สรุปแผน 9 ขั้นปั้นคุณเป็นเศรษฐี (The Millionaire Master Plan) ตอนที่ 2

Paiboon Panusbordee
Paiboon Biz
Published in
5 min readMay 6, 2017

ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เขียน Blog นาน (มาก) มีภารกิจรัดตัวหลายอย่าง ใครยังไม่เคยอ่านบทความนี้ในตอนที่ 1 สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่

ภาพประภาคารแห่งความมั่งคั่ง

4. ระดับสีเหลือง: นักดนตรี (Player)

ที่ระดับนี้คุณจะเริ่มมีแรงดึงดูดให้คนอยากมาทำงานกับคุณด้วย เพราะคุณมีจุดเด่นที่คนอื่นเขาไม่มีกัน ถ้าเป็นระดับสีส้มคุณมีความรับผิดชอบและมาตรฐานทำงานสูงกว่าคนทั่วๆ ไป แต่รูปแบบงานที่ทำยังเป็นงานที่หาได้ตามท้องตลาด ส่วนในระดับสีเหลืองคือคุณมีทักษะบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบ หาคนแทนที่ได้ยาก คุณสามารถส่งมอบคุณค่า (Value) ที่แตกต่างได้ ใครๆ ก็เลยอยากได้ตัวคุณไปทำงานกับเขา ไม่ว่าจะเป็น partner ทางธุรกิจหรือลูกน้องที่แอบปลื้มคุณหรือลูกค้าก็ตาม พวกเขาจะเดินมาหาคุณเองโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเดินไปไล่เคาะประตูถามว่ามีคนอยากได้คุณไปทำงานไหม คุณจะเริ่มมีโอกาสได้เลือก partner, ลูกน้อง, ลูกค้าที่คุณชอบหรือคุ้มค่าแรงได้เอง ต่างจากที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนเลือกคุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้าอีกต่อไปเพราะแทบไม่มีใครที่ทำเหมือนคุณได้ คุณจึงเป็นผู้กำหนดทิศทางของโปรเจคหรือธุรกิจด้วยตัวเอง คุณมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าหรือเจ้านาย เพราะพวกเขาหาคนมาทำแทนคุณไม่ได้ และการได้ทำงานที่คุณใฝ่ฝันและคาดหวังมาตั้งแต่เด็ก การได้ทำตาม Passion ของตัวเองหรือโปรเจคที่คุณออกแบบเองหรือควบคุมเองก็คือชีวิตในระดับนี้นั่นเอง คุณจะได้ทำงานที่ตัวเองชอบเหมาะกับความถนัดของคุณชีวิตการทำงานมีความสุข แถมยังมีเงินเลี้ยงตัวเองมากพออีกต่างหาก คุณได้รับอิสระได้การเคลื่อนไหวทำตามที่ใจคุณต้องการได้เต็มที่อีกครั้งเพราะคุณเป็นคนกำหนดทิศทางเอง หลังจากที่คุณเสียมันไปตอนอยู่ในระดับสีส้มเพราะต้องทำงานตามมาตรฐานคนอื่น แต่ ณ ตอนนี้คุณกำลังทำงานตามมาตรฐานของตัวเองตามสิ่งที่คุณกำหนดเองอยู่นั่นเอง

ฟังดูเหมือนดีไปหมดซะทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่ามันมีแต่ข้อดีนะ มันก็มีสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นไปอีกคือเราเริ่มจะต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นนอกจากชีวิตตัวเอง และชีวิตของหัวหน้าตั้งแต่ระดับนี้เป็นต้นไปจนถึงระดับสูงๆ เช่น เราต้องมั่นใจว่าเรามีเงินเดือนพอจ่ายพนักงานในบริษัท เราต้องมั่นใจว่าลูกน้องทำงานกับเราแล้วมีความสุข หรือเราต้องมั่นใจว่า partner ทุกคนที่ทำงานร่วมกับเราต้อง happy ในทุกๆ อย่าง เป็นต้น

ณ ระดับสีเหลืองนี้คุณจะเริ่มมีเงินมากพอที่จะจ้างคนระดับสีแดงหรือสีส้มมาช่วย หรือจ้างทีมงานข้างนอกมาช่วย ถ้ายังจำได้ ระดับสีส้ม เราใช้เวลาเพื่อทำงานแลกเงิน แต่ในระดับสีเหลืองนี้ คุณจะเริ่มใช้เงินจ้างคนอื่นเพื่อแลกเวลาของคุณกลับคืนมาได้ครับ (แต่จ้างแล้วรายได้ยังต้องมากกว่ารายจ่ายอยู่นะ) ส่งผลให้คุณเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้นในบางงานที่ทำซ้ำๆ งานง่ายๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณสั่งลูกน้องอย่างเดียวแล้วคุณไม่ต้องทำอะไรเลยนะครับ เนื่องจากตอนนี้คุณมีความสามารถที่ไม่เหมือนใครจนดึงดูดให้คนอื่นเข้าหาคุณโดยคุณไม่ต้องออกไปหางานเอง แสดงว่าจะต้องมีบางส่วนของงานซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญของคุณโดยเฉพาะในการสร้างงานขึ้นมา ดังนั้นทีมงานของคุณซึ่งก็น่าจะไม่เก่งเท่าคุณเพราะเป็นระดับสีส้มกับแดงก็จะไม่สามารถทำงานที่คุณเชี่ยวชาญที่ว่านี้แทนคุณได้จริงไหม ดังนั้นคุณยังต้องคิดแผนงานรายวัน ทำงานประจำวันหลายส่วนด้วยตัวคุณเองอยู่ ไม่สามารถทิ้งงานไว้ให้ใครทำแทนทั้งหมดได้

สำหรับการก้าวไปสู่ขั้นถัดไปเรามักจะพบเจอข้ออ้างดังต่อไปนี้ทำให้หลายๆ คนติดอยู่ที่ระดับสีเหลือง ไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับสีเขียวได้ดังนี้

  1. ฉันไม่สามารถหาคนที่ทำงานได้เก่งเหมือนฉันได้
  2. ฉันไม่มีปัญญาจ่ายค่าจ้างคนเก่งๆ
  3. ฉันยุ่งเกินกว่าที่จะมีเวลาหาและฝึกสอนคนในทีมที่เหมาะสมที่จะมาแทนฉันได้

เปรียบเหมือนคุณทำทุกอย่างด้วยตัวเองและไม่แบ่งงานส่วนสำคัญๆ ให้ทีมงานหรือ partner ของคุณทำบ้าง ซึ่งการที่จะแบ่งได้ก็ต้องหาเวลาพัฒนาทีมงานให้เก่งขึ้น ถ้าคุณมีข้ออ้าง 3 ข้อนี้ รับรองว่าคุณจะไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับสีเขียวซึ่งเป็นขั้นถัดไปได้เลย ธุรกิจหรือทีมงานทีมนี้จะไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเองเลยถ้าขาดคุณไป กล่าวคือทุกๆ อย่างขึ้นอยู่กับคุณทั้งสิ้น คุณต้องเป็นคนคิดวางแผนและออกคำสั่ง ไม่อย่างนั้น partner หรือลูกน้องของคุณจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น คิดอะไรเองไม่เป็นราวกับเป็นเพียงหุ่นยนต์รับคำสั่ง ทำให้คุณแทบจะหยุดทำงานไม่ได้ ไม่อย่างนั้นธุรกิจหรือโปรเจคจะล่มทันที นี่คือข้อจำกัดของการอยู่ในระดับสีเหลือง และการจะก้าวไปสู่ระดับสีเขียว คุณต้องยอมละทิ้งอิสระในการเคลื่อนไหวทำตามใจตัวเองไปอีกครั้ง และคุณต้องยอมมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับคนอื่นบ้าง ทำให้คุณทำตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะคุณจำเป็นต้อง “ไว้ใจ” และ “ปล่อยให้ทีมงานเรียนรู้เอง ตัดสินใจเอง” โดยมีคุณเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น ทีมงานต้องคิดเองได้ หรือกล่าวโดยสั้นก็คือคุณต้องกำหนดพันธกิจของบริษัทให้ชัดเจนและสื่อสารกับคนทั้งองค์กรให้เห็นภาพเดียวกัน และมีแนวทางการทำงานแบบเดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ “วัฒนธรรมองค์กร” นั่นเอง

