[UXLx] สำรวจการให้บริการในงานผ่าน Service Safari

Thanabat B.
odds.team
Published in
5 min readJun 9, 2024

เนื้อหาในซีรีส์ #UXLx ตอนที่ 2 ของผมนะครับ สำหรับในตอนแรกที่เราพาไปสำรวจเรื่องราว, ประวัตศาสตร์ของงาน, สถาปัตยกรรมต่างๆรวมไปถึงการออกแบบเมืองใครยังไม่ได้อ่านติดตามได้ที่ ข้างล่างนี้

ในครั้งนี้ผมจะพาทุกคนไปสำรวจการให้บริการของงานในจุดต่างๆ ผ่านเครื่องมือ Qaulitative Research ที่ชื่อว่า Service Safari

Service Safari คืออะไร?

ก่อนไปถึงตัวงานมาปูพื้นฐานถึงเครื่องมือนี้กันก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่า Service Safari คืออะไร?
ลองนึกภาพคุณเป็นนักสำรวจที่กำลังท่องไปในป่าใหญ่ คุณจะได้พบกับประสบการณ์ต่างๆตั้งแต่การ แคมป์ปิ้ง, สัตว์ป่า, ต้นไม้, ระบบนิเวศน์, เส้นทางเดินป่า หรือแม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน

Service Safari ก็นำคำว่า Safari ที่เป็นการท่องสำรวจป่ามาใช้กับคำว่า Service รวมกันก็คือการที่คุณไปสำรวจการให้บริการต่างๆโดยทำตัวเป็นลูกค้าคนหนึ่ง (walk in the customers’ shoes) เพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้จากประสบการณ์ในทุกมิติที่คุณได้เจอ

ทำไมถึงควรทำ Service Safari?

การทำ Service Safari นั้นมีประโยชน์มากมาย:

  • เข้าใจผู้ใช้บริการ: การได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับผู้ใช้จะทำให้คุณเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และปัญหาของผู้ใช้บริการจริงๆ
  • พบปัญหาที่ซ่อนอยู่: การลงไปสัมผัสเองอาจจะทำให้เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ได้ชัดเจนขึ้น
  • ปรับปรุงบริการ: ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น

วิธีการทำ Service Safari

วางแผน

  • กำหนดวัตถุประสงค์: ตัดสินใจว่าคุณต้องการศึกษาด้านไหนของบริการ เช่น การใช้งานเว็บไซต์, การสั่งอาหารออนไลน์, การเดินทางด้วยรถสาธารณะ เป็นต้น
  • เตรียมอุปกรณ์: จดบันทึก, กล้องถ่ายรูป หรือแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกข้อมูล

ลงสนาม

  • ทดลองใช้บริการ: ลงมือใช้บริการเหมือนเป็นลูกค้าคนหนึ่ง สังเกตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มต้นจนถึงการสิ้นสุด
  • จดบันทึก: บันทึกสิ่งที่เห็น, ความรู้สึก, ปัญหาที่เจอ, และสิ่งที่ทำให้ประทับใจ

วิเคราะห์ข้อมูล

  • รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: ดูว่ามีอะไรที่พบเห็นบ่อยๆ หรือเป็นปัญหาที่ผู้ใช้คนอื่นๆ อาจเจอเช่นกัน
  • สรุปข้อค้นพบ: นำข้อมูลที่ได้มาสรุปเป็นข้อค้นพบหลักๆ และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบริการ

ตัวอย่างการทำ Service Safari ที่สตาร์บัคส์

สมมติว่าคุณต้องการศึกษาและปรับปรุงการบริการของสตาร์บัคส์:

