CTO จำเป็น “อาม สมิทธ์ เคร่งครัด”

Amad Suwannarat
Privage Life

--

จากเด็กเนิร์ดชอบเขียนโปรแกรม จนไปโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ค่าย 3 สู่รั้ววิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จนมาเป็น CTO ผู้กุมบังเหียนด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของบริษัท Startup ด้วยอายุเพียง 27 ปี

วันนี้เราจะมารู้จักกับ “อาม สมิทธ์ เคร่งครัด” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CTO (Cheif Technolgy Officer) ของบริษัทเรา ให้มากขึ้นกันครับ

Q: แนะนำตัวสักนิด

สวัสดีครับ.. ผม “อาม” เพื่อนส่วนมากจะเรียกผมว่า “มิท” ซึ่งมาจากชื่อจริงของผมคือ สมิทธ์ เคร่งครัด ปัจจุบันก็อายุ 29 ปีครับ เป็นคนจังหวัดลำปาง มีพี่น้องอยู่ 2 คน คือพี่สาวและตัวผม ผมจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยจังหวัดลำปาง จากนั้นก็หนีเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเก้าธนบุรี (บางมด) ครับ

Q: ทำไมถึงเริ่มสนใจการเขียนโปรแกรม

ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น ผมก็เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกันทั่ว ๆ ไป เตะบอล ทำวงดนตรีกับเพื่อน ต่างกันนิดหน่อยตรงที่ผมเห็นหนังสือ ภาษาซี เบื้องต้นที่พี่สาวผมทิ้งไว้ เลยมีโอกาสได้เอามาดู แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพราะผมยังไม่เข้าใจว่า จอดำ ๆ กับคำว่า “Hello World” มันทำอะไรได้

แต่พอผมขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผมเห็นบอร์ดประกาศที่หน้าห้องคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ว่ามีรุ่นพี่ประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์และได้รับรางวัลจาก สสวท. ซึ่งคุณครูที่ปรึกษาประจำชั้นของผมเป็นที่ปรึกษาให้โครงการพอดี ด้วยความที่ผมมีคำถามที่สงสัยอยู่แล้ว เลยไม่รอช้าเข้าไปคุยกับท่านทันที คำถามในวันนั้นก็คือ “จอดำๆ นี่ทำอะไรได้อีกครับ”

ซึ่งคำตอบที่ได้ในวันนั้นก็คือ “ลองสมัครเข้าค่ายโอลิมปิกดูสิ” นั่นเอง

Q: ไปถึงโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ ดูจริงจังขึ้นนะครับ

คิดว่าเป็น ความสนุก ตื่นเต้น และท้าทายครับ เพราะว่าตอนไปค่ายโอลิมปิก เหมือนเป็นการเปิดโลกใบใหม่เลยทีเดียว ผมมีโอกาสได้พบกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกัน รวมถึงการเรียนเขียนโปรแกรมแบบเข้มข้น ในระยะเวลา 15 วัน ซึ่งผมคิดว่ามันสนุกมาก เพราะยิ่งค่ายลึก เนื้อหาก็ยิ่งยาก และมันน่าตื่นเต้นครับ (ค่ายของผมเป็น สอวน.​ นะครับ ไม่ใช่ค่าย สสวท.) ไปๆมาๆเลยติดโควต้า โครงการเพชรพระจอมเกล้า ครับผม เรียนฟรีตลอด 4 ปีที่พระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ครับ ฮ่าๆ

Q: เล่าความฝันในสมัยเรียนให้ฟังได้ไหมครับ

ตอนเรียนกับตอนทำงานนี่ดูจะไปคนละเรื่องนะครับ ตอนที่ผมเรียน ผมเคยพูดว่า “ผมจะพัฒนาวงการเกมไทย สู่สายตาชาวโลก” แต่พอเอาเข้าจริงก็ได้ค้นพบว่า วงการเกมไทยนี่ช่างยากและลำบาก ผมเลยขอเป็นผู้เล่นก็เพียงพอแล้วครับ

Q: ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเคยคิดไหมว่าในอนาคตเราอาจจะได้เป็น CTO

