ปีชง ??? สิ่งที่ชาวพุทธควรเข้าใจ

ลุงเสรี
ปลง…
Published in
1 min readJan 22, 2018

--

ถาม: พุทธศาสนาว่าอย่างไรบ้างเรื่องปีชง ?

ตอบ: พุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญเรื่องปีชง เพราะเป็นเรื่องสมมติ และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่ง หลักของพุทธเน้นที่เรื่องการกระทำ คือ ชีวิตของมนุษย์มีกรรม (การกระทำ) เป็นตัวกำหนด ดั่งคำกล่าวที่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ถ้าคุณไม่ตั้งใจอ่านหนังสือ แล้วหวังจะสอบให้ได้ที่ 1 เพราะปีเกิดหรือนักษัตรของคุณบ่งบอกว่า คุณเป็นคนเฉลียวฉลาด หรือ คุณหวังจะรวย เพราะปีเกิดหรือปีนักษัตรของคุณเกื้อหนุนให้คุณประสบความสำเร็จ

หลักทางพุทธจะปฏิเสธความเชื่อเทือก ๆ นี้อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ว่า จะสุข หรือทุกข์ จะสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนมาจากการ (กรรม) กระทำทั้งสิ้น คุณจะร่ำรวยก็เพราะคุณขยัน อดออม หาใช่ปีเกิดหรือดวงดาวเป็นตัวกำหนดไม่

คุณจะสอบได้หรือสอบตก ก็เพราะการกระทำของคุณ การเข้าเรียน คะแนนเก็บ และการทำข้อสอบ หาใช่เพราะนักษัตรหรือปีเกิดเป็นตัวกำหนดไม่

และคนสองคนจะรักกันหรือจะเลิกกัน ก็ไม่ใช่เพราะปีเกิด หรือนักษัตรเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย (เหตุ-ผล) อันสืบเนื่องมาจากการกระทำทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเรื่องความรักของสามี — ภรรยา ทางพุทธให้ความสำคัญกับหลัก 4 ข้อดังนี้

  1. ศีลเสมอกัน คือ มีศีลที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าสามีชองกินเหล้า ตีไก่ ยิงนก ตกปลา ฆ่าสัตว์ให้เพลิดเพลิน แล้วภรรยาเป็นผู้ที่เห็นว่าสิ่งเหล้านั้นเป็นการกระทำที่ผิดศีล หรือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ หรือถ้าอยู่ด้วยกันได้ ก็จะต้องทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข

2. ศรัทธาเสมอกัน คือ มีศรัทธาเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าภรรยาเชื่อหมอดูเสียมาก บ้าดูดวง สะเดาะเคราะห์ บ้าหวย บ้าเลข เชื่อเรื่องดวงดาว นักษัตรจนครอบครัวเดือดร้อน แล้วสามีเห็นว่าการกระทำของภรรยานั้น เป็นการกระทำอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่มัวเมาในกิเลส หลงไหลในความร่ำรวยที่ได้มาอย่างไม่สุจริต แทนที่จะตั้งใจทำมาหากิน ขยัน ประหยัด มุ่งพัฒนากิจการให้เจริญก้าวหน้า หากสามี — ภรรยามีศรัทธาไม่เสมอกันแบบนี้ ก็อยู่กันไม่ยืด

3. ปัญญาเสมอกัน คือ มีปัญญาเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น สามีเป็นคนมีเหตุผล รู้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ว่าเมื่อชีวิตมีเกิด ก็ต้องมีแก่ และก็ต้องเจ็บ และก็ต้องตายไปตามลำดับ แต่ถ้าภรรยาเป็นคนที่มีปัญญาไม่เท่าเทียมกับสามี อาจคิดว่าตนไม่อยากทุกข์ จึงพยายามหนีทุกข์ด้วยการไม่ต้องการแก่ ไม่ต้องการเจ็บ ไม่ต้องการตาย และชีวิตก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าตนเองเริ่มมีตีนกา ก็วิ่งหาโบท๊อกมาฉีดหน้าอยู่เป็นประจำ หรือเห็นว่าตนเองมีผมหงอกทีไรก็ทุกข์ใจทุกที เพราะไม่อยากแก่อย่างนี้เป็นต้น หากคนสองคนมีปัญญาในการรู้แจ้งแทงตลอดไม่เท่ากันหรือไม่เสมอกันแล้ว ก็จะอยู่กันไม่ยืด หากอยู่ด้วยกันก็จะต้องทะเลาะกันเป็นประจำ

4. จาคะเสมอกัน คือ มีจิตใจที่จะบริจาค ช่วยเหลือ แบ่งปันเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าภรรยาชอบช่วยเหลือเด็กกำพร้า ชอบช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เป็นประจำ แต่สามีไม่เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือหรือการแบ่งปันนี้ สามีมุ่งแต่จะสะสมทรัพย์สมบัติท่าเดียว แบบนี้ก็ทำให้อยู่กันไม่ยืด หรือถ้าอยู่กันต่อไปก็จะทะเลาะกันบ่อยครั้ง เพราะความเห็นเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ตรงกัน

ดังนั้นทางพุทธศาสนาให้ความสำคัญระหว่างเรื่องสามี — ภรรยา ดัง 4 ประการที่กล่าวมาข้างตน โดยทั้ง 4 ข้อ จะเป็นตัวบ่งบอกว่า ชาย — หญิงจะอยู่กันได้อย่างเป็นสุข หรือจะครอบคู่กันอย่างเป็นทุกข์

ปลูกถั่วก็ต้องออกถั่ว ปลูกงาก็ต้องออกงาฉันใด

สิ่งที่เราได้กระทำลงไป ย่อมส่งผลกลับมาฉันนั้น

หาใช่เพราะดวงดาว ฤกษ์ยาม เทวดา มาร พรหม ปีนักษัตรเป็นตัวกำหนดไม่

ที่มาของภาพและข่าว: https://goo.gl/PPGrfW

#ปลง

--

--