Service in General

Piyorot
Product Craftsmanship
1 min readOct 29, 2016

ตอนที่ออกแบบระบบ เรามีกลุ่มผู้ใช้กี่กลุ่มอยู่ในใจ ตอนที่ออกแบบระบบ เรามียูสเคสกี่แบบอยู่ในสมอง

ยิ่งมากยิ่งยาก ยิ่งมากยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะล้มเหลว

การสร้างซอฟต์แวร์ส่วนที่ให้บริการ (เซอร์วิส) กับซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆก็เช่นกัน เราพูดถึงเอพีไอ (API) เราพูดถึงไมโครเซอร์วิสเล็กๆที่ทำหน้าที่บางอย่างเพื่อให้บริการกับผู้เรียกหลายกลุ่ม … ในช่วงต้นของการสร้างสิ่งนี้

ยิ่งมียูสเคสมากยิ่งยาก ยิ่งมีกลุ่มผู้เรียกใช้มากยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะล้มเหลว

เรารู้อยู่แล้วว่ามากคนมากความ ยิ่งความต้องการมีหลากหลายยิ่งจับจุดยาก ยิ่งหาแก่นสารและแนวทางที่ชัดเจนได้ลำบาก … และนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการในช่วงแรก

ผมเห็นโปรเจกต์ เมเนเจอร์หรือโปรดักท์ เมเนเจอร์บางคน (ด้วยความหวังดี) พยายามจะสร้างเซอร์วิสที่เป็นกลางๆ ที่ทำงานได้แบบทั่วไป ที่ตอบสนองผู้ใช้ได้หลายรูปแบบ พวกเค้าจะเริ่มต้นด้วยการเรียกประชุมคนหลายกลุ่มพร้อมกันเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องรีไควเม้นต์ นั่นคือข้อผิดพลาดที่สำคัญเพราะมันเป็นเรื่องยากมากที่พวกเค้าจะควบคุมพลวัตของการประชุมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  • เพราะคนออกความเห็นมากเกินไป
  • เพราะมีความขัดแข้งในมุมมองต่อการใช้งานมากเกินไป
  • เพราะไม่มีคนกลางที่ตัดสินใจโดยเด็ดขาดได้ร่วมประชุมด้วย
  • และที่สำคัญ … เพราะโปรเจกต์ เมเนเจอร์หรือโปรดักท์ เมเนเจอร์ยังไม่มีความรู้และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะ “ปฏิเสธ” คำร้องขอบางข้อจากผู้ใช้

การออกแบบเซอร์วิสตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีแก่นสาร ไม่มีหลักการ และกลายเป็นเป็ด — ทำได้หลายอย่างแต่ไม่ดีสักอย่าง … นี่คือที่มาของความล้มเหลวอีกครั้ง

ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบการประชุมขนาดใหญ่เพราะผมไม่ชอบนั่งฟังคนเถียงกัน หลายต่อหลายครั้งผมเลือกที่จัดประชุมขนาดเล็กแต่หลายครั้ง แบ่งไปตามกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับงานทีละกลุ่ม เช้าคุยกับคนที่หนึ่ง สายคุยกับกลุ่มที่สอง บ่ายไปนั่งจิบกาแฟกับกลุ่มที่สาม

ผมชอบแบบนี้เพราะผมสามารถเตรียมวาระการประชุมที่ชัดเจนได้ ผมสามารถควบคุมพลวัตของการประชุมได้ดีกว่า ผมสามารถถามตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนแต่ละกลุ่มได้ละเอียดกว่า

มันเสียเวลามากกว่าในการประชุมหลายๆครั้ง แต่ผมคิดว่าคุ้มค่าเพราะข้อมูลและความรู้ที่ได้รับนั้นมันลึกซึ้งกว่าการจับคนหลายคนมาถกเถียงกันในห้องประชุมใหญ่เพียงครั้งเดียว … ข้อมูลและความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผมเห็นภาพของงานชัดเจนขึ้น มันช่วยให้ผมกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางของเซอร์วิสที่ผมกำลังจะสร้างได้อย่างถูกต้องมากขึ้น — นี่คือสิ่งสำคัญ

ผมไม่ชอบเริ่มต้นด้วยอะไรกลางๆแต่ผมชอบอะไรที่เฉพาะเจาะจง … แล้วค่อยขยายขอบเขตไปให้กว้างขึ้นมากกว่าครับ

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Product Craftsmanship

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com