuenchon
odds.team

Artist, Designer, Tester, Learner, Story teller & Global citizen