10 วัน จาก Lab to Launch กับการออก LINE Bot “ป่วยมั้ยนะ Koala Lab” สู้ COVID-19 (Ep. 1)

Pak A.
KBTG Life
Published in
3 min readMay 8, 2020

*Disclaimer โปรเจคนี้เกิดจากการรวมตัวกันของพนักงาน KBTG โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ทำนวัตกรรม HealthTech ตัวนี้ขึ้น

  • เริ่มด้วยโจทย์ที่ชัดเจน แล้วถามตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรที่แตกต่างได้ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่แม้ไม่ใช่โจทย์ทางธุรกิจของเรา แต่ก็เป็นวิกฤติระดับประเทศที่ทุกคนต้องช่วยกันด้วยนวัตกรรม HealthTech
  • ดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาสร้าง Innovation ที่ง่ายต่อการเข้าถึงและการใช้งาน โดยลด Friction ของผู้ใช้ให้เหลือน้อยที่สุด
  • คนมองภาพใหญ่ที่พร้อมกำจัดอุปสรรคและทำทุกอย่างเพื่อดันให้โปรเจคเกิด (The Hustler) คนที่ทำให้ไอเดียบนกระดาษกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานได้จริง (The Hacker) และคนออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ใกล้เคียงกับคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ที่สุด (The Hipster) ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่โปรเจคจะขาดไม่ได้
  • สนใจใช้ LINE Bot สามารถแอดมาได้ที่ LINE OA: @KoalaLab หรือถ้าสนใจพูดคุยกับทีมงาน หรือพาร์ทเนอร์ ทักมาได้ที่ Facebook: Koala Lab เลยครับ

ที่มาที่ไปของนวัตกรรม HealthTech นี้เริ่มมาจากว่า…

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ประโยคยอดฮิตของเราคงหนีไม่พ้น “(กู)ติดยังวะ” พวกเราที่นั่งทำงานกันที่ออฟฟิศก็ได้แต่นั่งคิดหวั่นๆว่าเราจะติด COVID-19 ไปด้วยรึเปล่า พอยิ่งดูข่าวและอ่านบทความต่างๆ ก็ยิ่งเห็นว่าหลายครั้งกว่าวันที่เรารู้ว่าใครติด COVID-19 ก็เป็นเวลาประมาณ 5–10 วันหลังจากที่คนเหล่านั้นติดเชื้อไปแล้วเรียบร้อย เพียงแต่อาการไข้หรือไอแห้งยังไม่เกิด จึงยังไม่ได้ไปพบแพทย์ ทำให้เรามานั่งคิดว่า มันคงจะดีนะ ถ้าเรานำเทคโนโลยี (Technology) สามารถทำให้รู้ได้ว่าร่างกายเรากำลังทำงานไม่ปกติ กำลังจะมีไข้ หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่สบาย นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมเราเอาโจทย์มาเป็นตัวตั้ง แล้วมองหา Innovation ที่เราสามารถทำได้เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น

แผนภาพแสดงให้เห็นว่าตัวเลขคนป่วยที่ได้รับการยืนยันจากทางการ (อู่ฮั่น) ล่าช้ากว่าที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 5–10 วัน (Source)

Innovation : การทำอะไรที่แตกต่างเพื่อเติมเต็ม

คำถามสำคัญที่เราถามกันเองคือในสถานการณ์แบบนี้ เทคโนโลยี (Technology) ทำอะไรได้บ้าง ประเทศเรายังขาดอะไร และเราสามารถสร้างอะไรได้ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่จำกัดที่จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นภาพรวมของสถานการณ์ได้ดีขึ้นหรือมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถออกแนวทางปฏิบัติหรือนโยบายลดความรุนแรงของปัญหาได้ทันท่วงที

พอมานั่งคิดดูก็นึกถึงโปรเจคก่อนหน้า DataWallet ที่มีการนำ Smart Watch มาช่วยมอนิเตอร์สุขภาพของผู้สวมใส่ โดยการใช้เทคโนโลยี (Technology) ดึงค่าต่างๆ ออกมาเก็บไว้ในแอปพลิเคชันก่อนที่จะเชื่อมต่อส่งให้กับโรงพยาบาลด้วยตัวเราเอง ช่วงนั้นก็พอดีได้ไปอ่านเจอบทความของ Fitbit ที่พูดถึงการนำข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจจาก Smart Watch มาสร้างแผนที่คาดการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือ Fluในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลตรงนี้สามารถช่วยสะท้อนความจริงได้ค่อนข้าง Real Time กว่าการที่หน่วยงานกลางรอรับผลแจ้งจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ณ จุดนี้เหมือนเราเจอ Sweet Spot ของสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นต้องมีในสถานการณ์แบบนี้ คือการใช้จุดแข็งของ KBTG ในด้าน Innovation ไปสร้างความแตกต่างในภาพรวมภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด

