งานที่อยากให้คุณดูจากเวที Data Journalism Awards
ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา Global Editors Network (GEN) ได้จัดงานประกวด Data Journalism Awards ขึ้นทุกปี เพื่อเชิญชวนให้สื่อ สำนักข่าว องค์กรต่างๆ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้าน ‘Data Journalism’ ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งในปีนี้ก็มีผลงานจากทั่วโลกส่งเข้ามาถึง 607 ชิ้น ก่อนคณะกรรมการจะคัดเลือกจนเหลือเพียง 12 ผู้ชนะ และอีกหนึ่งรางวัลพิเศษจากการโหวตของผู้เข้าชม
นี่คืองานรางวัลจากเวทีประกวดนี้ที่อยากชวนดู เผื่อใครที่กำลังสนใจหงานด้านนี้ หรือบางที.. จะได้ลองเตรียมส่งเข้าประกวดปีหน้า (ปีนี้ประเทศไทยมีงานส่งประกวดคือ elect.in.th)
ดูโปรเจ็กต์ทั้งหมดได้ที่ https://datajournalismawards.org/projects
🏆 Hurricane Maria’s Dead
รางวัล ‘Investigation of the year’ ปีนี้ เป็นงานของ Quartz, AP ที่หยิบเอาประเด็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พายุ Hurricane Maria ใน Puerto Rico มาเล่า โดยในความเป็นจริงแล้วมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัตินี้จำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริง
ทีมงานจึงได้รวบรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง พร้อมลงพื้นที่สัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัย เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเลือกใช้การแสดงข้อมูลในรูปแบบของกำแพงรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และมีป้ายชื่อที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละบุคคลอย่างละเอียด เพื่อเน้นย้ำถึงความสูญเสียและความเสียหายที่รัฐละเลยไป
หลังจากโปรเจ็กต์นี้ถูกปล่อยออกมา ก็กระเทือนถึงรัฐบาล Puerto Rico ที่ต้องออกมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดูเพิ่มได้ที่ http://hurricanemariasdead.com
🏆 Indonesia Plane Crash
ข่าวเครื่องบิน Lion Air ตกของ Reuters เป็นชิ้นที่คว้ารางวัล ‘Best use of data in a breaking news story’ ของปีนี้ไป เพราะเป็นงานที่สามารถแสดงข้อมูลเป็นภาพที่เข้าใจง่าย อธิบายเส้นทางการบิน รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องบิน และสถานการณ์เครื่องบินตกได้อย่างชัดเจน โดยใช้เวลาการผลิตงานเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น
ดูเพิ่มเติมที่ https://graphics.reuters.com/INDONESIA-CRASH/0100810F1X2
🏅 Every Time Ford and Kavanaugh Dodged a Question
อีกงานที่ส่งประกวดในหมวด ‘Best use of data in a breaking news story’ และแม้จะไม่ได้รางวัล แต่ก็ควรค่ากับการพูดถึง นั่นก็คืองานของ Vox ที่บันทึกคำให้การในศาลของ Brett Kavanaugh ซึ่งถูกฟ้องร้องในประเด็นคุกคามทางเพศ โดยบันทึกข้อมูลว่าในแต่ละประโยคที่พูด นั้น ตอบตรงหรือไม่ตรงคำถาม โดยเทียบกับคำให้การของ Christine Ford ผู้ฟ้องร้อง แล้วแสดงผลเป็นแถบสี ที่สามารถกดดูคำพูดแบบประโยคต่อประโยคได้
ดูเพิ่มเติมที่ https://www.vox.com/policy-and-politics/2018/9/28/17914308/kavanaugh-ford-question-dodge-hearing-chart
🏆 Eva Belmonte
