ทำไม NFT ถึงอาจเปลี่ยนวงการอาหาร ?

RyoiiCoin Team
RyoiiCoin
Published in
3 min readSep 21, 2021

“ทำไมบาร์บีคิว Brooklyn ถึงครองโลก?” โพสต์ใน Twitter ที่มีภาพอาหารจานหนึ่งประกอบไปด้วย เนื้อเสือร้องไห้สไลด์เป็นชิ้น ๆ วางคู่กับผักดอง ขนมปัง และเบียร์หนึ่งแก้ว ที่ถูกถ่ายโดย Nicholas Gill แม้จะดูเป็นภาพอาหารธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่ใครจะเชื่อว่าภาพนี้ได้ถูกแปลงเป็น NFT พร้อมกับเปิดประมูลขายในโลกดิจิทัลด้วยราคาสูงถึง 5 ETH หรือประมาณ 400,000 บาท

สาเหตุที่ภาพของ Nicholas Gill มีมูลค่าสูงก็เนื่องมาจากภาพนี้เคยกลายเป็นมีมที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วอินเทอร์เน็ต และเมื่อมีมนี้ถูกแชร์ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ Gill ตัดสินใจลงขายภาพนี้แบบ NFT เหมือนกับที่ศิลปินรายอื่น ๆ ทำกัน ซึ่งทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน ตลาด NFT ก็ยังคงมีผู้ที่สนใจในผลงานศิลปะทุกแขนงอยู่เสมอ

NFT หรือ Non-Fungible Token กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกยุค Digtial Age ด้วยคอนเซ็ปท์ของเหรียญโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ละโทนเคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากเหรียญคริปโตแบบอื่น ๆ อย่าง Bitcoin นอกจากนี้ NFT ยังมีความปลอดภัยสูง สามารถตรวจสอบได้ เพราะระบบรันอยู่บน Blockchain เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบัน

ด้วยเอกลักษณ์ของ NFT ที่แต่ละโทเคนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถนำโทเคนอื่นมาทดแทนได้ ทำให้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับการซื้อขายผลงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ, เพลง, ภาพถ่าย, ภาพวาด, คลิปวิดีโอสั้น การซื้อขายทั้งหมดจะเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้การครอบครองผลงานต่าง ๆ ของเราก็จะอยู่บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน

แต่ใช่ว่า NFT จะอยู่คู่กับวงการศิลปะเท่านั้น เพราะในอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉพาะวงการอาหาร หลายต่อหลายแบรนด์ก็หันมาใช้ประโยชน์จาก NFT ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Pizza Hut ที่ขายพิซซ่า NFT ให้ผู้บริโภคในชื่อเมนู 1 Byte Favourites วางขายในราคา 0.0001 ETH หรือชิ้นละประมาณ 10 บาท หรือจะเป็น Pringles แบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบชื่อดังที่ทำการวางขาย CryptoCrisp มันฝรั่งทอดกรอบรสชาติใหม่ในรูปแบบดิจิทัล ที่การซื้อขายจะต้องใช้สกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น

นอกจากรายใหญ่แล้ว ร้านอาหารรายย่อยก็สามารถประยุกต์ใช้ NFT ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน Garrido’s Bistro ก็เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารรายย่อยที่บุกตลาด NFT พร้อมกับประกาศตัวเองว่าเป็นผู้สร้าง NFT ในรูปแบบอาหารเจ้าแรกของโลก โดยพวกเขาได้ทำเมนูมิลค์เชคซิกเนเจอร์ของร้านอย่าง Strawberry Supreme และทำการถ่ายภาพมิลค์เชคแก้วดังกล่าวบนความละเอียดสูงเกือบ 300 ใบก่อนที่แก้วจะละลาย จากนั้นก็นำตกแต่งรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มิลค์เชคสุดพิเศษแก้วนี้จะอยู่คู่กับโลก Blockchain และไม่มีวันละลายเหมือนกับมิลค์เชคของจริง

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Logan Guleff เด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่นำ NFT มาใช้สร้างอาหารแบบ Virtual Dining ให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ร้านอาหารในโลกเวอร์ชวล เมนูอาหารจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 คอร์ส ประกอบไปด้วย ไอศรีมเลม่อนหมักน้ำส้มสายชู เสิร์ฟคู่กับแรดิชสีส้ม พร้อมพริกโปพลาโน และขิงดอง, หอยนางรมย่างจากเกาะเม็กซิโก เสิร์ฟคู่กับข้าวโพดอบเนย และไหมข้าวโพด พร้อมแซลมอนเซียร์ เสิร์ฟคู่กับยี่หร่าฝรั่ง และลูกแพร รวมถึงซอสครีมฮอสแรดิช โดยเมนู Dining สุดพิเศษจากเชฟรายนี้สามารถประมูลได้บน Rarible ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลจะได้รับชมวิดีโอของเมนูสุดพิเศษเหล่านี้อย่างเต็มอารมณ์