  • เตรียมตัว: กำหนดวัตถุประสงค์ว่าต้องการศึกษาการบริการที่สตาร์บัคส์ตั้งแต่การสั่งกาแฟจนถึงการนั่งดื่มที่ร้าน
  • ลงสนาม: เข้าไปที่สตาร์บัคส์ในฐานะลูกค้าปกติ ทดลองสั่งกาแฟ, สังเกตการบริการของพนักงาน, คุณภาพของกาแฟ และบรรยากาศในร้าน
  • การสั่งกาแฟ: ทดลองสั่งเครื่องดื่มที่ซับซ้อนเล็กน้อย เช่น “คาราเมล มัคคิอาโต้ ไม่ใส่น้ำตาล, เปลี่ยนเป็นนมอัลมอนด์” สังเกตว่าเจ้าหน้าที่รับออเดอร์ได้อย่างถูกต้องและบริการเป็นอย่างไร
    (ย้อนกลับไปในสมัยที่ผมเข้าสตาร์บัคครั้งแรกๆ ก็ประหม่าตั้งแต่จะเลือกขนาดของกาแฟอย่าง Tall, Grande, Venti !!!)
  • การรับเครื่องดื่ม: สังเกตว่าการบริการในขั้นตอนนี้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพหรือไม่ และแน่นอนคุณอาจเจอประสบการณ์การเขียนชื่อผิด !!!
  • บรรยากาศในร้าน: สังเกตความสะอาด, ความสะดวกสบายของที่นั่ง, การตกแต่ง ,เพลงที่เปิดในร้านหรือเสียงรบกวนต่างๆ ผู้คนที่เข้ามาส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบไหน นั่งแช่, สั่งแล้วกลับหรืออื่นๆ
  • จดบันทึก: บันทึกปัญหาที่พบ เช่น การบริการช้า, ความสะอาดของโต๊ะ, คุณภาพของเครื่องดื่ม จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปเป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุง

Service Safari ที่งาน UXLx

กลับมาที่ตัวงาน สืบเนื่องมาจาก พวกเราที่ได้ไปงานได้รับโจทย์จากพี่ Tao ในการทำ Learning Group ที่ให้ทุกคนลองตั้งโจทย์ในการศึกษาร่วมกัน โดยกลุ่มผมที่มีชื่อทีมว่า “.org” ประกอบไปด้วยสมาชิกอีก 2 คน คือ hua ホアและ แตง โดยพวกเราเลือกจะลองศึกษารูปแบบการจัดงานและการให้บริการดู ด้วยโจทย์นี้เองจึงทำให้ผมนึกถึงเครื่องมือนี้และลองหยิบมาใช้งานดู

วางแผน

แน่นอนเรามีโจทย์แล้ว แต่อาจจะยังมีโจทย์ที่กว้างไปหน่อย ดังนั้นผมเลยมาตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนขึ้นเป็นเรื่อง “การเข้า Workshop ในงาน”
อุปกรณ์ที่เตรียม แน่นอนว่าคือโทรศัพท์มือถือที่ใช้ถ่ายรูป และบันทึกใน note

ลงสนาม

[ก่อนวันงาน] ช่วงก่อนเดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน เราได้ email จากทางงานมาเป็น touchpoint แรกที่ทำให้เราพอจะมั่นใจในสถานที่มากขึ้น บอกรายละเอียดชัดเจน locaiton map ไปจนการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ถ้ามา subway ต้องลงสถานีไหน

รูปภาพบัตรเข้างานจากอีเมล์ มี locaiton map และรายละเอียดการเดินทางบอกชัดเจน

แต่ด้วยความไม่ประมาทพวกเราก็ไปสำรวจการเดินทางและระยะเวลาที่ใช้จากโรงแรมไปถึงงานกันก่อน 1 วันล่วงหน้า ซึ่งก็พบว่าทางงานยังไม่ได้จัดเตรียมพื้นที่อะไรมาก แม้กระทั่งป้ายงานหรือการบอกเส้นทางต่างๆที่จะมาถึงสถานที่จัดงานก็ไม่เจอ (สุโค่ยยยย) แต่ดีที่เรามีผู้มีประสบการณ์จากครั้งก่อนมาคอยไกด์ให้

