Strong Willed Child — แท้จริงไม่ใช่เด็กดื้ออย่างที่เข้าใจ

Kanpassorn Eix
ooca
Published in
3 min readAug 12, 2017

ลูกของคุณกำลังมีพฤติกรรม Strong Willed Child รึเปล่าคะ? คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงนึกสงสัยว่า Strong Willed Child ที่ว่านี้คืออะไร? แล้วที่หลาย ๆ คนที่บอกว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กเจ้าอารมณ์ หรือเด็กเจ้าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ วันนี้เรามาคุยกับ อาจารย์ เจนนิศา มาดาน นักจิตวิทยาการปรึกษา กันดูค่ะ

  1. Strong Willed Child คืออะไร?

Strong Willed Child หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าเด็กหัวดื้อ คือเป็นเด็กที่มีลักษณะนิสัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากมีพลังในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และมีพฤติกรรมต่อต้านต่อพ่อแม่และคนรอบตัว

จริง ๆ แล้วการต่อต้านนี่ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องไม่ดี เพราะมันทำให้รู้ว่าเด็กรู้จักการใช้ความคิดของเขา แต่เราจะต้องเลี้ยงลูกให้เข้าใจว่าเขาต้องอยู่ในลิมิตของกฎกติกาของครอบครัวและสังคม

2. สาเหตุของการเกิด Strong Willed Child?

พฤติกรรมเด็กหัวดื้อนี้ สาเหตุส่วนมากจะเกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง

เช่น ในตอนที่ลูกเป็นเด็ก ๆ พ่อแม่ก็จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ลูกร้องขอ แต่พอลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่ไม่กลับได้ลดความตามใจลง และเพิ่มการให้เหตุผลต่อลูกให้มากขึ้นตามที่ควรจะเป็น เด็กก็เลยจะเคยชินกับการได้ทุกอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ พอเด็กไปใช้ชีวิตประจำวันก็จะคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งไปโดยปริยาย

อีกทั้งยุคสมัยก็เปลี่ยนไปมากขึ้น เช่น ผู้ปกครองทำงานในปัจจุบันนี้ต้องทำงาน ด้วยภาระที่มากมาย จึงไม่มีเวลามากพอที่จะเล่นและพูดคุยกับลูก เลยทดแทนด้วยการปล่อยลูกให้ทำตามใจ เช่นถ้าลูกอยากเล่นไอแพดเป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่ห้ามปรามเพราะไม่อยากทะเลาะกับลูก การตามใจที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดของพ่อแม่และเป็นการแก้ความเหนื่อยล้าของผู้ปกครองเอง ผลลัพธ์เลยตกอยู่ที่ลูกที่ไม่ได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการใช้เหตุผล จึงมีลักษณะนิสัยเป็นเด็กหัวดื้อตามที่ใครหลาย ๆ คนเรียกกัน เพราะด้วยเด็กจะซึมซับการเรียนรู้จากประสบการณ์ แน่นอนว่าเด็กยังไม่มีประสบการณ์มากพอเท่าพ่อแม่

เราจึงต้องสอนเค้าให้เขาพัฒนาวุฒิภาวะ และเรียนรู้ถึงผลที่จะตามมา อย่างเช่นผู้ใหญ่รู้อยู่แล้วว่าถ้าเราขับรถเร็ว เราก็จะเจอตำรวจจับ

แต่เด็กยังไม่ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ เพราะสมองส่วนการใช้เหตุผลยังไม่พัฒนามากพอ เด็กจึงใช้อารมณ์ในการจัดการปัญหาต่าง ๆ มากกว่า

3.พฤติกรรมไหนที่ชัดเจนว่าลูกเป็น Strong Willed Child?

พฤติกรรมของเด็กหัวดื้อก็คืออย่างเช่นเวลาลูกโยนบอลในบ้าน แล้วพ่อแม่บอกให้เก็บเดี๋ยวนี้! เล่นไม่ได้! เด็กก็จะต่อต้านทันที หรือมีตั้งคำถามว่า ทำไมทำไม่ได้? คุณเป็นใครทำไมมาสั่งเรา? เพราะเด็กไม่สนใจว่าพ่อแม่จะโกรธหรือไม่ เขาก็ยังจะทำต่อไปเพราะเขารู้สึกพอใจ มีความสุขที่จะทำ เราต้องพยายามทำให้เขารับรู้ว่าถ้าเขาแบบนี้แล้วจะมีผลอะไรตามมา อย่างที่บอกว่าสมองส่วนเหตุผลของเด็กยังไม่พัฒนามากพอ เขาแค่อยากจะทำ และพอใจที่จะทำแบบนั้น
เด็กๆ กำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับพฤติกรรมตัวเอง เขาจึงพยายามที่จะต่อต้านอย่างมากกับอะไรก็ตามที่มาขัดกับความสุขของเขา เด็กจะขอมีเสรีภาพในการเลือกที่จะทำเองได้

จริง ๆ แล้วเด็กเหล่านี้ค่อนข้างมีความคิดสร้างสรรค์สูง แต่การที่เราไปขัดเขามันจึงดูเหมือนการไปต่อต้านการพื้นที่การแสดงออกของเขา โดยเฉพาะเมื่อผู้ปกครองใช้อารมณ์ เด็กก็จะมีอารมณ์ตามมา

