Why Not 100%

Piyorot
Product Craftsmanship
1 min readOct 22, 2016

“กะอีแค่ 1% มันจะแตกต่างอะไรกันมากมายวะ” — นี่คือสิ่งที่ผมคิดตอนที่กำหนดแอกเซ็ปแท้น ไครทีเรีย (Acceptance Criteria) ให้กับกระบวนการพรู๊ฟ ออป คอนเซ็ปป์ของลูกค้ารายหนึ่ง

สำหรับผมแล้ว ระบบที่ประมวลผลเรียลไทม์จากข้อมูลดิบที่ได้จากสภาพแวดล้อมจริงทำงานถูกต้อง 99% นี่ถือว่าสุดยอดแล้ว … ลองจินตนาการถึงระบบตรวจจับสภาพความเป็นพิษของอากาศ ระบบพยากรณ์อากาศ หรือระบบตรวจจับและวิเคราะห์ใบหน้า … 99% นะเว้ยยยย

“นี่ครับ การวัดผลว่าพรู๊ฟ ออป คอนเซ็ปป์ครั้งนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านจะดูความแม่นยำของระบบครับ ผมกำหนดไว้ที่ 99%” — ผมพรีเซ้นต์ให้ลูกค้าฟัง

“อืมมมม ทำไมไม่ 100% หละครับ?” — ลูกค้าไม่ปลื้ม

“การันตีที่ 100% มันยากมากเลยนะครับ” — ผมก็บอกไปตามความรู้สึก ไม่มีหลักการและเหตุผลที่ดีมารองรับเลยว่าทำไมถึงเป็น 100% ตามที่ลูกค้าต้องการไม่ได้

“นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อผมเดินไปบอกผู้บริหารด้วยตัวเลข 99% … พวกเค้าจะถามผมกลับมาว่าแล้วอีก 1% หายไปไหน … ผมตอบไม่ได้ ผมก็จะอยู่ในสถานการณ์ลำบากอะครับ” — หัวหน้าทีมโปรเซสของลูกค้าเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เค้าต้องการ 1% ที่หายไป

“ทำยังไงได้บ้างครับที่คุณตั๋งจะการันตีความแม่นยำ 100% ให้ผมได้ ผมต้องทำอะไรบ้าง ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ต้องให้เวลาทำซอฟต์แวร์นานกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานของคนในทีมผม ต้องทำอะไรบ้าง บอกผมได้ ผมพร้อม … แต่ผมต้องการ 100% ครับ” — หัวหน้าทีมโปรเซสให้แนวทางที่ชัดเจนมาก

นั่นสิ ทำไมถึง 99% ทำไมไม่ 100% … ทำไมผมถึงพอใจแค่ 99% ในเมื่อในทางทฤษฎีมันเป็นไปได้ที่จะทำให้ดีกว่านั้น

ผมรู้ว่าทำไม … เพราะผมกลัวว่าเมื่อทำงานจริงๆไปแล้วไอ้ 1% ที่ว่ามันจะกลายเป็นตัวปัญหาทำให้ระบบของผมทำงานล้มเหลวในสายตาลูกค้า เพราะผมกลัวว่าการการันตี 100% เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเค้าทำกันในโลกของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

แต่ 100% เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่ใช่หรอ? แต่ 100% คือโอกาสที่เราจะทำระบบที่ฉลาดขึ้นและแม่นยำขึ้นไม่ใช่หรอ? แต่ 100% คือความท้าทายที่จะช่วยให้ผมและทีมงานก้าวไปในอีกระดับหนึ่งไม่ใช่หรอ?

ใช่ แน่นอน … และผมก็รับคำท้าครั้งนี้ด้วยการเขียนลงไปในสเปคว่า ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์จะทำงานได้อย่างถูกต้อง 100%

ไม่รู้จะเป็นประโยคที่ย้อนมาเล่นงานตัวผมเองในอนาคตหรือไม่ … แต่ก็ตัดสินใจทำไปแล้วก็ต้องลุยกันต่อไปครับ

ป.ล. ที่ผมพอใจกับตัวเลข 99% ตั้งแต่แรกนั้นเพราะผมพยายามคุมงบประมาณของโปรเจกต์ให้เป็นไปตามตกลง ผมพยายามมองสโคปงานที่สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น และผมพยายามจะไม่ให้การเกิดขึ้นของระบบนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานในชีวิตประจำวันของผู้ใช้เลยแม้แต่นิดเดียว … นั่นคืออีกหนึ่งสาเหตุที่ผมกลัวการการันตีความแม่นยำที่ 100%

แต่เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้าผู้ประเสริฐที่เข้าใจว่ามีได้ก็ต้องมีเสีย … เค้ายอมแลกหลายอย่างเพื่อ 1% ที่ขาดไป … เค้ากล้าทุ่มทุนผมก็กล้าทุ่มเทเช่นกัน :)

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Product Craftsmanship

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com