รูปภาพสมาชิก 4 คน ยืนถ่ายรูปหน้าสถานที่จัดงาน
สมาชิกที่ยังไม่อ่อมจากการเดินทางมาสำรวจสถานที่จัดงานกัน

touchpoint ถัดมาทางงานยังมีเขียน blog แนะนำเนื้อหางานรวมไปถึงการมางานอยู่หลายโพสท์ สำหรับผมถือว่ามีประโยชน์และช่วยเหลืออย่างมากๆ แถมยังสร้างความตื่นตัวในการ warm-up ในส่วนตัวของผมอีกด้วย

[ระหว่างวันงาน] พวกเราตกลงกันว่าจะมาก่อนเวลากันสักเล็กน้อยเพื่อเผื่อเวลาในการจัดการสิ่งต่างๆ ก็พบว่าตอนเรามาถึง ทีมงานยังติดป้ายกันอยู่ แถมพนักงานต้อนรับยังไม่ออกมา… (อาจจะกำลังบรีฟหรือเตรียมตัวกันอยู่หลังบ้าน) พวกเราจึงมีเวลาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศกัน

รูปภาพสมาชิกชาว #ODDSDesigner ที่ถ่ายรูปกับป้ายหน้างานก่อนเข้างาน
ป้ายมาตั้งแล้ว

ถึงเวลา chec-kin พนักงานมาประจำที่จุด โดยจะแบ่งจุด check-in เป็น 3 ช่องเพื่อกระจายความแออัดและคล่องตัวในการบริการ แต่สำหรับพวกเราที่มา ณ เวลานี้ไม่ประสบปัญหา เพราะคนยังมากันไม่เยอะ

โดยการ check-in นั้นก็แสนจะง่าย เพียงเรานำหมายเลขบัตรที่เราได้รับใน email ยืนยันมาแจ้งเจ้าหน้าที่ เขาก็จะนำไปค้นในระบบ และถามชื่อเรา โดยถ้าเรายืนยันว่าใช่เขาก็ให้ป้ายและของที่ระลึกเลย ตรงนี้น่าสนใจมากที่ไม่มีการตรวจสอบหรือยืนยันด้วยเอกสารใดๆเลยว่าหมายเลขบัตรและคนรับตรงกันตามชื่อ

รูปภาพจุด check-in
จุด check-in

ผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้ของที่ระลึกเป็นกระเป๋าสีสันสะดุดตามีโลโก้งานชัดเจน พร้อมด้วยของที่ระลึกและอุปกรณ์ต่างๆ

  • ป้ายชื่อเข้างาน
  • คู่มืองานที่บอกรายละเอียดครบถ้วนมากๆ ถึงรายละเอียด workshop, speaker, ห้อง workshop รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ
  • sticker งาน 3 แผ่น
  • notebook สีสันแตกต่างหลากหลายกันไป
  • ขนมคลายง่วงอย่าง sugus และ m&m
รูปภาพของที่งานแจก (ขออภัยที่ถ่ายมาได้ไม่ครบของข้างใน)

นอกจากนี้ใครที่ได lucky bag จะได้หนังสือจาก parther (O’Reilly) ฟรีๆกันไปอีกด้วย ซึ่งในทีมของเราก็มีผู้โชคดีกันถึงสองคน เย้!!!

รูปภาพผู้โชคดีได้หนังสือในตำนาน
ผู้โชคดีได้หนังสือในตำนาน

มาลงรายละเอียดที่ป้ายชื่อเข้างานกันหน่อย สำหรับบัตรที่เราซื้อมาคือ 4 Days Pass เข้างานได้เลย 4 วัน บัตรประกอบไปด้วย

