The Pomodoro Technique
เคลียร์งานไว ใน 25 นาที
บางทีเรามีเรื่องต้องทำเยอะมากเลย บางอันก็ใกล้เดดไลน์ พอจะตั้งใจทำ ก็มีแต่เรื่องรอบตัวเข้ามา distract ตลอด จนงานที่ควรจะเสร็จ ก็ไม่เสร็จ เพราะมัวแต่ไปทำอย่างอื่น
หรือพอนั่งคิดงานไปสักพักก็สมองตัน คิดไม่ออก สุดท้ายงานไม่เดิน เพราะเวลาส่วนใหญ่ นั่งตาลอย อยู่
เลยต้องมีจังหวะที่ต้องเร่ง และผ่อน ซึ่งเทคนิคนึงที่ช่วยจัดการเวลา ให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผมอยากนำมาแบ่งปัน คือ Pomodoro
Pomodoro Technique
Pomodoro Technique เป็นเทคนิคการจัดการเวลา โดยการแบ่งทำงานเป็นรอบสั้น ๆ มีจังหวะทำ และจังหวะพัก
นี่ไม่ใช่เทคนิคใหม่ มีมาแล้วต้ังแต่ 1980s โดยคุณ Francesco Cirillo
Pomodoro มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า มะเขือเทศ มีที่มามาจากนาฬิกาจับเวลา ที่ตา Francesco ใช้ เป็นรูปมะเขือเทศเฉย ๆ ง่าย ๆ เลย
เป็นเทคนิคที่เหมาะกับกิจกรรมสำคัญที่ต้องใช้โฟกัสสูง อย่างตอนนี้ผมก็ใช้ Pomodoro เขียนบทความนี้อยู่
ทำยังไง?
มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน
1. เขียนว่าจะทำอะไร
เขียนให้ อ่านปุ๊บ ทำได้ปั๊บ
เวลาเขียน todo ถ้าเขียนกว้างไป จะไม่รู้อย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ให้นึกลงไปต่ออีก 1 step
เช่น ถ้าเราอยากเขียนบทความให้เสร็จ แล้วเขียนใน todo ว่า “เขียนบทความ” มันจะใหญ่มาก และทำไม่เสร็จได้ใน 1 รอบ จึงควรแตก task ย่อยออกมา เป็น
- หาเรื่องที่อยากเล่า
- ค้นหาข้อมูลที่จะนำมาเขียน
- ออกแบบวิธีเล่า
- วางโครงสร้างบทความ
- ฯลฯ
จากนั้น ให้ priority task ที่สำคัญ โดยตรงนี้ เราสามารถใช้ 80/20 rule มาช่วยได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก
2. จับเวลา 25 นาที
เลือกหยิบงานที่เขียนไว้มา 1 อย่าง และจดจ่อกับแค่งานนั้นอย่างเดียว เป็นการลดการสลับงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มภาระให้กับสมองเป็นอย่างมาก
การสลับงาน ทำหลายอย่างพร้อมกันบ่อย ๆ จะทำให้สมองทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และทำผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
ถ้ามี distraction อะไร ให้จดเอาไว้ แล้วค่อยกลับมาดูทีหลัง ถ้าไม่ด่วนจริง ๆ
คนเราจะจดจ่อกับงานอยู่ได้ต่อเนื่อง 14–45 นาที ก่อนที่สมาธิจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งที่ Pomodoro บอกว่าให้ทำรอบละ 25 นาที เพราะถ้าเร็วไป งานจะไม่เสร็จ และถ้านานไปเราจะโดน distract ง่ายขึ้น
ข้อดีอีกอย่างคือ มันไม่ทำให้สมองเราทำงานหนักเกินไป เพราะเมื่อเราใช้งานมันไปสักระยะหนึ่ง สมองจะเริ่มล้า และรับ input หรือคิด output ออกมาได้ลดลง เลยต้องมีเว้นจังหวะให้ได้พัก นึกภาพเหมือนเวลาเราผ่อนเครื่องยนต์ไม่ให้มัน overheated
สำหรับคนที่ยังไม่คล่อง จึงแนะนำเป็น 25 นาที พัก 5 นาที แบบปกติ แต่ถ้าเซียนแล้ว custom เองได้เลย
หานาฬิกาจับเวลามาใช้ด้วยจะยิ่งดี เลี่ยงการใช้โทรศัพท์มาจับเวลา เพราะ distraction ส่วนใหญ่อยู่ในนั้นหมดเลย เอาไปซ่อนไว้เลยยิ่งดี แต่ให้หาเจอด้วยนะ
ยิ่งถ้าใช้นาฬิกาจับเวลาที่ออกแบบมาเฉพาะ Pomodoro จะยิ่งดี เพราะมันหยุดไม่ได้ พอเริ่มหมุนไปแล้ว มันจะวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดเวลา เป็นการบังคับให้เราไม่อู้ และโฟกัสกับงานที่ทำ
3. กากบาทงานที่เสร็จแล้ว
ขีดเช็คงานที่ทำเสร็จแล้ว หลังจบแต่ละรอบ
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการหลั่งของสารโดพามีนในสมอง ทำให้เรารู้สึกดีเมื่อทำงานเสร็จ และเป็นแรงจูงใจให้อยากทำงานให้เสร็จเพิ่ม
เอางานมาอีก!
4. พัก 5 นาที
ลุกขึ้น ไปเปลี่ยนอิริยาบท ยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ ให้ร่างกลายผ่อนคลาย พร้อมกลับมาลุยต่อรอบถัดไป
ทำวนไป
พอทำครบ 4 รอบ จะได้เบรครอบใหญ่ ประมาณ 15–30 นาที พักผ่อนเต็มที่ได้เลย แล้วค่อยกลับมาลุยต่อ
ตอนฝึกทำช่วงแรก ๆ จะยังติด ๆ ขัด ๆ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ จะดีขึ้นเอง สำคัญสุดคือวินัย
และถ้าทำ task ใน 25 นาทีไม่จบ แปลว่า task นั้นใหญ่เกินไป คราวหน้าลองแตกออกมาให้เล็กกว่าเดิม หรือถ้าลองประเมินดูแล้ว task มันเล็กเกินไป ก็หยิบอันอื่นมาทำเพิ่มในรอบนั้น ๆ ได้
ผมเคยได้ยินเรื่อง Pomodoro มาผ่าน ๆ แต่ไม่เคยลองไปศึกษาและนำมาใช้จริงจัง จนได้ไปเข้า Workshop ของอาจารย์โอม ที่งาน CTC 2024 ในนั้นมีสอนใช้ Pomodoro ด้วย ผมลองมาศึกษาต่อและลองใช้กับตัวเองดู
ข้อสังเกตอย่างนึง ที่เห็นหลาย ๆ คนบอก และผมเองก็รู้สึกได้ คือ จะหมดพลังงานไปเยอะมาก ต่อให้ทำงานเสร็จไว
งานที่ต้องทำทั้งวัน อาจจะเสร็จในสองชั่วโมง แต่ใช้แรงเหมือนทำทั้งวันเท่าเดิมนะ
ซึ่งก็ยังถือว่ามีประโยชน์ เพราะมันช่วยประหยัดเวลาได้ อย่างน้อยก็ยังเอาเวลาที่เหลือไปลั้นลาได้
ผมคิดว่าทำไปสักพัก ร่างกายจะปรับตัวได้ แล้วเราน่าจะอึดขึ้น
ยิ่งถ้าเอาไปใช้กับ Second Brain นะ บอกเลย ไม่ใช่ขยันธรรมดา แต่เป็น ขยันนนนนส์!!!