Ooca มารู้จักแอพพลิเคชั่นสำหรับปรึกษาทางจิตเวชกัน

Kanpassorn Eix
ooca
Published in
3 min readNov 16, 2017

**ขออนุญาตนำบทความของ แอดมินหนุ่มจากเพจ สาส์นจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ที่ทำการรีวิวการใช้ Ooca มาเก็บไว้ใน ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

คราวนี้แอดมินหนุ่มได้ถูกเชิญให้ไปทดสอบแอพที่ออกแบบมาให้กับผู้ป่วยจิตเวชเพื่อให้คำปรึกษาและรักษาผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เรียกได้ว่า ทันกระแส ทันสมัย อยู่ในเทรน และมาได้เหมาะสมกับเวลา ในที่นี้มันก็มีหลายเหตุผลนะครับที่เทคโนโลยีก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ รวมไปถึงเทคโนโลยีของการสื่อสารในส่วนของการรับส่งข้อมูลด้วย เยอะสิ่ง บอกได้เลยในฐานะที่แอดหนุ่มมาทางสายเทคโนโลยีมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว

Ooca คืออะไร แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการคำปรึกษาทางมือถือสมาร์ทโฟน ทั้ง iOS และ Android โดยที่เราสามารถขอคำปรึกษาได้ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาแตกต่างกันไปให้เลือก ต้องบอกก่อนนะครับว่าแอพนี้เหมาะสำหรับการให้คำปรึกษาเท่านั้น แน่นอนว่ารวมไปถึงการทำจิตบำบัดด้วยซึ่งหลายคนในเพจเข้าไม่ถึงเพราะหาจิตแพทย์ได้น้อยคนมากที่จะมีเวลามาทำจิตบำบัดให้ผู้ป่วย และส่วนใหญ่นักจิตวิทยาในโรงพยาบาลก็มีงานล้นมือพอกัน (อาศัยในการสังเกตุจากนักจิตวิทยาที่บำบัดแอดหนุ่มเองตารางก็แน่นเหมือนกัน แถมนัดได้แค่เดือนละครั้ง ถ้าพลาดก็ต้องหานัดกันใหม่ซึ่งยุ่งยากมาก (การทำจิตบำบัดแต่ละครั้งใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดีไม่ขาดไม่เกิน)) ใครที่รู้สึกว่า ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วเหมือนไม่ได้คุย คุยได้แป๊บเดียว อันนั้นก็ต้องต้องเห็นใจหมอด้วยเนาะ ขนาด รพ.ที่ผมไป วันหนึ่งๆ คิว 80 คนเป็นอย่างต่ำ กว่าหมอจะตรวจคนไข้ในเสร็จลง ward ได้ปาไปเกือบ 10 โมงก็มี คงมีแค่ผมแหละครับที่ทำสถิติอยู่กับหมอได้เกิน 20 นาที ที่เหลือเข้าไปไม่ถึง 30 วินาทีก็ออกมาแล้วก็มีนะ ส่วนใหญ่ไม่ถึงนาที และเฉลี่ยประมาณ 5–10 นาทีในรายที่อาการหนัก ปริมาณคนไข้เป็นตัวกำหนดเวลาตรวจด้วยครับ เพราะแบบนี้แหละครับทางผู้ก่อตั้ง ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ จึงมีเจตนารมณ์อยากให้คนเข้าถึงการรักษากับบุคลากรทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง อ่อ ทั้งนี้ยังรวมถึงคนที่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยนะครับ เยอะด้วยนะ ลูกเพจหลายคนนี่ยังเข็นไม่ขึ้นเลย อีกทั้งบางส่วนคนในบ้านไม่อยากให้ไปหาหมออีก สารพัดเหตุผลเลยที่ทำให้คนๆ หนึ่งพลาดโอกาสที่จะได้รักษาตัวเอง และในเมื่อทุกวันนี้เทคโนโลยีมันย่อโลก ก็ใช้ประโยชน์จากมันนั่นแหละ

มาเริ่มดูกันตั้งแต่เริ่มการติดตั้งเลยนะครับ ของผมสาย Android

สามารถติดตั้งจาก GooglePlay ได้เลย เพียงพิมพ์ค้นหาคำว่า Ooca ไป ใช้เวลาเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับความเร็วในการต่อเชื่อมด้วย)

