Construction and Technology Trend in 2021

อะไรใดๆในปี 2021

Pirawadee
PROJECTMAN.cc
Published in
3 min readNov 20, 2020

--

Ready to push start?

มีความรู้สึกว่าเพิ่งจะเขียนเรื่องเทคโนโลยีปี 2020 ไปแป้บๆ จะสิ้นปีอีกแล้ว เป็นธรรมเนียมที่เราต้องมาอัพเดตกันอีกครั้ง แม้ว่าปีนี้ออกก้าวเดินมาแล้ว ยังไม่ทันจะ Disrupt อะไรตาม theme ของปี ก็พากันหกล้มไปหลายรอบ แข้งขาหัก เนื้อตัวถลอกปอกเปิกกันไปไม่มากก็น้อยอย่างถ้วนหน้า แต่เราก็ต้องเข้าเฝือก ใส่ยา และก้าวเดินกันต่อไป

ปีหน้า เทรนด์ ก็ไม่ค่อยหวือหวานัก วงการก่อสร้างก็ยังคงเกาะตามกระแสของความเคลื่อนไหวในเทคโนโลยีอยู่เหมือนเดิม แทนที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยขององค์กรและการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคมโลก บทความนี้เรียบเรียงและอ้างอิงจากรายงานการคาดการณ์ของ Gartner (Gartner Inc. บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก)

Gartner แบ่งเทรนด์ในปีหน้าออกเป็น 3 ประเด็นหลัก แต่ละประเด็นมี 3 หัวข้อย่อย ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจใดๆในปีหน้า ถ้าเป็นไปใน 9 หัวข้อนี้ก็นับว่า อินเทรนด์ มาๆ ค่อยๆคลานมารับรู้และเตรียมตัวกัน

Photo from “Top Strategic Technology Trends for 2021” — Gartner

ถ้าดูจากประเด็นหลักทั้ง 3 นี้ จะเข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือเทรนด์เพื่อการปรับตัวและพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด 19 มันคือการเพิ่มประสิทธิภาพของ WFH นั่นเอง ลองมาวิเคราะห์แต่ละประเด็นกันดูว่า มันจะใช้กับวงการก่อสร้างเราได้อย่างไรบ้าง

People Centricity-ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

หากดูหัวข้อย่อยภายใต้ประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดว่ามันคือเรื่องที่ “disrupt” วิธีชีวิตของคนอันเนื่องมาจากกรณีโควิด 19 ที่แท้ทรู เริ่มตั้งแต่

  • Internet of Behaviors
    ธุรกิจใดที่ปรับตัวเร็วและตอบสนองฟังก์ชั่นนี้ ก็ได้ใจลูกค้าไปครึ่งหนึ่งแล้ว ไม่ต้องรอถึงปี 2021 หลายองค์กรก็มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าแบบนี้ไปแล้ว เช่นเพิ่มนโยบายการส่งถึงบ้าน การช้อปปิ้งออนไลน์ แบรนด์ดังๆหรือห้างดังๆหลายรายยังไม่พ้นต้องมาเปิดร้านบนแพลตฟอร์มขายของ ใครจะคิดว่ากระทั่งร้าน Apple ยังมีหน้าร้านบนช้อปปี้ ปีหน้าใครทำธุรกิจการค้าแล้วไม่มีหน้าร้านบนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งนี่จะเอ้าท์มากๆ

    ต่อเนื่องมาถึงระบบที่ต้องรองรับพฤติกรรมดังกล่าว หากระบบใดมีการออกแบบที่ซับซ้อนใช้งานยาก ยึดตัวตนของผู้พัฒนาเป็นหลักแทนที่จะคำนึงถึงผู้ใช้ อันนี้เตรียมม้วนเสื่อกลับบ้านได้ นี่รวมไปถึงผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศด้วย ประเภทข้าใหญ่ ข้าดี ข้าเจ๋ง ก็จะเริ่มเจ๊ง เดี๋ยวนี้ลูกค้าไม่รวยก็เลือกได้ เข้าสู่ยุคทองของผู้บริโภคอีกครั้ง องค์กรใดที่ยังมีความคิดหลงในอารยธรรมโบราณ ไม่สนใจเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ในองค์กรยังเป็นวินโดว์เซเว่น ห้ามบุคคลากรในองค์กรใช้อินเตอร์เน็ตในเวลางาน บลา บลา บลา ข้าพเจ้าขอทำนายว่าท่านจะถูกลืมในเร็ววัน ทุกวันนี้ชาวบ้านธรรมดาๆ ทั้งในเมืองนอกเมืองก็มีสมาร์ทโฟนใช้กันทั้งนั้น ไปตลาดนัดท้องถิ่นก็ใช้สแกนจ่าย ไม่ต้องพกเงิน จ่ายครึ่งเดียวอีกต่างหาก ถ้าเจอร้านในโครงการคนละครึ่ง