ไม่เคยคิดนะครับว่าจะได้เป็น CTO หรืออะไรก็ตาม ผมรู้แค่ว่าผมอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่าง ให้คนอื่นใช้เท่านั้นเอง ซึ่งผมคิดว่ามันเจ๋งดีนะครับ ที่เห็นคนใช้งานของที่เราสร้าง และทำให้ชีวิตของเค้าดีขึ้น สะดวกขึ้น

Q: เห็นว่าเรียนจบแล้วเริ่มทำ Startup เลย เล่าให้ฟังหน่อยครับ

ถ้านับตั้งแต่เริ่มก็นับได้ตั้งแต่เรียนจบปี 2555 ละครับ (ปาเข้าไปปีที่ 6 แล้ว) ตอนเริ่มกันแรกผมไม่รู้จักหรอกครับว่า Startup มันคืออะไร เพราะในไทยตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักคำนี้เลยครับ ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่าเราอยากสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่าง และที่สำคัญคืออยากจะร่ำรวยครับ ฮ่าๆ

ตอนจบเลยร้อนวิชาชวนเพื่อนมาร่วมกันทำโปรเจคด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่า พังไม่เหลือชิ้นดีครับ ตอนนั้นความเป็นวิศวกรมันช่างแข็งแกร่งเหลือเกิน การตลาดก็ไม่รู้จัก ธุรกิจก็ไม่เคยทำ ทำเป็นอย่างเดียวคือเขียนโปรแกรม

ดีที่มีโอกาสได้เข้าโครงการ True Incube และได้รู้จักพี่ ๆ Mentor ทำให้ผมและเพื่อน ๆ ได้รู้จักคำว่า Startup มากขึ้น ขอบคุณครับ :) แต่หลังจากที่ผ่านโครงการนี้แล้วก็ใช่ว่าจะไปได้สวย เพราะว่าหลังจากนี้ก็ยังเจ๊งมาอีกหลายโปรเจคครับ

จนในที่สุดก็มาถึงโปรเจคที่ชื่อว่า PRIVAGE ของเรา นี่แหละครับที่เป็นรูปเป็นร่างและร่วมเดินทางมาได้ไกลที่สุดครับ ต้องขอบคุณทุก ๆ คนที่ร่วมแรงร่วมใจกันมาจนถึงจุดนี้ครับผม

Q: ตอนไหนที่เริ่มรู้ตัวละว่าต้องเป็น CTO แน่ๆละล่ะ

โปรเจคนี้ เราเริ่มต้นด้วยสมาชิก 2 คนถ้วน คือผมเป็นคนทำ และไทร (Amad Suwannarat) เป็นคนขายครับ ตอนนั้นยังไม่มีอะไรมากคุยกันสองคนง่าย ๆ จนกระทั่งมีเพื่อนร่วมงานเพิ่มเข้ามาในทีมเป็นคนที่ 3 ซึ่งตอนแรก ๆ หน้าที่ก็ไม่ได้ชัดมากขนาดนั้น แต่ตอนที่เรามีคนที่ 4 ทุกอย่างก็ชัดเจนขึ้นครับ

Q: CTO ในมุมมองของอาม ต้องทำอะไรบ้างครับ

ถ้าแปลตรง ๆ หน้าที่หลักของ CTO ก็คือ การดูแลภาพรวมในฝั่งของการพัฒนา Software ของบริษัทให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านหน่อยก็คือ ทำหน้าที่สนองนโยบายที่ทาง CEO เป็นคนคิดขึ้นมา ว่าเราจะสร้างของสิ่งนั้นขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งแต่ การเลือกเทคโนโลยี เลือกแนวทางการพัฒนา ประเมินเวลา ทรัพยากร และกำลังของทีม ให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราก็ต้องเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสาร ระหว่างการทำงานในฝ่ายผลิตของเรา กับฝ่ายอื่น ๆ ในบริษัทด้วย

Q: CTO ต่างกับ Programmer อย่างไร

ต่างกันตรงหน้าที่นะครับ CTO จะต้องดูภาพรวมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกอย่างใน ตั้งแต่เรื่องทรัพยากร จนถึงการส่งมอบงานให้แก่ลูกค้า ไม่ได้โฟกัสที่รายละเอียดของตัวงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งแตกต่างจาก Programmer ที่จะมองเพียงตัวงานที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น