ในแอนดรอยด์รุ่น 6 (Android M) ขึ้นไประบบความปลอดภัยของเครื่องจะขออนุญาตให้แอพเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่อง อย่าลืมกดอนุญาตด้วยนะครับ ทั้งกล้องและไมค์

เมื่อการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมาถึงในส่วนของการสมัครสมาชิก ใครสะดวกใจสมัครผ่าน Facebook ก็ได้นะครับง่ายดี ส่วนของผมขอใช้ผ่านไอดีของแอพเลยดีกว่า เลยสมัครผ่านระบบแบบดั้งเดิมไป (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าสมัครทางเฟซบุ๊คจะมีแจ้งเตือนไหม แต่ทางฝั่งอีเมลล์แจ้งเตือนแบบว่า ไม่พลาดนัดแพทย์แน่นอน)

การสมัครก็เหมือนกรอกประวัติคนไข้นั่นแหละครับ ไม่มีอะไรมาก แต่สำหรับถ้าใครสมัครแล้วผมอยากให้มาเติมประวัติตัวเองให้เต็ม 100% นะครับ มันจะมีแบบพวกยาที่เคยกิน ผู้ติดต่อฉุกเฉิน ข้อมูลโรคประจำตัว อะไรแบบนี้แหละครับ ซึ่งน่าจะสะดวกต่อแพทย์ที่ทำการรักษาเราอยู่ด้วย โดยเข้าไปแก้ไขในส่วนข้อมูลโปรไฟล์และข้อมูลสุขภาพได้เลยครับ นิดหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อนามสกุลจริงก็ได้นะครับ แต่เพศและอายุขอให้เป็นจริง (ส่วนนี้ขาดไปนิด น่าจะมีเพศทางเลือกให้เลือกด้วย)

หลังจากจัดการเกี่ยวกับข้อมูลของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็มาถึงการสร้างนัดครั้งแรกครับ จะมีให้เราลองคุยกับหมอก่อน 15 นาที หรือเลือกบำบัดเลย 30 นาที (ในอนาคตข้างหน้าจะปรับเป็นขั้นต่ำ 30 นาทีและ 60 นาทีตามลำดับ)

ในส่วนนี้ หากใครใช้งานครั้งแรก น่าจะลองคุยกันนะครับ คือการทำจิตบำบัดค่อนข้างใช้เวลานาน นานทั้งการทำแต่ละครั้ง และใช้จำนวนครั้งในการบำบัดเป็นประจำด้วย

ในเรื่องของการให้เลือกหัวข้อนั้น ตอนแรกผมไม่เข้าใจนักครับ แต่ก็ได้ลองเลือกไปตามปัญหาที่ตัวเองเจอ แต่กลายเป็นว่า ผมชอบระบบนี้มาก เพราะการเลือกหัวข้อที่เรามีปัญหานี้จะช่วยให้เราเลือกจิตแพทย์ที่มีความสามารถในเรื่องนั้นๆ ให้เราเลยอย่างอัตโนมัติ

ซึ่งของผมเรียกได้ว่า Best match ตรงความต้องการ 100% แบบไม่ต้องไปไล่ไถจอเลือกหาหมอหรือนักจิตวิทยาที่ตรงความต้องการกับเรา

ในส่วนนี้หากใครคิดว่าไม่พอใจหมอที่ระบบเลือกให้ อยากเลือกเป็นนักจิตวิทยา หรือเป็นหมอท่านอื่น เพศอื่น อันนี้แล้วแต่เลยนะครับ สามารถเลือกเองได้เลย เมื่อกดปุ่มเลือกแล้วก็จะเป็นการเลือกเวลาที่เราต้องการเข้าพบ สะดวกกี่โมงกี่ยามก็เอาตามที่ต้องการได้เลยครับ แล้วแอพจะคิวให้เราเองโดยอัตโนมัติ

