Sprint Demo

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readFeb 5, 2024
Photo by Igor Miske on Unsplash

ผมเพิ่งกลับมาจากงาน Odd-e gathering เป็นงานที่คนในบริษัท Odd-e จากสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อประชุม, แลกเปลี่ยนความรู้ และทำงานร่วมกัน

ในงานที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้รู้จัก demo ครั้งหนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “มารดาของ demo ทั้งมวล” (The mother of all demo) ซึ่งเป็น demo ของ Augmentation Research Center นำโดย Douglas Engelbart

ใน demo ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ชาวโลกได้เห็นเมาส์และเห็นการเลื่อน pointer เพื่อเลือกของบนหน้าจอได้ จากเดิมที่ต้องคอยกด shortcut บนคีย์บอร์ด และระบบนี้ก็ถูกเอามาต่อยอดเป็น GUI ที่ควบคุมด้วยเมาส์ในระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ในปัจจุบัน

นอกจากชาวโลกจะได้เห็นเมาส์เป็นครั้งแรกแล้ว ยังมีสิ่งตื่นตาตื่นใจอีกหลายอย่างเช่น ได้เห็น video conference, การที่คนสองคนช่วยกันแก้ไขเอกสารเดียวกันพร้อม ๆ กันเป็นครั้งแรก

ด้วยความตื่นตะลึงจาก demo ครั้งนั้น ก็เลยถูกกล่าวขานเรื่อยมาจนเป็นที่มาของฉายามารดาของ demo ทั้งมวลนั่นเอง

สรุปแล้ว demo คือการสื่อสารทางเดียวเป็นหลักโดยผู้นำเสนอจะเตรียมลำดับของสิ่งที่จะนำเสนอมาสาธิตการใช้งานให้ดู ด้วยเจตนาที่จะทำให้ผู้เข้าชมประทับใจ

Scrum ไม่มี Sprint Demo

ผมเจอหลายทีมเรียกกิจกรรม sprint review ว่า sprint demo ซึ่งมันผิดไปจากเจตนาของ sprint review มาก เพราะ sprint review เราต้องการให้ทีมและ product owner (PO) ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ product มากที่สุด

ทุก ๆ sprint ทีมจะใช้ทรัพยากรขององค์กรสร้างผลผลิต (output) ออกมา ด้วยความหวังว่าผลผลิตนั้นจะสร้างผลกระทบ (outcome) ที่เราคาดหวังได้ เช่น เพิ่มยอดขาย, ลดค่าใช้จ่าย, เพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ หรือให้บริการลูกค้าที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับทีมและ PO คือการได้ตรวจสอบผลกระทบที่สร้างได้นี่แหละ ถ้าผลผลิตที่ทำขึ้นมามันสร้างผลกระทบได้ตามคาดหวังแล้วจะได้เอาเวลาและทรัพยากรที่เหลือไปแก้ปัญหาเรื่องอื่น

สำหรับผม sprint review ที่คุ้มค่าเวลาที่สุดคือ ไปเอาลูกค้าหรือผู้ใช้งานตัวจริงมา แล้วบอกเค้าว่าปัญหาที่เค้ามี เราแก้ไขเสร็จแล้ว แล้วก็ปล่อยให้เค้าลองใช้งานตามใจเค้า แล้วถามว่าเราจะขายสินค้าหรือบริการด้วยราคานี้ เค้าจะซื้อไหม ขณะที่ทีมก็คอยสังเกตว่าเค้าใช้เวลาตรงไหนนาน สบถว่าอะไรบ้าง ตัดสินใจซื้อหรือไม่ แล้วถ้าไม่ซื้อ มันขาดอะไร แล้วจด feedback เหล่านั้นไปให้ PO เรียงความสำคัญในช่วงท้ายของ sprint review เพื่อเอาไปวางแผนสำหรับ sprint ถัด ๆ ไป

ถ้าเราเอาผู้ใช้งานตัวจริงมาไม่ได้ ก็หาตัวแทนมา แต่ความเข้มข้นในการเรียนรู้ก็จะลดลง เพราะตอนนี้ผลกระทบที่เราวัดได้ จะเป็นผลกระทบจาก ”ตัวแทน“ แทนที่จะเป็นผู้ใช้งานจริง ๆ

demo ใน sprint review ที่ผมเคยเห็นมี 2 แบบ แบบได้ประโยชน์น้อย กับแบบที่ไม่ได้ประโยชน์เลย

แบบได้ประโยชน์น้อยคือให้ทีมมานั่งสาธิตการใช้งานให้ PO ดู ซึ่งรูปแบบนี้เหมือนแค่ได้ตรวจสอบว่าทีมแก้ปัญหาได้ตรงใจ PO ไหม ส่วนใหญ่จะวัดได้แค่“เสร็จ”ไหม ส่วน“สำเร็จ”แค่ไหนนั้น ต้องรอดูกันไปอีกที ที่ผมบอกว่าแบบนี้มีประโยชน์น้อย เพราะมันพอมองเห็นคุณภาพของผลผลิตที่ออกมาบ้าง เช่น ถ้าทีมกลั้นลมหายใจทุกคลิก เพราะลุ้นว่าระบบจะแตกไหม ผมก็จะรู้ว่าอันนี้ไม่ได้ผ่านการทดสอบมาอย่างมั่นใจ ส่วนทีมที่ทดสอบมาดี ก็จะกล้ากดกล้านำเสนอกว่า

แบบที่ไม่มีประโยชน์เลยคือการอัดวีดีโอมา หรือ แคปหน้าจอมาใส่สไลด์แล้วให้ทีมนำเสนอให้ PO ดู ผมนึกไม่ออกเลยว่าทีมและ PO ได้เรียนรู้อะไรจากพิธีกรรมนี้

สรุป

sprint demo ไม่มีในสกรัมนะ ถ้าใครทำอยู่ ลองปรับดูว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มการเรียนรู้ไปในกิจกรรมนี้ได้บ้างจะได้คุ้มค่าเวลาที่จ่ายไปกับกิจกรรม ไหน ๆ ก็ลงทุนใช้สกรัมแล้ว เราก็อยากใช้ให้ได้ประโยชน์จากสกรัม ไม่ใช่แค่ท่วงท่าของมัน

อ้างอิง

https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Mother_of_All_Demos

--

--