ไหนใครกำลังมองหาแพคเกจตรวจสุขภาพอยู่บ้าง เชิญทางนี้ก่อน…เลือกแพคเกจตรวจสุขภาพอย่างไรให้ตรงกับตัวเรา?

ซาร่าพาหาหมอ
sara.pahamor
Published in
3 min readDec 13, 2016

ใกล้สิ้นปี และกำลังจะเข้าปีใหม่ หลายๆคน คงกำลังมองหาแพคเกจตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจเชคสุขภาพประจำปีกันอยู่ แต่…ช้าก่อนค่ะ วันนี้ซาร่ามี “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองสุขภาพ” จาก โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ มาฝากค่ะ

ยาวหน่อย แต่ซาร่าอยากให้ทุกคนได้ลองอ่านข้อมูลในส่วนนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกแพคเกจตรวขสุขภาพค่ะ

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักโครงการนี้คร่าวๆกันก่อนค่ะ

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ขอเรียกสั้นๆว่า HITAP ย่อมาจา Health Intervention and Technology Assessment Program เป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ “โครงการเช็คระยะสุขภาพ: ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” หรือชื่อเป็นทางการว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย โดยนอกจากจะให้ข้อมูลด้านนโยบายกับระบบประกันสุขภาพแล้ว ยังต้องการจะบอกกับคนไทยด้วยว่า

“อย่าตรวจสุขภาพแบบ “เหวี่ยงแห” เหมือนที่เคยๆทำกันมาอีกเลย”

อ้าว! งงเลย อะไรที่เรียกว่าการตรวจสุขภาพแบบเหวี่ยงแห?

ทางผู้จัดทำเค้าพยายามจะบอกว่า การตรวจสุขภาพ แบบตรวจโดยไม่มีเป้าหมาย อย่างเช่น แพคเกจตรวจสุขภาพทั่วไปตามโรงพยาบาลทั่วไป บางรายการ ไมได้มีความจำเป็นต้องตรวจเลย ถ้าเราไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรค บางรายการก็ไม่ได้จำเป็นต้องตรวจทุกปี เช่น การวัดระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือด ยกเว้นคนที่มีผลการตรวจที่ต้องคอยเฝ้าระวัง หรือว่าเกินระดับปกติมาแล้ว อันนี้อาจต้องตรวจทุกปี แล้วก็อีกหลายรายการ ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีประโยชน์ ค่าใช้จ่ายก็สูงอีกต่างหาก เช่น การเอ๊กซเรย์ปอด ที่เห็นมีกันทุกแพคเกจ การตรวจตับ และไต หรือการตรวจหาโรคหืด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ผลจากการตรวจคัดกรอง เชื่อถือได้ 100% หรือไม่?

ปกติแล้วการตรวจคัดกรองทุกประเภท ไม่สามารถให้ผลที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ได้
โดยผลที่ได้ออกมาจะมี 2 แบบคือ บวกและลบ
• บวก คือ ผลการตรวจแสดงว่าผิดปกติหรือเป็นโรค และ
• ลบ คือผลการตรวจแสดงว่าไม่ผิดปกติหรือไม่เป็นโรค

แต่ในผลบวกและลบนี้ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปถึง 6 แบบ คือ
1. บวกลวง — คนที่ไม่มีความผิดปกติ หรือไม่มีโรค แต่กลับได้รับผลบวก
2. ลบลวง — คนที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรค แต่กลับได้ผลลบ ได้รับผลลบ
3. บวกจริง –มีความผิดปกติและจะเป็นโรคในอนาคต ได้รับผลบวก
4. ลบจริง — ไม่มีความผิดปกติและจะไม่เป็นโรค ได้รับผลลบ
5. บวกจริงแต่… — มีความผิดปกติจริงและ ได้รับผลบวก แต่จะไม่เป็นโรคในอนาคต
6. ลบจริงแต่… –ผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองมีความผิดปกติ ผลตรวจออกมาเป็นลบ แต่จะไม่เป็นโรคในอนาคต

ยกตัวอย่างผลกระทบของคนที่ได้ผลบวกลวงหรือผลลบลวง

“ถ้าคนที่ไม่มีโรคแต่การคัดกรองกลับให้ผลบวก จริงๆ อาจเป็นผลบวกลวง เขาอาจถูกส่งต่อไปวินิจฉัยเพิ่มเติมซึ่งเป็นการตรวจที่เสี่ยงอันตรายกว่าเดิม เช่น การตรวจหาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการตรวจ PSA และตัวสาร PSA ไม่ได้มีความแม่นยำต่อการตรวจโรค บางทีค่า PSA บอกว่าน่าจะเป็นโรค แล้วคนนั้นต้องมาวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการผ่าตัดชิ้นเนื้อ ส่องกล้องเข้าไปตรวจอวัยวะภายใน หรือผ่าตัดเข้าไปดู จะทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
หรือกรณีที่ร่างกายปกติแล้วไปเอ็กซเรย์ปอดเพื่อตรวจหาวัณโรค มันไม่ได้มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ แถมยังเป็นโทษเพราะร่างกายได้รับรังสีมากเกินไป”

