OpenCurriculum สังคมแห่งการแบ่งปัน

Au Jakkarin Burananit
insKru
Published in
2 min readNov 9, 2017

--

หลังจากใช้เวลาเรียนรู้ เข้าใจปัญหาการศึกษาไทยอยู่ สองปี ผมก็เข้าไปคุยกับพี่คนหนึ่งว่า

“จากที่ศึกษาจากต่างประเทศ และของไทยเองเทียบเคียงกัน พบว่าของคนไทยเรามีแชร์น้อยเหลือเกิน เพราะไอเดียส่วนใหญ่ ผมมักจะออกไปคนเจอจากต่างประเทศ ทั้งที่เอาจริงๆนะ ครูไทยก็มีของดีอยู่เยอะ แต่ไม่ค่อยแชร์กัน”

ก็เลยเป็นที่มาว่าเราก็เริ่มศึกษาลงลึก เกี่ยวกับเรื่องการจะทำยังไง ให้ครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ครั้งนี้โจทย์ของพวกเราเจาะจงมากขึ้น ก็ออกเดินทางไปตามงานที่มีครู ที่ไหนมีครูก็ถามเบื้องลึกเบื้องหลังหมด สิ่งที่พบเจอนั้นมีดังนี้

  1. ครูโรงเรียนขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร ตัวอย่างเช่นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียน 80 คน จะมีครูตามกฎกระทรวงได้ประมาณ 5 คน พบว่าครูไม่พอกับวิชาที่นักเรียนต้องเรียน ซึ่งก็จะแก้ปัญหาด้วยการใช้ โทรทัศน์ทางไกล (DLTV) หรือบ้างก็พยายามหาสื่อ VDO ที่มาเปิดในห้องได้ หากครูไม่อยู่ไปอบรม หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ไปเลย ก็จะพบปัญหาที่หลายคนเจอ นักเรียนเยอะมากจน ไม่สามารถถ่ายทอดได้ทั่วถึงนัก วิชาคณิตศาสตร์ จะมีเพียงนักเรียน 10% เท่านั้นที่ตามเนื้อหาทันจริงๆ
  2. ครูก็ต้องการเทคนิคการสอน แต่บ่อยครั้งสิ่งที่ผมพบคือ ครูไม่แลกเปลี่ยนกันในโรงเรียน มากกว่านั้นเคยเจอความคิดของครูที่บอกว่า ‘จะแลกเปลี่ยนไปทำไม ผลงานของเราก็เก็บไว้สิ’ เพราะครูนั้นต้องทำวิทยฐานะครู แต่ถึงกระนั้น ในมุมหนึ่งผมก็ยังเจอครูที่พร้อมจะแลกเปลี่ยน เล่าเรื่องราวของตัวเองผ่าน Social Media อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
  3. ครูก็ต้องการมุมมองของคนสาขาอื่น ใกล้ตัวสุดครูดู ติวเตอร์ด้วยนะ เพราะตนเองสอนหลักการแล้ว ในบางครั้งเทคนิคของติวเตอร์ก็ช่วยให้นักเรียน จดจำและเข้าใจได้ง่ายขึ้น และนอกวงการของครูในโรงเรียน ก็ยังมีกลุ่มคนที่ทำเกี่ยวกับการเรียนรู้ แล้วอยากหาที่แลกเปลี่ยนความรู้เช่นกัน เช่น กลุ่มออกแบบบอร์ดเกม กลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องสังคม ฯลฯ

ผมมองว่าหากเราจะเป็นแบบนี้ต่อไป เหมือนเรานับหนึ่งใหม่ทุกวัน ความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ไม่ได้ถูกต่อยอด เพื่อพัฒนาเรียนรู้ต่อ ครูรุ่นใหม่ก็เริ่มใหม่หมด ครูรุ่นเก่าเก๋าๆ ก็จากไปพร้อมกับความเก๋าของตัวเอง จากวันนั้นเราเลยคุยกันว่าจะทำพื้นที่แลกเปลี่ยน ถ้าภาษาครูจะเรียนว่า PLC (Professional Learning Community) แต่สำหรับผมภาพของพวกผม PLC จะถูกเรียบเรียงและถ่ายทอดออกไป เพื่อให้ครูสามารถมาต่อยอดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ถามว่ามีใครออกมาทำอะไรแบบนี้ในเมืองไทยไหม ถ้าจะมองว่ามีมันก็มี มีการตั้งกระทู้บนเว็บไซต์ เพื่อให้ครูมาคุยกัน แต่มันก็มีข้อจำกัดเหมือนเราโพสต์ลงเฟสบุ๊ค คือไม่นานมันก็หายไป ข้อมูลที่ไม่ถูกจัดเรียงให้เป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถใช้ประสิทธิภาพของมันได้อย่างเต็มที่

OpenCurriculum จึงถูกออกแบบมาเพื่อ ผลักดัน ให้ครูหรือบุคคลจากสาขาอื่น มาแลกเปลี่ยนกระบวนการสอน โดยเน้นในรูปแบบของกิจกรรม หรือ Active Learning และออกแบบให้เรียบง่าย ในการหาไอเดียไปปรับการสอน ซึ่งจะช่วยให้ครูสอนในห้องเรียนได้มีความหลากหลายมากขึ้น แล้วลึกๆในใจของผมเองนั้น อยากเปลี่ยน Mindset ของคนไทย หรือคำสบประมาทว่า คนไทยไม่ค่อยแชร์สิ่งที่ตัวเองรู้ให้กันและกัน อยากให้เกิด Mindset ที่ว่าการแชร์ทำให้ตัวเราและสังคมเติบโตไปพร้อมกัน

“หากภูเขาหิน ไม่ยอมกร่อนตัวเองให้กลายเป็นดิน เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ ภูเขาหินก็ต้องอยู่ยิ่งใหญ่แล้วเดียวดาย แล้วจะมีประโยชน์อันใดเล่า ถ้าความยิ่งใหญ่นั้น ไม่มีใครจะร่วมชื่นชม”

OpenCurriculum

https://www.facebook.com/OpenCurriculumThailand/

--

--

Au Jakkarin Burananit
insKru

Co-Founder&CTO at EdVISORY, Alumni of Teach for Thailand. Education|Technology|Design