การก้าวไปยังระดับสีเขียวซึ่งเป็นขั้นถัดไป คุณต้องแก้ปัญหาใน 3 ข้อนั้นดังนี้

  1. คุณต้องวางแผนการทำงานและการวัดผลที่ชัดเจนให้กับทีมงานของคุณว่าต้องทำแบบไหนอย่างไรถึงจะถือว่างานผ่านเกณฑ์ ส่งไปขายลูกค้าได้ล่วงหน้าเป็นปี เพื่อให้ทีมงานของคุณสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ทำมันโอเคหรือไม่ โดยไม่ต้องมาถามคุณทุกขั้นตอนการทำงาน
  2. คุณจะต้องวางโครงสร้างธุรกิจให้มีรายได้มากพอ หรือมีโอกาสเติบโตเพิ่มเรื่อยๆ ได้ตั้งแต่แรก หากคุณไม่สามารถสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นได้ในแต่ละเดือนแม้เพียงเล็กน้อย นั่นก็ยากที่คุณจะจ้างคนเก่งมีฝีมือมาช่วยงานได้ คิดซะว่าระดับสีเหลืองคือการหาทางให้บริษัทอยู่รอดให้ได้ แต่ระดับสีเขียวคือทำให้บริษัทมีผลกำไรเติบโตให้ได้
  3. คุณจะต้องแบ่งเวลาในการพัฒนาทีมงานของคุณให้มีคนมาทำงานหลักๆ แทนคุณได้ และต้องถึงขั้นตัดสินใจแทนคุณได้ในเรื่องส่วนใหญ่ ถ้าทุกอย่างต้องรอการตัดสินใจจากคุณ นั่นหมายความว่างานจะเดินไม่ได้ถ้าไม่มีคุณนั่นเอง ซึ่งคุณต้องหาวิธีทำให้ตัวเองทำงานน้อยลงในแต่ละวันโดยที่ตัวธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากให้ได้ก่อน อาจจะใช้วิธี outsource งานบางส่วนไปบริษัทอื่นเพื่อให้คุณมีเวลามากขึ้นเป็นการชั่วคราว หรือไม่ก็ซื้อระบบอัตโนมัติบางอย่างมาทุ่นแรงคุณซะ แล้วคุณก็ทุ่มเทเวลาไปกับการพัฒนาทีมงาน พัฒนาองค์กรให้มากขึ้น กล่าวอีกอย่างก็คือคุณต้องดันให้พวกทีมงานระดับสีส้มของคุณพัฒนาตนเองจนกลายเป็นระดับสีเหลืองแทนคุณได้นั่นเอง หรือหากคุณไม่สามารถพัฒนาทีมงานของคุณเป็นระดับสีเหลืองก็ขอให้ลองคิดดูว่ามีวิธีการใดที่จะทำให้ใช้ทีมงานหลายๆ คนของคุณมาช่วยกันทำงานเพียงงานเดียวที่แต่ก่อนคุณเป็นคนทำคนเดียวแทนคุณได้หรือไม่โดยที่คุณค่าของตัวงานไม่ได้ลดลงตามไปมากนัก หากคุณสามารถสร้างระบบที่ช่วยส่งเสริมและตรวจสอบกันเองในทีมงานเพื่อส่งงานที่มีคุณค่าได้ คุณก็สามารถก้าวสู่ระดับสีเขียวได้เช่นกัน

ต่อไปจะเป็นตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆ เช่นเคย

Freelance

ณ ระดับสีเหลือง คุณอาจเลือกที่จะเริ่มมีกิจการเป็นของตัวเองจากที่แต่ก่อนคุณทำงานคนเดียว และมีลูกน้องมาช่วยทำงาน (เป็นพวกระดับสีแดง-สีส้มที่คุณดึงดูดให้มาทำงานด้วยได้นั่นเอง) จนกระทั่งคุณจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการ คุณสามารถมีเวลาหาความรู้ในการบริหารบริษัท พบปะผู้คนเพื่อสร้าง Connection ขยายกิจการธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้นได้ การก้าวไปขั้นถัดไปก็การพัฒนาทีมงานให้เก่งขึ้นดังที่กล่าวเอาไว้แล้ว

หรืออีกทางเลือกที่จะคงสถานะการเป็น Freelance โดยไม่เปิดบริษัท(หรือเปิด แต่จริงๆ ไม่ได้ผลิตของเอง)โดยเลื่อนไประดับสีเขียวได้อยู่ถ้าคุณสามารถหา partner หรือ outsource ไปยังบริษัทอื่นที่ทำงานแทนคุณได้ และคุณก็แบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับพวกเขาซะ เช่นคุณอาศัยชื่อเสียงของคุณในการรับงานใหญ่จากรัฐบาลหรือองค์กรขนาดใหญ่มาได้ แต่จริงๆ แล้วคุณแอบไปจ้างบริษัท Software House หรือบริษัทรับจ้างผลิตของต่ออีกทอดให้ทำแทนคุณก็ได้ (ภายใต้เงื่อนไขถ้าคุณมีเงินจัดสรรได้มากพอ บริหารเงินสดได้ดี) เรียกว่า subcontract แต่แน่นอนว่าคุณยังจำเป็นต้องตรวจงาน และคอยประชุมงานเป็นระยะๆ แต่งานส่วนใหญ่สามารถดำเนินไปได้โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของรายละเอียดมากนัก คุณมอบภาระส่วนนั้นให้เป็นหน้าที่ของบริษัท Software House ที่คุณจ้างตัดสินใจเองในส่วนที่ไม่สำคัญได้ นั่นก็จะเป็นการลดงานคุณเองได้เช่นเดียวกับการมอบอำนาจตัดสินใจให้ลูกน้องในทีมนั่นเอง แต่คุณต้องมั่นใจจริงๆ นะว่าคนที่คุณจ้างต่อสามารถทำงานนั้นได้จริงๆ โดยอาศัยประสบการณ์จากตัวคุณเองที่สะสมมาตั้งแต่ระดับสีแดงมาจนถึงระดับสีเหลืองว่างานแบบนี้ควรจะใช้เวลาเท่านี้ๆ ให้คนความสามารถเท่านี้ๆ ทำแทนได้

ขอยกตัวอย่าง freelance จากบทความตอนที่แล้วคือคุณโน้ต อุดม ที่พูด talk show คนเดียวก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลได้ เพราะไม่มีใครที่ทำได้แบบคุณโน้ตในตลาด แต่แน่นอนว่าคุณโน้ตไม่สามารถหาคนมาทำแทนได้เพราะคุณโน้ตถูกจดจำในฐานะ "Brand ชื่อว่าโน้ต" ดังนั้นถ้าคุณโน้ตจำเป็นต้องหยุดทำงานด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ รายได้ก็จะหยุดตามไปด้วยทันที เพราะถ้าคนอื่นมาทำแทน คนดูก็จะไม่เชื่อถือทันทีเพราะจำไปแล้วว่าต้องเป็นคุณโน้ตเท่านั้น และคนอื่นก็ไม่เก่งเท่าคุณโน้ต แน่นอนว่าถ้าคุณมีรายได้มากเท่าคุณโน้ต คุณอาจไม่จำเป็นต้องเลื่อนไประดับถัดไปและค้างสถานะไว้ที่ระดับนี้ก็ได้ แล้วอาศัยทำงานทีเดียวหนักๆ ได้เงินเยอะๆ แล้วพักทีเดียวยาวๆ ใช้เงินที่เก็บมาโดยไม่ทำงานเพิ่มก็ย่อมได้ หรือคุณอาจจะเลือกทำตัวเป็นคุณปัญญา เจ้าของ Workpoint ที่แรกๆ คนดูก็จำ Branding คุณปัญญาจนหาคนมาทำแทนได้ยากเหมือนกัน แต่เค้าก็พัฒนาทักษะฝีมือของทีมงานจนกระทั่งทำหน้าที่พิธีกรแทนคุณปัญญาได้ในที่สุด และสร้าง Brand Workpoint ให้ผู้ชมจดจำแทนที่จะเป็น Brand คุณปัญญา ในที่สุดคุณปัญญาก็มีทีมงานที่ทำงานแทนได้โดยคุณปัญญาก็หลบไปหลังฉากได้มากขึ้น มีเวลามากขึ้นในที่สุดและขึ้นเป็นระดับสีเขียวได้นั่นเอง