  • ประเภทบัตร
  • วันที่ที่เข้าได้
  • ชื่อที่เราใช้ลงทะเบียนตอนซื้อบัตร
  • ตำแหน่ง (ซึ่งตรงนี้สังเกตุเห็นว่า น่าจะพิมพ์มาตามที่เราแจ้งเลย เพราะอย่างพวกเราที่เป็น UX การใช้ตัวเล็กใหญ่ไม่เหมือนกัน)
  • ชื่อบริษัท
  • ประเทศ(และธงชาติ)
  • หมายเลขบัตร
  • QR code
รูปภาพบัตรเข้างานที่มีชื่อและรายละเอียด
บัตรเข้างาน

ความพิเศษของบัตรนี้นอกจากรายละเอียดด้านหน้าแล้ว พบว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์อีกอย่างก็คือด้านหลัง เมื่อเราพลิกกลับอีกด้านจะเจอรายละเอียด workshop ทั้งหมดที่มี ระบุเวลาอย่างชัดเจน แม้กระทั่งเวลาพักต่างๆ

โดยที่การพลิกดูก็ถูกออกแบบมาอย่างแสนง่าย เพราะทางงานได้ปริ้นมาแบบกลับหัวและใช้ตัวต่อแบบหมุนได้ ทำให้เมื่อแค่หมุน ซ้าย/ขวา ก็สามารถดูรายละเอียดต่างๆได้อย่างสะดวก (นี่สิ UX ที่ดี) แต่ก็ยอมรับว่าด้วยความเคยชินในครั้งแรกผมก็พลิกแบบบน/ล่าง แต่พอเกิดการเรียนรู้หลังจากนั้นก็สามารถใช้งานได้ตามที่เขาออกแบบมาให้

รูปหลังป้ายชื่อที่มีตาราง workshop บอกรายละเอียดครบถ้วน
แค่หมุนกลับก็ปัง

ด้วยความที่ workshop มีจำนวนมากและจำกัดจำนวนคน พวกเราจึงต้องลงทะเบียน เลือกบาง workshop ไว้ก่อน คำถามคือที่เราเลือกมามีอะไรบ้างนะ เพราะเราเลือกไว้ก่อนวันงานพอสมควร ผมใบ้ว่าป้ายนี้คือ informatoin ทุกอย่างลองทายกันดูซิว่าเราสามารถดู workshop ที่เราลงไว้ได้ที่ไหน ติ๊ก ตอก… ติ๊ก ตอก… ติ๊ก ตอก…

คำตอบก็คือ

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

QR Code ที่หน้าบัตรนั่นเอง

สุดยอดไปเลยไหมครับ นี่คือการออกแบบที่ผ่านการคิดมาแล้วอย่างแน่นอน

ไปสำรวจดูบรรยากาศรอบๆสถานที่กันบ้าง มีเครื่องดื่ม, coffee bar, จอทีวีที่บอกรายละเอียด workshop เพิ่มเติม และป้าย workshop หน้าห้อง

ในระหว่างนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาให้ทุกๆคนได้ networking กัน พบว่าแต่ละคน(รวมถึงผมด้วย) ก็จะพยายามมองป้ายชื่อ มองธงชาติ มองตำแหน่ง เพื่อหาจังหวะในการเปิดบทสนทนากันได้อย่างแนบเนียน

รูปภาพบรรยากาศรอบๆอาคาร

touchpoint ถัดมาเป็นอีกเรื่องที่ผมประทับใจ เมื่อเรามาไปทำงานนอกสถานที่ต่างๆหรือไป event ใดๆ สิ่งที่เรามักจะถามหาก็คือ “มี Wi-Fi มั้ย?” ซึ่งถ้าเราลองเปิด Wi-Fi เพื่อลองค้นหาดูในงานนี้ คำตอบที่เราจะได้รับก็คือสิ่งนี้

รูปภาพ Wi-Fi ที่ชื่อว่า UXLX
Learn with me free Wi-Fi !!!