    ผู้ประกอบการในวงการก่อสร้าง น่าจะเก็บเงินลูกค้าได้ง่ายขึ้น (มั้ย) เพราะลูกค้าไม่ต้องอ้างว่า ลืมเอาเช็คมา ไม่ได้เบิกเงินสด หรืออื่นๆ เชิญสแกนจ่าย โอน ได้เลยค่ะ และถ้าผู้ประกอบการมีการจัดการเอกสารเป็นระบบระเบียบดี มีการใช้เทคโนโลยีมาช่าย ลูกค้าจะขอนู่นนี่เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการวางบิลก็สามารถจัดให้ได้ทันที วางบิลปุ๊บ โอนปั๊บ ฮา
  • Total Experience Strategy
    อันนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากหัวข้อแรก เดิมเราพูดกันแต่ UX/UI คือ user experience/user interface แต่ตอนนี้เราต้องดูองค์รวมเป็น total experience หรือ multiexperience คือรวมตั้งแต่ Customer Experience, Employee Experience และ User Experience เพราะการทำธุรกิจสมัยนี้ มันไม่ใช่แค่ ผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น มันมีคนเกี่ยวข้องอื่นๆอีกมากมาย

    วงการก่อสร้างนี่ชัดเจนมาก Stake Holders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี่เยอะ ไม่ใช่แค่ เจ้าของ ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมา ยังต้องนับรวมไปถึงเจ้าของเงิน (กรณีเจ้าของโครงการกับเจ้าของเงินคนละคน) หน่วยงานราชการหลายๆหน่วย ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เจ้าของผลิตภัณฑ์ คนข้างบ้าน ฯลฯ ถ้าทำธุรกิจแบบไม่เห็นหัวคนอื่นนี่ก็จะไปไม่รอดเหมือนกัน
  • Privacy Enhancing Computation
    หัวข้อนี้เป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการมักกลัวความลับรั่วไหล กลัวคู่แข่งจะรู้เรื่องราวของเรา และอื่นๆ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความ “สบายใจ” กับลูกค้าหรือผู้ใช้ ซึ่งการ์ทเนอร์ ให้คำแนะนำว่า การจัดการด้านความปลอดภัยของข้อมูลองค์กรควรมีสามระดับคือ หนึ่ง สภาพแวดล้อมที่ให้เกิดความไว้วางใจ สอง กระบวนการทำงานที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดภัย และสามกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าปลอดภัยแน่ๆ

    ลองนึกถึงเวลาเราช้อปปิ้งออนไลน์ เปรียบเทียบหลายๆแพลตฟอร์ม ว่าทำไมเราสบายใจกับการซื้อของเว็บนี้มากกว่าเว็บนั้น การยืนยันตัวตน ก็เป็นเรื่องหนึ่งของการสร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย

    แต่อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ปลอดภัย 100%

Location Independence-พิกัดอิสระ

เมื่อก่อน การเข้าที่ทำงานดูจะเป็นภาคบังคับของพนักงานพอๆกับนักเรียนต้องไปโรงเรียน การวิ่งไปลงชื่อให้ทันก่อนขีดเส้นแดง หรือหยิบบัตรลงเครื่องตอกให้ทันเวลา ดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในชีวิตประจำวัน (เคยมั้ย ที่อีกไม่กี่ก้าวจะถึงโต๊ะลงชื่อ แต่คุณพี่ประจำโต๊ะขีดเส้นเสร็จพร้อมเงยหน้ามายิ้มเยาะ ตอนที่เราก้าวไปถึงพอดี เป็นเรื่องที่ยังเอามาเม้าท์กันอยู่ทุกวันนี้) ลูกค้าจะคุยงาน ชมสินค้าก็ต้องเดินทางมาให้ถึงบริษัทห้างร้าน

