Stepping Into Tomorrow

Sutthinart Khunvadhana
Refinitiv Thailand
Published in
3 min readSep 20, 2019

เตรียมรับมือกับคลื่นเทคโนโลยีในงาน Blognone Tomorrow 2019

สวัสดีครับทุกคน เนื่องจากผมได้รับโอกาส(พิเศษ) เป็นตัวแทนจากบริษัท Refinitiv ประเทศไทยในการเข้าร่วมงานสัมมนาเทคโนโลยี Blognone Tomorrow 2019 ที่ปีนี้จัดขึ้นที่ ไบเทค บางนา จึงอยากจะแบ่งปันสิ่งที่ได้รับมาจากงานนี้ โดยผมจะเลือกจากสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นหลัก เนื้อหาในบทความอาจมีการตัดทอนหรือเพิ่มเติมบางส่วน

มาเริ่มกันที่

5G and Business Transformation: Impacts & Opportunities

หัวข้อแรกของงานวันนี้ คุณยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS ได้เล่าถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุค 4G ไป 5G รวมทั้งผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดขึ้น

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก 5G แบบคร่าวๆกันก่อน

5G คืออะไร

5G คือ generation ที่ 5 ของการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่มีความเร็วเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อไวขึ้น ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้จำนวนมากขึ้น ใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยลง

5G จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

5G ไม่ได้มีดีแค่เร็วกว่า 4G แค่นั้น

แต่มันยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้จำนวนมากกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า(ในพื้นที่เท่ากัน) ทำให้ความเป็นไปได้ในหลายๆอุตสาหกรรมเปิดกว้างขึ้นมาก
อันนี้ผมจะลองยกตัวอย่าง เช่น
- AgriTech ที่สามารถนำอุปกรณ์ IoT จำนวนมากเชื่อมต่อกับ เทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่ม productivity ทางการเกษตร เช่น drone ที่คอยเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของ พืช ผิวดิน ลมฟ้าอากาศ เพื่อนำ data ที่ได้มาใช้ประโยชน์ต่อ
- Logistic ในยุคที่ drone สามารถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากขึ้น เราจะเห็นธุรกิจส่งของ ส่งอาหาร ส่งเอกสาร ด้วย drone ที่มีผู้ควบคุมจากระยะไกล
- Transportation Taxi ที่มีพนักงานขับรถจากระยะไกล ตัวพนักงานเองสามารถทำงานจากที่บ้านก็สามารถขับรถรับ-ส่งผู้โดยสารได้

มีการประมาณการว่าภายในปี 2035 Technology 5G จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามตัวเลขด้านล่างนี้
- เม็ดเงิน 12.3 ล้านล้านดอลลาร์ที่จะหมุนเวียนในสินค้าและบริการที่ต้องพึ่งพาอาศัย 5G
- จะมีการจ้างงานอีก 22 ล้านตำแหน่ง
- GDP ของโลกที่จะเติบโตอีกกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์

คุณยงสิทธิ์ เสริมต่อไปอีกว่า AIS ได้เตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการรับมือต่อการมาถึงของ 5G อย่างไรบ้าง พร้อมโชว์ vdo สาธิตการขับรถยนต์ด้วยการควบคุมจากระยะไกลโดยใช้เทคโนโลยี 5Gในการรับส่งข้อมูลจากรถยนต์ไปถึงผู้ขับขี่ พร้อมนำเสนอว่า AIS พร้อมในการเป็นผู้นำตลาดด้าน IoT Solution/Service Provider

คุณยงสิทธิ์ ยังทิ้งท้ายไว้ว่า

The only limitation is your imagination อันนี้ผมเติมเอง

Battery-Driven Future

หัวข้อนี้เป็นการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทเทคโนโลยีด้านพลังงานสัญชาติไทย (บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน) และวิสัยทัศน์ด้านพลังงานของคุณ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร

บริษัท Energy Absolute เริ่มต้นมาจาก ธุรกิจน้ำมันไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด
ตัวบริษัทเองยังได้มีการทำวิจัยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและเรือพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

ต่อมาได้มีการลงทุนกับบริษัทไต้หวันชื่อ Amita เพื่อต่อยอดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม โดย คุณ สมโภชน์ให้ความเห็นว่า

