จิตวิทยากับแชร์ลูกโซ่

Kanpassorn Eix
ooca
Published in
2 min readAug 29, 2017

“การลงทุนในแชร์ลูกโซ่สร้างความเสียหายเทียบเท่ากับการติดยาเสพติด”

อาจารย์ รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตบำบัดการเงินกล่าว… จริง ๆ เราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการโกงแชร์ลูกโซ่กันมาตลอดผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมยังมีคนหลงเชื่อและเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อยู่ และเราจะแก้ไขปัญหาหรือมีวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ ได้อย่างไร วันนี้อาจารย์ รพีพงค์ มีคำตอบให้เราค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าความเชื่อเรื่องเงินกับความโลภในมุมมองทางจิตวิทยา เราจะแบ่งจิตใจออกเป็น

1.จิตรู้สำนึก คือ ภาวะที่มีสติ มีเหตุผล รู้ตัว

2.จิตกึ่งสำนึก คือ ภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจิตรู้สำนึก กับจิตไร้สำนึก

3.จิตไร้สำนึก คือ ภาวะที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล มีความต้องการ ความอยาก

ซึ่งเรามักถูกปลูกฝังตาม ๆ กันมาว่าการมีเงินมากคือเรื่องที่ดี หรือในชีวิตประวันเราก็มีเรื่องวัตถุนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่น ที่เราอยากได้ไอโฟนรุ่นใหม่ ก็เพราะเราเห็นเพื่อนเรามี เป็นต้น มันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ของการอยากได้ตาม ๆ กัน โดยมีคน 2 ประเภทในทางการเงิน หนึ่งคือคนที่สามารถซื้อวัตถุนิยมเหล่านี้แล้วไม่เดือดร้อนกับรายได้ และสองคือคนที่ตามซื้อวัตถุนิยมแล้วมีผลกระทบกับรายได้ ซึ่ง

คนประเภทที่ 2 ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการเงินตามได้เพราะเราปล่อยให้ จิตกึ่งสำนึกทำงานโดยไม่ประเมินรายได้ของตนเอง

สาเหตุที่มีคนหลงเชื่อแชร์ลูกโซ่

ต้นเหตุของปัญหาการโกงเงินส่วนมากจึงมาจากอารมณ์ หรือมาจากการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมในความเชื่อเรื่องเงิน เราก็ต้องมาดูว่าพื้นฐานครอบครัวสอนมาอย่างไร ถ้าครอบครัวสอนให้พอเพียง อดทนเก็บเงินจนกว่าจะได้ของสิ่งหนึ่งมา พอเด็กเหล่านี้โตขึ้นเขาก็จะมีเหตุผลก่อนอารมณ์ ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่ถ้าหากเด็กถูกฝึกว่าไม่ต้องอดทน อยากได้อะไรก็ได้เลย พอโตขึ้นความอดทนต่อการยับยั้งชั่งใจก็จะน้อย หมายความว่าถ้าลูกถูกเลี้ยงดูให้มีความอดทนกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ก็จะมี EQ หรือมีเหตุมีผลในการใช้เงินในอนาคต

ถ้าหากไม่สามารถควบคุมและเข้าใจในสภาพแวดล้อมได้ก็จะต้องตามวัตถุนิยมอยู่ตลอด จนกลายเป็นคนที่เรียกว่า “เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้”

ซึ่งนอกจากการเลี้ยงดูแล้ว อาจารย์คิดว่าสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งเร้าส่วนหนึ่ง เพราะคนสมัยนี้มักจะได้สิ่งต่าง ๆ ที่อยากได้รวดเร็วมากขึ้น เช่นถ้าอยากได้ข้อมูลมาทำรายงาน เราก็แค่ Search ใน Internet ไม่ต้องลำบากนั่งรถไปหอสมุด ไปค้นคว้าอะไรให้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน มันจึงลามไปถึงทัศนคติในการทำงานด้วย

แน่นอนว่าถ้าเราจะหางานเราก็อยากจะหางานที่รายได้ดี รวยเร็ว ๆ ง่าย ๆ ซึ่งคนลักษณะนี้แหละที่จะมีโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ เพราะอยากมีเงินมาก ๆ อยากรวยเร็ว ๆ ไม่อยากทำงานหนัก พร้อมที่จะออก ComfortZone ทันทีโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง

กระบวนการของแชร์ลูกโซ่

ต้องบอกก่อนว่าเราทุกคนก็มีความฉลาดคิดและตัดสินใจอยู่ในตัว ในกระบวนการของแชร์ลูกโซ่ ก็มักจะหาไอดอลมาสร้างภาพลักษณ์ โดยอาจจะเช่ารถหรู ๆ หรือเช่าบ้านหลังใหญ่มาหลอกลวงให้เราเชื่อใจ ทุกคนจะพยายามให้คุณเห็นว่า สถานะทางการเงินของอาชีพนี้ดี

โดยในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกการลงทุนก็จะมีข้อดีและข้อเสีย ไม่มีการลงทุนไหนมีแต่ข้อดีไปเสียทั้งหมด หรือมีแต่ข้อเสียไปซะทั้งหมด พวกมิจฉาชีพจะพูดแต่ข้อดี ให้เราเชื่อจนจิตไร้สำนึกของเราทำงาน แล้วความโลภก็จะเข้าครอบงำ จนคุณตัดสินใจเคลิ้มลงทุนไปด้วย

