ความเข้าอกเข้าใจกับความเห็นอกเห็นใจต่างกันยังไง?

Empathy vs. sympathy and other forms of response (fixing, reassuring, storytelling, etc.)

Chokchai Phatharamalai
odds.team
2 min readSep 19, 2022

--

Photo by Isaac Quesada on Unsplash

บทความนี้เป็นหนึ่งในซีรี่ย์ของ NVC key differentiations สำหรับคนที่ไม่รู้จัก key differentiations มาก่อน เล่าคร่าว ๆ คือของ 2 สิ่งที่เราต้องแยกออกจากกันให้ได้ เพราะด้านซ้ายจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อสาร ส่วนด้านขวาจะทำร้ายความสัมพันธ์

การแสดงออกด้วยความเข้าอกเข้าใจ

ผมขออธิบายความแตกต่างของความเข้าอกเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ จากการแสดงออกเพราะการแสดงออกมันจับต้องได้ง่ายกว่า

เวลามีที่ใครแบ่งปันเรื่องเปราะบางกับผม ช่วงเวลาแบบนั้นเป็นช่วงเวลาที่พิเศษ เพราะมันแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจที่เค้ามีให้กับผม ซึ่งผมจะให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งในการแสดงออกช่วงนั้น

  • อ่อนโยนที่สุดในการแสดงออก เพราะ เรากำลังทำงานอยู่ในพื้นที่เปราะบาง
  • ให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวให้คู่ควรกับความไว้ใจที่ผมได้รับ
  • ให้ความสำคัญความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดเพื่อให้ความเคารพกับประสบการณ์ที่ผู้พูดกำลังแบ่งปัน

และการให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดนี่แหละ เป็นทางแยกระหว่างความเข้าอกเข้าใจกับความเห็นอกเห็นใจ

คนที่กำลังแบ่งปันความเปราะบางจะรู้สึกไม่ปลอดภัยมาก ๆ เป็นธรรมดา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนคนที่กำลังอยู่ในพื้นที่เปราะบางได้คือการปรับออร่าของเราให้ตรงกับผู้พูด เวลาผมบอกว่า ‘ปรับออร่าให้ตรง’ ฟังดูไสยศาสตร์มาก แต่จริง ๆ แล้วคือการที่ผมนึกถึงประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับสถานการณ์ที่ผู้พูดเคยเจอ เพื่อให้อารมณ์และความรู้สึกที่ร่างกายผมแสดงออกมาทางสีหน้าและแววตาใกล้เคียงกับผู้พูดที่สุด พออารมณ์เราเหมือนกันสายสัมพันธ์จะถูกเชื่อมโยง แล้วผู้พูดจะรู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเค้ารู้สึกมีเพื่อนที่เคยเจอเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กัน

การแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ในบางครั้ง ผมจะไม่สามารถนึกถึงเรื่องราวที่ใกล้เคียงกันกับผู้พูดออก เพราะผมเองไม่เคยประสบเหตุการณ์ที่คล้ายกัน ในสถานการณ์แบบนั้น ผมไม่สามารถแสดงออกด้วยความเข้าอกเข้าใจได้ ใกล้เคียงที่สุดที่ผมทำได้คืออาจจะนึกถึงตอนตัวเองเศร้าเหมือนกันแต่อาจจะเป็นเรื่องอื่น ในเวลาแบบนั้น ผมจะเข้าไม่ถึงอารมณ์ของผู้พูด แต่ผมจะยังให้ความสำคัญกับการฟังและสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดอยู่ ด้วยความหวังว่าแม้ผมไม่สามารถทำให้ผู้พูดรู้สึกเจอเพื่อนที่เคยเจอความเจ็บปวดเดียวกันมาได้ อย่างน้อยเค้าได้รู้ว่าความเจ็บปวดที่เค้าเผชิญมีเพื่อนมนุษย์อีกคนมองเห็นก็ยังดี การที่มีคนมองเห็นความเจ็บปวดของเราเป็นการยืนยันถึงการมีตัวตนของเรา เป็นการยืนยันว่าในสังคมนี้ยังมีพื้นที่ให้ฉันอยู่ ถึงจะไม่ให้ความรู้สึกปลอดภัยเท่ากับการมีเพื่อน แต่มีที่ยืนก็ยังดี ยังให้ความปลอดภัยได้เหมือนกัน

บางคนอาจจะขีดเส้นแบ่งต่างกับผม และยังเรียกคำอธิบายข้างบนว่าเป็นการแสดงออกด้วยความเข้าอกเข้าใจเช่นกัน เพราะเค้าไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ที่ผู้พูดได้รับเพียงแค่มีคน ‘เห็น’ ความเจ็บปวดของฉัน แต่เค้าดูที่เจตนาที่ผมยังให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความต้องการของผู้พูด และด้วยเจตนานั้น เค้าจึงนิยามการแสดงออกด้านบนว่าเป็นการแสดงออกด้วยความเข้าอกเข้าใจ ถึงผมจะเลือกขีดเส้นแบ่งจากมุมมองของผู้พูดเป็นหลัก แต่ผมก็จะไม่ประหลาดใจที่จะมีคนเห็นต่างกับผม

อีกกรณีหนึ่งที่หลายคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันกับผมว่าเป็นการแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจคือ บางครั้งผมอาจจะเลือกที่จะไม่นึกถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่คล้ายกันกับผู้พูด เพราะมันเจ็บปวดเกินกว่าที่ผมจะรับไหว และจูนออร่าของผมให้ใกล้แค่ระดับที่พอจะเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่เข้าไปใกล้กว่านั้นเพื่อดูแลตัวเอง กรณีนี้คนส่วนใหญ่จะมักจะเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจไม่ว่าจะมองในมุมของเจตนาหรือผลลัพธ์ก็ตาม

การแสดงออกด้วยการเล่าเรื่อง

บางครั้งขณะที่ผมกำลังนึกถึงเรื่องราวที่คล้ายกันเพื่อเชื่อมโยงอารมณ์กับผู้พูด ผมเผลอเล่าเรื่องราวของตัวเองออกไปแล้วทำให้บทสนทนากลายเป็นเรื่องของผมแทนที่จะยังเน้นไปที่ความรู้สึกและความต้องการของผู้พูด ผมเรียกการตอบสนองแบบที่ผมกำลังทำว่า ‘การเล่าเรื่อง’

บางครั้งผมเผลอเล่าเรื่องเพราะความอยากจะช่วยผู้พูดเกินไป ผมอยากมาก ๆ ที่จะให้เค้าได้รับความเข้าอกเข้าใจ ทั้งที่จริง ๆ ผมทำได้แค่เห็นอกเห็นใจ และด้วยความอยากช่วย เลยเผลอเล่าเรื่องตัวเองไปด้วยความหวังลึก ๆ ว่าจะจูงใจให้ผู้พูดรับรู้ว่าว่าผมเข้าใจ และไม่ทันรู้ตัวเลยว่าผมได้ดึงบทสนทนาออกจากเรื่องราวของผู้พูดกลายเป็นเรื่องราวของผมเอง กว่าจะรู้ตัวผมก็ได้ล่วงเกินพื้นที่เปราะบางไปเสียแล้ว ถ้าโชคดีความผิดพลาดนี้อาจจะทำร้ายแค่ความสัมพันธ์ของผมกับผู้พูด นั่นคือผู้พูดอาจจะแค่โกรธหรือผิดหวังกับความเชื่อใจที่เค้ามอบให้ผม ในวันที่โชคร้ายความผิดพลาดนี้อาจจะทำร้ายความรู้สึกของผู้พูดและทำให้เค้ารู้สึกโดดเดี่ยวในความเจ็บปวดนั้นยิ่งกว่าเดิม

และบางครั้ง ผมก็เผลอเล่าเรื่องของตัวเองเพราะเรื่องราวเจ็บปวดที่ผมนึกถึงมันส่งผลกระทบกับผมรุนแรงมากจนผมไม่เหลือพื้นที่จะฟังผู้พูดอีกต่อไปและต้องเลือกหันมาดูแลตัวเอง ราวกับว่าผมกระโดดลงไปช่วยคนที่จมน้ำ แต่แล้วก็จมเสียเอง แล้วตะเกียกตะกายเกาะคนที่กำลังจมน้ำไปด้วยกัน เหตุการณ์นี้ย้ำเตือนคำที่ได้อ่านมาจากหนังสือ The 7 habits of highly effective families ว่า “การรับฟัง เป็นเหมือนอากาศหายใจในทางจิตวิทยา”

การแสดงออกด้วยการปลอบใจ

การปลอบใจเป็นการพยายามจะช่วยเหลือด้วยการเปลี่ยนมุมมองของผู้พูดให้เห็นด้านบวกด้านอื่น ๆ นอกจากด้านที่ผู้พูดกำลังมองอยู่ ความช่วยเหลือรูปแบบนี้อาจจะมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้พูดไม่ได้อยู่ในพื้นที่เปราะบาง