ตารางการนัดหมายสามารถเช็คดูได้จากปุ่มเมนูของแอพได้เลยครับ ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนนั้น อย่างที่ว่า เลิกห่วงได้เลย เตือนในแอพมาเป็นระยะ อีเมลล์ก็มาพร้อมกัน และที่ควรทำคือ ควรเข้าแอพมารอหมอก่อนสัก 10 นาทีนะครับ (เหมือนนั่งรอคิว) คือถ้าเราไปไม่ตรงนัดหมออาจเลื่อนเอาคิวอื่นขึ้นมาแทนเราก่อน ซึ่งเราก็ต้องรอเป็นคิวถัดไปแทน

เรื่องแจ้งเตือนคิวนี่ยอมจริงๆ จะไปรำคาญไม่ได้นะครับ บางคน (อย่างผม) ขี้ลืมมาก

แนะนำอีกอย่างคือปิดหรือเข้าระบบป้องกันการแจ้งเตือนด้วยนะครับ เหมือนเข้าห้องตรวจต้องปิดโทรศัพท์นั่นแหละ ไม่อย่างนั้นการแจ้งเตือนต่างๆ ของโทรศัพท์จะรบกวนคุณมาก และทำให้การพูดคุยนั้นติดขัดด้วย

ในส่วนของการพูดคุยให้คำปรึกษาของหมอก็เป็นไปตามกระบวนการบำบัดที่เคยพบมา มีการซักถามพูดคุยในตอนแรก และเริ่มปล่อยให้ผู้ป่วยคุยเอง หรือระบายในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ อยากทราบ หรือต้องการเหตุผล อะไรก็ตามที่ตัวเองสงสัย สามารถปรึกษาได้เลยครับ ส่วนใครที่คิดว่ากลัวไม่คุ้มนี่ไม่ต้องห่วงเลยครับ หมอไม่ปล่อยให้เงียบนานเลย จะถาม หรือจะย้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลไปวินิจฉัยเช่นกัน และอย่างที่บอกไปขั้นต้น หากเราไม่รู้สึกว่าพอใจ หรือข้องใจ สามารถเปลี่ยนที่ปรึกษาได้นะครับ (ซึ่งผมไม่ค่อยแนะนำนัก)

มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำจิตบำบัด หรือไม่เคยพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาก่อนสักเล็กน้อย (ในกรณีที่ไม่เคยไปหาหมอเลยจริงๆนะ) คือในหลายครั้งที่ลูกเพจมักจะบอกผมว่าหมอดุ หมอไม่ฟัง หมอไม่พูดอะไรเลย ไม่ได้หมายความว่าหมอไม่ดูแลคุณนะครับ เขาสังเกตุคุณตั้งแต่แรกเห็นเลย ถ้าเป็นห้องตรวจทั่วไปก็ตั้งแต่คุณเดินเข้าประตูไปนั่นแหละครับ และหมอแต่ละคนก็มีสไตล์การตรวจเป็นของตัวเอง ในบางครั้งที่เรารู้สึกว่าหมอดุหรือไม่ฟัง นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ฟังหมอด้วยเช่นกัน (คืออยากฟังในสิ่งที่เราอยากฟัง) กลายเป็นแอนตี้การรักษาไปเลย

ส่วนการรักษาในครั้งนี้ หากให้ผมรีวิว (อย่าคิดมากนะหมอนะ) ผมว่าคุณหมอรับมือผมได้ดีครับ โดยปกติจิตแพทย์และนักจิตวิทยาประจำตัวผมต้องพลิกแพลงเทคนิคมากมายหลายอย่างมากที่จะมารับมือผมซึ่งเป็นพวกขี้สงสัย แถมรู้ดีไปทั่ว (ดูหน้าผมสิ สลดที่ไหนนั่น) ผมมันพวกอยากรู้ต้องถามครับ และถามใครไม่สู้ถามผู้ที่รู้ในเรื่องนั้นดีที่สุด เพราะฉะนั้น ในการทำจิตบำบัด พูดให้มาก ถามให้ไว อย่าไปนั่งก้มหน้าก้มตาเศร้าอยู่อย่างนั้น ผมเข้าใจว่ามันยาก แต่อยากให้มีความอยากหรือกระหายให้ตัวเองดีขึ้นบ้าง ขอกระตือรือล้นหน่อยแค่ช่วงนั้นแหละ คิดซะว่าทำเพื่อตัวเองนะครับ