พอโควิดมา ทุกอย่างแตกกระจาย Disrupt กันชนิดฝ่ายบุคคลก็ยังงงๆ บางที่ต้องขอร้องว่าอย่ามาออฟฟิสเลย กฎกติกาปรับเปลี่ยนกันอย่างกระทันหัน กระนั้นงานก็ห้ามหยุด ต้องประคองตัวกันไปเรื่อยๆ ฝ่ายบริหารก็ต้องรีบปรับเปลี่ยนกระบวนท่าในการทำงาน องค์กรไหนที่ใช้เทคโนโลยีกันอยู่ประจำก็สบายหน่อยไม่วุ่นวายมาก องค์กรไหนไม่ค่อยได้ใช้ ก็จะลำบากหน่อย ช่วงเดือนแรกๆของการทำงานนอกสถานที่ หรือ Work From Home campaign (“WFH” สารภาพว่าแรกๆไม่ค่อยชินกับคำย่อนี่นัก เวลาเห็นพาลแต่จะนึกไปถึงอักษรย่ออีกคำนึงแทน) บริการออนไลน์ที่ขายดีมากๆเป็นขาขึ้นสวนทางกับคนอื่นก็คือ แอพลิเคชั่นการประชุม โดยเฉพาะ “ซูม” กิจกรรมการประชุมผ่านซูมนี่ ก็สนุกสนานบันเทิงกันดี ถึงขนาดมี Meme ล้อเลียนอยู่หลายชุด ทีนี้พอคุยกันทางไกลได้ งานการก็ค่อยราบรื่นขึ้นหน่อย

Location Independence Strategy นี่ ฉันว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้สัมผัส เห็นกันชัดๆก็คือธุรกิจด้านการศึกษา

พอเป็นแบบนี้ แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่หลายองค์กรก็ดูจะติดใจเรื่องการไม่ต้องเข้าออฟฟิส เพราะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรไปในระดับหนึ่งด้วย การให้บริการทางธุรกิจก็เกิดกลยุทธิ์ใหม่เป็น Anywhere Anytime

เมื่อไม่มีการจำกัดพิกัด เทคโนโลยีที่ตามมาเพื่อตอบสนองนโยบายนี้ ก็คือ

  • Distributed Cloud
    การแชร์พื้นที่ข้อมูลเพื่อใช้ร่วมกันในองค์กร ประเด็นนี้มีมาหลายปีแล้ว และก็ยังคงติดเทรนด์มาตลอดสองสามปีนี้ ในเรื่องของ Cloud Computing มันหมดสมัยของการหอบ External Harddisk ไปไหนมาไหนด้วยแล้ว แอพลิเคชั่นฮิตๆที่ใช้งานในชีวิตประจำวันมันบูรณาการในส่วนของพื้นที่เก็บข้อมูลในอากาศไว้ให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะใช้เมฆก้อนไหน ค่ายอะไร หรือเมฆส่วนตัวในองค์กรก็ทำได้
  • Anywhere Operation
    นี่ก็พูดไปข้างต้นแล้ว เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราทำงานที่ไหนก็ได้ บนรถ ในห้องน้ำ ริมหาด ฯลฯ แต่การที่ธุรกิจขององค์กรจะดำเนินไปได้ในสภาพ Anywhere นี่ เทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรมันต้องพัฒนามาให้เอื้อต่อกันด้วย คือประเด็นย่อยๆที่กล่าวมาทั้งหมดมันต้องสัมพันธ์กัน

    แต่ทีนี้พอไม่มีขีดจำกัดของเรื่องพื้นที่ มันก็เลยไม่มีขีดจำกัดเรื่องเวลาไปด้วย หลายคนเลยยึดมั่นถือมั่นเอาว่า Anywhere ต้องมาพร้อมกับ Anytime ประเด็นนี้พูดกันตรงๆมันควรต้องมีมารยาทกันบ้าง จริงอยู่ว่ามันสามารถทำงานตอนไหนก็ได้ แต่ก็ควรจะติดต่อธุรกิจในเวลางานกันดีกว่ามั้ย
  • Cybersecurity Mesh
    เมื่อก่อนเวลาพัฒนาเทคโนโลยี นักพัฒนาก็อาจจะจดจ่อไปเพียงสิ่งที่กำลังพัฒนาเท่านั้น การสร้างระบบความปลอดภัยก็ดูเพียงจุดเดียว แต่พอสถานการณ์ปัจจุบันที่เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เข้าถึงข้อมูลองค์กรได้จากที่ต่างๆ ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล มันต้องดูในภาพรวมทั้งหมด ทุกด้าน ไม่ว่าในมุมไหน คือพร้อมรบทุกด้าน ทั้ง Hardware และ Software