มนุษย์เงินเดือน

หลังจากฝ่าด่าน 18 อรหันต์และเราได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโปรเจคคอยคุมงานแล้ว เราก็มีลูกน้องในมือพร้อมทีาเชื่อมั่นในตัวเรา สามารถใช้งานได้ดั่งใจ เราเป็นคนคุมทิศทางของโปรเจค แต่ลูกน้องก็ยังต้องมีเราอยู่ในทีมเพื่อขอคำแนะนำตลอดเวลา เราต้องคอยคุมงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทที่บริษัทกำหนดมา ลูกน้องขาดเราช่วยคิดวางแผนงานให้ไม่ได้ เราจะต้องนำพาทีมงานนี้ให้ทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้ได้ การเลื่อนไปขั้นถัดไปก็ตามที่ได้กล่าวไปแล้วคือคุณต้องพัฒนาทีมงานให้คิดวางแผนตัดสินใจอะไรต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยมีคุณเป็นเพียงโค้ชคอยให้คำปรึกษาอยู่ข้างๆ ไม่ใช่หัวหน้าที่ออกคำสั่ง คุณต้องกล้าให้ลูกน้องทำงานพลาดบ้างเพื่อเติบโต แต่คุณก็ต้องจำกัดกรอบความเสียหายจากการพลาดด้วยเช่นกัน หากคุณทำได้คุณก็จะสามารถเลื่อนไประดับสีเขียว และท่องเที่ยวพักผ่อนในเวลาที่ต้องการได้ง่ายขึ้นมากโดยปล่อยให้ลูกน้องของคุณสื่อสารดูแลงานกันเองและคุณมาตรวจสอบงานในขั้นท้ายๆ ไม่ให้มันเดินไปผิดทาง ในองค์กรใหญ่ๆ ระดับสีเหลืองก็คือหัวหน้าทีมธรรมดาหรือผู้จัดการสาขา แต่ระดับสีเขียวก็คือระดับหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นลองนึกถึง Samsung ก็คือหัวหน้าฝ่ายมือถือ หัวหน้าฝ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

อันที่จริงคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าก็ได้นะ ในการก้าวมาเป็นมนุษย์เงินเดือนระดับสีเหลือง คุณอาจจะเป็นพนักงานที่ถูกจ้างเพื่อทำงานพิเศษมากๆ ที่ประเทศนี้หาคนทำเป็นได้น้อยมากกกก ในสายซอฟต์แวร์เช่นคุณคงเคยได้ยินคนที่ทำ SAP เป็นหรือเขียน Cobol เป็นจะได้รับเงินเดือนที่สูงมากและมีบริษัทแย่งตัวกันไปทำมาก ถ้าเป็นพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังมีผู้เล่นในตลาดน้อยเช่น Machine Learning, AI, Blockchain, Virtual Reality, Internet of Things ถ้าคุณมี Skill เหล่านี้พร้อมผลงานที่เคยวางขายแล้วก็จะดึงดูดหลายๆ บริษัทให้อยากจ้างคุณในราคาแพง นั่นทำให้คุณก้าวสู่ระดับสีเหลืองได้เช่นกัน แต่คุณจะเลื่อนไปที่ระดับสีเขียวโดยไม่มีทีมงานไม่ได้อยู่ดีนะครับ

ที่ระดับนี้บางคนอาจจะสงสัยว่าเราอยู่ภายใต้บริษัทที่มีข้อกำหนดต่างๆ อยู่ แล้วเราจะมีอิสระที่จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร ออกไปทำบริษัทตัวเองดีกว่าไหม แน่นอนว่ามันก็คงจะทำตามใจได้ไม่มากเท่าการตั้งบริษัทของตัวเองเป็นนายของตัวเองตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง แต่ขอให้คุณลองคิดดูว่าหากคุณตั้งบริษัทของคุณเองแล้วคุณไม่สามารถหาจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือหา Nich Market ของตัวเองได้คุณก็คือเจ้าของกิจการในระดับสีส้มที่พร้อมที่จะมีคนมาเขี่ยคุณออกจากตลาดได้ตลอดเวลาอยู่ดี ดังนั้นหากคุณไม่มี Skill ตรงนั้น คุณไม่มีไอเดียพลิกโลก คุณไม่มีสินค้าที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง คุณไม่มีทรัพยากร หรือเงินมากพอ แต่คุณก็ยังสามารถเติบโตเป็นระดับสีเขียวต่อไปได้ โดยค้นหาบริษัทที่มีเป้าหมายที่จะทำงานด้วย Passion เดียวกันคุณได้ เช่นคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ชอบด้านเทคโนโลยีอวกาศมากๆ แต่คุณไม่มีไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางอวกาศใหม่ๆ หรือไม่ก็คุณไม่มีทางสร้าง startup ทางอวกาศด้วยเงินจำนวนเพียงน้อยนิดได้ คุณก็สามารถสมัครไปเป็นพนักงานของบริษัท SpaceX ของ Elon Musk ได้ คุณก็จะได้ใช้ทักษะที่คุณถนัดคือเขียนโปรแกรม ทำในสิ่งที่คุณชอบหรือมี Passion กับมันซึ่งก็คืออวกาศได้ และนั่นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณไม่เบื่อกับงานและยินดีส่งเสริมบริษัทให้เติบโตต่อไปได้ และคุณก็จะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าบริษัทที่คุณเข้าไปทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวอีกด้วย

เจ้าของกิจการ

ต่อจากคราวที่แล้ว เจ้าของกิจการในระดับสีเหลืองคือเจ้าของที่มี Product ของตัวเองไม่ซ้ำกับใครในตลาด หรือซ้ำแต่อยู่กันคนละพื้นที่ คนละประเทศ คนละฐานลูกค้า คุณต้องเป็นเบอร์ 1 ในตลาด แต่ตลาดคุณไม่จำเป็นต้องใหญ่มากก็ได้เพราะจากบทความก่อนเราบอกว่าคุณต้องสร้าง Nich Market ของคุณขึ้นมา ดังนั้นคุณอาจเป็นแค่เบอร์ 1 ในกรุงเทพฯ แต่ต่างจังหวัดมีคนทำอยู่แล้วก็ได้ ไม่เป็นไร หลังจากนั้นก็อยู่ที่กลยุทธ์ของคุณเองว่าจะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นได้อย่างไร

การพัฒนาไประดับสีเขียวในภาษา startup ก็คือการหา Product Market Fit ให้เจอ (การหาตลาดที่ขาย Product ได้) และหา Business Model ที่เหมาะสมกับตลาดนั้นและทำกำไรให้ได้ เมื่อคุณเริ่มมองเห็นแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้กำไรเพิ่มขึ้นได้ รู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะถึงเวลา Scale (ขยาย) ขนาดบริษัทให้ใหญ่โตขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มงบการตลาดเพื่อทำซ้ำและเติบโตตามภาษา Startup เลย ทีนี้การจะทำแบบนั้นในในวงการ startup ก็คือการระดมทุนเพิ่มเพื่อใช้ในการขยายบริษัทและเพิ่มงบการตลาดนั่นเอง

การระดมทุนของ Startup และการขยายทีมงานจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องทำเมื่อคุณอยู่ในระดับสีเหลืองแล้ว หากคุณออกงานบ่อยอยู่แล้ว และมีชื่อเสียงใน Nich Market ของคุณเองอยู่บ้างคุณก็จะมีคนเก่งๆ ที่สนใจมาทำงานด้วย และมีนักลงทุนมาคุยด้วยบ้างโดยอัตโนมัติ แต่จะเป็นแค่ระดับ Angel Investor หรือ Seed Round เพราะผลกำไรคุณยังไม่เยอะ และคุณต้องเลือกให้ดีด้วย โดยที่คุณไม่ได้เป็นฝ่ายออกไปหาด้วยซ้ำ ก็คุณเนื้อหอมแล้วไง! แต่ไม่ได้หมายความว่าให้นอนเป็นเสือนอนกินอย่างเดียวนะ คุณก็ยังควรต้องออกไปหานักลงทุนด้วยตัวเองบ้าง แล้วชื่อเสียงจากการออกงานของคุณก็จะทำให้นักลงทุนหรือทีมงานเก่งๆ สนใจจะคุยกับคุณได้ง่ายขึ้น

