โปรเจกต์ดีเลย์กับการทำงานเกินเวลา (Over Time)

Working Over Time — Your Exception or Norm?

Piyorot
Pure Project Management
1 min readJan 14, 2015

--

การบริหารจัดการโปรเจกต์แบบดั้งเดิมนั้น Project Manager มีหน้าที่ดูแลให้สามเหลี่ยมทองคำอยู่ในสภาพที่สมดุลที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเวลาโปรเจกต์มีปัญหาเรามักจะพูดกันแค่ว่า “เฮ้ย โปรเจกต์ดีเลย์แล้ว” แทบไม่เคยได้ยินใครบอกว่า “เฮ้ย Scope งานบวมเกินไปแล้วหวะ” “เห้อ น้องในทีมโดนดึงตัวไปช่วยงานอื่นอะ” หรือ “แม่ม โปรเจกต์นี้คุณภาพอย่างห่วย”

หงะ … มันแปลว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในสามเหลี่ยมทองคำนั้นคือ Schedule ใช่ป่าว? จุดโฟกัสของทุกคนจะอยู่แค่โปรเจกต์นี้จะเสร็จทันมั้ยโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นเลยว่าจะเป็นยังไง เมื่อเป็นแบบนี้ Project Manager ทุกคนก็โดนบีบบังคับให้ทำยังไงก็ได้เพื่อปิดงานให้ได้ตรงเวลา

ความกดดันถัดมาคือน้อยครั้งที่เราจะสามารถตัด Scope งานออกไปได้ คือไม่เข้าใจว่าเป็นอะไรกันมากมั้ย คนใหญ่คนโตเหมือนเป็นพวกปล่อยวางไม่ได้ ไอ้นั้นก็ต้องมี ไอ้นี่ก็ต้องอยู่ครบ มาแนวนี้ Project Manager เหมือนโดนบีบสองทางแล้ว Schedule และ Scope ตอนนี้เหลือแค่สองปัจจัยที่พอจะเล่นได้คือ Resources และ Quality

ขอพูดถึง Quality ก่อน จะบอกให้ฟังดังๆว่าคำนี้ไม่มีอยู่จริงในการทำงานหรอก ฮ่าๆๆๆๆ ไม่มีใครเคยสนใจมันอย่างจริงจัง ดีแต่พูดกันทั้งนั้น แม้แต่ Project Manager เองก็ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญ … ตัดทิ้งไปอีกหนึ่งข้อ

เหลือข้อสุดท้ายคือ Resources ซึ่งแปลว่าคนและงบประมาณแต่มันก็ไม่ง่ายหนะสิ ลองจินตนาการดูว่าเราเป็น Project Manager ที่เดินไปคุยกับหัวหน้าเพื่อขอคนเพิ่ม คำตอบร้อยละ 90 คือ “ไม่มีคนแล้วหวะ ติดงานอื่นกันหมดเลย” อ่าวทำยังไงหละทีนี้? … คือคนที่เค้ามาเป็นหัวหน้าเราได้เนี่ยะ เค้าต้องมีความคิดที่เหนือชั้นกว่าเราอยู่อย่างน้อยหนึ่งขั้น เค้าเลยเสนอแนวทางเทพๆแบบนี้ได้

“คนไม่พอหรอ? … ก็ให้เด็กมันทำ OT ไปสิ” อุ้ย … เทพ เรานึกไม่ถึงเลยว่าการเพิ่มคนไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนเสมอไป … เพิ่มเวลาทำงานของคนก็ได้นี่หว่า จริงด้วย แบบนี้นอกจากจะไม่ต้องเสียเวลาหาคนเพิ่มแล้วยังไม่ต้องเสียงบประมาณอะไรเพิ่มซักบาทเดียวเพราะ OT คือ O-Free … สุดยอดไปเลย

สุดท้ายไม่ว่าจะยังไงเด็กๆก็ต้องทำงานเกินเวลาเสมอไปซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ได้สร้างผลดีอะไรเลย การทำงานเกินเวลาสร้างปัญหามากมายอย่างที่ทุกคนรู้ (แต่แกล้งทำเป็นลืม)

  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • คุณภาพงานลดลง
  • ขวัญกำลังใจแย่ลง
  • สุขภาพทรุดโทรม

คำแนะนำที่ผมจะให้ได้คือ

อย่าคิดถึงการทำงานเกินเวลาเป็นตัวเลือกแรกเพื่อจัดการปัญหาโปรเจ็กต์ดีเลย์ เราต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้เพื่อ (1) ลด Scope และ (2) ขยาย Schedule

อย่างไรก็ตามการทำงานเกินเวลาไม่ใช่ความผิดอาญา เราสามารถเลือกใช้แนวทางนี้ได้ … ตราบใดที่การทำงานเกินเวลานั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นมากๆ เช่น แค่สามวัน เต็มที่คือไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

การทำงานเกินเวลาควรจะเป็นข้อยกเว้น (Exception) ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ (Norm) ☺

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com