สำหรับคนที่กำลังรู้สึกว่าสถานการณ์ที่เจอมันหนักหน่วงและท่วมท้นราวกับคนจมน้ำ ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จะยังไม่มีประโยชน์จนกว่าผู้พูดจะได้รับการรับฟัง เปรียบได้กับคนจมน้ำที่ยังไม่ได้อยากได้ผ้าห่มให้หายหนาวทั้ง ๆ ที่กำลังหายใจไม่ออก

อีกปัญหาหนึ่งของการปลอบใจคือเป็นการสื่อสารกราย ๆ ให้ผู้พูดรับรู้ว่าพื้นที่แห่งการรับฟังนี้ปฏิเสธที่จะต้อนรับอารมณ์ด้านลบของผู้พูด ไม่ว่าผมจะมีเจตนาจะสื่อออกไปแบบนั้นหรือไม่ก็ตาม ผมพบว่ามีโอกาสสูงมากที่คนที่อยู่ในที่เปราะบางจะตีความไปทางนั้น เวลาที่ผู้พูดตีความว่าอารมณ์ของเค้ากำลังถูกปฏิเสธ มันจะย้ำเตือนว่าสังคมนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับเค้าในตอนที่กำลังรู้สึกแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วเค้าจะต้องไปหาพื้นที่อื่นเพื่อจะได้รับการฟัง ส่งผลให้คำแนะนำเรื่องมุมมองใหม่ของผมมันถูกวางไว้ตรงนั้นและไม่เกิดประโยชน์กับผู้พูดเท่าไหร่

ด้านล่างเป็น quote ที่ผมเอามาจากหนังสือ The 7 habits of highly effective families อีกแล้ว

I don’t care how much you know until I know how much you care.

ฉันไม่สนใจว่าเธอรู้มากเท่าไหร่ จนกว่าฉันจะรู้ว่าเธอสนใจฉันมากเท่าไหร่

การแสดงออกด้วยการช่วยแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาคล้ายกับการปลอบใจตรงที่เป็นการพยายามช่วยเหลือด้วยการเบนสมาธิของผู้พูดเหมือนกัน ต่างกันตรงที่การปลอบใจเป็นการเบนสมาธิไปสู่มุมมองที่ดี ส่วนการแก้ปัญหาเป็นการเบนสมาธิไปสู่โหมดการคิดแก้ปัญหา

จุดอ่อนของการแก้ปัญหาก็คล้าย ๆ กับปลอบใจคือมันอาจจะมาเร็วเกินไป เลยไม่ถูกกาลเทศะเหมือนกัน

สรุป

ด้วยความเข้าใจของผมในวันนี้ การเข้าอกเข้าใจสำหรับผมคือทางเลือก เลือกที่จะเสี่ยงเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับผู้พูด แล้วใช้สมาธิในการโอบอุ้มพื้นที่ของบทสนทนา เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้พูดได้ระบาย โดยแบ่งเป็น 3 ฐานคือ กาย, หัว และ ใจดังนี้

ฐานกายผมจะตระหนักว่าอันไหนคืออารมณ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาของฮอร์โมนต่าง ๆ ของผมเอง อันไหนเป็นอารมณ์ที่สั่นพ้องมาจากอารมณ์ของผู้พูด

ฐานหัวจะเพิ่งสมาธิไปที่การทำความเข้าใจเรื่องราวและคาดเดาอารมณ์และความต้องการของผู้พูด เพื่อให้เค้าได้รับการรับฟัง เพื่อให้ความเปราะบางของเค้าถูกมองเห็น

ฐานใจจะปรับอารมณ์ให้อยู่ที่การยอมรับ ไม่ว่าสิ่งที่ผู้พูดเล่าจะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์อื่นใดขึ้นมาในตัวผมก็ตาม ผมจะรีบปรับอารมณ์กลับมาที่การยอมรับเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถระบายต่อได้อย่างปลอดภัย

ถ้าผมพลาดฐานใดใน 3 ฐานนี้ การแสดงออกของผมก็อาจจะตกไปเป็นการเห็นอกเห็นใจ, เล่าเรื่อง, ปลอบใจ หรือการแก้ปัญหา ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งไปไม่ถึงจิตใจของผู้พูดในสภาวะนั้นได้ และอาจจะทำร้ายความสัมพันธ์ของผมกับผู้พูดได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

--

--