[UXLx] คนธรรมดาพาท่องโลกกว้างที่งาน User Experience Lisbon

Thanabat B.
odds.team
Published in
4 min readJun 1, 2024

ในปี 2024 นี้ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนของชาว ODDS และได้รับการสนับสนุน (ผมเรียกชื่อว่าคือ #ทุนการศึกษาคนธรรมดา ) ในการไปเข้าร่วมงาน Event ประจำปีของเหล่าบรรดา UX และ Product Designer ทั่วโลกนั่นก็คืองาน UXLx ภายใต้สโลแกน

The greatest UX training event in Europe

งานนี้ที่ผมได้ไปถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่ชาว ODDS ส่งคนไปเข้าร่วม ซึ่งในครั้งแรกคือของปีก่อนเมื่อตอน 2023 (กราบส์) บอกได้เต็มปากเลยว่าพวกเราน่าจะเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกๆที่ไปงานนี้

ภาพต้อนรับของปี 2023 และ ปี 2024ในเพจ facebook งาน(source : https://www.facebook.com/UXLisbon)

ผมจะเล่าเรื่องราวและแชร์ประสบการณ์รวมไปถึงเนื้อหาต่างๆที่เกี่ยวกับงานนี้ภายใต้ซีรีส์ #UXLx เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจ

ในโพสต์แรกนี้ ผมจะพาคุณไปสำรวจประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่น่าสนใจของ UXLx ที่ Lisbon ถ้าพร้อมแล้ว เตรียมตัวบินไปกับเรา! รัดเข็มขัด ปรับเบาะให้ตรง เรากำลังจะทะยานขึ้นจากพื้นดิน เดินทางผ่านทิวทัศน์ของน่านฟ้า ทะลุเมฆสู่เมืองแห่งแสงแดด เมื่อเครื่องบินลดความสูง คุณจะเห็นลิสบอนที่สวยงามรอต้อนรับเราอยู่ ดื่มด่ำกับบรรยากาศนี้ให้เต็มที่ เรากำลังลงจอดเพื่อเข้าสู่การผจญภัยครั้งใหม่กัน!

UXLx: User Experience Lisbon จัดครั้งแรกในปี 2010 โดยคุณ Bruno Figueiredo UX Designer ชาวโปรตุเกส ผู้คร่ำหวอดในวงการมาแล้วมากกว่า 2 ทศวรรษ (เพราะฉะนั้นก็คงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมต้องจัดที่ประเทศนี้)

รูปแบบงานเป็น workshop + conference ที่ให้ชาว UX ทั้งหลายได้มาดื่มด่ำความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆพร้อมพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆในแวดวงจากหลากหลายมุมทั่วโลก

ผมลองไปค้นหาข้อมูลดูก็พบว่าตอนปี 2010 ที่งานนี้จัดครั้งแรกมีไอดอลของผมทั้งคุณ Jared Spool เจ้าของบทความยอดนิยมอย่าง The $300 Million Button ,คุณ Steve Krug เจ้าของหนังสือในตำนานที่ UX ทุกคนต้องผ่านตาอย่าง Don’t make me think และ Rocket Surgery Make It Easy ,ลุง Dan Saffer และ UX แถวๆหน้าชั้นนำอีกมากมาย

https://2010.ux-lx.com/index.html
ภาพกิจกรรม 3 วัน workshops และ Talks ของปี 2010

โดยงานประสบความสำเร็จและจัดต่อเนื่องมาเรื่อยๆในรูปแบบและสถานที่เดิม จนกระทั่งในปี 2019 ที่เกิดสถานการณ์ Covid รูปแบบงานจึงเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบ online ภายใต้ชื่องาน UXLx Masters โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 22 ประเทศทั่วโลก

https://masters.ux-lx.com

จนในปี 2022 กลับมาเป็นแบบพบปะเจอหน้ากันอีกครั้ง โดยมี UXers จากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 36 ประเทศ

(source : https://www.facebook.com/UXLisbon)

ในปี 2023 ปีที่พวกเราชาว #ODDS ได้มีโอกาสไปในครั้งแรก มีประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 44 ประเทศ และประเทศไทยคือ 1 ในนั้น เย้ 🇹🇭

(source : https://www.facebook.com/UXLisbon)

จนมาถึงปีปัจจุบัน 2024 ที่ผมได้มีโอกาสได้ไปมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 38 ประเทศจาก 5 ทวีป

(source : https://www.facebook.com/UXLisbon)

จะเห็นได้ว่างานเติบโตมาเรื่อยๆแม้ในปีล่าสุดประเทศที่เข้าร่วมจะลดลงหน่อย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังเหมือนกันคือสถานที่จัดงานที่ย่าน Parque das Nações(Park of Nations) ใน Lisbon ซึ่งพื้นที่นี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นสถานที่จัดงาน Exposition ระดับโลกในปี 1998 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Expo 98

