Under-Planning vs. Over-Planning

Piyorot
Pure Project Management
1 min readMay 8, 2015

ถ้าชีวิตไม่มีความพอดี … ให้เลือกระหว่าง “วางแผนน้อยไป” (Under-Planning) กับ “วางแผนมากไป” (Over-Planning) ผมจะเลือกอะไร?

ถ้าเป็นสมัยเด็กๆ ทำงานใหม่ๆ ทุกอย่างบ่งชี้ว่าการวางแผนยิ่งละเอียดยิ่งดี ยิ่งลึกยิ่งจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น กลายเป็นว่ากว่าจะเริ่มงานได้ผมหมดเวลาไปกับการวางแผนในรายละเอียดทุกจุด ทุกงานย่อย กำหนดระยะเวลาที่ใช้, วันเริ่ม, วันจบอย่างชัดเจนลงไป แต่เมื่อลงมือทำงานจริงมันไม่ใช่ การวางแผนเยอะไม่ได้แปลว่าจะเพิ่มโอกาสที่งานจะสำเร็จ

ทำงานผ่านมาสักพักเริ่มรู้สึกว่าการวางแผนที่น้อยเกินไปก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียหรือเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้งานล้มเหลว … ตอนนี้หลักการที่ผมใช้ในการวางแผนโปรเจกต์ที่บริษัทตัวเองนั้นเน้นว่ามันต้องง่าย เร็ว และเริ่มงานจริงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อได้โปรเจกต์หรือ Requirement มา … คำว่าวางแผนน้อยของผมคือทำแค่ขั้นตอนที่ 1–4 ครับ

  1. ทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ของมัน — ขั้นตอนนี้เรียกว่า “มันคืออะไร”
  2. กำหนดเป้าหมายใหญ่ๆให้ชัดเจน — ขั้นตอนนี้เรียกว่า “เราต้องการอะไร”
  3. กำหนดกลุ่มงานที่ต้องทำ — ขั้นตอนนี้นี้เรียกว่า “ทำอะไรบ้าง”
  4. จัดลำดับการทำงานก่อนหลัง — ขั้นตอนนี้เรียกว่า “ทำเมื่อไรบ้าง”
  5. ระบุรายละเอียดของทุกกลุ่มงานที่ต้องทำ — ขั้นตอนนี้เรียกว่า “ทำยังไงบ้าง”

ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเพื่อนร่วมงานครับ แต่ปัจจุบันนี้พวกผมไม่ต้องลงรายละเอียดของคำว่า “ทำยังไงบ้าง” ในแต่ละงานย่อยด้วยซ้ำเพราะมันเป็นเรื่องที่แต่ละคนจัดการได้เองอยู่แล้ว เจ๋งสุดๆ

ผมเพิ่งผ่านกระบวนการวางแผน … ขอเรียกว่า Monthly Planning เมื่อวานนี้เอง ใช้เวลาคุยกันแค่ 20 นาที (โอเคแหละว่าพวกผมเป็นทีมเล็กๆมีกันแค่ 5 คน เลยจบง่ายไม่เรื่องมากยืดยาว) ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ง่ายๆแบบนี้ครับ

Monthly Planning in 20 Minutes
  1. โฟกัสเยอะหน่อยสำหรับงานที่กำลังจะทำภายในเดือนนี้ อาจจะมีลงรายละเอียดว่า “ทำยังไงบ้าง” แล้วแต่กรณี— #NOW
  2. ที่เหลือก็ผลักไปอยู่ในช่อง Feature Backlog ทั้งหมด เรียงลำดับไว้หน่อยว่าอะไรที่เป็นงานที่ “น่าจะ” ต้องทำเดือนหน้า คุยกันแค่ข้อมูลคร่าวๆว่ามันคืออะไรก็พอ — #NEXT
  3. ส่วนที่เหลือที่รู้ว่าต้องทำแต่ไม่ใช่ในเร็ววันนี้ก็แค่สร้างเป็นการ์ดไว้ ไม่ต้องไปเสียเวลาคุยรายละเอียดอะไรให้ยุ่งยากเลย — #LATER

ประเด็นสำคัญที่ผมอย่างจะสื่อคือการวางแผนที่มากเกินไปหลายครั้งกลายเป็นความเสี่ยงและปัญหาครับ เช่น

  • เสียเวลากว่าจะได้เริ่มทำงานจริง
  • ทำให้เรารู้สึกว่าเราวางแผนดีแล้วไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปรับปรุงอะไรระหว่างการทำงาน
  • เป็นความสูญเปล่า (Waste) ถ้าวันนึงมารู้ว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นในโปรเจกต์อีกแล้ว

Plans are Nothing. Planning is Everything., Dwight D. Eisenhower

“แผน งานทั้งหลายนั้นไร้ความหมาย การวางแผนอย่างต่อเนื่องต่างหากคือทุกสิ่งทุกอย่าง”, ดไวท์ ดี. ไอเซ็นโฮเวอร์ (ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 34)

ถ้าเลือกได้อยากให้วางแผนน้อยเกินไปอย่างต่อเนื่องครับ ☺

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com