Best In The World

Piyorot
People Development
Published in
2 min readAug 14, 2015

ผมเคยคิดแผนพัฒนาคนในองค์กรขึ้นมาหนึ่งฉบับ … จะเรียกเป็นแผนก็ไม่เชิง มันไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนัก ขอเรียกว่าเป็นพิมพ์เขียว (Blueprint) น่าจะเหมาะกว่า ในพิมพ์เขียวฉบับนี้ผมแบ่งขั้นของการพัฒนาออกเป็นห้าขั้น ในแต่ละขั้นผมหยอดองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของคนลงไป ประมาณนี้

  1. Novice — เด็กน้อย
  2. Beginner — ผู้เริ่มต้น
  3. Intermediate — ผู้เชี่ยวชาญ
  4. Advanced — ผู้เชี่ยวชาญขั้นสูง
  5. Expert — พระเจ้า
PROJECT MANAGER BLUEPRINT (SAMPLE)

ผมไม่ได้ทำให้แค่ตำแหน่งเดียวแต่ผมคิดครอบคลุมไปว่าทีมพัฒนาซอฟต์แวร์หนึ่งทีมควรมีตำแหน่งอะไรบ้างและทุกตำแหน่งควรมีพิมพ์เขียวในการพัฒนาตัวเองอย่างไร ไม่ใช่แค่ดีเวลลอปเปอร์ แต่ผมมีให้ทั้งโปรดักท์ โอนเนอร์, โปรเจกต์ เมเนเจอร์, เทสเตอร์, กราฟฟิก ดีไซเนอร์ รวมจนถึงทีมที่ดูแลอินฟราสตักเจอร์และซัพพอร์ต เป้าหมายของผมคือ

“อยากใช้พิมพ์เขียวนี้เป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนาคนและสร้างทีมงานมืออาชีพ”

ผมต้องการเพียงแค่นี้ … ต้องการแค่ให้เด็กๆน้องๆพี่ๆที่อยู่ในสายอาชีพนี้ได้มีเข็มทิศในการพัฒนาตัวเองไปให้ทันโลก ผมไม่เคยคิดจะใช้มันมาเพื่อเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่าใครหรือทีมไหนดีที่สุดแต่ความจริงที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แบบนั้นเมื่อพิมพ์เขียวของผมถูกดัดแปลงเพื่อการเปรียบเทียบ จาก…

  1. Novice — เด็กน้อย
  2. Beginner — Best in Company / คุณเก่งที่สุดในบริษัทนี้รึเปล่า?
  3. Intermediate — Best in Thailand / คุณเก่งที่สุดในประเทศนี้รึเปล่า?
  4. Advanced — Best in AEC / คุณเก่งที่สุดในภูมิภาคนี้รึเปล่า?
  5. Expert — Best in the World / คุณเก่งที่สุดในสามโลกรึเปล่า?
Source: www.outline-world-map.com

เมื่ออยากเปรียบเทียบก็ต้องมีการวัดผลการพัฒนาและเมื่อมีผลเป็นตัวเลขออกมาก็ย่อมต้องมีการแบ่งชั้นวรรณะ ฉันเทพสุดในบริษัทนี้ แกเป็นแค่เด็กน้อยคนหนึ่ง … เป้าหมายและความตั้งใจของผมสลายไปไม่เหลือร่องรอย

ผ่านมาก็นานแล้ว … วันนี้คิดถึงมันขึ้นมาเพราะผมภูมิใจในผลงานชิ้นนี้ มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าถ้าคนใช้เข้าใจและประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธี น่าเสียดายที่มันไม่เป็นแบบนั้น ผมนั่งถามตัวเองว่า “เค้าต้องการเปรียบเทียบไปเพื่ออะไร? การเปรียบเทียบนั้นมีข้อดีอะไร?”

ถ้ามีเด็กหนึ่งคนหรือทีมหนึ่งทีมวัดผลออกมาได้ว่า “Best in Thailand” — ถามตรงๆ … เชื่อจริงหรือว่าเป็นแบบนั้น … จากผลงานแท้จริงที่เห็นอยู่ตำตา … คนนี้หรอคือดีเวลลอปเปอร์ที่ดีที่สุดในประเทศนี้ นี่หรือทีมที่เก่งที่สุดที่เก่งในประเทศนี้ ในหนังฮอลลิวู๊ดคืออารมณ์ประมาณว่าพระเอกเลิกคิ้วทำหน้างงๆแล้วพูดว่า Really??!!?? ฮ่าๆๆ

เอาวะ … ต่อให้เป็น Best in Thailand จริงแล้วไงต่อ? เป้าหมายของเราคือเป็นคนที่เก่งที่สุดในประเทศ เป็นทีมที่ดีที่สุดในบ้านนี้เมืองนี้ หรือเราแค่อยากสร้างซอฟต์แวร์ที่ดี ที่แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ ที่ช่วยทำให้ชีวิตผู้ใช้ดีขึ้น และที่สร้างผลตอบแทนกลับมาให้บริษัทอย่างเหมาะสม … เราอยากได้อะไร? แล้วคำว่า Best in Thailand เกี่ยวข้องกับตรงนี้ยังไง?

ความจริงคือไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน จำไว้เลยว่ามีคนเก่งกว่าเรา สวยกว่าเรา หล่อกว่าเรา สูงกว่าเรา วิ่งเร็วกว่าเรา … เสมอ

ความจริงคือเราไม่มีทางเข้าถึงคำว่า Best in XXX ได้ และเราไม่จำเป็นต้องพยายามให้เป็นแบบนั้นด้วยเพราะสิ่งเดียวที่เราควรใส่ใจและเป็นสิ่งที่เราเข้าถึงได้คือ

“Be the best of what we can be”

นั่นคือสิ่งเดียวที่เราควรเปรียบเทียบ — ตัวเองวันนี้ดีกว่าตัวเองเมื่อวาน เมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อปีที่แล้วรึเปล่า

  • เราวางแผนงานรอบคอบขึ้นมั้ย
  • เราเขียนโค๊ดให้สั้นลงอ่านง่ายขึ้นมั้ย
  • เราเข้าใจการทำงานของระบบที่เราดูแลอยู่มากขึ้นแล้วรึยัง
  • เราเรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างมีศิลปะมากกว่าเดิมรึเปล่า
  • เราตั้งใจฟังบทสนทนาในห้องประชุมมากกว่าเดิมมั้ย
  • เรามีเวลาให้ตัวเองในการทดลองเทคนิคใหม่ เทคโนโลยีใหม่บ้างมั้ย

Best in the world ไม่สำคัญเท่า Best of what we can be … เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว “ทุกวันนี้เราเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่นไปเพื่ออะไร?”

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
People Development

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com