Resilient Delivery

ประเด็นสุดท้ายนี่นิยามเป็นภาษาไทยยากจริงๆ การ์ทเนอร์อธิบายว่า ไม่ว่าในสถานการณ์แบบไหน จะเกิดโรคระบาดหนัก หรืออยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแค่ไหนก็ตาม ความผันผวนก็ยังมีอยู่ในโลกเสมอ คือไม่มีอะไรแน่นอนหยุดนิ่ง เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการในการทำให้สำเร็จ พิกัดอาจผันแปรแต่เป้าหมายต้องแม่นยำ

มันก็เหมือนที่เราพยายามกันมาตลอดปี 2020 นี่แหละ ตกรถตกรางกันมา ก็ต้องพยายามประคองกันให้กลับเข้ามาอยู่ในเส้นทาง หรือหาทางเส้นอื่น และวิ่งต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ ทีนี้การจะทำให้มันไปถึงปลายทางที่ตั้งไว้มันก็ต้องมีตัวช่วย เทรนด์ที่จะช่วยให้ธุรกิจเราบรรลุนโยบาย Resilient Delivery นี้ได้ เขาบอกไว้ว่า

  • Intelligent Composable Business
    ในปี 2020 เมื่อองค์กรหรือธุรกิจได้ขยับ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อันเลวร้ายผ่านมาได้แล้ว สิ่งต่อไปคือ จะทำยังไงกับสิ่งที่ปรับมานั้นให้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจที่ปรับมานั้นต้องควรที่จะสามารถปรับเปลี่ยน แตก ขยาย และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการตัดสินใจ

    เหมือนมีรถเข็นขายของอยู่หนึ่งคัน วันนี้กาแฟขายดี ต้องทำรถเข็นเป็นรถกาแฟ เดือนหน้าอาจต้องเปลี่ยนเป็นรถขายข้าวแกง สามเดือนถัดไปเปลี่ยนเป็นรถรับส่ง มีมันอยู่หนึ่งคันกับหนึ่งคน นี่แหละปรับเปลี่ยนธุรกิจไปตามสภาวการณ์

    พูดง่ายใช่มั้ย แล้ววงการก่อสร้างเราจะทำได้แบบรถเข็นนี่หรือ

    ได้สิ เพียงเราอย่ายึดมั่นถือมั่น ประเภทที่ว่าไม่เคยรับงานต่ำกว่าสิบล้านเลย ระดับชั้นงานต้องไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเท่านั้นค่อยมาคุยกัน ถึงวันนี้อะไรก็มาเถอะ
  • AI Engineering
    AI เป็นเทคโนโลยียุคใหม่ที่ติดท้อปเทรนด์มาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจแทบทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่งานเกษตรกรรม วงการก่อสร้างยิ่งได้ประโยชน์มาก โดรน ก็เป็น AI ประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายในปัจจุบัน
  • Hyperautomation
    หัวข้อสุดท้ายที่การ์ทเนอร์ระบุเป็นเทรนด์ของธุรกิจในประเด็นของ Resilient Delivery ก็คือการทำกระบวนการทำงานของธุรกิจเป็น Hyperautomation ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำงานที่รวมหลายๆ “automated process” เข้าด้วยกัน หลายองค์กรถูกเจ้าโควิดผลักให้เดินมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางสายดิจิตอลเร็วกว่าที่คาดไว้ กระบวนการ hyperautomation จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การทำงานบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามคำกล่าวของการ์ทเนอร์
    “Hyperautomation is the key to both digital operational excellence and operational resilliency for organizations.”

ทั้ง 9 หัวข้อที่การ์ทเนอร์เสนอเป็นเทรนด์ของธุรกิจปีหน้า มันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ผสานกัน และไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกอย่างเราสามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แม้ว่าธุรกิจก่อสร้างจะมีลักษณะเฉพาะตัวกว่าธุรกิจประเภทอื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถนำกลยุทธ์เหล่านี้มาใช้ได้ อย่างหนึ่งซึ่งฉันพบ คนในวงการก่อสร้างส่วนใหญ่มักมีความคิดยึดติดกับสิ่งเดิมๆที่คุ้นเคย หรือที่ “คิดว่า” เข้าใจ และมักขาดการศึกษาค้นคว้าหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

ลองเปลี่ยน mindset คิดนอกกรอบดูบ้าง อาจจะทำให้เราทำงานสนุกขึ้น

Stay Safe and Move Forward

--

--

PROJECTMAN.cc
PROJECTMAN.cc

Published in PROJECTMAN.cc

Project & Construction, life, ideas, stories, inspirations

Pirawadee
Pirawadee

Written by Pirawadee

Owner of the project management consultancy firm, former lecturer in project construction management, traveler and blogger

No responses yet