ข้อควรระวังก็คือการระดมทุนในขั้นตอนนี้ควรจะเป็นการระดมทุนที่ทำไปเพื่อ Scale ธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นจริงๆ และระดมทุนแล้วได้กำไรเพิ่มขึ้นจริงๆ ไม่ใช่ระดมทุนไปเพื่อต่ออายุบริษัทไปวันๆ ไม่อย่างนั้นนั่นจะไม่ใช่การก้าวสู่ระดับสีเขียว แต่จะเป็นการค่อยๆ ไหลลงเขาตกลงไประดับสีแดงและใต้สีแดงในที่สุดไปแทน ซึ่งเป็นกับดักที่สำคัญของ Startup อย่างหนึ่งเช่นกัน ภาษาหุ้นที่คนรู้จักกันก็คือเมื่อถึงเวลาที่รู้แล้วว่าธุรกิจไปไม่ไหวจริงๆ ก็อย่าไประดมทุนเพิ่มแต่ควรจะ Cut Loss เพื่อลดอัตราการสูญเสียลงไปและไปลงทุนกับธุรกิจตัวใหม่แทนจะดีกว่า

อย่าลืมว่าก่อนจะขยายทีมงานให้ใหญ่โต คุณต้องมีระบบวัดผลและกระบวนการทำงานที่ชัดเจนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้แล้ว และคุณก็ต้องเตรียมการมอบอำนาจการตัดสินใจให้ลูกน้อง หรือก็คือมีลูกน้องที่พัฒนาเป็นหัวหน้ามาทำงานแทนคุณ เพื่อให้คุณมีเวลา focus ไปที่เรื่องอื่นที่สำคัญกว่าเช่น การหา partner มาช่วยให้บริษัทเติบโต หรือการเจรจากับนักลงทุนเพิ่มเติม หรือแม้แต่สร้างธุรกิจใหม่ที่คุณวางโครงสร้างให้เอาตัวเองไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุดตั้งแต่แรกและจับมาช่วยส่งเสริมกันและกันกับธุรกิจที่คุณมีอยู่แล้ว

ทำไมผมข้ามขั้นไประดับสีเขียวเลยไม่ได้เหรอ?

ถ้าคุณไม่เคยมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากผู้อื่นในระดับสีเหลือง ถามว่าคุณจะสร้างกำไรให้มากขึ้นได้อย่างไรในเมื่อบริษัทอื่นหรือคนๆ อื่นพร้อมจะเข้ามาเสียบแทนที่คุณตลอดเวลา คุณจะกังวลเรื่องการโดนแย่งงานมากจนไม่รู้ว่าจะหาทางทำกำไรจากมันเพิ่มขึ้นได้อย่างไร การแข่งขันที่การตัดราคา (เพราะทุกคนทำได้เหมือนกันหมด) สุดท้ายจะไม่มีใครได้กำไรมากที่สุดในตลาดอยู่ดี มีแต่จะทำให้อุตสาหกรรมของคุณตายลงอย่างช้าๆ

5. ระดับสีเขียว: นักดนตรีนำ ( Performer)

ที่ระดับนี้คุณจะมีเวลาว่างในการทำเรื่องสำคัญๆ เช่นการค้นหา partner หรือนักลงทุนใหม่ๆ หรือค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามที่กล่าวไว้แล้วในระดับสีเหลือง และองค์กรของคุณก็จะมีการเติบโตมีผลกำไรมากขึ้นจากระดับสีเหลืองที่อาจจะแค่อยู่รอด แต่ไม่เติบโต ตอนนี้ผลกำไรของคุณกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และคุณเองก็หาทางเพิ่มผลกำไรตลอดเวลา

จริงอยู่ที่ระดับสีเขียวคุณสามารถเลือกแทนที่จะไปค้นหา partner ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เลือกที่จะไปพักร้อนแทนซะนี่ เพราะมีเวลาว่างมากมายหลังจากมีคนทำงานตามระบบที่คุณวางเอาไว้ให้แล้ว คุณอาจจะเลือกที่จะใช้ชีวิต Slow Life ตามที่หนังสือสอนรวยหลายๆ เล่มเค้าว่ากันก็ตามใจ แต่คุณต้องไม่ลืมว่าโลกเราหมุนไปเร็วตลอดเวลา เช่น Nokia ยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็ล่มสลายเพราะไม่มีการปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนไป กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว ผู้บริหาร Nokia ก็มีวัฒนธรรมที่จะนิยมพักร้อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมแบบหายตัวไปตลอดสองเดือน แหม่ก็ใช้สิทธิ์ของการอยู่ในระดับสีเขียวกันคุ้มเกินไปน่ะเอง จริงๆ เราก็ควรจะมีเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองบ้าง แต่ก็อาจจะไม่ต้องนานขนาดนี้ก็ได้

กลับเข้าเรื่อง การเติบโตไปยังระดับสีน้ำเงินซึ่งเป็นระดับถัดไปนั้น คุณจะต้องเริ่มเข้าใจสิ่งที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้นซึ่งก็คือบัญชีงบดุล คุณอาจไม่ได้เรียนรู้มันเองโดยตรง 100% คุณอาจจะจ้างนักบัญชีส่วนตัวมาตีความให้ฟังก็ได้ หรือไม่ก็หาทีมงานที่เก่งทางด้านการคำนวณมาช่วยเหลือคุณในเรื่องนี้ (ในแบบทดสอบ GeniusU คือคนทางสาย Steel) ผมขอสรุปย้อนดังนี้

  1. ที่ระดับสีเหลือง คุณจะเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการเงินสดอย่างไรเพื่อให้บริษัทอยู่รอด
  2. ที่ระดับสีเขียว คุณจะเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ วางแผนอย่างไรให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น
  3. ที่ระดับสีน้ำเงิน คุณจะเน้นย้ำเรื่องการลงทุนอย่างไรให้สินทรัพย์หรือธุรกิจงอกเงยและให้ผลตอบแทนคุณมากที่สุด

การก้าวสู่ระดับสีน้ำเงิน คุณจะต้องเริ่มใช้หลักการ Credit, Debit และ Cash ให้เป็น ในวงการธุรกิจก็คือการให้สินค้ามาก่อนจ่ายเงินทีหลังเป็นเวลา 3 เดือนหรือกี่เดือนก็ว่าไป ซึ่งถ้าคุณเป็นระดับสีน้ำเงินแสดงว่าธุรกิจของคุณจะต้องใหญ่โตระดับหนึ่งและมีชื่อเสียงระดับหนึ่งแล้วถึงจะทำแบบนี้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือคุณมีอำนาจต่อรองกับบริษัทคู่ค้า วิธีนี้จะทำให้คุณได้เงินสดมาหมุนก่อนโดยที่ไม่ต้องกู้เงินจากธนาคาร และนำเงินสดไปใช้สร้างผลตอบแทนให้งอกเงยได้ก่อน วางแผนได้ล่วงหน้าก่อนอีกตะหาก เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “หนี้ดี” กับ “หนี้เสีย”

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมคุณต้องเริ่มเข้ามาเรียนรู้เรื่องการเงินให้มากขึ้นเมื่อต้องการจะก้าวเข้าสู่ระดับสีน้ำเงิน หากคุณมองธุรกิจของคุณเป็นสินทรัพย์หนึ่งก้อน คุณก็จะเริ่มคิดและวางแผนว่าทำอย่างไรคุณถึงจะหาธุรกิจอีกอย่างมาส่งเสริมธุรกิจตัวแรกให้เติบโตมากขึ้นไปอีกได้ ทำอย่างไรคุณถึงจะเข้าไปมีส่วนร่วมในแต่ละธุรกิจได้ อาจจะผ่านการลงทุนด้วยเงินสดเพื่อแลกหุ้นโดยตรงกับบริษัท startup หน้าใหม่เพื่อหวังผลระยะยาว พร้อมทั้งให้คำแนะนำบริษัทนั้นจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ระดับสีแดงถึงระดับสีเขียว คุณจะสามารถให้คำแนะนำดีๆ ได้มากมาย และช่วยหา partner มาเชื่อมโยงเพื่อให้สินทรัพย์ของคุณเติบโตให้มากที่สุดนั่นเอง ณ จุดนี้คุณก็คือ Angel Investor ที่ได้นำเงินสดที่ตัวเองมีไปลงทุนให้งอกเงยนั่นเอง หรือคุณอาจจะไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เลยก็ได้นะ แต่ว่าคุณจะไม่ได้ใช้ศักยภาพที่สั่งสมมาในการให้คำแนะนำเท่าใดนัก และคุณอาจไม่มีสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในตัวบริษัทมากเท่าลงทุนที่บริษัทโดยตรงเช่นกัน