เมื่อถึงเวลา workshop แบบตรงเวลาเป๊ะๆ ทุกคนก็ทยอยเข้าตามที่ได้ลงกันไว้ โดยที่การเข้า workshop ก็จะมีพนักงานคอยตรวจสอบว่าคนที่เข้ามาตรงกับที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้ารึเปล่า แน่นอนครับอย่างที่ผมบอกไปว่าทุกอย่างอยู่ที่ป้ายชื่อของเราแล้ว ใช่ครับพนักงานสแกนจาก QR code บนบัตรเลย

ระหว่างเข้าเรียนก็แยกย้ายกันไป ตาม workshop ที่ลง วันนี้เราแบ่งครึ่งกันเข้าเรียนกันและก็ตกลงว่าจะแยกย้ายกันคนละกลุ่มเพื่อจะได้เปิดประสบการณ์ในการมา workshop ต่างประเทศ

ในวันแรกนี้เปิดแค่ 2 ห้องใหญ่ที่ชั้นล่างชั้นเดียวผมได้เข้าห้อง Auditoriam II ถึงแม้จะเป็นห้องใหญ่แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก เข้าไปก็เห็นว่ามีการจัดโต๊ะเป็นกลุ่มๆให้เรียบร้อย มีผู้สอนอยู่ด้านหน้า พร้อมด้วยโปรเจคเตอร์ พวกเราก็แยกกันไปตามที่ตกลง ในช่วงแรกๆที่เข้าไปก็ดูไม่มีปัญหาอะไร แต่พอคนเริ่มเข้ามาเยอะขึ้นที่นั่งเริ่มเต็มในบางจุด (โดยเฉพาะใกล้ประตูทางด้านหลัง)ก็จะเจอกับการนั่งเบียด เก้าอี้หลังชนกัน ทำให้หากอยากเดินเข้าออกไปเข้าห้องน้ำจะไม่สะดวกมากนัก

บรรยากาศห้องก็จะไม่โปร่งมาก แสงไฟที่สว่างจนแย่งแสงโปรเจคเตอร์ที่ฉายสไลด์ ทำให้มองได้ไม่ชัดคมพอ ส่วนเรื่องเสียงและไมค์นั้นชัดเจนดี

ภาพบรรยากาศห้องเรียน AII ด้านหน้าเป็นผู้สอนและผู้เรียนนั่งตามโต๊ะเป็นกลุ่มๆ
ภาพบรรยากาศห้องเรียน AII เครดิตภาพจาก www.ux-lx.com

พอถึงช่วงเบรค เราก็มาสำรวจบริการอื่นๆเพิ่มเติม โดยที่น่าสนใจก็คือของเบรค นอกจาก coffee bar ที่ชงสดเลือกสรรค์ได้ จะเห็นได้ว่าที่ขนมเบรคจะวางป้ายส่วนประกอบอาหารไว้ข้างๆ เพื่อแจ้งชัดเจนในกรณีผู้แพ้อาหารต่างๆ จะได้เลือกกินได้ (เป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญและออกแบบมาอย่างใส่ใจ)

รูปภาพ กาแฟจาก coffee bar, ขนมเบรค และป้ายบอกวัตถุดิบ
ใครแพ้อะไรก็อ่านก่อนน้า~

ช่วงพักเที่ยงเราก็จะขึ้นไปทานอาหารกันที่ชั้นสอง เพราะว่า workshop วันแรกใช้เพียงห้องใหญ่ด้านล่าง 2 ห้อง เราก็จะเจอป้ายบอกทางชัดเจน

อาหารก็จะเป็นอาหาร local, ขนมปัง, สลัด ต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่ให้เราไปหยิบจานเลือกตักกินเองได้ตามอัธยาศัย แน่นอนครับว่ามีป้ายบอกส่วนประกอบ วัตถุดิบในอาหารเหมือนเดิม

รูปภาพการพักทานอาหารกลางวัน
รูปภาพทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัย เครดิตภาพบางส่วนจาก www.ux-lx.com