Sweet Spot จุดที่ทั้ง 3 เงื่อนไขในการคิด Solution ของเรามาเจอกัน

#ป่วยมั้ยนะ LINE Bot โดย Koala Lab

เมื่อเจอ Sweet Spot แล้ว ก็ได้วางคอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์ก่อนลงมือพัฒนาจริง โดยสิ่งที่ #ป่วยมั้ยนะ LINE Bot ทำได้คือการเป็นช่องทางใช้งานหลัก เหมือนเป็นแอปพลิเคชันมือถือแบบที่ไม่ต้องโหลด เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องโหลดแอปกันใหม่ ความสามารถของแอปก็เน้นเฉพาะ Killing Feature ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานจริง แอด LINE ปุ๊บ ได้ประโยชน์ปั๊บ ช่วยให้เกิดการใช้งานแล้วบอกต่อ เกิดการใช้ซ้ำ ซึ่งพอรวมเงื่อนไขต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ทำให้เราได้ออกมาเป็น LINE Bot #ป่วยมั้ยนะ ที่มีฟีเจอร์การใช้งานหลักๆ 2 อย่าง ดังนี้

  1. #ป่วยมั้ยนะ ฟีเจอร์ที่จะช่วยเช็คว่าสุขภาพการเต้นของหัวใจเราปกติมั้ย เช็คได้รายวัน เช็ควันละหนช่วงหลังเที่ยง (รอให้นาฬิกาเก็บข้อมูลของวันนั้นให้เรียบร้อยก่อน) โดยการเริ่มใช้ฟีเจอร์ ผู้ใช้งานทุกคนต้องทำการผูก Smart Watch ของตัวเอง (ปัจจุบันรองรับ Fitbit กับ Garmin) เพื่อให้ระบบสามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้
  2. แผนที่ไข้หวัด หรือ Flu Map แผนที่ที่จะบอกเราว่าในแต่ละพื้นที่มีคนอัตราการเต้นหัวใจสูงกว่าปกติกี่คน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการระมัดระวังการระบาดครั้งใหม่ โดยเรากำหนดให้ผู้ใช้งาน 1 คน เลือกพื้นที่ที่ไปบ่อยๆได้ 2 จุด
(รูปซ้าย) #ป่วยมั้ยนะ เช็คสุขภาพการเต้นหัวใจ (รูปขวา) แผนที่ไข้หวัด หรือ Flu Map

เรามองว่า 2 ฟีเจอร์นี้โอเคพอที่จะปล่อยออกให้ทุกคนใช้ โดยตีเวลาว่าน่าจะทำเสร็จภายใน 1–2 อาทิตย์เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ แต่ก่อนที่จะได้ข้อสรุปออกมาเป็นฟีเจอร์ดังกล่าวนั้น เราก็มีการ Brainstorm กันภายในทีมเพื่อให้เห็นโอกาสต่อยอดเพื่อเฟสถัดไปในอนาคต

ทีมงานร่วม Brainstorm เพื่อหา Solution ที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ (ขอ Censor บอร์ดข้างหลังนิดนึง) *ภาพถ่ายก่อนนโยบาย Work from Home

ในบทความนี้ขอลงรายละเอียดของ LINE Bot และหลักการทำงานเบื้องหลังไว้เพียงเท่านี้ก่อนละกันครับ เพื่อให้บทความไม่ยาวจนเกินไป หากท่านใดสนใจ สามารถอ่าน Ep. 2 ต่อจากนี้ได้เลยครับ

The Hustler | The Hacker | The Hipster

ในวงการ Tech Startup สามคำนี้เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงซ้ำๆ มานับครั้งไม่ถ้วน จนไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนต้นคิด แต่สิ่งที่ถูกพูดต่อกันมาคือว่าโปรเจคจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เมื่อทีมมีองค์ประกอบของคนสามกลุ่มนี้อยู่ด้วยกัน และทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

The Hustler คนที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าโปรเจคจะหน้าตาเป็นยังไง เดินไปทางไหน คนที่พร้อมกำจัดอุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างทำโปรเจค พร้อมผลักดันโปรเจคไปข้างหน้าตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ได้ผลิตภัณฑ์ออกมา จนไปถึงการสวมบทเป็นคนขาย หาผู้ใช้งานตั้งแต่คนแรกจนผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คนในวงการ Tech ที่เราน่าจะรู้จักกันดีก็เช่น Sheryl Sandberg, Chief Operating Officer คนปัจจุบันของ Facebook

The Hacker — นักพัฒนาหรือ Developer ที่สามารถเปลี่ยนไอเดียและจินตนาการของทีม สร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้ถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงสามารถนำทีมนักพัฒนาให้ทำงานร่วมกันได้อย่างแข็งแรง ถ้าจะให้ยกมา 1 คน คงหนีไม่พ้น Bill Gates อดีต Chief Executive Officer และผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft

