The attachment theory

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readJun 19, 2023
Photo by Aditya Romansa on Unsplash

เมื่อก่อนตอนผมพาลูกไปเรียน Heguru ซึ่งเป็นหลักสูตรกระตุ้นสมองของญี่ปุ่น ที่กำแพงจะมีป้ายอันหนึ่งที่ผมจำข้อความบนนั้นได้เป็นอย่างดีเขียนว่า

“จิตวิญญาณของเด็กหนึ่งขวบอยู่ไปจนร้อยปี”

ผมเองก็ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงประทับใจข้อความนี้นัก จนกระทั่งได้มาเข้าใจ the attachment theory นี่แหละ

ผมเคยเรียน the attachment theory มาก่อนนิดนึง ระหว่างเรียนหลักสูตร Nonviolent communication แต่ตอนนั้นผมไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไหร่ จนกระทั่งได้มาเรียนซ้ำกับครูณาในหลักสูตร “12 senses กับครูณา”

เคยมีการทดลองที่เค้าลองให้เด็กหนึ่งขวบเล่นเพลิน ๆ อยู่กับแม่ในห้องทดลอง แล้วก็ให้แม่ออกไป แล้วเด็กพอรู้ตัวว่าแม่หายก็ร้องไห้ ผ่านไป 2–3 นาทีก็ให้แม่กลับมาแล้วเค้าจับตาดูปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กซึ่งแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ และจากรูปแบบของปฏิกิริยานี้ เค้าทายอนาคตเด็กได้ค่อนข้างแม่น (70–90%) ว่าจะเรียนจบม. ปลายไหม มีแฟนจะขี้หึงไหม โตมาสุขภาพจิตแข็งแรงแค่ไหน มีความเสี่ยงโรคหัวใจแค่ไหน จนถึงจะมีครอบครัวอย่างไรในอีก 30 ปีข้างหน้า

The secured attachment

คือเด็กที่พอแม่กลับมาก็จะกอดแม่ หลังจากได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่ตกใจที่แม่หายไปเมื่อกี้เสร็จก็สงบลง แล้วกลับไปเล่นต่อ เด็กในกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง ทำให้รู้สึกวางใจในโลกใบนี้ เลยพร้อมค้นคว้าและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงความชัดเจนในอารมณ์จะทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างดีด้วย

The ambivalent attachment

เป็นรูปแบบที่ไม่มั่นคง เด็กกลุ่มนี้พอแม่กลับมา ถ้าไม่กอดแม่แน่นกลัวว่าแม่จะหายไปอีก ก็จะร้องไห้หนักมาก ราวกับว่าไม่เห็นเลยว่าแม่กลับมาแล้ว ดูเหมือนเค้าจมอยู่ในความทุกข์ชั่วขณะที่แม่หายไป และไม่สามารถเข้าถึงความยินดีที่แม่กลับมาได้ อาการแบบนี้เกิดจากการที่เค้าเคยเรียกหาแม่แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้เด็กต้องเร่งอารมณ์ร้องเสียงดังแม่ถึงจะมาสนใจ หรือต้องเข้าไปอ้อนหนักมากจนได้ความสนใจจากแม่ จากที่เคยต้องพยายามหลากหลายวิธีเพื่อให้ได้ความสนใจ เด็กเลยรู้สึกไม่มั่นใจในความรักที่แม่มีให้เพราะยังไม่โตพอที่จะอ่านสถานการณ์ออกว่าทำไมบางครั้งถึงไม่ได้รับความสนใจ ผลการทดลองเลยจมอยู่กับความทุกข์ตอนแม่หายไป อยู่กับความไม่มั่นใจจนแม่ที่กลับมาเข้าถึงลูกได้ยาก

The avoidance attachment

อีกรูปแบบที่ไม่มั่นคง เด็กกลุ่มนี้พอแม่กลับมา เค้าจะพยายามไม่แสดงอารมณ์เสียใจออกมา พยายามเก็บซ่อนอารมณ์ว่าไม่เป็นอะไรมาก การกดทับอารมณ์ไว้ทำให้กลับไปสนุกกับการเล่นได้ช้ากว่า

เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ว่าการแสดงอารมณ์ออกมานั้นไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้รับการยอมรับ อาจจะเคยถูกดุหรือสอนว่าบางอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์ที่เปราะบางนั้นไม่ดีที่จะแสดงออกมา ทำให้พยายามเก็บซ่อนอารมณ์เหล่านั้นไว้

ความเคยชินจากการปิดกั้นอารมณ์ทำให้บางครั้งทำไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่สามารถควบคุมได้ บางสถานการณ์ที่อยากเข้าถึงอารมณ์ตัวเองก็อาจจะเข้าถึงไม่ได้ ทำให้ติดอยู่กับความเย็นชาหรือสับสนได้

The disorganized attachment

แม้ avoidance และ ambivelent จะเป็นความสัมพันธ์แบบไม่มั่นคง แต่ทั้งสองแบบก่อนหน้ายังนับเป็นรูปแบบกลยุทธ์ในการป้องกันตัวของเด็กได้ และไม่นับเป็นปัญหาเท่ากับรูปแบบสุดท้ายนี้ซึ่งคือ disorganized attachment