เขาจึงบอกว่าอารมณ์ก็เหมือนหวัด คนอยู่ข้าง ๆ ใกล้ ๆ จะติดกันง่าย ถ้าหากเรายิ้มแย้มและสร้างบรรยากาศที่ดี เด็กก็จะมีความสุขและยิ้มแย้ม แต่ถ้าหากเราทำตรงกันข้ามด้วยการใช้อารมณ์ ใช้ความโกรธกับเด็ก ก็จะยิ่งเป็นการปลูกฝังเด็กให้เป็นแบบนั้น

4.เด็กที่มีภาวะ Strong Willed Childส่วนมากมีอายุเท่าไหร่?

เราจะพบเจอได้จากเด็กอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มมีความสุขชอบและจะไม่ชอบบางสิ่งบางอย่าง

สังเกตว่าเมื่อตอนเขาเดินได้ ถ้าเราพยายามจะไปอุ้มเขาจะไม่ยอม ร้องไห้ เพราะเขาอยากมีเสรีภาพในการมีความสุข ตัวอย่างเช่นการปีนขึ้นบันได พ่อแม่รู้ดีว่ามันเป็นอันตราย แต่เด็กยังไม่รู้ว่าการปีนป่ายขึ้นไปแบบนั้นจะมีโอกาสตกลงมาบาดเจ็บ เขาแค่รู้ว่าเขามีความสุขที่จะทำแบบนั้น

ทีนี้ถ้าเราจะเป็นผู้ปกครองที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้โดยที่ไม่ไปสั่งให้เขารู้สึกอึดอัดคือต้องมีการตกลงกันอย่างหนักแน่นว่า ถ้าสั่งว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ แต่ไม่ใช้อารมณ์ในการห้ามในสิ่งที่เด็กทำอยู่

5.Strong Willed Child ถือเป็นพฤติกรรมร้ายแรงหรือไม่?

พฤติกรรมของเด็กจะร้ายแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการรับมือของผู้ปกครอง เช่น หากเด็กทำผิดแล้วใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก เด็กก็จะรับรู้ว่าการทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ ทีนี้พอเด็กทะเลาะกับผู้อื่นก็จะไปใช้ความรุนแรงกับคนรอบตัวของเขา เช่น เพื่อน คุณครู หรือวันหน้าหากเขามีครอบครัวเขาก็จะทำร้ายคนในครอบครัวเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ทำเช่นเดียวกัน

6. ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่ออย่าง 13–17 ปี หากมีพฤติกรรมดังที่กล่าวมา จะถือเป็นภาวะฮอร์โมนร่วมด้วยหรือเปล่า?

มีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะอารมณ์บางส่วนก็มาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาจจะมีทำให้อารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น ร้องไห้ง่ายขึ้น อยากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อโตไปเรื่อย ๆ หากพ่อแม่และคนรอบข้างสร้างสภาพแวดล้อมให้เข้าใจเค้า ให้เวลาเค้าปรับเปลี่ยนตัวเอง สอนเหตุผลด้วยความรักความเข้าใจ พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเพราะพฤติกรรมของคนเรามักเกิดจากประสบการณ์ที่ได้เจอ

7.การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เกี่ยวข้องกับการเกิด strong willed child หรือไม่?

การเลี้ยงดูถือเป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดพฤติกรรม strong willed child เพราะทุกอย่างที่เด็กจะทำก็คือเงากระจกของพ่อแม่

จริง ๆ แล้วการที่เราจะเป็นผู้ปกครองนี่จะต้องมีความพร้อมทั้งกายทั้งจิตใจ ให้รู้จักความพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป เข้าใจได้ เวลามีลูก เราก็อยากจะให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อทดแทนสิ่งที่เราขาดตอนเด็ก ๆ เราก็เลยไปสร้างความคาดหวังและปั้นชีวิตให้เขาโดยไม่รู้ตัว โดยเราลืมไปว่าเด็กเขาก็ควรจะมีเสรีภาพและมีสิทธิเลือก เช่น ลูกไม่ชอบเปียโนแต่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียน พอเรียนไปก็ไม่มีการพัฒนาขึ้น พ่อแม่ก็โกรธลูก มันกลายเป็นว่า เราตั้งเงื่อนไขไปแล้วว่าเขาจะถูกยอมรับจากพ่อแม่หากเขาทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้ เด็กก็เลยจะทำตัวให้คนอื่นพอใจตลอดเวลา เฉกเช่นเดียวกันกับการเกิดพฤติกรรม หัวดื้อ เพราะพ่อแม่ตามใจและไร้เหตุผลกับลูก นอกเหนือจากนั้นพฤติกรรมยังมีผลจากสภาพแวดล้อม ทั้งด้านสื่อรอบตัวที่มีเนื้อหารุนแรงมากขึ้น การบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีวิจัยว่าอาหารมีผลต่ออารมณ์ อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนก็มีส่วนสำคัญต่ออารมณ์ เช่นหากนอนน้อยไป เซโรโทนิน หรือ สารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นจะมีการหลั่งน้อยลงทำให้เด็กมีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย เฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

