สรุปการบรรยายและการเสวนา “Energy for Everyone”

Dr. Warodom Khamphanchai
PEA HiVE Platform
Published in
6 min readApr 4, 2018

สวัสดีครับบทความนี้เป็นการสรุปงานเสวนา “Energy for Everyone” จัดโดยบริษัท BCPG เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา เป็นการนำเสนอโครงการนำร่องซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบอินเตอร์เนทและการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเช่น Solar Rooftop PV ที่ทั้งใช้เองและสามารถขายไฟส่วนเกิน (excess energy) ระหว่างกันเองได้ ด้วยแนวคิด Energy for Everyone ที่จะทำให้ทุกคนและทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงพลังงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain

รูปที่ 1 ภาพบรรยากาศก่อนเริ่มงานสัมนา

ในงานนี้มีผู้บริหารตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมอาทิ Power Ledger, BCPG, MEA, PEA, นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แสนสิริ, และจาก กสทช

สำหรับไฮไลท์ของงานน่าจะเป็นช่วงของการบรรยาย “Peer to Peer Energy Trading: Power Ledger’s Experience” โดย Mr. David Martin, Co-Founder and Managing Director, Power Ledger ซึ่งมี Headquarters อยู่ที่ Australia ซึ่งประเด็นหลักๆที่คุณ David นำเสนอ จะมีหลักๆอยู่ 6 หัวข้อคือ
1. What is Blockchain?
2. Where did it come from?
3. Why do we need it?
4. Initial Coin Offering
5. Current Projects
6. What next for Power Ledger?

ป.ล. สำหรับท่านที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ Power Ledger และ Blockchain Energy Trading สามารถเข้าไปดูบทความที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ในหัวข้อ “PowerLedger — Digital Energy Trading Platform ก้าวใหม่ของการปฏิวัติวงการพลังงาน” ได้ครับ

ถ้าไม่มีข้อสงสัยไปดูกันต่อเลยครับ :)

รูปที่ 2 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://powerledger.io/

ก่อนที่จะไปดูว่า Blockchain คืออะไร คุณ David กล่าวถึงเหตุผลว่าทำไม Blockchain ถึงเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการใช้และการผลิตพลังงานในอนาคต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตพลังงานสะอาดและการกักเก็บพลังงานด้วย energy storage มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และบางเทคโนโลยีก็เร่ิมที่จะมีราคาถูกกว่าการซื้อไฟโดยตรงจากการไฟฟ้าซึ่งต้องมีการส่งมาจากที่ไกลๆ และมีพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียจากการส่งจ่ายมายังบ้าน อาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรมสูง วันนึงเทคโนโลยีอาจทำให้บ้านหรืออาคารสามารถผลิตไฟ กักเก็บ และใช้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าเลยก็เป็นได้ แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่การที่บ้านหนึ่งหลังจะออกจากระบบไปผลิตและใช้ไฟฟ้าเองอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่จะดีกว่ารึปล่าวที่บ้านที่มีพลังงานไฟฟ้าเหลือจากระบบผลิตไฟฟ้าเช่น solar rooftop PV สามารถที่จะซื้อขายพลังงานสะอาดให้แก่กันและกันได้ …

รูปที่ 3 What is Blockchain? by David Martin

เริ่มต้นด้วยคำถามแรก What is Blockchain?
David เริ่มต้นด้วยการถามว่าใครรู้จัก Blockchain บ้าง ต่างกับ Cryptocurrency ยังไง ใครได้ซื้อและถือ Coins บ้าง ซึ่งหลายๆท่านก็คงมีคำถามว่าแล้วมันต่างกันยังไง ผมขอแบ่งเทคโนโลยีต่างๆออกเป็นดังนี้คือ

