ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมอบรมความรอบรู้ด้านข้อมูล เพื่อหนุนเสริมธรรมาภิบาลป่าไม้
ลิวรรณ ศรีสุทยะคุณ จากเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง จังหวัดชุมพร (เครือข่ายป่ารักน้ำชุมพร) ไม่เคยเรียนรู้การนำเสนอภาพและชุดข้อมูลมาก่อน ได้เข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรทักษะความรอบรู้ด้านข้อมูล (Data Literacy Training Program) ของ East-West Management Institute (EWMI) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกับตัวแทนภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมและสำเร็จการอบรมอีก 11 คน นับเป็นครั้งแรกที่ลิวรรรณพัฒนาชุดข้อมูลในการนำเสนอ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลกรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชนในตำบลบางหมาก
หลักสูตรอบรมทักษะความรอบรู้ด้านข้อมูลของ EWMI นี้ ประยุกต์จากหลักสูตรเกียรติบัตรทักษะความรอบรู้ด้านข้อมูลของธนาคารโลก และปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลาย ผู้เข้าอบรมไม่ว่าจะภาคส่วนไหนก็ตามจะได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะการอ่าน เข้าใจ และสื่อสารด้วยข้อมูลและข้อมูลเชิงลึก
สำหรับประเทศไทยได้ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นตัวแทนจากภาคป่าไม้ เช่น ป่าชุมชนบ้านโนนตูมถาวร เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ เครือข่ายป่าพลเมืองจังหวัดชุมพร สภาองค์กรชุมชนนครเชียงใหม่ ขบวนองค์กรชุมชนเชียงใหม่ มูลนิธิรักษ์ไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า และเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตก
ลิวรรณได้รวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ของสมาชิกชุมชนหมู่ 9 ตำบลบางหมาก และสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นที่ดินรัฐ เช่น ปลูกบ้าน ปลูกปาล์ม ปลูกมะพร้าว เป็นต้น โดยสมาชิกชุมชนมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินรัฐ เช่น น.ส.ล. น.ส.3 ก. น.ส.3 และ ส.ค.1 แต่มีสิทธิการเข้าถึงสิทธิที่รัฐจัดให้แตกต่างกัน และมีโอกาสยื่นจดเป็นโฉนดที่ดินได้ไม่เท่ากัน โดยหนังสือรับรองเหล่านี้ออกโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิแก่ผู้ครอบครองที่ดิน
นอกจากนี้ ลิวรรณยังใช้ข้อมูลนี้พัฒนาเรื่องเล่าโดยใช้ชื่อว่า สิทธิชุมชนของคนอยู่ป่าในหมู่ 9 ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร หลังจากวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ครอบครองที่ดินร้อยละ 45.5 เป็นสตรี และสมาชิกในชุมชนร้อยละ 92 มีเอกสารสิทธิประเภท น.ส.ล. ที่ไม่มีกรรมสิทธิเต็มที่ในที่ดิน ต้องต่อสัญญากับภาครัฐทุก 5 ปี และไม่มีสิทธิขอออกโฉนดได้ ข้อมูลเชิงลึกนี้สามารถนำไปช่วยสนับสนุนการปกป้องสิทธิและส่งเสริมการเข้าถึงบริการของภาครัฐ
“เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเทคนิคการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลรูปแบบไหนบ้าง ตั้งแต่ได้เข้าอบรม ทำให้รู้ว่า ควรตั้งต้นเก็บข้อมูลหรือรู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่เป็นแบบไหน ควรนำไปวิเคราะห์อย่างไร เพื่อให้ใช้งานได้จริง” ลิวรรณกล่าว
นอกจากนี้ เธอวางแผนที่จะนำทักษะใหม่นี้ไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นสตรีที่เป็นเจ้าของที่ดิน และจะนำเสนอข้อมูลด้วยภาพนี้ เพื่อใช้สำหรับการขอเงินทุนสนับสนุนโครงการในเวทีที่ประชุมสภาองค์การชุมชนตำบลประจำปีของจังหวัดชุมพร
ลิวรรณสำเร็จหลักสูตรอบรมนี้ พร้อมแรงบันดาลใจที่มุ่งมั่น “เราอยากจะนำไปต่อยอดในโครงการค่ะ แล้วไปนำเสนอกับชาวบ้านให้เขาได้รู้เรื่องสิทธิและบริการของภาครัฐมีอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมให้รู้ว่าทำไมถึงเข้าไม่ถึงบางสิทธิ” ลิวรรณกล่าว
อาภาภรณ์ ทองเสงี่ยม เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย มีทักษะการรวบรวม จัดระเบียบ และนำเสนอข้อมูลก่อนเข้าร่วมการฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่เคยนำเสนอข้อมูลด้วยรูปภาพ อาภาภรณ์ต้องการสื่อสารข้อมูลเชิงลึกด้วยภาพกับเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองโดยใช้ฐานข้อมูลชุมชนเครือข่ายค้าไม้ที่มี เพื่อชี้แจงสิทธิของเกษตรกรรายย่อยในการปลูกและขายไม้ตามสิทธิที่ได้รับรอง ระหว่างการฝึกอบรม เธอได้จัดทำแดชบอร์ดข้อมูล (data dashboard) นำเสนอข้อมูลต้นไม้จำแนกตามขนาดความโตของหมู่บ้าน 7 แห่งตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ (ตามภาพด้านล่าง)
อาภาภรณ์ได้แรงบันดาลใจจากหลักสูตรอบรมนี้เช่นกัน โดยเฉพาะแนวคิดและข้อเสนอแนะที่ได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าอบรมท่านอื่น ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการนำเสนอด้วยข้อมูล เธอบอกว่า “การอบรมครั้งนี้ทำให้รู้จักเทคนิคการจัดการข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้สร้างภาพข้อมูลหลากหลายวิธีมาก ได้เรียนรู้ว่าจะเลือกใช้เครื่องมืออะไรเพื่อดึงความน่าสนใจของข้อมูลได้อย่างไร”
เธอวางแผนที่จะปรับใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้มาวางภาพการสื่อสารในรายงานโครงการ แทนการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบตารางที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
จากประสบการณ์ด้านข้อมูลของผู้เข้าอบรมนั้นมีความแตกต่างกัน สำหรับเสกสรร ชัญถาวร ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดระนอง หลักสูตรอบรมครั้งนี้ให้โอกาสให้เขาได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ เช่น Datawrapper Tableau และ กูเกิล ชีต (Google Sheets) ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาใช้เพียงกระดาษฟลิปชาร์ทในการเล่าเรื่องและนำเสนองานด้วยโปรแกรม PowerPoint เท่านั้น
“สิ่งแรกและสำคัญ คือ โปรแกรมนี้ให้องค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ” เสกสรรกล่าว “ผมได้เรียนรู้ว่า แท้จริงยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีประโยคที่จำได้คือ ต้องทำการสืบค้นและจงเชื่อมั่นว่า ต้องมีข้อมูลที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ต้องไม่จำนนหากยังไม่พบข้อมูล”
สำหรับผลงานที่ได้จากการฝึกอบรม เสกสรรผลิตเรื่องเล่าที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเรื่อง เต่าน้อย…ไหวไหม บอกเล่าการจัดการขยะทางทะเลของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยบรรยายให้เห็นภาพเกาะเต่าในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แต่เผยข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาขยะสะสม และผลกระทบที่ทวีคูณเมื่องบประมาณไม่เพียงพอและการจัดการขยะขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า เตาเผาขยะแห่งเดียวของเกาะเต่าไม่เพียงต่อการกำจัดขยะ เนื่องจากปริมาณขยะต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารถึงหกเท่าในรอบหกปี
เสกสรรกำลังจะนำเสนอข้อมูลนี้ต่อเทศบาลเกาะเต่าและชุมชน เพื่อการพัฒนาร่างเทศบัญญัติว่าด้วยการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม
“ผมต้องเตรียมนำเรื่องนี้ไปใช้จริงในพื้นที่เกาะเต่า ภายใต้โครงการริเริ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางการเงินระดับโลกของ UNDP (BIOFIN) การฝึกอบรมนี้เหมือนให้ผมได้ฝึกซ้อม แล้วก็ได้เตรียมข้อมูล ผลิตภาพข้อมูลออกมา และมีการทดลองนำเสนอและลองฟังข้อเสนอแนะ รู้สึกนำไปปรับใช้ได้ผลจริงมาก” เสกสรรกล่าว มากไปกว่านั้น เขายังรู้สึกว่ามีแรงกระตุ้นให้ริเริ่มบล็อกบน Medium.com และใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างภาพข้อมูล
หลักสูตรอบรมฯ นี้ประกอบด้วยหกส่วนหลักสำคัญจะใช้เวลาอบรมทั้งสิ้นเป็นเวลาสามเดือน เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้การอบรมสัปดาห์สุดท้ายล่าช้า จากกำหนดการเดิมซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่สำนักงานรีคอฟ หลักสูตรนี้ได้ดำเนินการอบรมเสร็จสิ้นแล้วในเมียนมาและกัมพูชา และหลักสูตรคล้ายกันนี้สำหรับการอบรมภาคประชาสังคมด้านป่าไม้ในเวียดนามเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
