สิ่งที่เรียนรู้จากงาน “Quantum Computer เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก”

Thanyavuth Akarasomcheep
Scale360 Engineering
2 min readFeb 14, 2018

--

Credit: Julian Kelly

สรุปจากงาน “Quantum Computer เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” บรรยายโดย คุณจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ หรือ ‘ทิว’ นักศึกษาปริญาตรี-โท ด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัจจุบันเรียนปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม (CQT) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS)

กฎของมัวร์(Moore’s law)

คือกฎที่อธิบายว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่มีพื้นฐานจาก ทรานซิสเตอร์ (Transistor) นั้น จะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในเวลาทุกๆ 2 ปี โดยมาจากการลดขนาดของทรานซิสเตอร์ และเพิ่มจำนวน แต่ปัจจุบันเราเข้าใกล้ขีดจำกัดของการเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว คือเมื่อทรานซิสเตอร์เล็กถึงจุดๆหนึ่ง จนขนาดเข้าใกล้อะตอมและทำให้ความเสถียรลดลง จึงไม่สามารถใช้กฏเดิมอธิบายได้อีก จึงมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แบบใหม่ขึ้นโดยใช้พื้นฐานจากควอนตัม (Quantum)

การจะทำความรู้จักกับควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ที่เป็นสิ่งใหม่นั้น คุณต้องลืมสิ่งที่รู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แบบเดิม (Classic Computer) ไปเสียก่อน

ขีดจำกัดของคอมพิวเตอร์

  • Classic Computer คือการลดขนาด โดยลดขนาดทรานซิสเตอร์ลงเรื่อยๆจนไม่สามารถลดขนาดลงและรักษาความเสถียรได้ เพราะอิเล็กตรอน(electron) บางส่วนลอดผ่านอุโมงค์ควอนตัม(Quantum Tunnelling)[1] ไปสัมผัสกับทรานซิสเตอร์ตัวอื่น ทำให้ค่าของ bit ไม่เสถียร จึงไม่สามารถนำไปใช้ได้
  • Quantum Computer คือการเพิ่มขนาด โดยเพิ่มจำนวนคิวบิทขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนและรักษาความเสถียรได้

การเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์

  • Classic Computer จำข้อมูลในลักษณะบิท (bit) ซึ่งเก็บค่าเป็น 0 หรือ 1
  • Quantum Computer จำข้อมูลในลักษณะคิวบิท (qubit) ซึ่งมาจากหลักการของ quantum superposition[2] คือข้อมูลที่เก็บไว้สามารถเป็นได้ทั้ง 0 และ 1 ในเวลาเดียวกัน

คิวบิทสามารถเป็นทั้ง 0 และ 1 ได้ จะนำค่าใดมาใช้

การวัดค่าใช้หลักการของ Quantum Entanglement[3][4] คือไม่สามารถวัดค่าตรงๆ แต่จะวัดออกมาเป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มแทน ซึ่งค่าที่จะนำมาใช้จะเป็นค่า ณ เวลาที่เราใช้อ้างอิง (คล้ายๆการจับภาพหน้าจอวีดีโอขณะกำลังเล่นอยู่แล้วนำภาพนั้นมาใช้)

ควอนตัมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ -273°C เพื่อให้มีความเสถียร ยังมีขนาดน้อยกว่า 10 คิวบิท และยังไม่เสถียรมากนัก การสร้างคิวบิทจะใช้เลเซอร์ยิงอะตอมจากทุกทิศทางเพื่อให้อะตอมอยู่นิ่งและห่างจากอะตอมอื่นพอสมควร จากนั้นวัดค่าพลังงานของอะตอมนั้นออกมาเป็น 0 หรือ 1 แต่วิธีการสร้างคิวบิทแบบนี้จะเพิ่มจำนวนคิวบิทได้ยาก จึงมีสร้างในรูปแบบอะตอมเทียมแทน

การใช้งานควอนตัมคอมพิวเตอร์

ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ดังนั้นจึงใช้งานได้ในลักษณะเดียวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ใช้ในการคำนวนเป็นหลัก

  • Quantum Assist ช่วยในการทำงานเดิมๆ (routine)
  • Fully Quantum ใช้อัลกอริทึมสำหรับทำงานบนควอนตัมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคิวบิทจะมีค่าที่ไม่แน่นอนการทำงานของโปรแกรมแต่ละครั้งจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เท่ากัน จึงใช้หลักการของสถิติคำนวณหาผลลัพธ์อีกที

เมื่อได้ผลลัพธ์แล้วนำมาเก็บใส่ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) ซึ่งมีความเสถียรมากกว่า

สู่โลกอนาคต Quantum revolution

  • First revolution ไม่สามารถควบคุมอะตอมได้
  • Second revolution สามารถควบคุมอะตอมได้

การสื่อสารเชิงควอนตัม[4][5] มีความปลอดภัยในการสื่อสารสูง แฮกได้ยากเพราะคุณสมบัติพิเศษของควอนตัมคือความไม่แน่นอน

การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวเตอร์

  • Quantum Physics
  • Quantum Tunnelling [1]
  • Quantum Entanglement [3]
  • Deutsch–Jozsa Algorithm [6]
  • Q#

วีดีโอบันทึกการบรรยาย

https://www.facebook.com/wecosystem/videos/726955167504343/

ควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่ใหม่และตัวผู้เขียนยังไม่มีความเชี่ยวชาญ หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดผิดพลาด แนะนำด้วยครับ

อ้างอิง

[1] https://medium.com/@sikarinyookong/อุโมงค์ควอนตัม-quantum-tunnelling-f760daee2cc8

[2] https://www.blognone.com/node/82946

[3] https://th.wikipedia.org/wiki/ควอนตัมเอนแทงเกิลเมนต์

[4] https://medium.com/@aorjoa/quantum-entanglement-และการ-teleportation-เท่าที่รู้-23ed8cfd837d

[5] https://thestandard.co/quantum-computer-2/

[6] https://en.wikipedia.org/wiki/Deutsch%E2%80%93Jozsa_algorithm

--

--