ซึ่งตรงนี้พวกเราพบว่าเจอปัญหาที่นั่งกินข้าวไม่เพียงพอ เพราะทางงานได้จัดสรรเป็นโต๊ะเล็กๆที่ยืนกินกันได้ 2–3 คน ทำพวกเราต้องเดินถือจานลงมากินกันที่ชั้นล่างตรงที่เบรค และก็สังเกตุเห็นว่าก็จะมีคนอื่นๆนั่งตามขั้นบันไดกันอีกด้วย

จบวันแรกทางงานมีกิจกรรม welcome pary ซึ่งพวกเราที่หมดสภาพจึงไม่ได้ไปเข้าร่วมแต่มีภาพบรรยากาศจากทางงานมาให้ดูไปพลางๆ

รูปภาพบรรยากาศ welcome pary ผู้เข้าร่วมทานอาหารและดื่มเบียร์ พูดคุยกัน
ภาพบรรยากาศงาน welcome party เครดิตภาพ www.ux-lx.com

วิเคราะห์ข้อมูล

สำหรับวันแรกตามวัตถุประสงค์ “การเข้า Workshop ในงาน” ในฐานะผู้เข้าร่วมประเมินจากการใช้บริการว่า ทำออกมาได้ดี โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆตามนี้:

  • Information เรื่องของการให้ข้อมูลที่จำเป็นในฐานะผู้เข้าร่วมงานเรียกได้ว่าตอบโจทย์และสะดวกมากๆ ป้ายชื่อที่ทำหน้าที่ได้มากกว่าการบอกว่าคือใครทำอะไร คือการที่บอกรายละเอียดของ workshop ได้อย่างชัดเจน
  • Location ด้วยงานที่เป็นสเกลไม่ใหญ่มาก ใช้ตึกประชุมขนาดเท่านี้ ถือว่ากำลังดี แต่จะมีเรื่องการจัดโต๊ะในห้อง workshop ที่ดูแน่นไปหน่อย
  • Service มีพนักงานที่เพียงพอในบริการตามจุดต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือและแนะนำได้ สำหรับผมเองไม่ได้พบปัญหาใดในจุดนี้

สิ่งที่น่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ดีขึ้นอีก

— Information

  • ถ้ามีการเพิ่มป้ายบอกทางให้ระหว่างทางที่มาถึงที่จัดงานได้ ก็อาจจะเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางขึ้นได้อีก แต่ก็ไม่แน่ใจเรื่องกฏหมายหรือรายละเอียดอื่นๆ
  • ตัวป้ายชื่อดูเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แต่ด้วยความเป็นกระดาษธรรมดาไม่มีซองใสหรือการ์ดใส่ให้เพื่อป้องกัน ถ้าเพิ่มเติมตรงจุดนี้ก็จะเพิ่มความปลอดภัยสำหรับการเสียหายในกรณีต่างๆ เช่นเปียกหรือฉีกขาดได้
  • ตัวป้ายชื่อ สำหรับของวันแรกอาจจะลองเรียง IA ใหม่และใช้ สี และ font ที่เน้นข้อมูลในส่วนที่จะช่วยในการ networking ได้ดีขึ้นอีก อย่างที่ผมสังเกตุเห็นปัญหาคือบัตรของเราที่เป็นพื้นหลังสีเขียวกับตัวหนังสือสีขาวทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด เวลาแนะนำตัวก็ต้องยื่นขึ้นมาใกล้ๆ
  • อีกหนึ่งเรื่องคือชื่อที่อยู่บนบัตร อาจจะเป็นปัญหาแค่พวกเราคนไทยที่ชื่อจริงยาวและเรียกยาก เวลาแนะนำตัวเราก็จะสร้างปัญหาในการออกเสียงหรือจดจำกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ ทำให้พวกเราต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ชื่อเล่นหรือชื่อในรูปแบบ inter ไปเลย (หลังๆก็เอา post-it เขียนชื่อใหม่แล้วแปะทับลงไป) ตรงนี้ถ้าสามารถให้ผู้เข้าร่วมเลือกชื่อที่จะใช้แสดงบนบัตรได้ก็อาจจะแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้