8.หากพบว่าลูกมีพฤติกรรม Strong Willed Child จริง ๆ จะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเป็น Strong Willed Child ไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้เป็นภาวะรุนแรงหรืออะไร เพียงแค่เป็นลักษณะพฤติกรรมหนึ่งของเด็กเท่านั้น วิธีรับมือกับอารมณ์ของลูกจึงควรไปในทิศทางบวก

1.อย่าใช้อารมณ์ในการจัดการปัญหาหรืออารมณ์ในการเลี้ยงลูก
หากรู้สึกว่าเรามีความเครียดในการรับมือกับลูกก็อาจจะหาทางระบายออกด้วยการ ไปออกกำลังกาย หรือใช้ กระสอบต่อยมวยในการระบายอารมณ์ เพื่อเป็นตัวอย่างสอนให้ลูกเข้าใจได้ว่า มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะมีอารมณ์บ้าง แต่เราควรจะระบายอารมณ์ด้วยวิธีที่ถูกต้อง

2.ถ้าหากลูกต่อต้านจริง ๆ เราก็ต้องมีตัวเลือกให้กับลูก รู้จักกับผลลัพธ์ตามมา
อย่างเช่นว่า ถ้าหากเค้าไม่ได้ทำ A ผล B จะตามมานะ หรือว่าถ้าหากเค้าทำ C ผล D จะตามมา เช่น “แม่ให้ลูกเลือกนะว่าลูกจะเก็บของเล่น แล้วครั้งหน้าเรามาเล่นกันใหม่ หรือเลือกที่จะไม่เก็บของเล่น แต่แม่จะของดไม่ให้ลูกเล่นของเล่นในครั้งถัดไปนะ” เพื่อให้เขาคิดและให้เลือกพฤติกรรมที่จะทำและแก้ปัญหาได้ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างวุฒิภาวะให้ลูกเราเองด้วย

9.ถ้าอดทนกับพฤติกรรมของลูกไม่ไหวแล้ว เหนื่อยกับการรับมือกับลูก เราควรทําอย่างไรดี?

หากเด็กมีอารมณ์งอแง ต่อต้าน ดื้อดึงไม่ฟังเหตุผล ให้เราเข้าใจก่อนว่า หากเราพูดกับเด็กในขณะที่เขามีอารมณ์นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เขายังจะต่อต้านเรามากขึ้น เราควรจะหามุมให้ลูกร้องไห้ให้เต็มที่ แล้วก็กอดลูกจนลูกสงบลง

โดยในเด็กแต่ละคนอาจจะใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน เมื่อลูกสงบลงแล้ว เราค่อยพูดเรื่องเหตุผลและต่อรองกันกับลูก และถ้าหากพ่อและแม่เหนื่อยมากก็สามารถหยุดพักได้ โดยอาจจะออกไปหาเวลาสงบจิตใจในห้องน้ำ หรือที่อื่น ๆ และให้ใครมาดูแลลูกแทนก่อนถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่อยากให้คิดว่าการทำแบบนั้นเป็นการทอดทิ้งลูก เพราะจิตใจคนเลี้ยงดูก็สำคัญเช่นกัน และ

อยากแนะนำให้พ่อแม่มาเจอนักจิตวิทยา มาพุดคุยแลกเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูที่ดีให้การดูแลเด็ก หรือมาระบาย ผ่อนคลายจากภาวะความเครียดจากการเลี้ยงลูก เพราะบางทีบางการกระทำเราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรานี่แหละที่เป็นตัวอย่างให้แก่ลูกเอง พ่อแม่จึงต้องมาปรับวิธีการเลี้ยงดูใหม่ เพราะการเลี้ยงเด็กถือเป็นเรื่องละเอียดละอ่อนมากและเด็กเดี๋ยวนี้มีปัญหาด้านจิตใจกันมากขึ้น

ปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูก ได้กับ อาจารย์ เจนนิศา มาดาน นักจิตวิทยาการปรึกษา

อาจารย์เจนนิศา จบการศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษา (MA Counseling Psychology) จาก Assumption University and Pacific Graduate School of Psychology ( Palo Alto, USA) อาจารย์มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งการทำงานร่วมกับวัยรุ่นที่มีประวัติทำร้ายตัวเอง มีอารมณ์แปรปรวน มีประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เด็กที่รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้น (ADHD) และ อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมอื่นๆมีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้ป่วย โรคมะเร็งและ ติดเชื้อเอชไอวี สามารถให้คำปรึกษาผู้ใหญ่ที่ต้องการการบำบัดเป็นภาษาไทยและคู่รักต่าง วัฒนธรรมที่ต้องการการบำบัดในทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำวิทยาลัยอัสสัมชัญ

#StrongWilledChild #เด็กหัวดื้อ #วิธีการเลี้ยงลูก #OOCA #นักจิตวิทยาการปรึกษา #ปรึกษาจิตแพทย์
ปรึกษาปัญหาคาใจและพูดคุยกับเราได้ที่ www.ooca.co

--

--