Q: คิดว่า CTO ของบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัท Startup แตกต่างกันไหมครับ

ผมคิดว่าโดยหน้าที่ก็คงจะเหมือนกันครับ น่าจะต่างกันที่รายละเอียดมากกว่า ถ้าในบริษัทใหญ่ที่มีทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก ก็ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการ การทำงานแต่ละทีม และหลากหลายโครงการ แต่สำหรับบริษัท Startup เล็ก ๆ ก็ยังได้ลงมาช่วยทางทีมเขียน Code และทำการ Research ต่าง ๆ

Q: จาก Programmer มาเป็น CTO ปรับตัวยากไหม

สำหรับผมก็ใช้เวลาในการปรับตัวมาพอสมควรนะครับ เพราะผมเองเติบโตจากการเป็น Freelance ซึ่งทำเองทุกอย่างตั้งแต่เก็บ Requirement จนถึงส่งมอบงาน เลยทำให้เราเคยชินกับการทำงานคนเดียว ซึ่งการฝึกทำงานเป็นทีมนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของผมเลย เพราะว่าเราจะต้องใช้ทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากการเขียนโปรแกรมครับ โดยเฉพาะการข้ามมาเป็น CTO เราจะต้องทำหน้าที่นอกเหนือจากการทำงานเป็นทีม ก็คือทักษะการมองภาพรวมครับ

Q: ทักษะที่สำคัญที่สุดในการเป็น CTO

คิดว่าเป็นทักษะการสื่อสารครับ เพราะว่าการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจเรื่องเดียวกันเหมือนกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเลยครับ เมื่อเราต้องสื่อสารกับคนหลายคน ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคน เข้าใจและมองเห็นภาพเดียวกัน

Q: มุมมองในการพัฒนา Software เปลี่ยนไปบ้างไหมจากที่เขียนโปรแกรมอย่างเดียว

ผมมองว่าหน้าที่มันต่างกันครับ มุมมองเลยเปลี่ยน เพราะถ้าเราเขียนโปรแกรมอย่างเดียว เราก็แค่พัฒนาสิ่ง ๆ นั้นให้ออกมาด้วยความสมบูรณ์ที่สุด แต่พอมาทำ CTO ก็กลายเป็นว่า เราจะต้องมองงานให้ชิ้นใหญ่ขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับแผนที่ การเขียนโปรแกรมเหมือนเป็นหมุดบนแผนที่ ส่วนการเป็น CTO ก็คือการ zoom ออกมาอีกระดับหนึ่ง

Q: Programmer จะเป็น Team lead หรือ Manager ได้อย่างไร ในความคิดของเรา

เราต้องติดทักษะการวิเคราะห์ การจัดการ และทักษะการสื่อสารให้กับตัวเองครับ ตอนที่เราเป็นโปรแกรมเมอร์ เราแค่มองว่างานที่เราทำอยู่จะเสร็จได้อย่างไรใช่ไหมครับ ตอนที่เราเป็น Team lead ก็ต้องมองในระดับที่สูงขึ้นก็คือ เราจะทำยังไงให้คนในทีมของเราสามารถทำงานออกมาได้ เราจะต้องแบ่งงานให้แต่ละคนตามหน้าที่ และความสามารถ นอกจากนี้จะต้องติดตามผลการทำงาน และสื่อสารกับทีม และหัวหน้าที่ระดับสูงกว่าเราอีกด้วย

Q: ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเติบโตขึ้นมาเป็น Team lead หรือ Project Manager ในบริษัทหน่อยครับ

ถ้าตั้งเป้าหมายมาทางนี้แล้วละก็มีวิธีเดียวครับ นั่นก็คือต้องฝึกฝน ลองผิดลองถูกไปครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่ทำเป็นตั้งแต่เกิดครับ ก่อนอื่นก็ต้องฝึกทักษะที่จำเป็น ก็ได้แก่ ทักษะการจัดการ ทักษะการวิเคราะห์ และทักษะการสื่อสารครับ เริ่มต้นง่าย ๆ ลองจัดการตัวเองให้ได้ก่อนครับ จากนั้นเราก็ลองเริ่มจัดการจากเรื่องเล็ก ๆ ครับ

--

--