EP1-ปีนังทัก ทุลักทุเล

George Town, Penang in August 2023

Pirawadee
ourtrip.cc
2 min readAug 22, 2023

--

Penang International Airport

18:10 น.เวลาท้องถิ่นวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชียที่ฉันโดยสารมา ก็แลนดิ้งลงบนแผ่นดินของรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียอย่างเรียบร้อย เวลาท้องถิ่นจะเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

สองเดือนก่อนหน้านี้….

ไปเที่ยวกันที่ไหนดี ที่จะไม่เสียเวลาเดินทางมากนัก ย่างกุ้งก็ไปมาแล้ว เสียมเรียบก็ไปกันมาแล้ว ตะวันตกจรดตะวันออก ครั้งนี้ก็เหลือเหนือกับใต้ แต่มันต้องมีความพิเศษมากพอที่สมาชิกทุกคนจะสนุกได้

‘ไปปีนังกัน’

เดินทางด้วยเครื่องบินระยะเวลาสั้นๆ สามวันสองคืน ลางานหนึ่งวัน ไปไฟล์ทเช้า กลับไฟล์ทเย็น ก็จะมีเวลาเที่ยวได้พอสมควร

‘เช็คพาสปอร์ตด้วยนะ ถ้าหมดอายุไปทำด้วย’ ฉันย้ำลูกทัวร์ คุณยายจึงไปทำพาสปอร์ตใหม่เพราะหมดอายุไปแล้ว ส่วนตัวก็เช็คแล้วว่าพาสปอร์ตของตัวเองเหลือหกเดือนพอดี

สองสัปดาห์ก่อนวันเดินทาง….

ฉันจัดการแปลนทริปเดินทาง สถานที่เที่ยว จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก จองรถ จองร้านอาหาร เรียบร้อย นัดแนะคนขับรถ และเช็คความพร้อมของที่พัก เพื่อแจ้งสมาชิกว่าผ้าเช็ดตัว สบู่ แชมพู ที่พักมีให้นะ กระเป๋าจะได้เบาๆ เพราะเราจะไม่ซื้อน้ำหนักเพิ่ม

เก้าโมงเช้าวันเดินทาง…

ที่เคาน์เตอร์เช็คอิน สมาชิกทุกคนเช็คอินเรียบร้อย ส่วนฉัน ผู้เป็นหัวหน้าทัวร์นั้น สายการบินไม่เช็คอินให้ !!! เนื่องจากอายุพาสปอร์ตเหลือ ห้าเดือนกับยี่สิบวัน ไม่ว่าจะเจรจาอย่างไรก็ไม่ยอมลูกเดียว

เตรียมทริปไว้ขนาดนี้แล้วจะยอมแพ้ได้อย่างไร ฉันจัดการเลื่อนขั้นรองหัวหน้าทัวร์ให้เป็นหัวหน้า นำลูกทัวร์เดินทางไปก่อน ส่วนฉันนั้นเลื่อนตั๋วไปไฟล์บ่าย แล้วหอบกระเป๋าบึ่งขึ้นแท้กซี่ไปกรมการกงสุลถนนแจ้งวัฒนะทันที

‘ทำพาสปอร์ตด่วนค่ะ’ ฉันแจ้งเจ้าหน้าที่

นางหยิบใบคำร้องขึ้นมาหนีบพร้อมบัตรประชาชนฉัน เขียนหัวเอกสารว่า ‘ด่วน’ แล้วบอกให้ฉันพุ่งเข้าไปที่บู้ธหมายเลข 9 ถ่ายรูป สแกนนิ้ว สแกนลูกตา จากนั้นห้านาทีต่อมาฉันเดินไปจ่ายเงิน พร้อมรับบัตรคิวรับเล่ม เจ้าหน้าที่บอกว่า บ่ายโมงครึ่งพี่มารอรับเล่มตรงนี้ๆนะ ระหว่างรอเล่ม ฉันเช็คอินออนไลน์ไว้เรียบร้อย

บ่ายสองโมง ฉันหิ้วกระเป๋าพร้อมพาสปอร์ตเล่มใหม่ขึ้นแท้กซี่กลับมาที่สนามบินดอนเมือง พอบ่ายสองโมงครึ่งฉันก็นั่งรอที่เกทเกร๋ๆรอเวลาเรียกขึ้นเครื่อง

ทุ่มตรงเวลาท้องถิ่น….

