6 เทรนด์ ที่จะช่วยให้องค์กรของคุณ เปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม และก้าวทันโลกในปี 2021

การพัฒนานวัตกรรม และ การทำ Transformation เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรให้ความสนใจและเริ่มลงมือทำ

แต่สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวทางการสร้างความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปตลอดเวลา

และนี่คือเทรนด์และแนวทางปฎิบัติ สำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างนวัตกรรมและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อองค์กร สำหรับปี 2021 นี้

ดาวน์โหลดรีพอร์ตฉบับเต็ม พร้อมแนวทางปฏิบัติ ได้ที่ bit.ly/CorporateInnovationTrends2021

Trend #1: Resilient and Springboard Leaders

ฟื้นตัวและนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด ผ่านผู้นำองค์กร

“สิ่งที่ผู้นำจะต้องคิดไปให้ไกลกว่านั้น คือ หลังจากที่เราฟื้นตัวกลับมาแล้ว ต้องไม่ใช่เพียงแค่ล้มแล้วลุก แต่จะสามารถพุ่งตัวก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร”

ปี 2020 ที่ผ่านมา เราอาจจะเคยได้ยินคำที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย ในช่วง COVID-19 คือคำว่า “Resilience” หรือแปลตรงตัวว่า ความยืดหยุ่น ซึ่งถูกเอามาใช้ในความหมายของการปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หรือก็คือการ ล้มและลุกได้อย่างรวดเร็ว โดยสำหรับองค์กรแล้ว หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือการที่ ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร ควรมี mindset ของ Resilience หรือที่รู้จักกันในนาม “Resilient Leaders” หรือก็คือผู้นำที่สามารถพาองค์กรฟื้นตัวจากวิกฤตได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ผู้นำองค์กรเริ่มนำมาปรับใช้ในปีที่ผ่านมา

และในปี 2021 นี้ ขณะที่วิกฤตการณ์ COVID-19 เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง การเป็นผู้นำที่ฟื้นตัวได้ในวิกฤตอย่างเดียวอาจยังไม่พอ เพราะนอกจากการมีวิสัยทัศน์ว่า เราจะฟื้นในวิกฤตกลับมาได้ยังไงแล้ว สิ่งที่ผู้นำจะต้องคิดไปให้ไกลกว่านั้น คือ หลังจากที่เราฟื้นตัวกลับมาแล้ว ต้องไม่ใช่เพียงแค่ล้มแล้วลุก แต่จะสามารถพุ่งตัวก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ในช่วงระหว่างและหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป เพื่อให้องค์กรไม่เพียงสามารถเอาตัวรอดได้ แต่สามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แม้จะเกิดวิกฤตที่ไม่คาดคิดขึ้นมาอีก ซึ่ง RISE ได้เรียกผู้นำที่มีแนวคิดแบบนี้ว่า “Resilient and Springboard leaders”

Trend #2: Everyone Own Their Owned Change: Not Only Change Agents But Everybody Can Change Their Own Game

ไม่ใช่แค่ “Change Agents” แต่ “ทุกคน” คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงองค์กร

“หากเราสามารถสร้างหรือปลูกฝัง mindset ให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจถึงบทบาทของตัวเองที่มีต่อองค์กรมากขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงในบทบาทของตัวเอง คนเหล่านี้ก็สามารถมีบทบาทในฐานะ Change Agents ได้”

ที่ผ่านมา การสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เรามักมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกลุ่มคนที่เรียกว่า “Change Agents” ซึ่งอาจได้รับการคัดเลือกจากความเป็นผู้นำ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นหลัก

แต่ในอนาคต หากองค์กรต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองให้ คล่องตัว และ Lean ขึ้น บางครั้งการมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงบางส่วน หรือไม่รวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น

รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยทั่วไป องค์กรมักปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ แผนกวิจัยและพัฒนา (Research & Development) หรือแผนกพัฒนานวัตกรรม (Innovation team) แต่ในความเป็นจริงแล้ว นวัตกรรม สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกคน ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อยู่ที่ 2 แผนกดังกล่าวเท่านั้น แต่องค์กรสามารถกระจายและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้จากทุกคน ทุกหน่วยงาน โดยไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง (Decentralized Innovation Unit) ซึ่งอาจนำไปสู่แนวคิดหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในการบริหารแบบรวมศูนย์อย่างที่ผ่านมา

Trend #3: Outcome-focused: To Build the Tangible, Actionable, and Measurable Innovation