ผู้เข้าร่วมในประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของทักษะความรอบรู้ด้านข้อมูลอย่างชัดเจน ถึงแม้ระดับทักษะของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ทุกคนยังรู้สึกได้ว่าหลักสูตรนี้มีประโยชน์แก่พวกเขา ด้วยเหตุนี้เอง ประโยชน์สำคัญของการฝึกอบรมนี้ คือการปรับเนื้อหาให้เหมาะกับผู้เข้าอบรมทั้งในแง่ของระดับทักษะ แหล่งที่มาของข้อมูล และภาษาที่ใช้
โปรแกรมหลักสูตรนี้ถือว่าจัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญสำหรับภาคประชาสังคมของไทย รัฐบาลไทยกำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement หรือ VPA) กับสหภาพยุโรป โดย VPAs เป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า หรือเฟล็กที (Forest Law Enforcement, Governance and Trade หรือ FLEGT) เพื่อจัดการกับการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ที่ไม่ใช่ภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม สามารถสนับสนุนกระบวนการนี้ได้ดีขึ้นผ่านการนำเสนอเรื่องเล่าด้วยข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาธรรมาภิบาลป่าไม้ ซึ่งการอบรมนี้แนะนำเครื่องมือต่าง ๆ แก่ภาคประชาสังคมและผู้ที่ไม่ใช่ภาครัฐเพื่อแสดงภาพข้อมูลสำคัญต่อกิจกรรมรณรงค์ของพวกเขา
ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Voices for Mekong Forests (V4MF) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นระยะเวลา 5 ปี โครงการ V4MF มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสียงของภาคประชาสังคม กลุ่มชาติพันธุ์ ภาคเอกชน และกลุ่มชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและมีอิทธิพลต่อการกำกับดูแลธรรมาภิบาลป่าไม้ในกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม โครงการนี้ยังสนับสนุนโครงการเฟล็กทีของสหภาพยุโรป และโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรมขององค์การสหประชาชาติ
“เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเทคนิคการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลรูปแบบไหนบ้าง ตั้งแต่ได้เข้าอบรม ทำให้รู้ว่าควรตั้งต้นเก็บข้อมูลหรือรู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่เป็นแบบไหน ควรนำไปวิเคราะห์อย่างไร เพื่อให้ใช้งานได้จริง”
— ลิวรรณ ศรีสุทยะคุณ จากเครือข่ายป่ารักน้ำชุมพร
“การอบรมครั้งนี้ทำให้รู้จักเทคนิคการจัดการข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้สร้างภาพข้อมูลหลากหลายวิธีมาก ได้เรียนรู้ว่าจะเลือกใช้เครื่องมืออะไรเพื่อดึงความน่าสนใจของข้อมูลได้อย่างไร”
— อาภาภรณ์ ทองเสงี่ยม เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ)
“ผมได้เรียนรู้ว่า แท้จริงยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีประโยคที่จำได้คือ ต้องทำการสืบค้นและจงเชื่อมั่นว่า ต้องมีข้อมูลที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ต้องไม่จำนนหากยังไม่พบข้อมูล”
— เสกสรร ชัญถาวร ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิรักษ์ไทย
เรื่องนี้นำเสนอสู่สาธารณะครั้งแรกบนเว็บไซต์ Open Development Thailand
เล่าเรื่องโดย เสาวลักษณ์ จริงจังวิสุทธิ์ (เอ๋) ผู้จัดการด้านสื่อสารและพันธมิตรของ East-West Management Institute — Open Development Initiative (EWMI-ODI) ทั้งนี้ขอบคุณทีมสื่อสารของ ODI และ RECOFTC ที่ให้คำแนะนำปรับปรุงเรื่องเล่า
เรื่องนี้ผลิตโดยการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป เนื้อหาเป็นความรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวของ Open Development Initiative และ RECOFTC และไม่สะท้อนมุมมองของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมนี้และกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้โครงการ Voices for Mekong Forests ของสหภาพยุโรป กรุณาไปที่หน้าโครงการ