Battery is the Game Changer

เพราะแทบจะทุกอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ในยุคถัดไป ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ไปจนถึงเครื่องบิน ล้วนแต่ต้องการ แบตเตอรีที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งสิ้น

คุณสมโภชน์ ยังพูดถึง ecosystem ของการซื้อขายพลังงาน Gideon ที่ใช้เทคโนโลยี blockchain และ big data เพื่อเชื่อมโยงทุกอย่างเป็นวงจร โดยผู้ใช้สามารถซื้อพลังงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง โดยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล (regulator)

แบตเตอรีที่มีเทคโนโลยีความจุสูง อายุใช้งานยาวนาน ใช้ระยะเวลาชาร์จต่ำ รวมไปถึง ecosystem ในการ ซื้อ-ขาย ควบคุมกลไก ทางพลังงานต่างๆเหล่านี้เป็นเทรนด์ด้านพลังงานที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

Panel Discussion: Hybrid/On-Premise Cloud

หัวข้อนี้คุณวิริยะ โฆษะวิสุทธิ์ Executive Director จาก ExxonMobil มาเล่าถึงประสบการณ์ในการย้ายไปใช้ public cloud บางส่วนสำหรับ service ที่ต้องการ scalability หรือส่วนของ public information และแนวโน้มที่จะ setup service ใหม่ๆบน public cloud

ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่ว่า provider ของ public cloud แต่ละเจ้าก็มี policy ไม่เหมือนกัน การจะเลือกใช้ cloud provider ใดๆนั้นก็ต้องมีการศึกษา policy และเงื่อนไขในการให้บริการเป็นอย่างดี พร้อมทั้งฝากไว้ให้คิดว่า

ถ้าย้ายข้อมูล/service ไปอยู่บน cloud provider เจ้าหนึ่งแล้ว ไม่ happy จะทำอย่างไรต่อไป

และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถ migrate ทุกอย่างไปยัง public cloud ได้ก็คือ

sensitive data รวมถึง ความลับทางการค้าหลายๆอย่าง (ในกรณีของ Exxon Mobile ก็จะเป็นข้อมูลของแหล่งสำรวจน้ำมันต่างๆ) ที่เมื่อขึ้นไปอยู่บน public cloud แล้วมีโอกาสที่จะรั่วไหลได้ง่ายกว่า on-premiseหากไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ

Top facts you need to know about the Cyber Security Act and the PrivacyData Protection Act

หัวข้อนี้ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ Expert member of National Cybersecurity Preparation Committee เป็นตัวแทนจาก Microsoft Thailand มาให้ความรู้ในเรื่องกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้นั้นสร้างขึ้นด้วยมุมมองที่ต่างกัน วิธีการนำไปใช้ก็ต่างกัน แต่เพื่อจุดประสงค์เดียวกันนั่นก็คือการคุ้มครองข้อมูล

ในส่วนของ พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ จะเน้นที่ไปการคุ้มครองข้อมูลขององค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆโดยมีรากฐานเดียวกันกับที่ทางสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐฯ(NIST)ประกาศใช้
ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะเน้นไปที่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลัก ตัว พ.ร.บ. เองมีรากฐานมาจาก GDPR ของยุโรป (General Data Protection Refulation)
เรียกได้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองทั้ง 2 ฉบับนี้มีมาตรฐานระดับสูงแถมยังมีการเพิ่มโทษจำคุกเข้าไปอีก

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือตัว พ.ร.บ. เองให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมจากประชาชนก่อน

ดร.ภูมิทิ้งท้ายไว้ว่า ตัว พ.ร.บ. นั้นเป็นเพียงแค่รากฐานในการคุ้มครองข้อมูลเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงเรื่องสิทธิ์ในข้อมูลของตน รวมทั้งการมี community ที่เข้มแข็งที่จะคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิ์

Future of Banking Security

หัวข้อนี้ดำเนินรายการโดย คุณ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone มีแขกรับเชิญถึง 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่

  • ดร.ฉกรรจ์ พราหมณ์แก้ว Blockchain Architect, National Digital ID (NDID)
  • คุณพนิต เวชศิลป์ VP Mobile Development, Siam Commercial Bank
  • คุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธ์ SVP IT Strategy, Management & Governance Technology Group, Krungthai Bank Public Co.,Ltd.