1. Distributed Ledger Technology (DLT) คือ เทคโนโลยีที่ช่วยในการกระจายข้อมูล เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันถือข้อมูลเหมือนกันทั้งหมด (ถ้าจะคิดง่ายๆอาจจะลองนึกถึง dropbox ที่เราแชร์ไฟล์ร่วมกับเพื่อนๆหรือคนในองค์กร) โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือ central database ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล แต่ต้องมีการเชคว่าข้อมูลที่ถูกกระจายและสำเนาไปอยู่ตามเครื่อง (node) ต่างๆ มีความถูกต้อง และข้อมูลไม่ได้ถูกดัดแปลงหรือแก้ไขมาก่อน จึงจะเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า concensus algorithm เช่น proof of work หรือ proof of steak ซึ่งเป็นอัลกอริทึมใช้ในการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล (สามารถดูความแตกต่างระหว่าง Proof of Work และ Proof of Steak ได้ที่นี่)
ตัวอย่าง DLT ของ เช่น Blockchain: Hyper Ledger, Ethereum, Ripple, Tangle: Iota หรือ Hedera Hashgraph

2. Cryptocurrency คือ สินทรัพย์ดิจิตัลที่มีมูลค่าในตัวเอง ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าระหว่างกัน (คล้ายๆกับที่เราใช้เงินสดเป็นตัวการในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ) ซึ่ง Cryptocurrency ที่เรารู้จักกันดีคือ Bitcoin ได้กำเนิดขึ้นมาเป็น side-product ของระบบ “Peer-to-Peer Electronic Cash System.” ที่นักพัฒนานิรนามที่ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ได้คิดค้นขึ้นมาและประกาศในปี 2008 ซึ่งจากนั้นก็มีคนนิยามต่ออีกว่า Cryptocurrency แท้จริงแล้วก็คือ

“limited entries in a database no one can change without fulfilling specific conditions”

คือสินทรัพย์ดิจิตัลที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน database ได้ถ้าไม่ยืนยันตัวตนและพิสูจน์ตามเงื่อนไขต่างๆให้ได้ว่ามีอยู่และเป็นเจ้าของจริง อันนี้ก็คล้ายๆกับเงินที่เราฝากเข้าธนาคารที่เราจะฝาก ถอน หรือโอนก็คือการที่เรายืนยันว่าเรามีเงินอยู่จริงๆ ก่อนที่จะทำธุรกรรมต่างๆได้

ซึ่ง Cryptocurrency นี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ DLT เพื่อที่จะเป็น incentive/rewards ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองสามารถขุดได้ (mine) ซื้อได้ (buy) และขายได้ (trade) นักขุดหรือ miners สามารถรัน nodes ต่างๆเพื่อประมวลผล concensus algorithm เช่นแบบ proof of work ใน Ethereum เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลในแต่ละ transaction แล้วรับ reward ในรูปแบบของ Cryptocurrency ไป

ตัวอย่างของ Cryptocurrency เช่น BitcoinCash, Litecoin, Dogecoin, Zcoin, หรือสำหรับ Power Ledger เค้ามี coin ที่ชื่อว่า SPARKZ coin
(ฝรั่งเค้าจะแซวคนที่พูดถึง Cryptocurrency แต่ไม่ได้ซื้อหรือไม่มี coin อยู่ในมือว่า Nocoiner ^^)

ดังนั้นในกรณีของ Power Ledger ที่ David ได้กล่าวถึงก็จะใช้ 1. DLT คือ Ethereum แบบ Proof of Work (กำลังจะเปลี่ยนไปใช้ Proof of Steak เร็วๆนี้) และ 2. Cryptocurrency ที่เรียกว่า SPARKZ สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานกันระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้า (consumers) ผู้ผลิตไฟฟ้า (producers) และผู้ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้า (prosumers)

รูปที่ 4 Where did it come from?

David ได้พูดถึงระบบไฟฟ้าในปัจจุบันตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ไกลจากเมืองออกไปเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ แล้วส่งจ่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งและระบบจำหน่าย จนไปถึงการใช้พลังงานที่ end-use customers ซึ่งกระแสไฟฟ้าต้องเดินทางกว่าหลายร้อยกิโลเมตร ส่งผลให้มีพลังงานไฟฟ้าสูญเสียในระบบสูงมากเมื่อเทียบกับการที่ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองและใช้เองในบ้าน อาคาร หรือโรงงาน โดยไม่ต้องผ่านระบบส่งและจำหน่ายระยะไกลๆมา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และราคาของ energy storage จะลดลงมากกว่านี้ 4 เท่าภายในปี 2030 หรือเร็วกว่า จากราคาประมาณ $400–500 ต่อ kWh ในปัจจุบันเป็นประมาณ $100 รวมทั้งราคาของแผง solar pv ที่อาจลดลงตำ่กว่า $0.25 ต่อ W

รูปที่ 5 Why do we need it?

