With A Proper Deadline or Nothing At All

Piyorot
Pure Project Management
1 min readDec 1, 2016

โปรเจกต์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มนี้

โปรเจกต์ที่ไม่มีทางเสร็จทัน

เพราะเดดไลน์มันกระชั้นชิดเกินไป เพราะเดดไลน์มันเป็นไปไม่ได้ – “ผมต้องการเดี๋ยวนี้”, “ห้ามช้ากว่าจันทร์หน้านะ”, “ไม่รู้หละ เราต้องรีลีสก่อนคู่แข่ง”, “งานแค่นี้ สามเดือนน่าจะเหลือๆ”

มันเป็นเรื่องอันตรายที่เดดไลน์มันเกินความเป็นไปได้ แต่มันจะเป็นอันตรายยิ่งกว่าถ้าโปรเจกต์นี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สอง

โปรเจกต์ที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น

เพราะไม่มีเดดไลน์ ล่องลอยไปเรื่อยทั้งจิตใจสมองและพลังงาน ทำตรงนั้นนิดแล้วเปลี่ยนไปทำงานอื่นอีกหน่อย — “ผมว่าแบบนี้น่าจะดีนะ”, “ไหนงานถึงไหนแล้ว เรียกประชุมอัพเดทกันหน่อยซิ”, “ยังค้างอยู่ที่เดิมหรอ นึกว่าเรื่องนี้จบไปแล้วนะเนี่ยะ”, “ไม่เอาแล้ว ผมเปลี่ยนใจ ขอแบบนี้ดีกว่า”

กี่ครั้งแล้วที่เราเริ่มต้นแต่ไม่เคยเดินไปถึงจุดสิ้นสุด? ผมนี่ประจำ นับครั้งไม่ถ้วนที่เริ่มอะไรขึ้นมาแล้วก็ละเลยละทิ้งเพราะไม่มีเดดไลน์ที่ชัดเจน เพราะไม่มีแรงกดดันที่เหมาะสมมาเป็นเพื่อนร่วมงาน

ไม่ว่ากลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง โปรเจกต์ส่วนใหญ่ถูกกำหนดชะตาชีวิตมาให้เป็นเช่นนี้ เลวร้ายหน่อยก็มีการกลายพันธุ์แปลงเพศระหว่างช่วงอายุด้วย เริ่มมาแบบล่องลอยเรื่อยเปื่อยจนมาวันนึงก็ได้รับคำสั่งว่างานนี้ต้องเสร็จในสามวัน (ชีวิตรันทด)

สิ่งที่คนทำงานอย่างเราโหยหาคืองานที่มีเดดไลน์ที่ถูกกำหนดมาอย่างเหมาะสม ไม่เร่งรัดหรือหย่อนยานเกินไป อะไรที่กลางๆและกำลังดี … มันยากมั้ยหละ?

สำหรับผมมันไม่อยากนะ ถ้าคนกำหนดเดดไลน์เข้าใจว่าเกมส์นี้เล่นอย่างไร ผมชอบยกตัวอย่างแบบนี้ครับ

โอลิมปิกฤดูร้อนครั้งหน้าจัดที่โตเกียวระหว่างวันที่ 24 ก.ค. — 9 ส.ค. 2020 … วันที่ 24 คือเดดไลน์ของเรา มันฟิกซ์มาก ถ้าแอพเราไม่เสร็จก่อนหน้านั้นก็จบ เค้าไม่เลื่อนวันเปิดโอลิมปิกให้เราแน่นอน

ย้อนกลับมาดูวันนี้ 30 พ.ย. 2016 … เกือบสี่ปี ไหวมั้ยหละ? โปรเจกต์ที่มีในมือ แอพที่อยากได้ แนวคิด ฟีเจอร์ คุณภาพ แผนการตลาด การเตรียมทีมมาซัพพอร์ต อะไรก็ตามแต่ที่ต้องทำ … ไหวมั้ย?

แน่นอนว่าสี่ปีเป็นเวลาที่ยาวนาน และคำตอบของเราคือน่าจะไหว มันมีอะไรที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้มากมายระหว่างทางแต่ไม่ใช่เดดไลน์ … งั้นเราลงมือทำเลย วันนี้

เอาใหม่ … เอาให้ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย

งานสัมมนาประจำปีครั้งต่อไปของจีเอสวันเฮ้ลท์แคร์ (GS1 Healthcare) จะถูกจัดขึ้นที่เบอร์ลิน เยอรมนี วันที่ 4 — 6 เม.ษ. 2017

ผมและทีมงานมีความคิดบ้าๆบอๆว่าอยากจะไปร่วมงานนี้ อยากมีโปรดักท์ดีๆไปเปิดตัวโชว์ตัวในงาน (ในประเทศไม่เคยโชว์ โชว์ต่างประเทศเลย — นี่แหละถึงได้บอกว่าเป็นความคิดบ้าๆบอๆ) ผมกับเพื่อนจึงตั้งเดดไลน์ของตัวเองขึ้นมาเป็นเป้าหมายระยะกลางว่า “ต้องมีโปรดักท์ไปโชว์ในงานนี้”

ไหวมั้ยหละ? ประมาณสี่เดือนนับจากนี้ เลื่อนไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง — เพราะผมคิดว่าไหว ผมถึงเริ่มต้นลงมือทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไรยังไม่มีใครรู้แต่อย่างน้อยตอนนี้เป้าหมายชัดเจนมาก เดดไลน์ชัดเจน แรงกดดันอยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับผมและทีมงาน … เดดไลน์ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมันจะช่วยให้โปรเจกต์ผมหลุดพ้นจาก “ไม่มีทางเสร็จทัน” และ “ไม่มีวันเสร็จสิ้น”

สำหรับผมและทีมงาน … พวกเราจะมองหาวันจัดโอลิมปิกของพวกเราเสมอครับ “ต้องเสร็จเมื่อไร?”, “เลื่อนได้มั้ยหรือฟิกซ์มาก?” — ถ้าคำตอบที่ได้นั้นยากเกินไป ผมจะต่อรอง ถ้าต่อรองไม่ได้ผมก็ไม่เริ่มต้นมันเลย

ด้วยเดดไลน์ที่เหมาะสมหรือไม่ก็ไม่ต้องทำมันเลย ง่ายๆแค่นั้น

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com