— Location

  • โต๊ะอาหารตอนพักเบรค ซึ่งไปสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ที่เคยมาครั้งก่อนก็พบว่าเป็นปัญหาเดิมจากปีที่แล้ว จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นความตั้งใจอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดพฤติกรรมอะไรบางอย่างของทางทีผู้จัดงานหรือเปล่า (เช่นต้องการให้ไม่กินนาน, ให้มีการ networking กัน หรืออื่นๆ) เลยไม่แน่ใจว่าถ้าจัดให้มีพื้นที่และโต๊ะอาหารที่เพียงพอจะแก้ปัญหาแต่ยังตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดงานหรือไม่
  • ในจุดที่เป็น coffee bar เมื่อเป็นการทำตามเมนูทำให้เกิดการต่อแถวและเมื่อแถวยาวจากจุดที่ตั้งอยู่ทำให้กีดขวางทางเดินและการใช้สอยในพื้นที่ ซึ่งผมมองว่าถ้าย้ายขึ้นไปตั้งข้างบนชั้นสองก็อาจจะดีขึ้น

เสริมเพิ่มเติมจากวันอื่นๆ

หลังจากการสำรวจในการวันอื่นๆที่เหลือ นอกจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น มีการเปิดห้องที่มากขึ้นในชั้น 2 ยังสังเกตุเห็นได้ว่าจะมีป้ายชื่อสีอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ บัตรสีส้ม 3 Days บัตรสีม่วง 2 Days บัตรสีฟ้า 1 Day

แถวกาแฟที่ยาวและนานขึ้นไปอีก ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนต้องพลาดการเติมคาเฟอีนระหว่างวันและออกไปซื้อ starbucks ข้างนอก (รวมถึงผมด้วย)

แถวอาหารกลางวันก็พบปัญหาเช่นเดียวกับ coffee bar ส่วนเรื่องโต๊ะอาหารหรือพื้นที่กินไม่ต้องพูดถึง

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้สังเกตุเห็นในวันแรกและได้ข้อมูลจากทีมงานที่ไปด้วยกัน ก็คือเจ้าตัวยึดแก้วไวน์กับจานนี้ พอเห็นสิ่งนี้แล้วทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องการจัดวางโต๊ะที่ไม่เพียงพอว่าหรือเข้าตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะมีเจ้าตัวยึดนี้บริการให้

ผมเพิ่งเคยเห็นเจ้าสิ่งนี้ครั้งแรกในชีวิตก็เลยตื่นตานิดหน่อยเลยลองเอามาใช้ดู ก็พบว่าใช้ไม่ยากแต่อาจจะไม่มั่นใจนิดหน่อยหากต้องถือแล้วกินข้าวไปด้วย เพราะว่าค่อนข้างหนัก…

รูปตัวยึดแก้วไวน์กับจานและตัวอย่างการใช้งานจริง
รูปตัวยึดแก้วไวน์กับจาน

จบแล้วครับสำหรับการทำ Service Safari ของงาน UXLx 2024 หวังว่าจะได้รับประโยชน์และพอเห็นการนำมาใช้งานจริงกันนะครับ จากนี้ไปเมื่อลองไปใช้บริการใดๆลองสังเกตุและตั้งคำถามดูครับ ในฐานะ designer หรือผู้ที่สนใจ อาจจะทำให้เราได้เห็นมุมมองอะไรที่กว้างและละเอียดขึ้น

และซีรีส์นี้ของผมยังไม่จบ ครั้งหน้าจะลงรายละเอียดเรื่องเนื้อหาต่างๆ

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ ชอบตรงไหน, อยากเสริมหรือให้เล่าอะไรเพิ่มเติม comment ทิ้งกันไว้ได้เลยครับ หรือถ้าชอบมากๆช่วยปรบมือให้คนละ 20 ทีนะ :D

Enjoy Learning and Research

Source:

--

--