ผมไม่ทราบว่าเด็กกลุ่มนี้มีรูปแบบการตอบสนองต่อการกลับมาของแม่อย่างไร ผมทราบแค่ในทฤษฎี เด็กกลุ่มนี้เจอผู้ปกครองตอบสนองอย่างรุนแรง เช่น ตีแรง ๆ หรือดุด่าว่ากล่าวแรง ๆ จนทำให้เด็กกลัวคนที่เค้าคาดหวังความความรักความอ่อนโยน จากความกลัวที่ไม่มีทางออก ทำให้เกิดปมในใจขึ้นมา และตลอดชีวิตที่โตมา เมื่อไรที่เจอสถานการณ์ที่ไปกระตุ้นถูกปมในใจ เด็กก็จะโดนดึงกลับไปในสถานการณ์ที่รุนแรงอีก (amygdala hijack) เด็กกลุ่มนี้เวลาเล่าเรื่องมักจะใช้ tense สับสน เรียกทุกอย่างเป็น present tense หมดเลย เพราะเค้าแยกไม่ค่อยออกว่าเหตุการณ์ใดจบไปแล้วในอดีต อะไรกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การเรียนรู้เลยจดจำอย่างสับสน ส่งผลกับพัฒนาการ และก็มีโอกาสจะเสพติดพฤติกรรมบางอย่างเมื่อโตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติดหรือการหักโหมออกกำลังกายหนัก ๆ หรือกินจนหยุดไม่ได้เป็นต้น ที่ทำเพื่อใช้ความเจ็บปวดทางกายลดทอนความเจ็บปวดในหัวใจไม่ว่าเค้าจะเข้าใจเจตนาของตัวเองนี้หรือไม่ก็ตาม

ผลกระทบต่อพัฒนาการ

วิธีการรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตอนแรก ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ ความกล้าที่จะเสี่ยงเพื่อเปิดประสบการณ์ การเรียนรู้ทางสังคมในทุก ๆ ปฏิสัมพันธ์ การใช้งานของอวัยวะต่าง ๆ ที่ต้องทำงานเพื่อจัดการกับความเครียด ซึ่งกลไกการทำงานของร่างกายเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้เค้าสามารถคาดเดา โอกาสที่จะเรียนจบชั้น ม. ปลาย โอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสพติด หรือรูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคตได้ค่อนข้างแม่นยำ

ตัวผมเองก่อนเริ่มเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อการเติบโตทางจิตใจของตัวเอง ก็เคยคุ้นชินกับรูปแบบ the avoidance attachment และผมยังจำได้ว่า ตอนนั้นมันยากเหลือเกินที่จะเข้าถึงอารมณ์ของตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ บ่อยครั้งทุกอย่างมันเย็นชาไปหมด

เมื่อผมโชคดี ได้เรียนรู้ที่จะสะท้อนอารมณ์ของตัวเองออกมา ผมก็ได้เรียนรู้ว่าผมสามารถย้อนกลับไปหาประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเอง แล้วไปให้ความรัก ความมั่นคง ต่อตัวเองในความทรงจำในอดีตได้ ทำให้ให้ตัวผมเองเข้าใจ the secure attachment มากขึ้นได้ ทำให้มุมมองที่ผมมีต่อโลกใบนี้เปลี่ยนไป ทำให้มุมมองที่มีต่อผู้คนเปลี่ยนไป และทำให้ผมมีความมั่นใจและความกล้าที่จะเลือกเส้นทางต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น และทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตได้เต็มประสบการณ์มากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย

ถึงผมจะพอใจกับเส้นทางการเติบโตของจิตใจผมเอง แต่ผมก็ไม่อยากจินตนาการเลยว่าถ้าผมไม่ได้โชคดีเข้าถึงความรู้เหล่านี้ แล้วยังติดอยู่กับรูปแบบ the avoidance attachment ชีวิตผม ครอบครัวผม ลูกผมจะเป็นอย่างไร

สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมพยายามตอบสนองต่อลูกอย่างมั่นคงและอ่อนโยนแต่ไม่ตามใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมแบ่งปันทฤษฎีนี้กับผู้อ่านครับ

หลังจากที่ได้กลับมาเรียนรู้และเข้าใจ the attachment theory อีกครั้ง ก็ทำให้อดนึกถึงข้อความที่เคยเห็นที่ Heguru ไม่ได้

“จิตวิญญาณของเด็กหนึ่งขวบอยู่ไปจนร้อยปี”

พอได้รู้ว่ารูปแบบการจัดการกับความเครียดของพวกเราก่อรูปขึ้นตั้งแต่เราอายุขวบเดียว เป็นตอนที่ไม่มีกำลัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เผชิญกับประสบการณ์ที่เจออะไรสุด ๆ ของชีวิตตลอดเวลา ขณะที่มีมุมมองที่บริสุทธิ์ดุจผ้าขาว พอได้รู้แบบนี้ ผมก็เปิดใจรับรูปแบบที่ผู้คนตอบสนองกับสถานการณ์ตึงเครียดได้มากขึ้น เหมือนกับว่าพอมองย้อนไปหาตัวเค้าตอน 1 ขวบ ก็อ่อนโยนกับพฤติกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้นนะครับ ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ

Credit

ขอบคุณครูณาที่เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนเรื่อง 12 senses และแบ่งปันเรื่อง the attachment theory กับทุกคน นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในบทความนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ ^/\^

อ้างอิง

--

--