หรือหากคุณไม่อยากเสียเงินสดไปกับหุ้นในบริษัทที่ดูมีความเสี่ยงมาก แต่คุณก็อยากจะช่วยเหลือพวกเด็กๆ หน้าใหม่ คุณก็อาจจะเลือกที่จะให้คำแนะนำเฉยๆ แต่ไม่ลงเงินในบริษัท startup เพื่อแลกกับหุ้นจำนวนที่น้อยลงแทนก็ได้เช่นกันตามแต่จะตกลง

สุดท้ายการยกตัวเองขึ้นสู่ระดับสีน้ำเงิน คุณจะเริ่มมีธุรกิจหลายตัวต้องดูแล ทำให้มีรายได้จากหลายทาง และคุณจำเป็นต้องหาคนจากระดับสีเขียวที่ไว้ใจได้มาช่วยคุณดูแลธุรกิจแต่ละตัวแยกกันคนละธุรกิจตามแต่ความสามารถที่เหมาะสมของทีมงานของคุณ โดยหน้าที่ของคุณคือการบริหารจัดการธุรกิจแต่ละตัวให้สอดคล้องส่งเสริมกันและกัน และใช้ชื่อเสียงของคุณให้เป็นประโยชน์เพื่อดึงดูดโอกาสมาช่วยส่งเสริมธุรกิจแต่ละตัวให้มีผลตอบแทนในรูปแบบสินทรัพย์ที่ดี หัวใจหลักคือคุณต้องจัดความสมดุลระหว่างธุรกิจที่เสี่ยงสูงและธุรกิจที่เสี่ยงต่ำให้ดี หากใครมีความรู้ด้านการลงทุนบ้าง คุณจะรู้ว่าคุณก็ต้องมีการลงทุนทั้งฝากประจำที่แทบไม่เสี่ยงบ้าง และลงทุนในหุ้นที่เสี่ยงมากด้วย และจัดสัดส่วนการลงทุนว่าจะเน้นหนักที่หุ้นหรือฝากประจำเอาเอง ที่ระดับสีน้ำเงินก็เช่นกัน

Freelance

ตั้งแต่ระดับนี้เป็นต้นไปขอไม่เขียนในส่วนของ Freelance เนื่องจากแทบจะไม่มีอะไรต่างจากมุมมองเจ้าของกิจการแล้ว แม้คุณจะไม่มีพนักงานเป็นของตัวเอง แต่การควบคุมดูแลบริษัทอื่นที่คุณจ้าง หรือเด็กนักศึกษา Subcontract ที่คุณจ้างต่อก็แทบไม่ต่างจากการดูแลทีมงานของบริษัทคุณเองแล้ว แค่พวกเขาไม่ได้มีชื่อว่าเป็นพนักงานของคุณเท่านั้นเอง

มนุษย์เงินเดือน

ในระดับสีเขียวคุณคือหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์สักชิ้น แต่การก้าวไปสู่ระดับสีน้ำเงิน มันก็คือการก้าวจากระดับหัวหน้าแผนกมาเป็นระดับ Country Manager ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่คอยกำหนดภาพรวมในการบริหารและลงทุนแล้วละ เงินเดือนของคนระดับนี้คงจะตั้งแต่ 5 แสนไปจนถึงเกินล้าน หากนึกไม่ออกว่าแค่พนักงานบริษัทธรรมดาๆ จะเติบโตไปเป็น Country Manager ได้ยังไงให้ลองดูประวัติของคุณ อริยะ พนมยงค์ Country Manager ของ Line ได้ (หากอยากทราบ Career Path ของเขาลองแอบไปเช็คประวัติได้ที่ Linkedin ที่นี่) คุณจะเห็นว่าเขาไม่เคยเปิดบริษัทของตัวเองเลย แต่เขาก็สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ได้ด้วยการไต่ระดับในองค์กรตามปกตินี่ละโดยแรกเริ่มเติบโตมาจากฝ่าย Marketing จุดแข็งของเขาคือมีประสบการณ์ในงานบริหารและพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคมรวมกว่า 18 ปี แถมก่อนจะมาเป็น Country Manager ของ Line ยังเคยเป็น Country Head ของ Google มาก่อนอีกด้วย เนื้อหอมปะล่ะ! ซึ่ง Line บริษัทเดียวก็มี Product ให้ดูแลยิบย่อยมากมาย ลองคิดดูว่าจะต้องคำนวณงบดุลแยกในแต่ละผลิตภัณฑ์เก่งขนาดไหนถึงจะมาดูแลในส่วนนี้ได้ นี่เป็นเหมือน Career Path สูงสุดของเหล่ามนุษย์เงินเดือนเลยทีเดียวเลยครับ เห็นไหมว่าไม่ต้องออกไปเปิดบริษัทตัวเอง ไม่ต้องมีไอเดียสินค้าพลิกโลกเป็นของตัวเองก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับคุณเองว่าจะเลือกทางเปิดบริษัทเองหรือไต่ระดับในองค์กรใหญ่ๆ เอา แต่แน่นอนว่าผมคงตอบไม่ได้ว่าการไต่ระดับในองค์กรในไทยจะติดปัญหาเรื่องการเมืองในบริษัท เรื่องระบบอุปถัมภ์หรือไม่ แต่ละองค์กรก็คงจะไม่เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่าถ้าตำแหน่งในองค์กรหนึ่งตัน คุณก็มีสิทธิ์จะย้ายองค์กรได้เช่นกันถ้าชื่อเสียงคุณไม่มีอะไรด่างพร้อย

การก้าวไปสู่ระดับสีน้ำเงินในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ชัดเจนที่สุดก็คงต้องแสดงความสามารถให้ CEO ของบริษัทข้ามชาติเห็น มีผลงานที่จับต้องได้ มีทิศทางนโยบายที่ดี ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนหลายฝ่ายในองค์กร และแน่นอนว่าคุณต้องพอจะอ่านงบการเงินคร่าวๆ ได้เช่นกัน และวิจารณ์ว่าบริษัทควรจะพุ่งไปในทิศทางใด หากคุณสามารถแนะนำแนวทางให้ Country Manager คนปัจจุบันอย่างมีเหตุผล คอยช่วยเหลือในสิ่งที่เค้าขาดได้เป็นอย่างดี หรือไปหา Connection ที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมาได้ และดูแลทีมงานตัวเองให้ทำผลกำไรที่โดดเด่นได้ก็จะช่วยให้การพิจารณาเลื่อนขั้นของคุณเป็นไปได้ง่ายขึ้น หรืออาจมองหาข้อเสนอจากบริษัทอื่นก็ได้นะถ้าชื่อเสียงคุณดี มีแต่คนรู้จักไปทั่วจริง

เจ้าของกิจการ

เจ้าของกิจการในระดับสีเขียว ถ้าเทียบกับ startup ก็คือบริษัทที่มีกำไรเติบโตแล้วพอประมาณ อาจมาจากเลี้ยงตัวเองได้จนกำไรหรือเคยได้รับการลงทุนในระดับ Seed Stage มาแล้ว และอาจมีผู้สนใจมาลงทุนเพิ่มเป็น Series A หรือ Series B หรือแม้แต่การเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในตลาดหุ้น

