ทำไม Blockchain ถึงช่วยแก้ปัญหารีวิวปลอม และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการรีวิวออนไลน์

RyoiiCoin Team
RyoiiCoin
Published in
2 min readOct 5, 2021

ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการอะไรสักหนึ่งอย่าง เรามักจะไปสืบหาข้อมูล และการรีวิวจากโลก “อินเทอร์เน็ต” โดยการรีวิวสินค้าในปัจจุบันก็แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. การรีวิวบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ที่มีผู้ใช้ร่วมแชร์ความเห็น พร้อมกับให้คะแนนกับสินค้า และบริการ
  2. การรีวิวบนแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ระบบโหวตให้คะแนนร้านค้า ผู้ขาย รวมถึงผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี ระบบการโหวตให้คะแนนสินค้า ร้านค้า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “การให้ดาว” ยังคงมีช่องโหว่ เพราะขาดระบบการตรวจสอบที่แข็งแกร่ง อีกทั้งกลไกของระบบ Social Credit หรือระบบคะแนนเครดิต ก็เอื้อให้ผู้ขายสามารถทำข้อมูลรีวิวหลอก เพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อของผู้บริโภคได้ง่าย

แพลตฟอร์ม e-commerce ชื่อดังอย่าง Amazon ที่เคยระบุเอาไว้ว่า 99% ของการรีวิวบนเว็บไซต์มีความถูกต้อง สามารถเชื่อถือได้ เพราะรีวิวถูกเขียนโดยผู้ที่ซื้อจริง แต่สื่อต่างประเทศอย่าง The Washington Post กลับค้นพบว่าผลิตภัณฑ์บางกลุ่มอย่าง มีการรีวิวที่ขัดกับกฏของ Amazon ที่ห้ามการรีวิวแบบจ่ายเงิน หรือจ้างรีวิว โดยรีวิวเหล่านี้มักจะมีใช้คำซ้ำ ๆ หรือรีวิวไปในทำนองเดียวกันเหมือนกันผู้ใช้รายอื่น ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “รีวิวปลอม” ก็ว่าได้

รีวิวปลอม เป็นอีกหนึ่งปัญหาของการซื้อขาย และการใช้บริการบนโลกออนไลน์ โดย The Washington Post เปิดเผยให้ทราบเพิ่มเติมว่า ผู้ขายในแพลตฟอร์ม Amazon มีการตามหาผู้ซื้อบนกลุ่ม Facebook เพื่อให้พวกเขากลับไปรีวิวสินค้าที่ซื้อมาจากร้านตัวเองโดยแลกกับเงิน หรือผลตอบแทน ซึ่งเมื่อรีวิวเป็นไปในทิศทางที่ดี ระบบก็จะดันอันดับของร้านค้าให้สูงขึ้น หรือในบางครั้งก็มีการจ้างรีวิวถล่มคู่แข่งเพื่อให้อันดับตกลงไป ซึ่งส่งผลให้สุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคอาจตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีรีวิว (ปลอม) มากที่สุด เพราะสินค้าที่มีการรีวิวสูงมักจะขึ้นมาอยู่ในลำดับแรก ๆ

ปัญหาของรีวิวปลอมในปัจจุบัน เกิดมาจากตัวแพลตฟอร์มที่ให้คะแนน Social Credit กับผู้ขาย ยิ่งผู้ขายมีรีวิวเยอะ ดาวเยอะ ยอดขายสูง ระบบจะดันให้ร้านค้าไปอยู่ในหน้าแรก ๆ โดยจากการสำรวจพบว่า ร้านค้าที่อยู่ 10 อันดับแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้สูงขึ้น

ปัญหานี้แม้ว่าทางแพลตฟอร์มจะพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ก็ยังคงมีรีวิวปลอมให้พบเจออยู่ เพราะได้รับประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย โดยเจ้าของร้านก็ขายสินค้าได้เยอะขึ้น ส่วนเจ้าของแพลตฟอร์มก็ได้เงินจากการหัก % ของยอดขายที่ร้านค้าทำได้ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้ร้านค้าที่ขายสินค้าดีมีคุณภาพไม่ต่างกับร้านที่ได้รับความิยม แต่ไม่ได้จ่ายเงินโปรโมท หรือไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างรีวิว ค่อย ๆ หายไปจากระบบ

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจ ที่สามารถขจัดปัญหาการรีวิวปลอม และทำให้การรีวิวสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมามีความน่าเชื่อถืออีกครั้ง นั่นก็ตือ ระบบ Decentralized Reputation System หรือระบบการให้คะแนนโดยไม่มีตัวกลาง โดยอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain

ทำไมระบบการรีวิวแบบ Decentralized ถึงน่าเชื่อถือกว่า ?

จุดเด่นของ Blockchain คือ ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้เพราะข้อมูลทุกอย่างถูกจัดเก็บไว้ใน Block ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูได้ รวมทั้งยังมี Smart Contract หรือชุดคำสั่งเป็นตัวควบคุมการทำงานของชุดข้อมูลบน Blockchain นอกจากนี้ ในโลก Blockchain ยังมีเทคโนโลยี Proof-of Individuality หรือระบบยืนยันตัวตนของผู้ใช้แต่ละท่าน ซึ่งระบบทั้งหมดนี้จะช่วยป้องกันปัญหาการปั้มรีวิว รวมถึงปัญหารีวิวปลอมได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนสามารถตรวจสอบได้นั่นเอง

หนึ่งในตัวอย่างของโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจคือ DREP Foundation ที่ต้องการแก้ไขปัญหาของโลก e-commerce ด้วยระบบที่สามารถตรวจสอบผู้ใช้จริง เพื่อขจัดบอท หรือแอคเคานท์ปลอมออกไปแพลตฟอร์ม ไปจนถึงระบบให้เหรียญแก่ผู้ใช้บนแพลตฟอร์มโดยวิเคราะห์จากปัจจะยหลาย ๆ อย่างเช่น คุณภาพของสินค้า หรือบริการ อัตราการตอบสนองกลับ หรือบริการหลังการขาย เป็นต้น

Decentralized Reputation System ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอนาคตของการรีวิวบนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์เท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงระบบคอนเทนต์ในยุคปัจจุบัน ที่มีการจ้างเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพื่อให้เขียนคอนเทนต์ตามที่ต้องการ ซึ่งการเข้ามาของระบบรีวิวแบบไร้ตัวกลางจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะรีวิวจริง และรีวิวปลอมได้ง่าย ส่งผลให้สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือ เจ้าของ และลูกค้า เพราะเจ้าของก็จะได้รับการรีวิวที่เป็นจริงจากลูกค้า เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สินค้า และบริการของตนเองดีหรือไม่ หรือต้องปรับปรุงในจุดใด ส่วนลูกค้าก็จะได้อ่านรีวิวที่มีความน่าเชื่อถือ และได้มีโอกาสซื้อสินค้าที่ดีที่สุดซึ่งเกิดมาจากการรีวิวจริงของลูกค้าคนอื่น ๆ นั่นเอง

ที่มา : Forbes, The Washington Post

--

--