The Hipster ไอเดียดี ขายได้ ใช้งานจริง แต่หากเราไม่มีคนที่เข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง เข้าใจวิธีคิด เทรนด์ ความชอบ ตั้งแต่แอปพลิเคชันแบบไหนกดง่าย แบบไหนสวย คำไหนใช้แล้วไวรัล ไปจนถึงสีโทนไหนจะถูกใจและให้ Mood and Tone ที่ดีที่สุด หากขาดคนคนนี้ แอปพลิเคชันเราอาจไม่มีคนใช้งานก็เป็นได้ คนดังในกลุ่มนี้ เช่น Jony Ive อดีต Chief Design Officer ของ Apple

Sheryl Sandberg, Bill Gates, Jony Ive (credit รูปภาพ: commons.wikimedia.org และ https://www.flickr.com/photos/gi/5520610388)

โชคดีที่ KBTG ของเรามีทีมที่เต็มไปด้วยคน 3 ประเภทนี้ในบริษัท เรามีทีม Innovation Product Manager ที่เป็นคนดูแลโปรเจคในมุมธุรกิจตั้งแต่วาง Product Roadmap ขออนุมัติโครงการ ไปจนถึงดูเรื่องกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ เรามีคนเกินครึ่งบริษัทที่เป็น Developer เก่งๆพร้อมเขียนได้ทุกภาษา ออกแบบระบบ และทำงานหนักเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นจริง รวมถึงเรายังมีทีม Designer ที่ทำหน้าที่ออกแบบ Brand Identity และดูแล User Experience ให้ผลิตภัณฑ์มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานได้มากที่สุด

ท้ายสุดนี้ เราโชคดีที่ได้ผู้บริหารที่เข้าใจและเห็นความสำคัญในสิ่งที่เราอยากทำกับการนำเอาเทคโนโลยี (Technology) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และให้เราได้ทำโปรเจคนี้ขึ้นมาจริงๆ เพราะหากผลิตภัณฑ์นี้สามารถทำออกมาใช้งานได้ และมีผลในการช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศแล้ว ย่อมเป็นอะไรที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มสำหรับทุกคน

พัฒนา-เทส-ปล่อยของ แบบ Work from Home

มาถึงขั้นตอนลงมือทำ โชคยังดีที่ 4 วันแรกของการทำโปรเจค ทุกคนยังนั่งทำอยู่ด้วยกันที่ออฟฟิศ ทำให้ยังสามารถทำงานกันได้ปกติ เช้ามี Stand up Meeting ระหว่างวันก็แยกย้ายกันทำคนละส่วน โดยมีคนกลางคอยวิ่งประสานงานกับแต่ละฝ่าย แต่พอมาถึงอาทิตย์ที่สอง บริษัทมีนโยบาย Work from Home ทำให้เราต้องปรับรูปแบบการทำงานกันใหม่ เปลี่ยนเป็นอัพเดตกันเช้า-เย็น เพื่อให้เห็นความคืบหน้าถี่ขึ้น ทีมพัฒนาก็นั่งเปิด Meeting ออนไลน์กันทั้งวัน ทีมนักออกแบบก็แสตนบายช่วยปรับดีไซน์ และอาร์ตเวิร์คเพิ่มเติมตาม Requirement ที่เปลี่ยนอยู่แทบจะทุกวันจาก Product Owner (หากเพื่อนๆ ในทีมอ่านมาถึงตรงนี้ ขออภัยทุกคนด้วยครับผม ครั้งหน้าสัญญาว่าจะไม่ทำอีกแล้วว….) ตกดึกก็ช่วยกันนั่งเทสนั่งแก้ปรับโค้ด จนกระทั่งเราสามารถปล่อยผลิตภัณฑ์ออกไปให้ทุกคนใช้งานได้จริงดังตั้งใจ

วันนี้ และแผนการถัดไป

มาถึงวันนี้ นวัตกรรม HealthTech ตัวนี้ก็ถูกปล่อยออกไปแล้ว แม้จะยังมีผู้ใช้งานไม่มากนัก แต่ทุกๆวันที่ผ่านมา และวันที่จะมาถึง เราก็จะยังมีแผนเดินหน้าโปรโมท หาพาร์ทเนอร์ทางการแพทย์ และกระจายข่าวให้มีคนเห็น LINE Bot #ป่วยมั้ยนะ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง เพิ่มเครื่องมือให้ทุกคนสามารถรู้ความผิดปกติของร่างกายตัวเองได้เร็วขึ้น รวมถึงเป็นฐานข้อมูลของประเทศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำวิจัยต่อยอดเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป เพื่อให้ผลกระทบจาก COVID-19 และไข้หวัดใหญ่อื่นๆ ที่จะระบาดในอนาคตเกิดขึ้นกับบ้านเราให้น้อยที่สุดเท่าที่บริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งจะทำได้

--

--

Pak A.
KBTG Life

Innovation Product Manager, Kasikorn Business-Technology Group (KBTG)