การปรับโฉมเมืองครั้งใหญ่

Parque das Nações, Lisbon, Portugal

แนวคิดและที่มา:

  • ด้วยวิสัยทัศน์และแนวคิดของ António Taurino Mega Ferreira and Vasco Graça Moura ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจากการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีของการเดินทางไปถึงอินเดียของ Vasco da Gama นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่มีชื่อเสียงในฐานะชาวยุโรปคนแรกที่แล่นเรือจากยุโรปไปยังอินเดียโดยตรง โดยอ้อมทวีปแอฟริกาและแหลมกู๊ดโฮป ในปี 1498
  • ธีมของงานคือ “The Oceans: A Heritage for the Future” เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การสำรวจทางทะเลของโปรตุเกสและเน้นย้ำความสำคัญของมหาสมุทรสำหรับอนาคต (ซึ่งโปรตุเกสขึ้นเชื่อเรื่องการเดินทางและนักเดินทางสำรวจโลก)
  • Lisbon ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Expo ’98 ในปี 1992 โดยเอาชนะคู่แข่งอย่าง Toronto ประเทศ Canada

การเตรียมงาน:

  • บริษัท Parque Expo ซึ่งเป็นของรัฐบาล ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำให้ Expo ’98 เป็นงานที่ยั่งยืนด้วยตนเอง โดยมีรายได้มาจากค่าบัตรเข้าชมและการขายอสังหาริมทรัพย์และที่ดินในบริเวณงาน
  • พื้นที่ที่เลือกสำหรับ Expo ’98 เป็นพื้นที่ขนาด 50 เฮกตาร์ (123 ไร่ 2 งาน) ทางตะวันออกของลิสบอน ริมแม่น้ำ Tagus

การพัฒนาพื้นที่:

  • พื้นที่จัดงาน Expo ’98 ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเดิมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทรุดโทรม
  • อาคารทุกหลังถูกขายล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้ใหม่หลังงาน Expo เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ถูกทิ้งร้างเหมือนงาน Expo ก่อนหน้า โดยเฉพาะ Seville Expo ‘92
  • มีเพียงหอคอยโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้นที่ถูกเก็บไว้และปรับปรุงใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์ของอดีตทางอุตสาหกรรมของพื้นที่

การรองรับผู้เข้าชม:

มีการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้เข้าชมจำนวนมาก ประกอบไปด้วย:

  • สายรถไฟใต้ดินสายใหม่สายสีแดงในลิสบอนพร้อมสถานี 5 สถานี อย่าง Alameda II, Olaias, Bela Vista, Chelas, and Oriente (ซึ่งสถานีที่ลงถึงที่จัดงานเลยคือ Oriente)
  • สถานี Oriente (Gare do Oriente) เป็นขนส่งหลักที่เชื่อมต่อรถไฟและรถบัส แถมมีแท็กซี่ให้บริการอย่างสะดวกสบาย โดยสถานีนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวสเปน Santiago Calatrav
ภาพในสถานี Oriente
ความสวยงามของสถานียามค่ำคืน (source: https://www.tripadvisor.com/Attraction_Review-g189158-d524075-Reviews-Estacao_do_Oriente-Lisbon_Lisbon_District_Central_Portugal.html)
  • สะพาน Vasco da Gama ซึ่งเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรปในขณะนั้นซึ่งมีความยาว 17 กิโลเมตร (10.7 ไมล์) เชื่อมต่อระหว่าง Parque das Nações ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Lisbon กับ Montijo และ Alcochete ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำ Tagus
source: https://www.britannica.com/topic/Vasco-da-Gama-Bridge
ผมได้มีโอกาสไปจ็อกกิ้งเส้นทางผ่านใต้สะพานนี้ด้วย

แผนดังกล่าวกำหนดชุดสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองที่สำคัญเป็น “หัวใจหลัก” สำหรับการพัฒนาหลังงาน ได้แก่ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุม, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, สนามกีฬาในร่มอเนกประสงค์, พิพิธภัณฑ์, โรงละคร และศูนย์การค้า เป็นต้น พื้นที่ส่วนกลางประกอบด้วยพื้นที่จัดงาน Expo และพื้นที่ใช้งานแบบผสมผสาน ซึ่งมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์, ธุรกิจ, สันทนาการ และวัฒนธรรม โดยมีการวางแผนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าสองแห่งทางทิศเหนือและทิศใต้ และการดำเนินการจะลดลงตามลำดับเวลา ทางตอนเหนือของแผนมีการวางแผนสวนสาธารณะริมแม่น้ำ