สำหรับการก้าวไประดับสีน้ำเงิน ขอยกเคสตัวเองเป็นตัวอย่างนะครับ บริษัทเก่าของผม บริษัท เลเวลอัพ สตูดิโอ จำกัด เป็นบริษัทผลิตเกม Facebook/Mobile ได้ที่รับการลงทุนจากนักลงทุนระดับสีน้ำเงินที่เป็นคนไทยชื่อบริษัท Galaxy Ventures ซึ่งนักลงทุนคนนี้มี Connection มากมายทั้งไทยและต่างชาติ บริษัทของเราจริงๆ นับว่าอยู่ในระดับสีเหลือง พอมีกำไรบ้าง แต่ไม่มากมายนักแค่พออยู่ได้ เมื่อทางบริษัทได้รับการลงทุน สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือนักลงทุนรู้สภาพตลาดเกมเป็นอย่างดีเพราะธุรกิจหลักของเขา (Ini3 Digital) คือการซื้อเกมมาแปลและวางขายในประเทศไทย เขา Connect กับบริษัทเกมหลายที่แม้กระทั่งบริษัทจีนที่มาวางขายเกมในไทย ทำให้รู้กลวิธีหลายอย่างที่เขาทำกัน และเมื่อครั้ง Google และ Facebook ได้เดินทางมาหาข้อมูลสภาพตลาดเกมในไทย บริษัทของเราก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่นักลงทุนแนะนำให้ไปสัมภาษณ์ ทำให้บริษัทของเรามีโอกาสพูดคุยกับพนักงานของ Google และ Facebook โดยตรงและได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในบางอย่างที่มีคนรู้ไม่มากนัก แม้ว่าสุดท้ายทางบริษัทของเราจะไม่ได้ใช้งานข้อมูลตรงนั้นให้เกิดประโยชน์มากนัก (อาจเพราะไม่ได้วางแผนจะใช้ให้ดี) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงช่องทางที่บริษัทเกมทั่วๆ ไปไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ เช่นกัน และการมีนักลงทุนระดับสีน้ำเงินคอยช่วยจะทำให้คุณมีโอกาสขายหุ้นบริษัทของคุณเพื่อรับการระดมทุนเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย

ตัวอย่างที่ยกมานี้จริงๆ แค่ต้องการจะสื่อว่าบริษัทในระดับสีเหลืองและสีเขียวควรจะจับมือกับบริษัทใหญ่ระดับสีน้ำเงินเพื่ออะไร และการก้าวไปเป็นเจ้าของกิจการระดับสีน้ำเงินคุณจะต้องช่วยเหลือบริษัทในระดับสีเหลืองและสีเขียวอย่างไร โดยไม่ริดรอนอำนาจการตัดสินใจของพวกเขา (ถ้าไม่มอบการตัดสินใจให้ คุณก็คือเจ้าของกิจการในระดับสีเหลืองที่จะเสียเวลาลงมาดูแลตรงส่วนนี้เป็นอย่างมาก)

เจ้าของกิจการในระดับสีน้ำเงินที่ผมกล่าวถึงนี้มีการลงทุนในธุรกิจหลากหลายบริษัท และเขาก็ยังคงดำเนินธุรกิจตัวเองอยู่ที่ชื่อ Ini3 Digital ไม่ได้เลิกไป เพียงแต่นำธุรกิจของตัวเองมา Add Value ให้กับบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนด้วยเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างส่งเสริมกันและกัน และเมื่อมีทั้งบริษัทตัวเองที่เดินหน้าเรื่อยๆ กับบริษัทที่ลงทุนใหม่ใน port มาส่งเสริมกันและกัน เขาก็สามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลก SoftBank ผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายๆ ที่ เช่น Alibaba, Grab, Supercell เข้ามาลงทุนในบริษัท Ini3 Digital ได้อีก จะเห็นว่าเขาสร้างโอกาสให้ตัวเองเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งลงทุนให้คนอื่น และให้คนอื่นที่ใหญ่มากๆ มาลงทุนในตัวเขาเองด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างบริษัทในระดับสีน้ำเงินอื่น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนง่ายๆ ก็คือ Samsung ซึ่งคุณก็รู้ว่า Samsung แบรนด์เดียวมีหลายธุรกิจมาก ทั้งโทรศัพท์มือถือ, ทีวี, ชิปคอมพิวเตอร์, Harddisk, SSD ซึ่งก็ไม่ต่างจากการกระจายความเสี่ยงใน port ลงทุนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และแต่ละแผนกก็จะมีหัวหน้าที่ดูแลแยกกันไป ซึ่ง Samsung สามารถนำธุรกิจหนึ่งของตัวเองมาส่งเสริมอีกธุรกิจหนึ่งได้เป็นอย่างดี เช่น Samsung ผลิตชิปประมวลผลในโทรศัพท์มือถือส่ง Apple อยู่แล้ว ก็ผลิตให้โทรศัพท์ตัวเองด้วย ไม่ต้องไปซื้อจากบริษัทอื่นซึ่งแน่นอนว่ามีราคาที่แพงกว่าผลิตเอง

การก้าวไปสู่ระดับสีน้ำเงินก็ตรงไปตรงมาคือคุณต้องเพิ่มกำไร, ชื่อเสียงในอุตสาหกรรมให้มากพอ เมื่อบริษัทในระดับสีเขียวของคุณมีกำไรมากพอคุณก็จะสามารถนำมันมาลงทุนในบริษัทเกิดใหม่อื่นๆ เพื่อให้คุณสามารถดึงดูดโอกาสใหม่ๆ เข้าหาตัว และรอดูผลตอบแทนจากบริษัทใหม่นั้นๆ ต่อไป

ทำไมผมข้ามขั้นไประดับสีน้ำเงินเลยไม่ได้เหรอ?

อันนี้หลายคนคงสงสัย และอยากก้าวกระโดดไปเป็นนักลงทุนระดับสีน้ำเงินกันเลย ฟังดูเป็นงานสบาย รายได้ดี ไม่ต้องทำอะไรมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่เลย แต่คุณรวยมาก คุณมีเงินเก็บจากอะไรก็แล้วแต่ คุณเลยอยากได้ Passive Income (กะจะ In trend กับเขาซะหน่อย) คุณเลยไปหลงเชื่อลงทุนกับ Startup หน้าใหม่ที่เป็นธุรกิจที่คุณไม่รู้จักมันดีพอ แต่เค้าโฆษณาว่ามันจะเปลี่ยนโลกได้ ทุกอย่างฟังดูดี ได้ชื่อว่าเป็น Angel Investor ฟังดูเท่ห์แถมไม่ต้องทำงานเองอีก มีคนทำงานให้ ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร?

ผมต้องเล่าก่อนว่าในมุมมองของ Startup ถ้าไม่สามารถหาเงินลงทุนจากนักลงทุนผู้มีประสบการณ์จริงได้ เค้าจะมีแหล่งเงินทุนจาก 3F ครับ คือ Family, Friends ซึ่งก็ฟังดูไม่แปลกใช่ไหมครับ และ F ตัวสุดท้ายก็คือ Fools หรือคุณนั่นเองที่โดนหลอกให้เอาเงินมาลงโดยไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของคนทำเท่าไหร่ สุดท้ายคุณก็จะโดนโกงเอาได้ง่ายๆ ดังเช่นพวกธุรกิจแชร์ลูกโซ่ต่างๆ บริษัทที่ระดมทุนมาแล้วปิดเชิดเงินหนีไปดื้อๆ นั่นแหละคืออนาคตของผู้ที่หวัง Passive Income โดยไม่มีความรู้อะไรเลย

สำหรับบางคนที่หวังจะสร้างหลายๆ ธุรกิจตั้งแต่แรกเพราะหวังว่าจะได้มีรายได้หลายทางแบบนักลงทุนในระดับสีน้ำเงิน ผมจะบอกให้ว่าถ้าคุณยังสร้างธุรกิจให้ดีไม่ได้สักตัวแล้วหวังจะทำหลายๆ อย่างพร้อมกันเพื่อหวังฟลุ๊คสักอันเนี่ย สุดท้ายคุณจะทำได้ไม่ดีสักอย่าง ดีไม่ดีต่อให้มีธุรกิจหนึ่งที่มีกำไรมาก แต่สุดท้ายก็อาจถูกอีกธุรกิจฉุดลงให้กำไรหดหายไปทดแทนหมดจนไม่เหลือกำไรเลย ดังนั้นประสบการณ์การดูแลธุรกิจมาจนถึงระดับสีเขียวจึงมีความสำคัญมากในการดูแลธุรกิจหลายๆ อย่างพร้อมกัน