David ได้กล่าวถึงความจำเป็นว่าทำไมหลายๆแห่งในโลกถึงให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Energy Trading Blockchain เพื่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer โดยเริ่มจากปัญหาจากระบบไฟฟ้าในปัจจุบันดังนี้คือ
1. Control : ระบบไฟฟ้าในปัจจุบันและในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากการเข้ามาของ distributed energy resources อย่างเช่น solar rooftop PV, wind turbines, หรือ energy storage ที่เคลื่อนได้อย่างรถยนต์ไฟฟ้า electric vehicle รวมไปถึงอุปกรณ์ internet of things ที่กำลังเป็นที่นิยมตามบ้าน อาคาร และโรงงานต่างๆ จะส่งผลให้การควบคุมระบบไฟฟ้าจากระบบ SCADA แบบเดิมๆมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น
2. Pollution: การผลิตไฟฟ้าและส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า จากระยะทางไกลๆไปที่บ้าน อาคาร และโรงงานจะทำให้มีพลังงานไฟฟ้าสูญเสียในระบบค่อนข้างสูง และเมื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีปริมาณสูงกว่าการผลิตเอง ใช้เอง แบบ local ด้วยพลังงานทดแทนมาก
3. Access: ข้อมูลปริมาณมหาศาลจาก solar inverter, eletric vehicle, อุปกรณ์ Internet of Things หรือจาก smart meter จะรวมกันกลายเป็น Big Data ที่ไม่เพียงจะต้องมีการเก็บข้อมูลที่ดี ยังต้องมีการประมวลผล วิเคราะห์ data นำ insight ที่ได้จาก data มาใช้ในการบริหารจัดการระบบ
4. Cost: ราคาต้นทุนของการของการผลิตพลังงานด้วย solar rooftop PV เข้าใกล้ Solar Grid Parity: สถานะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคามีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับราคาที่เจ้าของบ้านซื้อจากสายส่งไฟฟ้า และเข้าใกล้ Solar God Parity: สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ผลิตเองจากหลังคามีราคาต่ำกว่าค่าสายส่งและค่าบริการ (อ้างอิง)

รูปที่ 6 The Solutions

จากนั้น David ได้เสนอ solution ทางออกของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นดังนี้
1. Distributed: ต้องมีระบบผลิตพลังงานที่เป็นแบบ distributed energy resources รวมไปถึงระบบการประมวลผลข้อมูลและการทำ real-time energy billing แบบ distributed เพื่อรองรับกับความซับซ้อนของระบบที่จะเป็นแบบ two-way power flow และมีอุปกรณ์ต่างๆกระจายอยู่ตามระบบมากมาย
2. Low cost: ลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้ราคาต่อหน่วยไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของแผง solar PV, energy storage, อุปกรณ์ internet of things, และแหล่งผลิตพลังงานทดแทนต่างๆมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิง)
3. Low carbon: ต้องเป็นระบบที่สะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง
4. Controlled by the customer: ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงด้านพลังงานทางเลือกของลูกค้า

รูปที่ 7 Mechanism การทำงานของ Blockchain Energy Trading Platform

David ได้อธิบายถึงระบบของการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer-to-peer ระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้า (consumers) ผู้ขายไฟฟ้า (producers) และผู้ที่เป็นทั้งผู้ซื้อไฟฟ้าและผู้ขายไฟฟ้า (prosumers) โดยการใช้เทคโนโลยี Ethereum Blockchain ดังนี้