จากย่านอุตสาหกรรมเสื่อมโทรมการปรับโฉมเมืองใหม่ปรับเปลี่ยนตึกรามบ้านช่องและเพิ่มพื้นที่สอดคล้องกับชุมชนและวัฒนธรรม ในงาน Exo ครั้งนั้นได้สร้างรายได้และทำให้เศรษฐกิจของ Lisbon เติบโตอย่างมากขึ้นอีกด้วย

“Public space was the main element conveying the idea of a new urbanity”

สถาปัตยกรรม

นอกจาก สถานี Oriente (Gare do Oriente) ที่มีความสวยงามแล้วยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่น่าสนใจอีก

  • Portugal Pavilion (Pavilhão de Portugal)— ออกแบบโดย Álvaro Siza Vieira สถาปนิกชื่อดังชาวโปรตุเกส จุดเด่นที่สุดของอาคารคือหลังคาคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนแผ่นกระดาษบางๆ ลอยอยู่ระหว่างเสาขนาดใหญ่สองต้น หลังคานี้สร้างขึ้นด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน ซึ่งสร้างความน่าแปลกใจเมื่อตอนไปเห็นมากว่าทำไมทำให้แผ่นคอนกรีตทั้งแผ่นดูเหมือนเบาบางแล้วโค้งแบบไม่มีเสามารองรับได้ขนาดนี้ ซึ่งพอด้านล่างโปร่งไม่มีเสามารองรับทำให้เห็นวิวแม่น้ำ Targus และมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น
source : https://yinjispace.com/article/Alvaro-Siza-Expo-98-Portuguese-National-Pavilion.html
  • Utopian Pavilion (Pavilhão da Utopia) — เป็นหนึ่งในห้าพาวิลเลียนหลักในงาน Expo ’98 ที่ลิสบอน สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนธีมหลักของงาน “The Oceans: A Heritage for the Future” แนวคิดหลักของพาวิลเลียนนี้คือการนำเสนอมหาสมุทรในฐานะแหล่งกำเนิดของจินตนาการและแรงบันดาลใจ โดยพาผู้เข้าชมเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของมหาสมุทรและยูโทเปียต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเล
    อาคารมีรูปทรงคล้ายเปลือกหอยขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่าง Quai dos Olivais และแม่น้ำ Tagus ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานด้วยตำแหน่งและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น สถาปนิกได้วางตำแหน่งพาวิลเลียนเพื่อให้หันหลังให้กับ Tagus และผู้ชมเข้ามาจากถนนสายหลัก
Utopian Pavilion มุมจากทางเข้า
  • Torre Vasco da Gama (Vasco da Gama Tower) — โดย Leonor Janeiro, Nick Jacobs and SOM หอคอยแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางทางทะเลของ Vasco da Gama นักสำรวจชาวโปรตุเกสผู้โด่งดัง รูปทรงของหอคอยชวนให้นึกถึงใบเรือของเรือคาราวาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุคแห่งการค้นพบของโปรตุเกส
    นอกจากนี้ยังมี Telecabine ทีเป็นกระเช้าลอยฟ้า สามารถให้นั่งเพื่อชมวิวมุมสูงระหว่างรอบๆพื้นที่อีกด้วย (เสียดายที่ครั้งนี้ไม่ได้ขึ้น ครั้งหน้าจะไม่พลาด)
Vasco da Gama Tower และ Telecabine

map รวมสถาปัตยกรรมในพื้นที่

จะเห็นได้ว่าการที่งาน UXLx ที่เลือกจัดที่สถานที่ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมาใช้ในงาน Expo’98 ทำให้เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ในการไปร่วมงานนี้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 26 ปี แม้สิ่งก่อสร้างและสถานที่จะเก่าและทรุดโทรมลงไปบ้างแต่กลิ่นอายของแนวคิดและการออกแบบรวมถึงเรื่องราวต่างๆ

และแม้งานนี้อาจจะไม่ได้ใหญ่โตแบบใช้ทุกพื้นที่ขนาดนั้น ใช้เพียงหอประชุม 1 ตึก แต่การได้มาใช้ชีวิตแบคนในพื้นที่ในที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้นั้นได้มอบประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้กับเรามากๆ การใช้ชีวิตแบบคนในพื้นที่ เดินทางเหมือนเขา กินอาหารเหมือนเขา พยายามพูดภาษาเขาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมักจะทำเวลาไปยังสถานที่ใหม่ๆเสมอ

สถานที่จัดงาน PT Meeting Center

ในครั้งหน้าผมจะมาเล่าถึงบรรยากาศและการจัดงานกันครับ ถ้าเนื้อหานี้มีประโยชน์ชอบแชร์ ใช่กดติดตามกันไว้ได้เลยนะครับ

Source:

--

--