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น ว่ามีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคชนิดใดหรือไม่ เพื่อหาแนวทางป้องกัน และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ถึงโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต่างจากการตรวจวินิจฉัย คือ หลังจากตรวจคัดกรอง พบว่ามีสิ่งปกติ ก็ต้องมาตรวจวินิจฉัยต่อ ว่าสิ่งผลปกตินั้น เป็นโรคอะไร มีความรุนแรงมากหรือน้อยแค่ไหน บางคนไปตรวจแล้วผลที่ได้บอกว่ามีความผิดปกติ ก็ อย่าพึ่งกังวลใจว่าจะเป็นโรค เพราะจากที่ซาร่ากล่าวไปแล้วว่า ผลการตรวจไมได้แม่นยำ 100% คุณอาจจะไม่ได้เป็นโรคอะไรเลยก็ได้ ในขณะเดียวกัน คนที่ตรวจออกมาแล้วผลเป็นปกติ ก็อย่าเพิ่งดีใจว่าเราไมได้เป็นอะไรนะคะ ยังคงต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปีตรวจเท่าที่จำเป็นก็พอ

แล้วควรเลือกตรวจอย่างไรบ้าง
จากชื่อโครงการ “เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย”
ขออธิบายเริ่มจาก “ตรวจดีได้” ก่อนค่ะ

ตรวจดีได้
สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร หรือไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง HITAP เค้าแนะนำรายการตรวจแบบมินิมอล มาให้ดังนี้ค่ะ

อ๊ะๆ แต่อย่าเพิ่งหลงคิดว่าเราอยู่ในเกณฑ์คนปกติทั่วไป ลองดูตามตารางด้านล่างนี้ก่อนค่ะ ว่าเราเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคเหล่านี้หรือไม่ แล้วถ้าเป็น ต้องไปตรวจคัดกรองยังไงบ้าง

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆที่ HITAP ได้แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน ได้แก่

ยังค่ะ ยังไม่หมด ยังมีอีก 3 รายการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆแล้ว อาจเป็นสาเหตุหลักของโรคต่างๆ หรืออุบัติเหตุร้ายแรงตามมา ได้แก่

ภาวะทุพโภชนาการ ตรวจเบื้องต้นว่าเรา อ้วนไปมั้ย ผอมเกินไปมั้ย?

อุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ และสายตาผิดปกติ

ปัญหาการดื่มสุรา เราเข้าข่ายเป็นโรคติดสุรารึเปล่า

สรุป ตรวจดีได้ 11 รายการ

2. ตรวจร้ายเสีย
การตรวจคัดกรองสุขภาพร่างกาย มีทั้งการตรวจที่เป็นประโยชน์ และการตรวจที่ให้โทษ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจเลือกตรวจ เพราะการตรวจบางโรคอาจนำมาซึ่งการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมผลเสียกับร่างกายของท่านได้

1. การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย Prostate-specific antigen หรือ PSA วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA เป็นการตรวจคัดกรองที่ไม่ช่วยให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้ลดลง เนื่องจากทำให้เกิดการวินิจฉัยและการรักษาเกินความจำเป็น ดังเช่น ผู้ป่วยที่มีค่า PSA ผิดปกติแพทย์มักตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อีกทั้งผลกระทบจากการวินิจฉัยและการรักษาอาจเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย

2. อัลตร้าซาวด์ช่องท้องบางส่วน การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนหรือส่วนล่าง เป็นวิธีการตรวจร่างกายที่พบเห็นในชุดตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งที่ไม่เคยมีหลักฐานให้ใช้วิธีดังกล่าวในการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการหรือประวัติความเสี่ยงของโรค การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมดนั้น ใช้สำหรับการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองก่อนที่จะเกิดการแตก ส่วนใหญ่แนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ควรเข้ารับการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด ส่วนประชากรกลุ่มอื่น ๆ ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองดังกล่าว

3. การเอ็กซเรย์ปอด เป็นวิธีหนึ่งที่ยอมรับในการวินิจฉัยวัณโรค เพราะโรคนี้มักเกิดขึ้นที่ปอด จึงทำให้คนทั่วไปคิดว่าการเอ็กซเรย์ปอดเป็นการตรวจคัดกรองวัณโรคที่เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการเอ็กซเรย์ปอดสำหรับคนทั่วไปจะมีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองหรือลดความเสี่ยงของวัณโรคได้ อีกทั้ง การเอ็กซเรย์ปอดยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับรังสีเอ็กซ์แล้วก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสูญเสียเงินโดยไม่จำเป็น (ซาร่าก็เห็นทุกแพคเกจของร.พ. มีตรวจเอ๊กซเรย์ปอดอยู่ดี)

4. การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ถือเป็นการคัดกรองแบบเหวี่ยงแหไม่สามารถระบุได้ว่าต้องการค้นหาความเสี่ยงหรือโรคใดเป็นการตรวจที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ตรวจเอง แล้วยังอาจเพิ่มโทษจาการได้ผลตรวจที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความมั่นใจแบบผิดๆว่าตนเองไม่เป็นโรคหรือไม่มีความเสี่ยงใด ในทางกลับกันผลที่ได้อาจทำให้ท่านต้องตวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและบางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

5. การตรวจหาโรคหืดในผู้ที่ไม่มีอาการ การตรวจหาโรคหืดส่วนมากจะพบในเด็กเล็กที่มีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมตีบ หายใจลำบาก มีเสียงหวีด และหอบเหนื่อย ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาในระยะต่อไป สำหรับการตรวจหาโรคหืดในผู้ที่ไม่มีอาการ มักจะหาวิธีตรวจร่างกายเพื่อให้เจอโรคแต่เนิ่นๆ แม้การป้องกันและการรักษาโรคก่อนลุกลามเป็นหลักการที่ดีแต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่มีอยู่เป็นเหตุให้ การตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาโรคหืดในคนทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และไม่คุ้มค่า

6. การตรวจค้นหาโรคไตอักเสบ นิ่วในไต การตรวจค้นหาโรคไตอักเสบ นิ่วในไต ด้วยการตรวจปัสสาวะและเลือดนั้นไม่มีประโยชน์สำหรับการตรวจหาโรคทั้งสองในคนปกติ เพราะการตรวจปัสสาวะและเลือด แนะนำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอันจะเป็นโรคไตอักเสบ อีกกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำซ้อนที่ซื้อยาทานเอง ผู้ที่กินยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาบรรเทาอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ) หากท่านเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงก็ควรหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและรีบไปพบแพทย์

เอาล่ะค่ะ หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่า เราควรเลือกแพคเกจตรวจสุขภาพอย่างไรบ้างให้ได้ประโยชน์ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องจริงจังกับการตรวจสุขภาพ ตรวจเพื่อให้รู้ว่าร่างกายเรามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ดังนั้น ก็ไม่ควรจะปรับพฤติกรรมก่อนไปตรวจสุขภาพ เช่น ก่อนไปตรวจ เรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร ก็ควรใช้ชีวิตเหมือนปกติค่ะ ไม่ต้องไปเฟค คุมอาหาร งดของหวาน งดของมันก่อนตรวจ เพื่อจะให้ผลออกมาเป็นปกติ พอหลังจากตรวจก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ กินของหวาน ของทอด ของมัน เหมือนเดิม ทำแบบนี้ก็เท่ากับหลอกตัวเราเอง ว่าร่างกายเราปกติ ไม่มีโรค ไขมันไม่เกิน ซึ่งก็คงไม่มีประโยชน์อะไรในการตรวจ จริงมั้ยคะ

สรุปแล้ว มาตรฐานการตรวจสุขภาพ หากจะตรวจให้ได้ผล ให้ตรวจตามช่วงอายุ กับพฤติกรรมเสี่ยงแบบใด ก็ควรตรวจเรื่องนั้น ที่สำคัญ อย่าเฟคผลการตรวจด้วยการปรับเปลี่ยนสุขภาพด้วยการปรับพฤติกรรมก่อนไปตรวจ ด้วยล่ะ

“การตรวจสุขภาพแบบไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะตรวจหาโรคใดนั้นเป็นผลร้ายมากกว่า เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว บางครั้งอาจมีอันตราย ถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

น่าตกใจว่าบางครั้งบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งแพทย์เอง ก็ยังไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ครบทุกแง่มุม นโยบายระดับชาติเอง ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าคนไทย ควรได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นในโรคหรือปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง

ข้อมูลของโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์มาก หากคุณและคนใกล้ชิดกำลังจะเข้าตรวจสุขภาพ เพราะเรากำลังจะบอกคุณว่า คุณควรตรวจอะไรและไม่ควรตรวจอะไรบ้าง อีกทั้งควรตรวจด้วยวิธีอะไรที่น่าเชื่อถือ และคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้คุณจ่ายเงินในกระเป๋าอย่างคุ้มค่า และได้รับการป้องกันรักษาอย่างทันท่วงที หากตรวจพบความเสี่ยงในการเป็นโรค”

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก HITAP http://www.mycheckup.in.th/

--

--