แค่ไอเดียอย่างเดียวไม่พอ ถึงเวลาของการพัฒนา นวัตกรรม “ให้เกิดขึ้นจริง” “ใช้งานได้จริง”และ “วัดผลได้จริง”

“หากองค์กรต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การเริ่มพัฒนานวัตกรรมองค์กร ให้เกิดขึ้นจริง (Tangible), ดำเนินการและใช้งานได้จริง (Actionable), และวัดผลได้จริง (Measurable) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กร”

อ้างอิงจากโมเดลวัดระดับนวัตกรรมองค์กร หรือ Corporate Innovation Maturity Model™ ที่ RISE ได้ทำการวัดระดับองค์กรมามากกว่า 400 องค์กร ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า จากระดับนวัตกรรมองค์กร 5 ระดับ กว่า 79% ขององค์กร ยังคงอยู่ในระดับที่ 2 และ 3 หรือก็คือ เป็นระดับที่เริ่มมีการวางแผนว่าจะเปลี่ยนแปลงองค์กร รวมถึงมีการพัฒนา mindset และ skillset ของบุคลากรไปบ้างแล้ว

แต่สิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึง และต้องทำเป็นลำดับถัดไป หลังจากสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการพัฒนาบุคลากรที่มีแนวคิดและทักษะในการพัฒนานวัตกรรมองค์กรแล้ว คือ การพัฒนาไอเดีย ให้เกิดขึ้นเป็น นวัตกรรม ได้จริง

ในปี 2021 นี้ หากองค์กรต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การเริ่มพัฒนานวัตกรรมองค์กร ให้เกิดขึ้นจริง (Tangible), ดำเนินการและใช้งานได้จริง (Actionable), และวัดผลได้จริง (Measurable) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กร โดยอาจเป็นได้ทั้งการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเป็นหนทางสร้างรายได้ใหม่ๆในองค์กร, เพื่อลดค่าใช้จ่าย, รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร

Trend #4: Cross-industry Innovation: Collaboration and Partnership Across Industries

ข้ามขีดจำกัดนวัตกรรม ด้วยความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม

“ความร่วมมือระหว่างองค์กร หรือข้ามอุตสาหกรรม (Cross-Industry Collaboration) อาจทำให้เกิดนวัตกรรมหรือโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง”

การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นนั้น มีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย และไม่อาจสำเร็จได้ง่ายๆด้วยตัวคนเพียงคนเดียว โดยทั่วไปแล้ว นอกจากการสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแผนก Research & Development หรือ แผนกที่ดูแลเรื่องนวัตกรรมโดยตรงแล้ว นวัตกรรมในองค์กรมักเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างแผนกหรือหน่วยงาน (Cross-functional Collaboration) เพราะว่าการมีบุคลากรหรือทักษะที่หลากหลาย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น ดีกว่าการที่ภายในองค์กรไม่ร่วมมือกันสร้างสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า

จากผลสำรวจของ Accenture ผู้บริหารกว่า 75% ยอมรับว่า หน่วยงานต่างๆมีการแข่งขันกัน แทนที่จะร่วมมือกัน ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งอาจทำให้องค์กรไม่ได้รับผลกระทบในแง่บวกเท่าที่ควร และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการสร้างนวัตกรรม

ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การร่วมมือกันระหว่างแผนกภายในองค์กรเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ในทางเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างองค์กร หรือข้ามอุตสาหกรรม (Cross-Industry Collaboration) อาจทำให้เกิดนวัตกรรมหรือโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง เพราะแต่ละองค์กรนั้นมีความเชี่ยวชาญและความถนัด ความรู้ในอุตสาหรรม มุมมองธุรกิจ หรือเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

Trend #5: Overcome the Disruption with Exponential and Deep Technology

ก้าวข้ามการถูก disrupt ด้วยนวัตกรรมองค์กรจากเทคโนโลยีขั้นสูง

“จากสตาร์ทอัพที่เป็นเสมือน Disruptor ที่เข้ามาทำให้องค์กรใหญ่ ๆ ต้องหวั่นกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี กลายเป็นความสัมพันธ์แบบ Collaboration หรือการร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับองค์กรให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่ต้องสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในตลาดด้วยตนเอง พร้อมได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

Deep Technology หรือ เทคโนโลยีขั้นสูง ที่อาศัยการวิจัยค้นคว้าเชิงลึกในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยากต่อการทำซ้ำหรือลอกเลียนแบบ ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างอิมแพคที่ขับเคลื่อนหลายอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดไปด้วย

การลงทุนของในเทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพ เพราะการร่วมลงทุน ร่วมสร้างนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ทางฝั่งสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุน เคสปัญหาจริง รวมถึงข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม และลูกค้า เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนโลกต่อไปได้ ส่วนทางฝั่งองค์กรใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งภายในองค์กรเอง หรืออุตสาหกรรมในภาพใหญ่ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับองค์กรให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่ต้องสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในตลาดด้วยตนเอง

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นบทบาทเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีต่อการพัฒนานวัตกรรมองค์กรอย่างแพร่หลายมากขึ้น ที่เกิดจากการร่วมมือ หรือร่วมลงทุน ระหว่างองค์กรใหญ่และสตาร์ทอัพที่มีความสัมพันธ์แบบ Collaboration มากกว่า Disruption ซึ่งหากนวัตกรรมขั้นสูงเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นโซลูชันในอุตสาหกรรมได้จริงในวงกว้างมากขึ้น อาจจะทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมาอีกนับไม่ถ้วนก็เป็นได้

Trend #6: Automation for Innovation

ขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กร ด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ

“ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ และเปิดโอกาสให้คนในองค์กร นำเวลาที่ได้กลับมา ไปทำในสิ่งอื่นที่จำเป็นและมีความหมาย หรือแม้แต่การใช้เวลาเหล่านั้น ในการพัฒนานวัตกรรมองค์กรให้เกิดขึ้น”

มีงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง Adobe และ Forrester พบว่า 82% ของผู้นำองค์กร เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ และผลลัพธ์ทางธุรกิจ มีความเชื่อมโยงกัน

คำถามที่ตามมาคือ เพราะอะไร องค์กรจำนวนมากถึงไม่สามารถดึงคุณสมบัติเหล่านี้จากบุคลากรที่มีได้

เหตุผลหนึ่งคือลักษณะงานหลายประเภท บังคับให้เราต้องจดจ่อกับมันตลอดเวลา แม้จะใช้ทักษะไม่มาก และเป็นไปในลักษณะทำซ้ำ

แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำงานเหล่านั้นแทน เท่ากับเปิดโอกาสให้คนในองค์กร นำเวลาที่ได้กลับมา ไปทำในสิ่งอื่นที่จำเป็น มีความหมาย สร้างสรรค์กว่า หรือแม้แต่การใช้เวลาเหล่านั้น ในการพัฒนานวัตกรรมองค์กรให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ อย่างการที่องค์กรระดับโลกอย่าง Netflix ให้พนักงานเลิกทำสิ่งที่ไม่จำเป็น เพื่อให้พนักงานซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ากับองค์กร ไปทำสิ่งที่เค้าถนัด และ impact กับองค์กรจริงๆ

สรุป Corporate Innovation & Transformation Trends 2021

6 เทรนด์ ที่จะช่วยให้องค์กรของคุณ เปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม และก้าวทันโลกในปี 2021

Trend #1: Resilient and Springboard Leaders

ฟื้นตัวและนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด ผ่านผู้นำองค์กร

Trend #2: Everyone Own Their Owned Change: Not Only Change Agents But Everybody Can Change Their Own Game

ไม่ใช่แค่ “Change Agents” แต่ “ทุกคน” คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงองค์กร

Trend #3: Outcome-focused: To Build the Tangible, Actionable, and Measurable Innovation

แค่ไอเดียอย่างเดียวไม่พอ ถึงเวลาของการพัฒนา นวัตกรรม “ให้เกิดขึ้นจริง” “ใช้งานได้จริง”และ “วัดผลได้จริง”

Trend #4: Cross-industry Innovation: Collaboration and Partnership Across Industries

ข้ามขีดจำกัดนวัตกรรม ด้วยความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม

Trend #5: Overcome the Disruption with Exponential and Deep Technology

ก้าวข้ามการถูก disrupt ด้วยนวัตกรรมองค์กรจากเทคโนโลยีขั้นสูง

Trend #6: Automation for Innovation

ขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กร ด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ

ดาวน์โหลดรีพอร์ตฉบับเต็ม พร้อมแนวทางปฏิบัติ ได้ที่ bit.ly/CorporateInnovationTrends2021

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมองค์กรได้ที่

Email: hello@riseaccel.com

Originally published at https://www.riseaccel.com on March 17, 2021.

--

--

RISE Corporate Innovation Powerhouse
RISE Corporate Innovation Powerhouse

RISE is a leading corporate innovation powerhouse with a mission to drive 1% of South Ease Asia’s GDP.