ฉันก็พุ่งตัวเข้าที่พัก ซึ่งลูกทัวร์สแตนด์บายรออยู่เพื่อไปดินเนอร์ พร้อมยึดตำแหน่งหัวหน้าทัวร์กลับคืนมา

แม้จะทุลักทุเล แต่ไม่มีอะไรหยุดยั้งความพร้อมเที่ยวของเราได้

George Town มุมสูง ภาพจากอ.วิ

จอร์จทาวน์ (George Town เขียนแยกกัน) หรือคนไทยเรียกว่า ปีนัง (ซึ่งไม่ได้หมายถึงรัฐปีนัง แต่หมายถึงเมืองจอร์จทาวน์) เป็นเมืองหลวงของรัฐปีนัง ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ (ตัวรัฐมีทั้งส่วนที่เป็นเกาะและแผ่นดินใหญ่) ต่อไปในเรื่องเล่าซีรีส์นี้ ฉันจะเรียกจอร์จทาวน์ว่า ‘ปีนัง’ แทน และเรียกส่วนที่หมายถึงรัฐว่า ‘รัฐปีนัง’ เข้าใจตรงกันนะ

ปีนังเป็นเมืองเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นมาในปี 1786 ให้เป็นเมืองท่าโดยนักเดินเรือชาวอังกฤษของบริษัทอีสอินเดียคอมปานี เพราะเมื่อก่อนนักเดินเรือจากยุโรปไปเอเชียต้องแล่นเรือผ่านทางช่องแคบมะละกาที่ติดกับปีนังนี่แหละ ความที่เป็นเมืองท่า ปีนังก็เลยถูกยึดง่ายโดยคนโน้นคนนี้ ตั้งแต่อังกฤษ มาลายัน ญี่ปุ่น จนสุดท้ายก็ตกเป็นสมบัติของประเทศมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 1963 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียก็พยายามเปลี่ยนแปลงความเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษให้เป็นท้องถิ่นมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ภาษามลายูแทนภาษาอังกฤษ ชื่อถนนสำคัญๆบางแห่ง ต้องมีสองชื่อคือชื่อภาษาอังกฤษและชื่อภาษามลายู แต่ชื่อสถานที่และถนนรองต่างๆ ก็เป็นภาษามลายูหมด ซึ่งแม้ว่าจะเขียนโดยใช้ตัวหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งเราอ่านได้แต่แปลไม่ได้ หลายครั้งเราจึงไม่รู้ว่าอาคารนั้นเป็นโรงเรียนหรือหน่วยงานอะไร ต้องเดาเอาจากลักษณะทางกายภาพ

คนไทยสมัยก่อนที่มีฐานะมักจะส่งลูกสาวมาเรียนภาษาอังกฤษกันที่ปีนังนี่แหละ อยู่โรงเรียนประจำบ้าง เรียนเลขานุการบ้าง จัดว่าไฮโซสุดๆ

จากประวัติความเป็นมาของเมืองที่ผ่านมือมาหลายชาติ ปีนังจึงมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวตะวันตก ตะวันออกกลาง เอเชีย แต่กว่า 50% ของประชากรเป็นชาวจีน และส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีสำเนียงเฉพาะตัวเรียกว่า ปีนังฮกเกี้ยน นอกจากนั้นก็เป็นชาว Peranakan (ลูกครึ่งระหว่างจีนกับมาเลย์) คนมาเลย์พื้นถิ่น ชาวอาหรับ อังกฤษ และรวมไปถึงคนไทยด้วย

สมัยก่อนปีนังใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่ปัจจุบันเป็นภาษามาเลย์ ในปีนังปัจจุบันจะใช้กันอยู่ 4 ภาษาคือ ภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง และภาษาทมิฬ

สำหรับภาษาอังกฤษที่ใช้ในปีนัง เมื่อก่อนจะเป็น British English แต่ปัจจุบันเป็น Manglish (ถ้าเทียบกับ Singlish ของสิงคโปร์ ฉันสังเกตว่า Singlish มักจะลงท้ายประโยคว่า ‘lah’ ในขณะที่ Manglish ลงท้ายว่า ‘ya’)

สิ่งที่ดึงดูดเราให้เลือกมาปีนังคือ ย่านเมืองเก่าของปีนัง ได้เป็นเมืองมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2008 (UNESCO World Heritage Site) ในฐานะที่มีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือนในแถบเอเชียตะวันออก (Recognised as having a “unique architectural and cultural townscape without parallel anywhere in East and Southeast Asia”) ส่วนที่เป็นมรดกโลกนี้ครอบคลุมพื้นที่ 2.6 ตารางกิโลเมตร

ขอบอกเลยว่า มันดีงามและเพลิดเพลินมาก

รายละเอียดอื่นๆอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจอ.วิ

ปอลอตอนที่ 1

  • พาสปอร์ตอายุ “เหลือ” หกเดือน ไม่มีอยู่จริง ตามสถานะมันเป็นพาสปอร์ตที่หมดอายุแล้ว
  • เคยเจรจาแล้วได้ ตอนไปย่างกุ้งครั้งหนึ่ง ตอนนั้นพาสปอร์ตเหลือห้าเดือน
  • ทำพาสปอร์ต “ด่วน” ได้จริง
  • ความสามารถเฉพาะตัว กรุณาอย่าลอกเลียนแบบ
  • เลขพาสปอร์ตเล่มใหม่ xxxxx5555

--

--

Pirawadee
ourtrip.cc

Owner of the project management consultancy firm, former lecturer in project construction management, traveler and blogger