Guleff มองว่า Virtual Dining เป็นหนึ่งในการปฏิวัติวงการอาหาร รวมถึงการทำอาหารของโลกยุคใหม่ แม้ว่าการขาย Virtual Dining จะดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเพ้อฝันสำหรับใครหลายต่อหลายคน แต่ Bianca Pattoli ผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล กลับเห็นด้วยกับเด็กหนุ่มรายนี้ โดยมองว่าในยุคหลัง COVID-19 ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้จะถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านโลกดิจิทัล โดย NFT ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนสร้าง และซื้อขายผลงานในรูปแบบดิจิทัลกันมากขึ้น

Pattoli ให้ข้อมูลเสริมที่น่าสนใจว่า ในตอนนี้ศิลปิน และเชฟมืออาชีพกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักหน่วง คนฟังเพลงมากขึ้นแต่ศิลปินกลับได้เงินน้อยลง คนทำอาหารในบ้านโดยใช้สูตรจากเชฟกันประจำวัน แต่เชฟผู้สร้างสูตรอาหารกลับไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา

NFT จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่วงการอาหารกำลังพบเจออยู่ในตอนนี้ เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่อยู่ในธุรกิจอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น เชฟ และร้านอาหาร อาจขายสูตรอาหารสุดพิเศษในรูปแบบ NFT เพื่อทำกำไรจากการซื้อขาย หรือเชฟชื่อดังอาจทำอาหารเมนูพิเศษในรูปแบบวิดีโอเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถซื้อ และนำไปทำต่อได้ง่าย ซึ่งเชฟก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่สูตรอาหารของเราถูกนำไปขายต่ออีกด้วย

Merav Ozair นักศึกษากลุ่มสาขา Fintech จาก Rutgers Business School มองว่า เราสามารถสร้างรายได้เสริมแบบต่อเนื่องจากการขายผลงานดิจิทัล ตราบใดที่ผู้คนยอมจ่ายเพื่อครอบครองคอนเทนต์ในโลกดิจิทัล โดยเขายกตัวอย่างว่า แทนที่เชฟจะโพสต์สูตรอาหารลงบน YouTube หรือ Instagram ก็ให้เปลี่ยนเป็น NFT เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการขายผลงาน รวมถึงรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่เกิดจากผู้ซื้อนำผลงานไปขายต่อ ซึ่งเป็นข้อดีของ NFT ที่ช่วยปกป้องลิขสิทธิ์ และประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยที่เจ้าของผลงานไม่ต้องทำอะไรมาก

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ NFT และวงการอาหารก็คือ NFT Collectible Recipe Card หรือระบบสูตรอาหารแบบ NFT ของ Dolphin Digital Studios ที่ร่วมมือกับเชฟชื่อดังอย่าง Nina Compton, Marc Forgione และ Ludo Lefebvre โดยเชฟแต่ละท่านจะทำการสร้างสูตรอาหารสุดเอ็กซ์คลูซีฟ และทำการสร้างสรรค์เมนูเหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลอาร์ต โดยจะมอบเมนูอาหารเหล่านี้ให้เฉพาะผู้ที่ซื้อ NFT เท่านั้น

Ozair เชื่อว่า โปรเจ็กต์ของ NFT และอาหาร น่าจะผุดขึ้นให้เห็นกันอีกเรื่อย ๆ โดยนอกจาก NFT แล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มนั่นก็คือ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) ที่จะทำให้การใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงมีความผูกพันธ์กับโลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในวันนั้น การกินอาหารระดับมิชชิลินสตาร์ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงร้าน หรือ Virtual Dining ที่เด็กหนุ่มวัย 18 ปีอย่าง Guleff ได้คิดค้นขึ้น จะไม่ใช่แค่การซื้อคอร์สอาหารแบบ NFT อย่างเดียว แต่ยังสามารถรับชมเมนูอาหารแบบเสมือนจริงราวกับอยู่ในร้านอาหารผ่านสายตาของเราได้อีกด้วย

ที่มา : finedininglovers

--

--