Pretotyping — IBM Speech to Text

The Most Fascinating ‘Fake It Till You Make It’ Mantra

Piyorot
Product Craftsmanship
1 min readFeb 21, 2015

--

ย้อนหลังกลับไปไกลในยุคก่อนอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนตัว IBM เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในธุรกิจเมนเฟรมและเครื่องพิมพ์ดีดอิเล็กโทรนิค แต่สมัยนั้นคนพิมพ์สัมผัสเป็นนั้นหายาก ถ้าไม่ใช่เลขานุการ นักเขียน หรือโปรแกรมเมอร์ ก็ทำได้แค่พิมพ์ช้าๆด้วยการจิ้มทีละนิ้ว ผิดบ้างถูกบ้างไปตามเรื่อง

อ้า … ผู้บริหาร IBM เห็นโอกาสนี้แล้วหละ โอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ดีดในการพัฒนาระบบแปลงเสียงเป็นตัวอักษร (Speech to Text) เจ้าเครื่องที่ว่านี้จะให้ผู้ใช้พูดใส่ไมโครโฟน จากนั้นคำพูดพวกนั้นก็จะถูกแปลเป็นตัวอักษรบนหน้าจอโดยไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานในการพิมพ์ … เทพปะหละ? IBM จะรวยไม่รู้เรื่องด้วยระบบนี้แน่นอน

http://www.wired.com/2013/11/tech-time-warp-of-the-week-ibms-speech-savvy-computer-1986/

ทุกโอกาสย่อมมีอุปสรรคและความท้าทาย ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าราคาแพงที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือนทุกวันนี้ ยิ่งกับ Speech to Text แล้วมันต้องใช้การประมวลผลชั้นสูงของคอมพิวเตอร์แถมการตรวจจับและแปลงเสียงก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆเช่นกัน ถ้าอยากจะสร้างโปรดักส์ที่เจ๋งจริงๆ IBM คงต้องลงทุนอย่างหนักทีเดียว แต่จากสมมติฐานที่ว่า “ใครๆก็อยากได้” มันก็ควรจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ใช่มั้ย?

มีผู้บริหารบางคนไม่เชื่อเช่นนั้น ไม่เชื่อว่าคนที่ “บอกว่า” จะซื้อเจ้าเครื่องนี้แน่ๆ จะลงเอยด้วยการ “ยอมควักกระเป๋า” จ่ายจริงๆ ผู้บริหารกลุ่มนี้กลัวว่า IBM จะเสียเงินและเวลามากมายไปกับการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า พวกเค้าจึงตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า “เราจะทดสอบสมมติฐานนี้ได้อย่างไรให้เร็วด้วยเงินลงทุนที่น้อยที่สุด”

สิ่งที่พวกเค้าทำนั้นน่าทึ่งมาก (อย่างน้อยก็กับผม) พวกเค้าเชิญลูกค้ากลุ่มที่ “บอกว่า” พร้อมจ่ายมาที่สำนักงาน เรียกลูกค้าทีละคนเข้าห้องประชุมที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่พร้อมไมโครโฟนแต่ไม่มีคีย์บอร์ด “ครับ เครื่องมือที่อยู่ตรงหน้าของท่านคือระบบ Speech to Text ที่บริษัทของเราพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ลองทดสอบดูได้เลยครับ แค่พูดใส่ไมโครโฟนครับ” เมื่อลูกค้าเริ่มพูดใส่ไมโครโฟน ตัวอักษรก็เริ่มปรากฎขึ้นบนหน้าจอแบบแทบจะทันทีโดยไม่ผิดแม้แต่ตัวอักษรเดียว!!! ลูกค้าประทับใจมาก เจ้าเครื่องนี้มันเจ๋งจริงๆ

IBM ลงทุนทำระบบนี้ขึ้นมาจริงๆหรอ? … เบื้องหลังที่แท้จริงคือมันไม่มีเครื่อง Speech to Text อะไรนี่หรอก เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในห้องเป็นตัวหลอก ไมโครโฟนก็เป็นตัวหลอก เพราะจริงๆแล้วมีเลขานุการที่มีทักษะการพิมพ์ยอดเยี่ยมนั่งอยู่ห้องประชุมติดกัน รอฟังเสียงที่ลูกค้าพูดแล้วพิมพ์ตามให้ตัวอักษรพวกนั้นไปแสดงผลที่หน้าจอของลูกค้า (หูยยย โคตรเทพ) จากมุมมองลูกค้าระบบหลอกๆนี้เหมือนของจริงมากกกกก

หลังจากทดสอบกับกลุ่มลูกค้าหลายๆคน คนที่ “บอกว่า” ซื้อแน่ … สิ่งที่ IBM ได้เรียนรู้คือ

1. ลูกค้าเจ็บคอ (ฮ่าๆๆ)

2. เสียงพูดดังลั่นออฟฟิส

3. แถมไม่เหมาะกับการพิมพ์เอกสารที่เป็นความลับ

จากตอนแรกในมุมมองของเทคโนโลยี เจ้าเครื่องที่ว่านี้มันเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับลูกค้าองค์กรหลายแห่ง แต่เมื่อได้ลองทดสอบการใช้งานจริงด้วยระบบหลอกๆ ไปแล้วจึงรู้ว่า แฮ่ … มันมีอะไรให้คิดอีกเยอะนะ นอกจากเทคโนโลยีที่ดึงดูดใจ

จากมุมมองของ IBM … สบายสิครับ ไม่ต้องลงทุนทำอะไรที่ไม่สร้างผลตอบแทนที่ดี

จากมุมมองของผม … เรื่องนี้เป็นสุดยอดของคำว่า Fake it til you make it และ Minimum Viable Product (MVP) เลย คนคิดนี่เก่งจริง

เรื่องเล่าทั้งหมดนี้มาจากอีบุ๊กเล่มสั้นของ Alberto Savoia (Engineering Director ที่ Google) ที่ชื่อ “Pretotype It — Make sure you are building the right it before you build it right” หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงคำว่า “Pretotyping” ที่แปลว่าวิธีการง่ายๆ สั้นๆ ถูกๆ ที่สามารถพิสูจน์สมมติฐานของโปรดักส์ของเราได้ … เคยได้ยินคำว่า “Prototyping” กันใช่ปะครับ “Pretotyping” นั้นยิ่งเร็ว ถูก และหยาบกว่านั้นอีก มันส์

ลองอ่านกันดูนะครับ Pretotype It สั้นและสนุกดี ข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Product Craftsmanship

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com