Sprint ต้องไม่รู้ผลสิ ถึงจะสนุก

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readJul 14, 2020
Photo by Steven Hrissis on Unsplash

มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งเล่นเฟสบุ๊คอยู่ก็เจอโฆษณาสำหรับคอร์สออนไลน์เอาไว้ฝีกทำ handstand ในคอร์สเค้าเคลมว่าใครก็ตามที่อายุระหว่าง 16 ถึง 60 สุขภาพแข็งแรงดีก็ทำได้ทุกคน

มือลั่นก็เลยกดซื้อไปเสียไป 30 USD คือเกือบพันบาท แล้วเส้นทาง 30 days to handstand ของผมก็เริ่มต้นขึ้น…

ครั้งแรกเลยที่ตกใจคือในวันที่สามของการฝึกเค้าก็ให้ทำ headstand พิงกำแพงเลย ที่ตกใจยิ่งกว่าคือพอลองทำตามก็ทำตามได้จริงๆด้วย! :D

แต่หลัง ๆ ก็จะเริ่มจับแนวได้ว่า เค้าจะเอาท่ายาก ๆ มาให้เราลองทำดูก่อน แล้วเราก็จะทำไม่ได้ แต่พอได้เรียนทักษะและฝึกฝนกล้ามเนื้อในแบบฝึกหัดที่ตาม ๆ มา เค้าก็จะให้ลองกลับมาทำท่ายาก ๆ ใหม่ แล้วเราก็จะได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง

ผมก็ฝึกไปเรื่อย ๆ เน้นไม่ให้บาดเจ็บก็พอ ท่าไหนทำได้ก็ทำ ท่าไหนทำไม่ได้ก็โกงบ้าง ข้ามบ้าง ลองฝึกจนหมดเวลา timebox บ้าง

แล้วการฝึกก็ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 26 จาก 30 ณ ตอนนั้นยังทำ handstand พิงกำแพงไม่ได้เพราะกลัว ไม่กล้าย้ายน้ำหนักตัวเองข้ามเอวไป แต่แค่สี่วันมันก็จะจบคอร์สแล้วอ้ะ! ก็เลยเริ่มเอะใจแล้วว่า ณ จุดจุดนี้มันอาจจะโกง handstand พิงกำแพงไม่ได้แล้วก็ได้ ก็เลยไปแอบดูวันที่เหลือว่าเค้าให้ฝึกอะไรบ้าง แล้วก็เห็นว่ามันไม่มี handstand พิงกำแพงอีกแล้ว ท่าที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการฝึกการทรงตัว การจัดท่า ล้วนต้องทำ handstand พิงกำแพงเป็นแล้วทั้งสิ้น

ตอนแรกตัดใจไปแล้ว กะว่าทำให้มันจบ ๆ คอร์สไปแล้วค่อยเริ่มต้นใหม่ด้วยจุดเริ่มต้นที่ไกลกว่ารอบแรกแค่นั้นก็ดีแล้ว

แต่ก็นึกถึงเทคนิคหนึ่งขึ้นมาที่ใช้ในการเพิ่มความกล้านั่นคือ ลองอัดวิดีโอตัวเองเพราะเวลาผมอัดวิดีโอผมมักจะกดดันเพราะวิดีโอมันกำลังเดินไปเรื่อย ๆ บางครั้งมันก็ช่วยให้ผมกล้าทำอะไรที่ไม่กล้าทำมาก่อนได้เหมือนกัน

พอเริ่มอัดวิดีโอ ก็งัดเอาทุกเทคนิคที่ใช้รวบรวมความกล้ามาใช้หมดเลยตั้งแต่ บอกสมองซีกซ้ายว่าเราทำได้โดยการวิเคราะห์ว่าทำไมการทำ handstand ณ ตอนนี้ถึงปลอดภัย เราฝึกการล้มอย่างปลอดภัยมาแล้ว เราทำ headstand (หัวปักพื้น) พิงกำแพงมาได้แล้ว เหลือแค่เพิ่มความสูงอีกหน่อย ซึ่งไม่น่าจะอันตรายอะไรถ้าเราระวังหัวให้ดี

บอกสมองซีกขวาด้วยการพูดกับตัวเองตัวเองว่าเราทำได้ แล้วทำ image training โดยการหลับตาจินตนาการภาพตั้งแต่เริ่มกระโดดจนกระทั่งเอาขาขึ้นไปพิงกำแพงได้สำเร็จ จินตนาการถึงน้ำหนักที่กดลงมาบนแขน แล้วก็จินตนาการภาพที่เราเอาขาลงมาทีละข้างได้อย่างนิ่ม ๆ แบบปลอดภัย

พอทำแบบฝึกหัดในจินตนาการถึงตรงนี้ ก็รู้สึกได้ถึงพลังที่ส่งมาตามแขนจนถึงปลายนิ้ว ก็เลยรีบทำใจแล้วขยับตัวตามพลังนั้นไปก่อนที่ความกล้ามันะไหลผ่านไป แล้วก็ได้ผลตามด้านล่าง

Recorded by Chokchai Phatharamalai
Posted by Chokchai Phatharamalai

ผมทำแฮนสแตนทำไม?

ด้วยอาชีพที่เป็น Scrum master บางครั้งก็ต้องสอนทีม ผมคิดว่าคนที่จะสอนได้ดีก็ต้องแตกฉานเรื่องการเรียนรู้ ผมใช้แบบฝึกหัดนี้ในการทบทวนว่าคนเราเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ยังไงต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง? ความรู้สึกสั่นตอนที่จะต้องก้าวข้ามความกลัวมันเป็นยังไง? ทั้งหมดทั้งสิ้นเพื่อเวลาที่จะต้องบอกทีมว่ารู้นะว่ามันยาก แต่ผมเชื่อว่าคุณทำของยาก ๆ ได้จะได้พูดออกมาจากพื้นที่ของคนที่เข้าใจ

เวลาที่ไปสอนทีมเรื่อง image training หรือกฏแรงดึงดูด แล้วบอกว่ามันได้ผลจริงๆนะ จะได้มีตัวอย่างจากของที่เราทำมาแล้วไปเล่าให้ทีมฟัง

เพื่อจะได้ย้ำเตือนตัวเองว่าเวลาที่คนเราพยายามจนสุดความสามารถ โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะไปถึงเป้าหมายได้จริงไหม มันต้องใช้ความตั้งใจ, ความมุ่งมั่น และความกล้าหาญขนาดไหน แล้วมันสำคัญแค่ไหนที่จะมีคน ๆ หนึ่งที่จะไม่ซ้ำเติมเราตอนที่เราล้มลง คอยทำตัวเป็นกระจกสะท้อนเราว่าอะไรบ้างที่เราทำได้ดีแล้ว หรือคอยชี้แนะว่าตรงไหนที่มีโอกาสให้เราพัฒนาขึ้นไปอีกโดยที่ไม่ตัดสิน

30 วันเป็น timebox

พอย้อนกลับมามองดู พบว่า 30 วันที่ผ่านมาเหมือนกับ sprint มีบางวันที่ผมรู้สึกว่าไม่เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นเลย และมีบางวันที่อยู่ดี ๆ ไปก็พัฒนาเข้าใกล้เป้าหมายแบบก้าวกระโดด มีบางวันที่รู้สึกว่าเป้าหมายมันอยู่ใกล้มากเหมือนอยู่ในถุงผ้าที่เราถืออยู่ และมีบางวันที่รู้สึกว่าเป้าหมายมันไกลเกินเอื้อม ยังไง ๆ ก็ไปไม่ถึง มันได้แข่งขันกับตัวเอง ได้ต่อสู้กับตัวเอง มันเหนื่อยนะแต่มันก็สนุก ไอ้ความไม่รู้นี่แหละ ความคิดที่ต้องลุ้นว่าจะไปถึงได้จริงไหมนะ ไอ้เป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรก ถ้าไม่ถึงก็คงได้เรียนรู้ว่าพลาดอะไรไป แต่ถ้าเกิดถึงขึ้นมาก็คงภูมิใจสุด ๆ เพราะเป้าหมายที่เราตั้งไว้มันสุดเอื้อม ซึ่งการที่เราคว้ามันมาได้เป็นสัญลักษณ์ว่าเราได้เติบโตขึ้นแล้ว

พอสะท้อนตัวเองถึงตรงนี้ ก็นึกถึงหลาย ๆ ทีมที่ผมเห็นมา มีน้อยทีมมาก ๆ เลยที่มีโอกาสได้เลือกเป้าหมายที่มันอยู่สุดเอื้อมของเขาพอดีจนไม่รู้ว่าจบ sprint นี้เค้าจะไปถึงเป้าหมายได้จริงไหม

บ่อยครั้งผมเจอทีมที่ตั้งแต่ต้น sprint เป้าหมายก็ง่ายเหมือนล้วงของในถุงผ้า แล้วก็เป็นแบบนั้นไปจนจบ sprint เสร็จแล้วก็ไม่ได้ภูมิใจอะไร

หรือไม่ก็เจอทีมที่ถูกยัดเยียดเป้าหมายที่ยังไงก็ไปไม่ถึงมาให้ commit แล้วก็เป็นแบบนั้นจนจบ sprint แล้วก็ล้มเหลวไปตามคาด พวกเขาชินชากับความล้มเหลว ชินชากับการยกของไปทำ sprint ถัดไป

ถึงตอนนี้ก็นึกถึงคำว่า Autotelic ของ Mihaly Csikszentmihalyi

Autotelic เป็นภาษาลาติน แปลว่าเป้าหมายที่เราตั้งเอง มันมีแค่เราคนเดียวเท่านั้นแหละที่รู้ดีที่สุดว่าเป้าหมายที่สุดเอื้อมพอดีนั้นคือตรงไหน เพราะแบบนี้ละมั้ง Scrum ถึงให้ทีมมี final say ว่า sprint นี้จะวิ่งไปไกลแค่ไหน

Sprint ที่รู้ผลอยู่แล้วตั้งแต่ต้นหน่ะ ไม่สนุกซักนิด

ถึงตอนนี้ผมอยากจะชวนทุกคนถามตัวเองไปพร้อม ๆ กับผมว่าครั้งสุดท้ายที่ย้อนมองดู sprint ที่ผ่านมาใน retrospective แล้วรู้สึกภูมิใจกับ sprint นี้คือเมื่อไหร่เหรอ?

--

--