Power Ledger คือเทคโนโลยี Blockchain ในรูปแบบของ Ethereum ซึ่งใช้ consensus แบบ proof of steak ซึ่งจะทำให้การซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสามารถทำได้ real-time ในรูปแบบ peer-to-peer ผ่านระบบ internet โดยมี 4 application layers ดังรูปข้างบน คือ Layer1: Ethereum Blockchain ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานของ Power Ledger โดยใช้ Ethereum (คิดว่าใช้ Solidity เขียน smart contract), Layer2: Power Ledger Core หลักๆจะมีในส่วนของ Token Generation Event (TGE) power management, Layer3: Ecochain Services ใช้ในการดึงข้อมูลจาก smart meter (meter reading) ผ่าน API หรือ direct push เข้า server ของ Power Ledger, และ Layer4: Power Ledger Applications เช่น carbon trading หรือ microgrid manager

Power Ledger จะช่วยให้การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทำได้แบบ real-time ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกแหล่งที่มาของพลังงานได้เช่นอยากซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจาก พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม natural gas หรือถ่านหิน โดยจะมีราคาของแต่ละแหล่งต่างๆกัน สามารถใช้หลักการของ Economic Dispatch มาช่วยให้การหาจุดสมดุลระหว่าง supply และ demand ของการใช้พลังงานในราคาที่ตำ่สุดได้ (ป.ล. เมื่อก่อน Power Ledger ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถกำหนดราคาที่จะซื้อ ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถกำหนดราคาขายเองได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปหันมาสนใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและแหล่งกักเก็บพลังงาน รวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะติดตั้ง และร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมให้ประเทศใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

อ่านบทเกี่ยวข้องกับ Power Ledger เต็มๆได้ที่นี่ครับ

รูปที่ 8 Token Economy

ถามว่าแล้วผู้ที่เป็นผู้ให้บริการ energy trading platform ด้วย Power Ledger หรือผู้ใช้งาน platform ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการซื้อและขายไฟฟ้าบน Power Ledgerจะได้อะไรหรือต้องใช้อะไรในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแทนเงินสด คุณ David ได้แบ่ง platform และ Cryptocurrency ที่ใช้บน Power Ledger เป็นสองส่วนดังนี้

  1. Platform Layer: สำหรับผู้ให้บริการ platform และผู้ที่ลงทุนเกี่ยวกับระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าต่างๆ โดย Power Ledger จะใช้ POWR Tokens เป็น Cryptocurrency ในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

2. Customer Layer: สำหรับผู้เข้าร่วมการซื้อและขายไฟฟ้า จะใช้ SPARKZ Tokens ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า โดยที่ 1 SPARKZ มีมูลค่าเทียบกับกับ 1 Cent Australia (อัตราค่าไฟของ Aus อยู่ที่ประมาณ 14c — 50c ต่อ kWh [แหล่งอ้างอิง]) และการแลกเปลี่ยน tokens จะเป็นแบบ frictionless transaction คือไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอนถ่ายระหว่างกัน ซึ่ง SPARKZ Tokens นี้จะไม่มีมูลค่าเมื่อนำมาใช้นอกเหนือจากการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า

รูปที่ 9 Power Ledger Initial Coin Offering

David ยังได้กล่าวว่าจริงๆแล้ว Power Ledger ถือได้ว่าเป็น startup แรกของ Australia ที่ทำ Initial Coin Offering (ICO) ออกสู่ตลาดให้บุคคลทั่วไปสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน (ดูตัวอย่างของ ICO อื่นๆได้ที่ https://icodrops.com/)

Power Ledger Coin ที่สามารถ trade ได้ใน bx.in.th ในตัวย่อ ‘POW’
รูปที่ 10 Projects ที่ Power Ledger กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้

คุณ David ยังได้นำเสนอโครงการต่างๆ ที่ Power Ledger กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาค Southeast Asia คือที่ New Zealand, Australia ทดลองใช้งาน Power Ledger Platform กับบ้านประมาณ 250 หลัง, ประเทศไทยที่ได้ดำเนินการร่วมกับ San Siri และทางคุณ David บอกว่าน่าสนใจมากๆ ก็คือที่ประเทศอินเดียที่ทางรัฐบาลได้ตั้งงบลงทุนติดตั้ง solar rooftop PV และ energy storage ให้กับหมู่บ้านที่ห่างไกลไม่มีระบบของการไฟฟ้าเข้าถึงแล้วใช้พลังงานจากพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งทดลองทำ energy trading โดยการใช้ platform ของ Power Ledger ด้วย