6. ระดับสีน้ำเงิน: วาทยากร ( Conductor)

ในระดับสีน้ำเงินนี้ผมคงไม่มีอะไรพูดมาก พวกเขาก็เป็นเศรษฐีร้อยล้านแน่ๆ ละ และมีบริษัทในเครือจำนวนหนึ่งที่จะคอยให้ผลตอบแทนจากหลายๆ แหล่งตามสูตรที่หนังสือสอนรวยเขาว่ากัน แน่นอนระดับนี้น่าจะเป็นระดับในฝันของคนหลายคน แต่การก้าวมาถึงระดับนี้ได้ก็ต้องผ่านประสบการณ์หลากหลายมามากมาย แล้วคุณจะมีอำนาจในการลงทุนมากกว่าที่เคยมี และหลายๆ คนก็เลือกที่จะหยุดอยู่แค่ระดับสีน้ำเงินนี้ เพราะแค่นี้ก็อยู่สบายไปทั้งชีวิตแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางคนที่ยังต้องการจะก้าวไปยังขั้นถัดไปอยู่

ข้ามไปที่การก้าวไประดับถัดไประดับสีครามเลยดีกว่าครับ การก้าวต่อไปนั้นคุณจะต้องเปลี่ยนความคิดจากการสร้างความเจริญเติบโตทางทรัพย์สินและเงินทุนของคุณไปเป็นการเคลื่อนย้ายความน่าเชื่อถือแทน อาวุธของระดับสีครามอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของคุณ ถ้าคุณมีความน่าเชื่อถือที่มากเพียงพอ คุณสามารถดึงดูดให้คนอื่นมาลงทุนในตัวคุณเองได้อย่างง่ายดาย (กล่าวก็คือดึงดูดให้นักลงทุนในระดับสีน้ำเงินขึ้นไปมาลงทุนให้ได้อย่างไม่ยากนั่นแหละ) ตัวอย่างของผู้ที่อยู่ในระดับสีครามก็คือ บิล เกตต์ (ผู้ก่อตั้ง Microsoft), ริชาร์ด แบรนสัน(ผู้ก่อตั้ง Virgin) , แลรี เพจ(ผู้ก่อตั้ง Google), มหาตมะ คานธี (นักกฎหมายในอินเดีย), แม่ชีเทเรซา(มิชชันนารีที่ช่วยเหลือชาวอินเดีย) คุณอาจจะสังเกตว่าเดี๋ยวนะ มหาตมะ คานธี กับแม่ชีเทเรซา ไม่ใช่นักธุรกิจนี่!? แล้วเขาอยู่ในระดับสีครามได้อย่างไร?

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าอาวุธสำคัญของระดับสีครามคือความน่าเชื่อถือ และคือการเป็นบุคคลต้นแบบในอุตสาหกรรมของคุณ หรือการช่วยเหลือสังคมทางด้านใด ด้านหนึ่ง ดังนั้นมหาตมะ คานธี และแม่ชีเทเรซา ซึ่งมีประวัติการทำงานตลอดหลายปีที่ยาวนาน และทั่วถึงไปยังคนส่วนใหญ่ในประเทศ สร้างผลกระทบต่อสังคมในระดับประเทศ ย่อมมีความน่าเชื่อถือสูง และย่อมจะดึงดูดให้คนมีเงินต่างๆ ที่อยากจะช่วยทำให้เป้าหมายของทั้งสองคนบรรลุวัตถุประสงค์ อยากช่วยสังคมบ้างก็จะช่วยกันบริจาคให้สองคนนำไปทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป หรืออาจจะบริจาคที่ดิน อาคารเพื่อช่วยเหลือแทนด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่าแม้จริงๆ พวกเขาไม่ได้ร่ำรวยมาก ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ แต่พวกเขาสามารถดึงดูดเงินช่วยเหลือได้อย่างล้นหลามอยู่ดี ส่วนคนสายธุรกิจที่ผันตัวไปช่วยสาธารณะประโยชน์ก็คือบิล เกตต์นั่นเอง

คุณต้องใช้ความน่าเชื่อถือของคุณในการสร้างชุมชนที่รวบรวมเอาคนเก่งระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมของคุณเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อจะมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในระดับประเทศ หรือระดับโลกที่ทุกคนต่างต้องการร่วมกัน ต้องการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นไปด้วยกัน

เนื่องจากความน่าเชื่อถือสำคัญที่สุดและเป็นต้นแบบของสังคม ดังนั้นคุณจะถูกจับตามองจากสังคมแทบทุกฝีก้าว คุณอาจจะแทบไม่มีเวลาส่วนตัวเลยเพราะทุกคนในประเทศต่างก็จับตามองคุณตลอดว่าคุณจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง คุณนำเอาเงินที่ผู้คนบริจาคไปใช้อย่างถูกต้องไหม? ทุกคนคาดหวังในตัวคุณ และคุณจะทำให้ทุกคนผิดหวังมากไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องเสียสละเมื่อคุณต้องการก้าวเข้ามาสู่ระดับสีครามนี้

ผมคิดว่าระดับสีครามนี้คงจะไม่มีมนุษย์เงินเดือนที่ก้าวมาเป็นได้แล้วนะครับ ดังนั้นขอไม่แบ่งหมวดเส้นทางการเติบโตตั้งแต่ระดับนี้เป็นต้นไปนะครับ และขอแจ้งด้วยว่าผู้เขียนหนังสือต้นฉบับก็คือคุณโรเจอร์ เจมส์ ฮามิลตันก็ก้าวมาถึงแค่ระดับนี้น้ำเงินนี้เท่านั้น ดังนั้นตั้งแต่ระดับสีครามเป็นต้นไปมันคือมุมมองที่คุณโรเจอร์ได้สัมผัสกับบุคคลเหล่านี้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร เป็นอย่างไร และการก้าวไปสู่ขั้นถัดไปก็จะเป็นเพียงมุมมองของบุคคลที่สามเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอต่อการที่จะทำให้เราเข้าใจในภาพรวม วิธีที่ดีที่สุดในการก้าวไประดับถัดไปไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับไหนก็คือการพยายามอยู่ใกล้ๆ คนที่ระดับสูงกว่าคุณและเรียนรู้จากพวกเขาอยู่ดีนั่นเอง ตอนนี้คุณโรเจอร์เองก็พยายามเอาตัวเข้าใกล้เหล่าผู้คนในระดับสีครามเพื่อเรียนรู้จากพวกเขาอยู่เช่นกัน

7. ระดับสีคราม: ผู้พิทักษ์ (Trustee)

ผู้คนในระดับนี้มักจะคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเองในระดับอื่นๆ ผู้คนระดับมักจะเริ่มมองหาว่าตนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศหรือระดับโลกอย่างไรได้บ้าง ปัจจัยเรื่องเงินจะสำคัญน้อยกว่าความน่าเชื่อถือของตัวพวกเขาเองตามที่กล่าวไปแล้ว (ถ้าคุณค่อยๆ ไต่มาถึงระดับนี้จริงคุณก็น่าจะอยู่ในระดับที่ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรดีแล้วละ) ดังนั้นเมื่อปัจจัยเรื่องเงินและความอยู่รอดของตัวเองหมดไป พวกเขาจึงได้เริ่มคิดถึงสาธาณะประโยชน์ และหาทางช่วยเหลือสังคมบ้างเท่าที่เป็นไปได้ จนผู้คนต่างจดจำเขาในฐานะตัวแทนของสังคมไป

การก้าวไปสู่ระดับถัดไปคือระดับสีม่วงนั้นคุณต้องได้รับการยอมรับในสิทธิของคุณ คุณไม่สามารถแต่งตั้งตัวเองให้เป็นคนในระดับสีม่วงได้ แต่คุณจะต้องได้รับการยอมรับผ่านการลงคะแนนเสียง อาจจะเป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือชุมชนของคุณอาจจะยอมรับคุณในฐานะผู้นำของพวกเขา ทั้งที่คุณอาจไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งมันขึ้นมาด้วยซ้ำ เช่นบิล เกตต์ ได้รับเชิญจากรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ให้สนับสนุนงานของพวกเขาผ่านมูลนิธิเกตต์และภรรยา ทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำ

ถัดมาคือคุณต้องสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยสานต่องานจากใครบางคนที่เคยทำไว้อยู่ก่อน และศึกษางานเก่าของเขาให้ลึกซึ้งถ่องแท้

และสุดท้ายคือคุณจะมีชื่อเสียงถึงขั้นอาจสร้างศัตรูต่างๆ โดยไม่รู้ตัว คุณจึงอาจต้องเริ่มมีองครักษ์ส่วนตัวไว้ป้องกันตัว และพยายามสร้างศัตรูให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น ประธานาธิบดีมักจะได้รับจดหมายขู่ฆ่าอยู่เป็นประจำ

8. ระดับสีม่วง: ผู้ประพันธ์ (Composer)

การก้าวไปสู่ระดับเหนือสีม่วง หรือระดับตำนานนั้น คุณไม่สามารถแต่งตั้งตัวเองได้อีกเช่นเคย คุณจะต้องใช้เปลี่ยนภารกิจให้เป็นเหมือนชีวิตของคุณ แล้วคุณจะเป็นสัญลักษณ์แทนคนในยุคเดียวกันจนเป็นตำนานในที่สุด แน่นอนว่าการเปลี่ยนไปจนถึงจุดนั้นคุณจะต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงเพื่อสังคมตลอดเวลา คุณเห็นสังคม เห็นประเทศชาติ มีความสำคัญเหนือกว่าตัวเองมากๆ เช่น เนลสัน แมนเดลา ที่ได้ยืนหยัดต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ เพื่อให้เป้าหมายทางสังคมบรรลุผล หลายคนก็ได้กลายเป็นระดับตำนานเล่าขานภายหลังจากเสียชีวิตไปแล้วด้วยซ้ำไป (เข้าใจใช่ไหมว่ามันเสี่ยงแค่ไหน?)

9. ระดับเหนือสีม่วง: ผู้สร้างตำนาน (Legend)

ระดับนี้คือระดับสูงสุดของประภาคารแห่งความมั่งคั่งแล้ว บุคคลตัวอย่างที่อยู่ในระดับนี้ เช่น

  • โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้สร้างตำนานด้านนวัตกรรมสร้างหลอดไฟให้เราใช้กันจนทุกวันนี้
  • เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงทำให้ ผู้คนในโลกนี้เข้าใจโลกของเรามากยิ่งขึ้น
  • เนลสัน แมนเดลา ผู้ผลักดันแนวคิดเรื่องเหยียดสีผิวให้หมดไป ลดความขัดแย้งในสังคมโลก

แถม: สรุปผมสร้างธุรกิจเองหรือเป็นมนุษย์เงินเดือนไปเรื่อยๆ ดี?

อย่างที่ผมเขียนไว้แล้ว มนุษย์เงินเดือนสามารถไต่ไปได้สูงสุดที่ระดับสีเขียวและสีน้ำเงินได้เลยทีเดียวเช่นเดียวกับเจ้าของกิจการ เรื่องความมั่งคั่ง ความรวย ผมจึงมองว่าไม่ได้แตกต่างกันมากขนาดนั้น (พนักงานบางคนก็มีหุ้นของบริษัทได้ด้วยซ้ำ) ดังนั้นบางคนก็อาจสับสนว่าแล้วฉันจะเลือกเป็นอะไรดี? ผมต้องบอกว่ามันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคน บางคนอาจเหมาะกับการเป็นเจ้าของกิจการ และบางคนก็อาจเหมาะกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนในระดับหัวหน้า ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ผมจะจำแนกข้อดี ข้อเสียให้พอเป็น Guideline ดังนี้

ข้อดีของมนุษย์เงินเดือน

  • คุณมีทรัพยากรให้ใช้อย่างมหาศาล มีกำลังคน มีงบโฆษณาได้ตั้งแต่แรก สามารถเริ่มงาน scale ใหญ่ได้เร็วเพราะองค์กรใหญ่ๆ มีให้คุณพร้อมแล้ว
  • คุณมีความมั่นคงมากกว่าเจ้าของกิจการ
  • คุณมีอำนาจในการต่อรอง ในการรับคนเก่งๆ เพราะคุณอาศัยชื่อเสียงขององค์กรคุณ
  • คุณไม่ต้องมีไอเดียในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไอเดียเปลี่ยนโลกอะไรก็สามารถทำงานในองค์กรในตำแหน่งระดับสูงได้ (ถ้าไม่ใช่ฝ่ายวิจัย)
  • คุณไม่ต้องทำงานแบบ Multi Function มากนัก เพราะตำแหน่งในบริษัทค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว
  • เนื่องจากเงินเดือนมีจ่ายทุกเดือนแน่ๆ ดังนั้นคุณสามารถสร้างหนี้ได้โดยมั่นใจว่าจะยังมีเงินจ่ายทุกเดือน (แต่ระวังอย่าตกไปต่ำกว่าระดับสีแดงก็พอ)

ข้อเสียของมนุษย์เงินเดือน

  • คุณต้องทำตามกฎระเบียบบริษัทที่มีมาแต่เนิ่นนาน เปลี่ยนแปลงยาก
  • คุณต้องทำตามวัฒนธรรมองค์กรที่มีมาแต่เนิ่นนาน เปลี่ยนแปลงยาก
  • คุณสามารถเสนอไอเดียคุณเองได้ภายใต้กรอบจำกัดระดับหนึ่ง ไม่มีอิสระ 100% เนื่องจากเป็นบริษัทของคนอื่น
  • เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงยาก การเลื่อนตำแหน่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายตามแต่วัฒนธรรมแต่ละองค์กร อาจมีปัญหาการเมืองต่างๆ แต่คุณก็อาจเลือกที่จะย้ายบริษัทก็ได้เช่นกัน

ข้อดีของเจ้าของกิจการ

  • คุณมีอิสระในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ อะไรที่ไม่มีใครกล้าทำตอนอยู่บริษัท แต่คุณเชื่อว่าทำได้คุณก็สามารถทำได้โดยไม่มีใครห้ามคุณได้
  • คุณสร้างสรรค์กฏระเบียบและวัฒนธรรมองค์กรในฝันของคุณได้เลย
  • คุณไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองในการเลื่อนตำแหน่ง (ในระยะแรก) เพราะคุณกำหนดตำแหน่งได้เอง แต่จะต้องกำหนดการเลื่อนตำแหน่งให้ผู้อื่นแทน

ข้อเสียของเจ้าของกิจการ

  • คุณต้องสร้างทุกอย่างจากศูนย์ ไม่มีทรัพยากรก่อนหน้าให้คุณใช้
  • คุณต้องทำแทบทุกหน้าที่ในบริษัทในยุคตั้งต้น เพราะคุณยังไม่มีชื่อเสียงเงินทองมากพอที่จะดึงดูดให้คนมาทำงานด้วยในระยะแรก ดีไม่ดีต้องทำเป็นครบทุกตำแหน่งด้วยซ้ำ จนกว่าคุณจะมีเงินจ้างคนมาแทนคุณได้
  • ในระยะตั้งบริษัทแรกเริ่มคุณมีความเสี่ยงสูงกว่ามนุษย์เงินเดือนพอสมควร ดังนั้นคุณจะแทบผ่อนอะไรระยะยาวไม่ค่อยได้เลย เพราะเป็นการสร้างหนี้โดยที่คุณไม่รู้ว่าจะหาเงินเดือนมาทดแทนกันได้ไหม
  • ในระยะแรกเริ่มตอนตั้งบริษัท คุณมีอำนาจต่อรองต่ำมากในการรับคน ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง
  • ถ้าคุณไม่มีไอเดียทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นจนมาอยู่ในระดับสีเหลืองได้ คุณค่อนข้างจะเสี่ยงที่จะเจ๊งสักวันหนึ่งมากๆ

ประมาณนี้ ที่เหลือลองไปตัดสินใจกันเอาเองครับ หวังว่าทุกคนคงจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย หากพบข้อผิดพลาดอะไรในบทความสามารถแจ้งผมได้ครับ ยินดีรับฟัง

--

--

Paiboon Panusbordee
Paiboon Biz

7 Years entrepreneur in game industry. Got invested for 4 years. Now looking for a new chapter in my life to change the world.