Best individual portfolio’ ของปีนี้เป็นของ Eva Belmonte, Co-director และหัวหน้าทีมข่าวของ Civio ในสเปน เจ้าของโปรเจ็กต์ ‘Our Daily Official Gazette’ ที่หยิบเอาข้อกฎหมายต่างๆ ผ่านการศึกษาเชิงลึก มาตั้งประเด็นเป็นข่าวหรือสกัดเป็นข้อมูลมาเล่าให้คนเข้าใจง่ายๆ โดยเปิดเผยหลักการวิเคราะห์ และเปิดให้ใครๆ หยิบข้อมูลไปใช้ได้ งานของเธอเลยเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมมาก
ดูเพิ่มเติมที่ https://civio.es/en/our-daily-official-gazette
🏆 Dada Lyndell
รางวัล ‘Young Data Journalist of the Year’ เป็นของ Dada Lyndell นักข่าวจากรัสเซียในวัย 28 ปี ที่รวบรวมเอางานที่เธอเคยทำลง RosBusinessConsulting โดยงานของเธอมีทั้งข่าวด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ หรือแม้แต่คอร์รัปชั่น งานที่ออกมานั้นมีทั้งความลึกในประเด็น และมีการเชื่อมโยงหลายๆ มิติเข้าด้วยกัน รวมถึงกล้าที่จะท้าทายแนวความคิดที่มีมาแต่ดั้งเดิมของประเทศ ทำให้งานของเธอมีอิมแพคต่อสังคมค่อนข้างมาก
ดูเพิ่มเติมที่ https://twitter.com/dadalndll
🏆 La Nación
ทีมข่าวข้อมูลจาก Argentina ได้รับรางวัล ‘Best data journalism team portfolio (large newsroom)’ ในฐานะทีมข่าวที่เปิดเผยความจริงและเน้นการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล รวมถึงผลักดัน Open Data และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐ นอกจากนำเสนอข้อมูลข่าวสารแล้ว ทีมยังผลิตชุดข้อมูลใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ และเปิดเป็นสาธารณะให้ใครๆ หยิบไปใช้ ด้วยหวังว่าจะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน
โปรเจ็กต์ที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมาก็อย่างเช่น ‘The Driver’s Notebooks of Corruption’ ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องการซื้อขายยาของรัฐ การจับตาดูการออกกฎหมาย หรือการเปิดเผยคะแนนโหวต ดูเพิ่มเติมที่ http://blogs.lanacion.com.ar/projects/data
🏆 Hate Crime Watch
‘Best data journalism team portfolio (small newsroom)’ เป็นของทีม Factchecker.in ที่ทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในอินเดีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่รัฐไม่เคยมี ทำให้เห็นถึงเทรนด์ของเหตุร้ายที่เกิดจากความไม่เข้าใจทางศาสนา โดยมีทั้งปัจจัยด้านพื้นที่ อำนาจท้องถิ่น หรือกลุ่มความเชื่อ โดยหวังว่าจะทำให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น รวมถึงนำไปสู่การออกนโยบายสาธารณะที่ตอบรับกับเรื่องนี้มากขึ้น
ดูเพิ่มเติมที่ https://p.factchecker.in
🏆 The Race to Save the River Ganges
รางวัล ‘Data visualisation of the year’ เป็นงานของ Reuters ที่หยิบเอาภาพถ่ายจากชีวิตจริง, แผนที่แบบอนิเมชั่น, ภาพกราฟิก และข้อมูลด้านมลพิษของประเทศ มาประกอบกันอย่างลงตัว เพื่อเล่าเรื่องของน้ำเสียจากระบบอุตสาหกรรมที่กำลังกระทบชีวิตคนอินเดีย 400 ล้านคน
ข้อมูลมลพิษและน้ำเสียที่ถูกหยิบมาเล่าให้ใกล้กับคน ประกอบกับการย่อยและค่อยๆ จัดวางข้อมูลบนภาพและอนิเมชั่น ให้เข้าใจง่ายและรู้สึกตาม ทำให้งานชิ้นนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ลองดูได้ที่ https://datajournalismawards.org/projects/the-race-to-save-the-river-ganges
🏆 Radmesser
