เมื่อไหร่ควรลอง เมื่อไหร่ไม่ควรลอง?
ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปรวดเร็วจนผู้บริโภคตามไม่ทันอย่างทุกวันนี้ เรามักได้ยินว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้นสำเร็จได้เพราะเขารีบทดลองรีบเรียนรู้ ตามภาษาที่ใช้ในบริษัท Facebook จะเรียกว่า move fast and break things
หลักการนี้ไม่ใช่แค่พูดกันเรื่อยเปื่อย แต่เป็นสิ่งที่ Mark Zuckerberg พูดสม่ำเสมอ โดยล่าสุดที่ให้สัมภาษณ์กับ Y Combinator ในหัวข้อ How to Build the Future ก็ยังได้พูดถึงคำสอนที่ดีที่สุดที่ Peter Thiel (นักลงทุนคนแรกของ Facebook และ ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal) ได้สอนไว้ว่าเป็นคำสอนดังนี้
“In the world that is changing so quickly, the biggest risk you can take is not taking any risk.” — Peter Thiel
แปลไทยได้ว่า “ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ คงไม่มีอะไรเสี่ยงไปกว่าการที่คุณไม่ยอมเสี่ยง”
พูดง่ายแต่ทำยังไงหละ
ปัญหาที่ตามมาคือ เราจะนำหลักการนี้ไปใช้ชีวิตประจำวันยังไง เราจะตัดสินใจยังไงว่าอะไรควรเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง เมื่อไหร่ควรลอง เมื่อไหร่ไม่ควรลอง เพราะถ้าไม่ลองเลย เราก็จะไม่มีการเรียนรู้ไม่เติบโต แต่ถ้าลองแต่เรื่องโง่ๆ ชีวิตก็อาจจะพังได้
แน่นอนว่าเราไม่มีทางหาหลักการที่สามารถตอบได้ถูกต้อง 100% เสมอไปว่าเมื่อไรควรลองเมื่อไรไม่ควรลอง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่สามารถเพิ่มคุณภาพในการตัดสินใจของตัวเองได้
ในทาง computer science มีหลักคิดที่เรียกว่า heuristic ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี heuristic แปลว่าวิธีการแก้ปัญหาที่อาจจะไม่ optimal แต่ทำให้เราแก้ปัญหาได้ไวขึ้นมากๆ เมื่อเทียบกับวิธีปกติ เรียกง่ายๆ ว่าเป็น วิธีแก้ปัญหาที่ดีพอ
Experiment Heuristic: Will it matter in ten years?
หลักการที่ว่านี้ขอตั้งชื่อว่า Experiment Heuristic
เมื่อไรก็ตามที่เราต้องตัดสินใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรลองหรือไม่ ถ้าปล่อยใจให้ล่องลอยคิดไปเราอาจจะกลัวเรื่อยเปื่อยได้ วิธีแก้ที่ง่ายคือให้ลองถามตัวเองว่า
Will it matter in ten days? เรื่องนี้จะยังสำคัญอยู่มั้ย 10 วันจากนี้?
How about ten weeks? ถ้าเปลี่ยน 10 วันเป็น 10 สัปดาห์หละ?
Ten years? ถ้า 10 ปีหละ?
ถ้ามาลองพินิจพิจารณาดูแล้วพบว่า ไม่ว่าผลลัพธ์ของสิ่งที่เรากำลังเลือกจะลองหรือไม่ลองอยู่นี้จะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อผ่านไป 10 ปีมันคงไม่ได้สำคัญอะไรมากมายก็ให้ลองไปเลย
เพียงเท่านี้ความเสี่ยงก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป