กัลยาณมิตร คือ ทั้งหมดของชีวิตพรหมจรรย์

ลุงเสรี
ปลง…
Published in
1 min readJan 23, 2018
กัลยาณมิตร คือ ทั้งหมดของชีวิตพรหมจรรย์

หากเราต้องการมีชีวิตเพื่อศึกษาและเข้าถึงธรรมะ (ภาษาพระท่านเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์) เราก็ควรจะต้องมี “มิตรแท้” เพื่อที่จะเกื้อกูลต่อการแสวงหาความจริงแห่งทุกข์ เพื่อที่จะพ้นทุกข์ดังที่ว่า “เมื่อเห็นทุกข์ จึงพ้นทุกข์”

มิตรแท้ที่จะหนุนเราไปสู่สภาวะการสิ้นทุกข์ จะต้องมีความสนใจในการฝึกฝน ศีล สมาธิ ปัญญา

มิตรแท้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะ “เพื่อน” เพียงอย่างเดียว จะเป็นพ่อ แม่ ลูก ลุง น้า ครู แม่บ้าน ขอทาน ฯลฯ ใคร ๆ ก็สามารถเป็นกัลยาณมิตรได้ทั้งนั้น หากบุคคลเหล่านั้นได้มอบบทเรียนที่จะหนุนส่งให้ ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

มิตรแท้ต้องกล้าพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง ต้องกล้าที่จะชี้ไปยังทิศทางที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจเรา! ไม่ใช่เอาแต่เลียแข้งเลียขา เราทำผิด ทำชั่ว ก็บอกดี บอกถูกแล้ว แบบนี้เป็นมิตรที่พากันลงเหว

มีเรื่องเล่าถึงแม่ลูกคู่หนึ่ง สถานภาพยากจน ลูกชายวัย 7 ขวบ ก็เริ่มลักขโมยจากสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเด็กชายโตขึ้น ก็เริ่มขโมยของชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่แม่ไม่เคยตักเตือนลูกเลย แม่เห็นลูกไปขโมยของคนอื่นมา ก็บอกว่าทำดีแล้ว ทำถูกแล้ว ครั้นทางการจับตัวเด็กชายได้ นำตัวไปขึ้นเขียงรอตัดหัวกลางเมือง เพชรฆาตถามชายหนุ่มว่า มีอะไรจะสั่งเสียอีกไหม ?

ชายหนุ่มตะโกนเรียกแม่ของเขาเข้ามาใกล้ ๆ และชายหนุ่มก็กัดใบหูของแม่จนขาด พร้อมทั้งคำพูดสุดท้ายในชีวิตที่ว่า “ทำไมแม่ไม่ดุด่าตักเตือนผม ให้ผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง” ชายหนุ่มถูกตัดหัวขาดกลางใจเมือง ส่วนแม่ได้กลับไปเพียงหูแหว่ง ๆ ของตนเอง ไว้ดูต่างหน้าถึงความผิดพลาดในชีวิต

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พ่อแม่เองก็ไม่ได้ทำตัวเป็นกัลยาณมิตรของลูกแม้แต่น้อย

สรุป มิตรแท้อาจต้องเป็นผู้ที่มีความน่าเคารพ มีความอดทน พูดจาตักเตือนกันในสิ่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญต้องไม่พากันไปทำเรื่องเสื่อมเสีย จึงจะเรียกได้ว่าเป็นมิตร ผู้เกื้อกูลต่อการมีชีวิตพรหมจรรย์อย่างแท้จริง

ท้ายสุด อยากให้ทุกคนลองมองย้อนกลับมาที่ “ตัวเอง”

ว่าตอนนี้เราได้เป็นกัลยาณมิตร หรือเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุคคลรอบข้างได้บ้างแล้วหรือยัง ?

เราได้เกื้อกูลอะไรแก่สังคมบ้างแล้วหรือไม่ ?

หรือเรายังคงใช้ชีวิตเป็น “บาปมิตร” เป็นไอดอลในทางเสื่อมเสีย เพราะยังคงทำตามกิเลสตัณหาอยู่ร่ำไป ?

#ปลง

--

--