ซึ่งในปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ก็จะมาในรูปแบบของกองทุนบ้าง ขายตรงบ้าง คอร์สสัมนาบ้าง จึงต้องเช็คดี ๆ ก่อนลงทุน เพราะเราคิดว่าเราเราฉลาดแล้ว แต่อย่าลืมว่าพวกโจรก็มักฉลาดในการหาวิธีใหม่ ๆ มาล่อลวงอยู่เสมอ ซึ่งกว่าคุณจะรู้ตัวก็อาจจะเสียหายหลายบาทแล้ว ที่มิจฉาชีพพวกนี้กล้าทำบาป กล้าทำผิดกฎหมาย ก็เพราะความเชื่อเรื่องเงินที่ถูกปลูกฝังมาแบบผิด ๆ หรือบางคนก็อาจจะหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เช่น “ถ้าเราไม่ทำแบบนี้แล้วเราก็จะทำอะไรกิน”

ในบางคนอาจจะเคยโดนหลอกมาก่อน แล้วพยายามไปร้องเรียน จนทราบว่าเรื่องเดินยากหรือไม่เดินเลย กว่าอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องคดีก็เกือบหมดอายุความแล้ว จึงผันตัวมาเป็นบุคคลที่กระทำต่อ เรียกว่าเป็นการล้างแค้นก็ได้ แต่กลายเป็นการล้างแค้นกับคนที่เขาบริสุทธิ์ เพราะจัดการคนที่โกงเราไปไม่ได้

ธรรมชาติคนเราเวลามีอารมณ์เชิงลบมันต้องถูกระบายออก แต่ถ้าระบายออกไม่ถูกวิธี ก็จะมาในรูปแบบประมาณนี้ คล้ายกับพ่อแม่ที่บางทีเครียดกับงาน แต่ทำอะไรเจ้านายไม่ได้ เลยมาลงอารมณ์เชิงลบกับลูกแทน

การป้องกันและบำบัดเหยื่อแชร์ลูกโซ่

การป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ควรเป็นการบำบัดแบบเชิงลึก ด้วยการปลูกฝังลูกตั้งแต่เด็กเพื่อให้เท่าทันเรื่องเหล่านี้ ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของผลประโยชน์ ซึ่งจริง ๆ ผลประโยชน์มันก็มีข้อดีที่ทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เพราะเราก็ต่างแลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่มันจะเกิดความขัดแย้งก็ต่อเมื่อผลประโยชน์มันไม่ลงตัว หรืออีกฝ่ายโดนโกง

ในรายของการบำบัดเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เราต้องดูก่อนว่า เคสนั้นยอมรับได้หรือยังว่าตัวเองโดนโกง ในรายที่ยอมรับแล้ว ก็จะต้องมาปลูกฝังในการใช้เงินให้ถูกต้อง และพร้อมเผชิญความจริง รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและหาวิธีเยียวยาจิตใจในทางที่ดี

แต่มีบางรายที่สมองเสพติดการลงทุนประเภทนี้ไปแล้ว จึงยังไม่ทราบว่าตัวเองจะโดนโกง เนื่องมาจากมิจฉาชีพบางกลุ่มจะคืนเงินให้ในช่วงแรก ทำให้เกิดความเข้าใจว่าตนเองลงทุนถูกที่แล้ว หรือมิจฉาชีพบางคนอยู่ในจุดที่น่าเชื่อถือมาก ด้วยตำแหน่งใหญ่โต และประวัติดูดีไม่มีเรื่องเสียหาย ทำให้เกิดความมั่นใจจะลงทุนต่อเพราะจากตัวเองยังมีความฝันและยังมีความหวังอยู่ เข้าใจไปว่าระหว่างทางที่ประสบความสำเร็จมันก็ต้องมีอุปสรรค

ด้วยการใช้หลักการ Let Loss Run คือปล่อยให้การขาดทุนไหลไปเรื่อย ๆ เพราะมีความเชื่อเรื่องเงินว่าถ้าอดทนเดี๋ยวปลายทางก็จะต้องประสบความสำเร็จ

ในกลุ่มนี้ครอบครัวจะต้องหันมาให้ความร่วมมือทำ Family Counseling (กระบวนการให้ความช่วยเหลือทั้งครอบครัว ไม่เฉพาะสมาชิกคนใดคนหนึ่งที่ถูกกล่าวว่ามีพฤติกรรมที่มีปัญหา) กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในครอบครัวที่จะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข และให้กำลังใจกันและกัน ดังนั้นก็ต้องมาปรับตัวและหาวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก และเยียวยาวิธีคิดให้ถือเป็นการหาคุณค่าเชิงประสบการณ์ ว่าสิ่งที่เราพบเจอมามันให้คุณค่าทางประสบการณ์แก่เราแค่ไหน ถ้าหากวันนึงต้องไปเจอเครื่องมือทางการเงินผิด ๆ อีก ก็จะระวังมากขึ้น

อาจารย์ ดร. รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญการบำบัดเหยื่อแชร์ลูกโซ่

อาจารย์จบการศึกษา
ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา กลุ่มวิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ปัจจุบันปฎิบัติงานอยู่ที่ รพ.จุฬาเวชนักจิตบำบัดการเงิน แผนกจิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาเวช เป็นที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) และอดีต ที่ปรึกษาสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย

#แชร์ลูกโซ่ #บำบัดเหยื่อแชร์ลูกโซ่

#OOCA #นักจิตวิทยาการปรึกษา #ปรึกษาจิตแพทย์ #ItsOkayLetsTalk

ปรึกษาปัญหาคาใจและพูดคุยกับเราได้ที่ www.ooca.co

--

--