Sense of Taste

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
Aug 14, 2023
Photo by Henley Design Studio on Unsplash

ผมกำลังศึกษา The 12 senses ของ Rudolf Steiner

ปรกติผมคุ้นเคยกับการแบ่งประสาทสัมผัสว่ามี 5 แบบ แบ่งตามอวัยวะที่รับ คือ รูป, รส, กลิ่น, เสียง และ กายสัมผัส

Steiner มีวิธีแบ่งประสาทสสัมผัสที่แตกต่างออกไป โดยแบ่งเป็น 12 แบบ ซึ่งวันนี้ผมอยากแบ่งปันเรื่องการรับรส ใครอยากรู้ว่าสัมผัสอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ไปศึกษาต่อได้ในลิงค์ด้านล่างนะครับ

การรับรส (Taste)

ผมได้เรียนรู้ว่า การรับรสเป็นการตัดสินใจรับสิ่งหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา รสชาติของสิ่งที่เราเลือกกลืนลงไป ก็จะกลายเป็นสารอาหารที่เสริมสร้างร่างกายของเรา ทำให้นึกถึงคำของ Virginia Satir ที่ว่า

“ให้ชิมทุกอย่าง แล้วกลืนเฉพาะของที่ชอบ”

รสนิยมภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า taste เหมือนกัน ไม่ว่าเป็นเสื้อผ้าที่เราเลือกใส่ ของแบรนด์ต่าง ๆ ที่เราเลือกใช้ น้ำหอมที่เราเลือกฉีด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ของผม ที่สังคมจะรับรู้เวลามองมาที่ผม

การรับรสนอกจากจะรับสารอาหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และรับรสนิยมมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์แล้ว ประสบการณ์ของการรับรสนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตของผมเช่นกัน

รู้แบบนี้แล้วมีประโยชน์อย่างไร

สรุปแล้ว รส สำหรับ Steiner คือขั้นตอนที่ผมเลือกรับบางสิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผม

พอรู้แบบนี้ ทุกวันนี้ผมก็มีสติในการกลืนมากขึ้น บ่อยครั้งผมซื้อของกินเพียงเพราะอยากสัมผัสประสบการณ์ตอนรับรู้รสมัน

มันทำให้ผมเห็นชัดมาก เวลาที่ผมอยากลดน้ำหนัก (ไม่อยากกลืนไอศกรีม) แต่อยากสัมผัสประสบการณ์การกินไอศกรีม ผมเห็นความลักลั่นยักย้อนในพฤติกรรมของตัวเองชัดขึ้น เห็นสองความต้องการที่แตกต่างกันในตัวเองชัดขึ้น จากการตระหนักสิ่งนี้ จากบทเรียนในประสบการณ์นี้ ทุกวันนี้ผมกินอาหารไปเล่นมือถือไปน้อยลง ไหน ๆ ผมก็เลือกที่จะรับสารอาหารนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผมแล้ว การให้สมาธิไม่พอที่จะรับรู้ประสบการณ์ของรสอาหารเป็นเรื่องน่าเสียดาย พอทำแบบนี้ ผลพลอยได้คือผมพบว่าผมควบคุมน้ำหนักตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย

Credits

ขอบคุณครูณาที่เปิดโอกาสให้ผมได้รู้จักกับเรื่อง 12 senses นะครับ

อ้างอิง

--

--