รูปที่ 10 Projects ที่ Power Ledger กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้

ถ้าถามว่าก้าวถัดไปของ Power Ledger คืออะไรคุณ David กล่าวต่อไปว่าต้องการที่จะทำ customer acquisition แปลตรงๆก็คือการหาลูกค้าและผู้ที่เข้ามาใช้งาน platform เพิ่มโดยการหา incentive มาให้กับเจ้าของบ้าน ให้ติดตั้งระบบผลิตพลังงานทดแทนเช่น solar rooftop PV และ energy storage และการทำ market research เพื่อให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ของตลาด รวมไปถึงกฏ ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับต่างๆของระบบไฟฟ้าในแต่ละประเทศ รวมไปถึงอีกคำนึงที่น่าสนใจคือ “New Energy Economy” ซึ่งจะสร้างธุรกิจใหม่ๆที่ต่อยอดนอกเหนือไปจากการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer-to-peer ด้วย Big Data ของการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงข้อมูล transaction ของการซื้อขายไฟฟ้าบน Power Ledger platform

โครงการนำร่อง T77 ซึ่งทางบริษัท San Siri, BCPG, และ Power Ledger ร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Blockchain
รูปที่ 11 คณะผู้บริหารแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมการสัมนาในครั้งนี้

หลังจากได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งนี้ พอดีเวลาอาจจะมีน้อยทางผู้จัดงานเลยอาจจะไม่มีช่วง Q&A Session แต่มีคำถามที่ยังติดค้างอยู่ที่ก็ยังอยากจะสอบถามผู้บรรยายเช่น
คำถามที่ 1: จากที่เรารู้ๆกันว่าในตอนนี้มี Distributed Technology Ledger กำเนิดขึ้นมามากมายไม่ว่าจะเป็น Hyper Ledger Fabric, Ethereum, Iota, Monero, Ripple ต่างๆ เทคโนโลยีไหนที่เหมาะสมกับการพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการทำ Energy Trading ที่อาจจะมี transaction ที่เกิดขึ้นปริมาณมหาศาลจาก อาจจะทุก 15 นาที smart meter หลายแสนหรือหลักล้านตัว จะต้องมีข้อกำหนดทางเทคนิคตรงไหนที่ต้องดูเป็นพิเศษบ้าง
คำถามที่ 2: เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคตที่ราคาของไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า ราคาที่ซื้อจากเพื่อนบ้าน ราคาขายไฟฟ้าจากบ้านออกไป ไม่เท่ากันและอุปกรณ์ต่างๆเช่น solar inverter, battery energy storage, smart meter, และอุปกรณ์ต่างๆทั้งในบ้านและในอาคารที่จะเป็น Internet of Things เงื่อนไขในการซื้อและการขายไฟฟ้ารวมถึงการตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ควรขาย เมื่อไหร่ควรชาร์จไฟฟ้าจากโซลาร์ลงแบตเตอรี่ หรือเมื่อไหร่ที่ควรจะเปิดปิดอุปกรณ์ภายในบ้านหรือในอาคาร เราจะสารถทำเทคโนโลยี internet of things, machine learning, หรือ artificial intelligence เข้ามาช่วยในการตัดสินใจได้อย่างไร vision ของ Power Ledger เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ทั้งนี้ BCPG คาดหวังไว้ว่าการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยลดความต้องการของการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลง และส่งผลกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

ข่าว BCPG รุกซื้อขายไฟขายผ่าน Internet รายการ SMART ENERGY

ข่าว World Finance : Peer-to-peer Solar Energy Trading coming soon to Bangkok

ข่าว BCPG พลิกโฉมธุรกิจพลังงานด้วย Internet of Energy รายการ SMART ENERGY

อ้างอิงจาก

[1] Power Ledger https://powerledger.io/
[2] Australia Household Electricity Price http://theconversation.com/australian-household-electricity-prices-may-be-25-higher-than-official-reports-84681

--

--

Dr. Warodom Khamphanchai
PEA HiVE Platform

Full Stack Developer, Hardware Hacker, Ex-Software Developer in Silicon Valley, Interested in IoT, Machine Learning, AI, and Technology Entrepreneurship