ทาสอารมณ์

ลุงเสรี
ปลง…
Published in
1 min readJan 22, 2018
ทาสอารมณ์

ไม่ต้องสืบกันต่อไปว่าความจริงเป็นอย่างไร ? ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครเริ่มก่อนหรือใครเป็นผู้ผิดที่แท้จริง แต่ปัญหาสำหรับบทเรียนนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ตนเองไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ หรือตกเป็นทาสของอารมณ์ ?

สิ่งที่สำคัญในการช่วยเหลือให้เราไม่ตกเป็น “ทาสของอารมณ์” ก็คือการรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เราก็รู้ แค่รู้เฉย ๆ ก็เพียงพอ ที่ความโกรธในใจเราจะทุเลาเบาบางลงไปได้มาก การรู้เฉย ๆ นี้ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านเรียกว่า “รู้ซื่อ ๆ” คือ รู้เพราะเห็นความโกรธ แต่ไม่เข้าไปเป็นความโกรธ คนยุคนี้มีเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้ติดในความรวดเร็ว ยิ่งทำให้ยากต่อการเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อความอยากเกิดขึ้น เราก็สนองมันทันที เช่น อยากกินโน้น อยากซื้อนี่ ก็ยกโทรศัพท์แล้วโทรสั่ง หรือสั่งผ่านทางออนไลน์ในทันที ไม่การเว้นระยะในการชั่งใจถึงข้อดีข้อด้อย ไหลตามกิเลสตัณหาเรื่อยไป

หากต้องการมีชีวิตที่สงบเย็น การฝึกตนผ่านการสบตากับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เกลียด รัก ชัง เป็นสิ่งจำเป็นมาก แต่ก็ดูเหมือนจะถูกละเลยไปไม่น้อย ในเมื่อสถาศึกษาไม่มีสอนบท เราก็สามารถฝึกฝนได้เองในชีวิตประจำวัน โดนแซงคิวก็เห็นอารมณ์ที่มันขึ้นมา โดนเหยียบเท้า โดนแย่งที่นั่งบนรถเมล์ โดนเพื่อนร่วมงานนินทา อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ขอเพียงแค่เรา “เห็นมันจริง ๆ ” ไม่เข้าไปเป็นมัน เพียงแค่นี้ก็ถือว่าเป็นการภาวนา ด้วยการฝึกสบตากับอารมณ์ในชีวิตประจำวันแล้ว

บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ นอกจากเราจะเห็นตัวอย่างที่เป็นบทเรียนทางสังคมแล้ว ก็ขอให้ย้อนกลับมามองที่ใจเรา ระหว่างที่เราอ่านข่าวหรือดูคลิป เราได้หลงเข้าไปเป็นผู้โกรธ เป็นตัวโกรธบ้างหรือไม่ ? หรือเราแค่รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ และเก็บเรื่องราวนี้ไว้เป็นเพียงบทเรียนเท่านั้น ไม่นำมาอารมณ์ทำให้จิตใจขุ่นมัว ?

#ปลง

--

--