จากเด็กกลัวเข็ม เอาชนะความกลัว จนสามารถบริจาคโลหิตกว่า 60 ครั้ง

Kriangkrai Warodomvichit
SCB Engineer
Published in
2 min readMay 29, 2023
ป้ายเชิญร่วมบริจาคโลหิต

ด้วยวันจันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตในโครงการ “ไทยพาณิชย์รวมใจไทยให้โลหิต” ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ผมเองได้ไปร่วมบริจาคโลหิต และสมัครเป็นจิตอาสา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาบริจาคโลหิต ในครั้งนี้ผมได้เจอกับพนักงานท่านหนึ่ง ที่มาร่วมบริจาคโลหิตเป็นครั้งแรก ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงการบริจาคโลหิตครั้งแรกของผม เลยอยากขอแบ่งปันประสบการณ์การบริจาคโลหิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเพื่อน ๆ มาร่วมกันบริจาคโลหิตนะครับ

ใครกลัวเข็มยกมือขึ้น

โรคกลัวเข็ม มีชื่อทางการแพทย์ว่า Trypanophobia (Fear of Needles) โดยเฉพาะการกลัวเข็มที่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่น การฉีดวัคซีน การเจาะเลือด หรือการให้น้ำเกลือ

โรคกลัวเข็ม หรืออาการกลัวเข็ม เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ คนไม่กล้าบริจาคโลหิต เมื่อก่อนผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เรียกได้ว่าเห็นเข็ม เห็นเลือด เป็นต้องเดินหนีไปไกล ๆ ส่วนเหตุผลเดาเอาว่าน่าจะมาจากการไปหาหมอฟันในตอนเด็ก แล้วต้องเจอกับการฉีดยาชา การกรอฟัน การอุดฟัน เสียงเด็กร้องไห้ จนฝังใจกับเข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์แหลม ๆ ทั้งหลายทางการแพทย์

อาการกลัวเข็มของผมลามไปจนถึงกับต้องหนีไปซ่อนตัวในห้องน้ำของโรงเรียน ในวันที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาฉีดวัคซีนอยู่เป็นประจำ (แต่สุดท้ายก็โดนตามหาจนเจอ แล้วก็ได้รับวัคซีนอยู่ดี)

จุดเปลี่ยน

ตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ วันหนึ่งมีหน่วยเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทยมารับบริจาคโลหิต ณ อาคารที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้น ทีแรกผมก็ไม่ได้สนใจอะไร จนเพื่อนร่วมงานคนนึงเดินมาบอกว่าอยากบริจาค แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ของสภากาชาด ไม่สามารถบริจาคได้ ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าร่างกายเราก็สมบูรณ์แข็งแรงดี น่าจะพอไปบริจาคแทนได้

ได้ยินแล้วผมก็เลยทำตัวเป็นฮีโร่ รับปากว่าเดี๋ยวผมไปบริจาคแทนแล้วกันนะครับ ว่าแล้วก็เดินไปแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะใจหนึ่งก็กลัวเข็ม แต่อีกใจก็รับปากไปแล้ว เอาละ เป็นไงเป็นกัน กรอกเอกสาร ลงทะเบียน วัดความดัน ตรวจความเข้มโลหิต แล้วไปนั่งรอบริจาคโลหิตด้วยใจเต้นรัว

แล้วสุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี เลยคิดในใจ ก็ทำได้นี่นา ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด การบริจาคโลหิตในครั้งนั้นทำให้ผมกลัวเข็มน้อยลง และเริ่มบริจาคโลหิตต่อเนื่องเมื่อมีโอกาส

ปล. เพื่อนร่วมงานในวันนั้น กลายมาเป็นภรรยาในวันนี้ ฮิ้วววววว

ทำไมบริจาคได้เยอะ

มีอยู่วันหนึ่ง ผมได้ไปบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ตรงถนนอังรีดูนังต์ ก็มีเจ้าหน้าที่เดินมาถามว่าสนใจจะบริจาคพลาสมาไหม แล้วก็อธิบายว่าการบริจาคโลหิตแบบปกตินั้น เมื่อได้โลหิตไปแล้วจะถูกนำไปปั่นแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา

การบริจาคพลาสมา คือการบริจาคส่วนประกอบโลหิต เพื่อนำไปใช้ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสมา เพื่อรักษาโรคอีกหลากหลายชนิด

โดยการบริจาคพลาสมานั้นจะบริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ เครื่องจะทำการแยกเฉพาะพลาสมาออกมาจากโลหิต แล้วนำส่วนประกอบอื่นกลับเข้าร่างกายตามเดิม

การบริจาคพลาสมาจะใช้เวลานานกว่าบริจาคโลหิตปกติ ครั้งนึงใช้เวลาประมาณ 45 นาที แต่ การบริจาคพลาสมา สามารถบริจาคได้ทุก 14 วัน ในขณะที่การบริจาคโลหิตทั่วไป จะบริจาคได้ทุก 3 เดือน

ซึ่งที่ทำงานเก่าผมอยู่ใกล้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงทำให้ผมสามารถเดินทางไปบริจาคพลาสมาได้ทุก 14 วัน

ด้านล่างเป็นรูปการบริจาคโลหิต ครั้งที่ 62 ของผม ซึ่งได้ทำการบริจาคร่วมในโครงการ “ไทยพาณิชย์รวมใจไทยให้โลหิต” ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาครับ

บริจาคโลหิตครั้งที่ 62 วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566

ทำไม ก่อนบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การบริจาคโลหิตปกติ โลหิตจะถูกนำไปปั่นแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา นำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการแตกต่างกัน อย่างที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินที่บอกว่า “หนึ่งคนให้ สามคนรับ

การทานอาหารที่มีไขมันสูงจะส่งผลให้พลาสมาที่ได้ออกมาไม่มีคุณภาพ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไม ก่อนบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง ควรงดอาหารที่มีไขมันสูงครับ

สื่อประชาสัมพันธ์

ภาพประกอบด้านล่าง เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของการบริจาคโลหิต การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต รวมไปถึงการดูแลตัวเองหลังบริจาคโลหิตครับ

9 เหตุผลทำไมเราต้องบริจาคโลหิต

9 เหตุผลทำไมเราต้องบริจาคโลหิต

โลหิต 1 ถุง จากการบริจาคนำไปทำอะไรบ้าง

โลหิต 1 ถุง จากการบริจาคนำไปทำอะไรบ้าง

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

การดูแลตนเองหลังบริจาคโลหิต

การดูแลตนเองหลังบริจาคโลหิต

ที่มา — สื่อประชาสัมพันธ์ - โปสเตอร์ (Poster) - ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

สุดท้ายนี้

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ให้เพื่อน ๆ สนใจมาร่วมกันบริจาคโลหิต หรือแม้บางท่านไม่สะดวกบริจาคโลหิต ก็สามารถส่งต่อบทความ เพื่อเชิญชวนคนรอบข้างให้มาร่วมกันบริจาคโลหิตได้ ผมก็ถือว่าบทความนี้บรรลุจุดประสงค์ และขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

--

--