มีการเกริ่นนำถึงภัยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตหลายๆกรณี เช่น กรณีการใช้บัตรประชาชนของผู้อื่นในการเปิดบัญชีธนาคารโดยการปลอมเป็นเจ้าของบัตรประชาชนนั้น, การทำ phishing หน้าเว็บธนาคารเพื่อหลอกล่อให้เหยื่อกรอก account และ password เป็นต้น
มีการเล่าถึงวิธีที่ทาง ธ.แห่งประเทศไทย (regulator) นำมาบังคับใช้ (กรณีเครื่อง android/iPhone ไม่ให้มีการ root/jailbreak ก่อนใช้งาน mobile banking app) เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน mobile banking

และดร.ฉกรรจ์ได้แนะนำให้รู้จัก NDID (National Digital ID) ว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกรรม หรือกิจกรรมที่ต้องใช้การยืนยันตัวตนในอนาคตได้อย่างไร

ก่อนจะพาไปรู้จัก NDID เรามาทำความรู้จัก เจ้า Digital ID กันก่อน

Digital ID คืออะไร

มันคือกระบวนการและขั้นตอนการยืนยันตัวตนด้วยช่องทางดิจิทัล ที่น่าจะรู้จักกันดีก็เช่น กระบวนการเก็บลายนิ้วมือ ไปจนถึง เทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Face recognitionเพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นบุคคลผู้นั้นจริงๆไม่ให้ใครมาสวมรอยได้

แนะนำบทความเพิ่มเติม เข้าใจ Digital ID ใน 5 นาที: กระบวนการยืนยันตัวตนดิจิทัลที่คนไทยได้ใช้แน่นอน

ขยับขึ้นมาเป็น scale ใหญ่ NDID

กลายมาเป็น infrastructure ในระดับชาติที่มีขึ้นเพื่อรองรับธุรกรรมรูปแบบดิจิทัลที่ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ

NDID มี 3 วัตถุประสงค์หลักๆก็คือ
1. สร้างมาตรฐานการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนของประเทศไทย และยกระดับการทำธุรกรรมต่างๆให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
2. eKYC — สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านช่องทาง Online Self Service ได้
3. สร้างระบบ Data Sharing โดยเป็นเพียงถนนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ (ไม่มีการรวมศูนย์เก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลทำด้วยเทคโนโลยีบลอคเชนซึ่งมีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือสูง) และการ Share ต้องได้รับการ Consent จากเจ้าของข้อมูลก่อน

ความเป็นไปได้ในอนาคตจากการนำ NDID มาใช้งานในการทำธุรกรรมต่างๆ
- การเปิดบัญชีธนาคารไม่ต้องเดินทางไปทำด้วยตัวเองที่สาขา ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มข้อมูลไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป เพียงยืนยันตัวตนด้วย Authenticator กับ หน่วยงานที่เคยทำ KYC ของบุคคลนั้นมาแล้ว
- การแสดงความยินยอมใน เอกสารอิเลคทรอนิค (e-contract) ด้วย e-consent
- การใช้งาน e-signature ใน เอกสารสัญญาอิเลคโทรนิค

NDID จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมประเภทสินเชื่อระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer Lending) และธุรกรรมด้านอื่นๆอีกมากมาย

NDID ในขณะนี้อยู่ในขั้น production ready แล้ว และมีสถาบันการเงินหลายแห่งเข้าร่วมด้วย ซึ่งกำลังเตรียมเปิดให้บริการกับลูกค้าในวงจำกัดในอนาคตอันใกล้นี้

ก็หวังว่าจะสามารถจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบในอีกไม่นานเกินรอ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่บางส่วนจากงาน Blognone Tomorrow 2019 ภายในงานยังมี session อื่นๆ รวมถึงบูทที่มีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มาจัดแสดงให้ความรู้ที่น่าสนใจอีกมากมาย ก่อนจะจบบทความนี้ไปก็ขอขอบคุณ บริษัท Refinitiv ที่ได้มอบโอกาสในการเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ด้วยครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ

--

--