ความปลอดภัยของคนใช้รถจักรยานเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงที่สำคัญในเยอรมนี แต่ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลด้านนี้มาก่อน Der Tagesspiegel จึงรวมเอางานข่าว การมีส่วนร่วมของพลเมือง และเทคโนโลยีอย่างการติดตั้งเซ็นเซอร์และ Machine Learning มาเพื่อเก็บและเล่าข้อมูลตรงนี้ จนคว้ารางวัล ‘Innovation in data journalism’ ในปีนี้ไป
นอกจากวิธีเก็บข้อมูลที่มีวิธีการที่น่าสนใจแล้ว รูปแบบการนำข้อมูลมาเล่ายังหลากหลาย นับตั้งแต่ interactive บนเว็บไซต์ พอดแคสต์ วิดีโอ หรือแม้แต่สิ่งพิมพ์ รวมถึงยังเปิดข้อมูลและ Sensor Code เป็น Open Source ให้หยิบไปใช้ได้ด้วย
ดูเพิ่มเติมที่ https://interaktiv.tagesspiegel.de/radmesser/index.html
🏆 The Myth of the Criminal Immigrant
งานใน The Marshall Project ของ New York Times ที่ได้รับรางวัล ‘News data app’ ปีนี้ เป็นงานที่นำเสนอข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้อพยพและจำนวนอาชญากรรม โดยมีส่วนที่ให้คนอ่านมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการใส่ย่านที่ตัวเองอยู่เข้าไป โดยงานนี้มีผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยร่วมมือด้วย
ดูเพิ่มเติมที่ https://www.themarshallproject.org/2018/03/30/the-myth-of-the-criminal-immigrant
🏆 OCCRP Data
เพื่อตรวจสอบการโกงเงิน ฟอกเงิน หรือติดสินบน Organized Crime and Corruption Research Project (OCCRP) จึงรวมเอาเอกสารและบันทึกต่างๆ หรือข้อมูลที่ Scrape มาได้ มารวมเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้มองเห็นว่าเงินก้อนไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร โปรเจ็กต์นี้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการข่าวสืบสวนสอบสวน ด้วยการรวมเอาชุดข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์และจัดระบบให้อยู่ร่วมกันในแพลตฟอร์มที่สามารถค้นหาได้ นับเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการขับเคลื่อน Open Data ทั้งในเรื่องของปริมาณ คุณภาพ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูล จนได้รางวัล ‘Open data award’ ไป
ดูเพิ่มเติมที่ https://data.occrp.org
🏆 The Pudding
‘Data journalism website of the year’ ปีนี้เป็นของ The Pudding สื่อดิจิทัลที่ใช้เครื่องมืออย่าง Visual Essays และ Data Visualisations ในการเล่าเรื่องต่างๆ นับตั้งแต่การเมือง กีฬา เพลง ไปจนถึงประเด็นสังคม โดยมีกราฟิกที่โดดเด่นและลูกเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายอย่าง
ลองเข้าไปดูได้ที่ https://pudding.cool
🏆 This is how thin you have to be, to walk the catwalk
งานที่ได้รับการโหวตสำหรับรางวัล ‘The Public Choice Award’ เป็นงานของ NOS สื่อเนเธอร์แลนด์ที่เลือกหยิบเอาประเด็นของสุขภาพนางแบบที่ต้องรักษารูปร่างไม่ให้สะโพกใหญ่เกิน 90 cm มาเล่า โดยความน่าตื่นเต้น น่าจะเป็นการรวมรวมเอาชุดข้อมูลจากเอเจนซี่ 25 แห่งที่ลงไซส์ของนางแบบไว้ และใช้โมชั่นกราฟิก เพื่อช่วยนำเสนอข้อมูลในคลิปวิดีโอที่เป็นสื่อหลักในการเล่าเรื่อง
ดูเพิ่มเติมที่ https://nos.nl/op3/artikel/2248432-zo-dun-moet-je-echt-zijn-als-je-model-wil-worden.html