และอีกอย่าง ในการรักษาครั้งแรก อาจเป็นแค่เหมือนการทำความรู้จักกันเท่านั้นก็ได้นะครับ เพราะความจริงแล้วการทำจิตบำบัดนั้นใช้ระยะเวลานานจริงๆ (อย่างผม 1 ครั้งต่อเดือน ใช้เวลา 60 นาทีต่อครั้ง กินเวลา 1.5 ปี) การรักษาจริงจังอาจเริ่มกันในครั้งถัดๆ ไป

ในช่วงท้ายของการรักษาสายของคุณหมอได้หลุดไปครับ ซึ่งก็สังเกตุมาเป็นพักๆ แล้วเหมือนกันว่าสัญญาณไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (ของผมเป็นไฟเบอร์ ตัดปัญหาความเสถียรทิ้งไปได้เลย) แต่ระบบช่วยเหลือหลังบ้านทำงานเร็วมาก จิ้มถามปุ๊บตอบปั๊บประสานงานทันที ขอชื่นชมครับ (อ่อ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของเราก็ควรเสถียรในระดับหนึ่งนะครับ เพราะต้องพูดคุยแบบ Face to Face ถ้าใครใช้ 3/4G ค่าใช้จ่ายก็ตามแพ็คเก็จนะครับ และควรจะมีความเร็วสูงในระดับหนึ่งนะ)

ในการรักษากับแอพ Ooca นั้น เน้นเรื่องการทำจิตบำบัดมากกว่านะครับ ซึ่งถ้าหมอหรือนักจิตวิทยาเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับยา หมอก็จะแนะนำโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคีียงกับที่อยู่ของเราให้อีกที ซึ่งหมอที่รักษาผมนั้นก็บอกมาเหมือนกันว่าถ้ารักษากับหมอต่อ หมอจะพยายามลดยาลง (อย่างที่รู้ๆ นะครับว่าแอดหนุ่มกินยามากขนาดไหนในแต่ละวัน หมอทำหน้ายุ่งเลยตอนได้ยินรายชื่อยาของแอด)

ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นคิดเป็นแบบ Air time ครับ ตามเวลา ตอนนี้จะเป็น 15 นาที และ 30 นาทีตามลำดับ และสามารถคุยได้ต่อเนื่องโดยคิดค่าบริการเป็นนาทีหลังจากหมดเวลาเหมาจ่ายไปแล้ว แต่เท่าที่พูดคุยกับผู้ก่อตั้ง ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ มาคาดว่าจะปรับไปเป็น 30 และ 60 นาทีแทน (ซึ่งผมก็เห็นด้วย ขนาด 60 นาทีกับนักจิตวิทยาตัวเป็นๆ ต่อหน้าผมในครั้งแรก ยังไม่ได้อะไรเลยครับ เหมือนไปทำความรู้จักกันเฉยๆ) และค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับผู้บำบัดแต่ละคนด้วย (ไม่เท่ากัน) ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองใช้ (Close Beta) มีส่วนลดให้ 20% ครับ และอาจยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านบริการได้ในอนาคตต่อไป

ข้อดีของแอพคือสะดวกครับ สะดวกจริงๆ ให้ความรู้สึกสะดวกกับผู้ใช้มากไม่ว่าจะเรื่องส่วนติดต่อผู้ใช้ (Interface) การเลือกช่วงเวลา การจัดหาบุคลากร การแจ้งเตือน การให้บริการเบื้องหลัง คือรู้สึกดีกับแอพและบริการมาก แถมไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่มีการเดินทาง ไปต้องไปนั่งรอคิว ไม่ต้องไปเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายยิบย่อยจิปาถะที่เริ่มนับตั้งแต่ออกจากบ้าน

ส่วนข้อเสียก็อาจมีเรื่องของระบบเล็กน้อยที่แก้ไขได้ไม่ยาก (ได้ให้ความเห็นไปแล้วส่วนหนึ่ง) และราคาที่อาจสูงเกินไปสำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่สำหรับคนที่ไปโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้วจะเห็นได้เองว่าราคาถูกกว่าแน่นอนครับ

https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2/ooca-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/1953879888225744/

--

--