คีย์บอร์ดภาษาอังกฤษไม่ได้มีแต่ QWERTY นะ

Thanasin Khetsit
SCB TechX
Published in
3 min readOct 5, 2022
ภาพจาก https://flickr.com/photos/139228535@N05/38436307312/

ทำไมคีย์บอร์ด QWERTY ไม่ใช่ ABCD

ในยุคเริ่มต้นของเครื่องพิมพ์ดีดนั้นไม่ได้ถูกใช้งานกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ โดยเครื่องพิมพ์ดีดในช่วงเร่ิมต้นได้ถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ถึงแม้ในยุคนั้นจะมีนักประดิษฐ์หลายคนพยายามสร้างเครื่องพิมพ์ดีดหลากหลายแบบ แต่มีกลุ่มนักประดิษฐ์สี่คนที่เป็นผู้สร้างรากฐานเครื่องพิมพ์ดีด และแป้นพิมพ์ที่ใช้มาถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ Christopher Latham Sholes, Samuel W. Soulé, James Densmore และ Carlos Glidden โดยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกมีเพียงสองแถวรูปร่างคล้ายเปียโนโดยเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้ใช้หาตัวอักษรได้ง่าย แต่หลังจากนั้น Sholes ไม่ได้หยุดพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดเพียงเท่านี้ โดยมีการตั้งสมมติฐานว่าแป้นพิมพ์ที่ออกแบบมานั้นเกิดความเสียหายจากการติดขัด โดยเฉพาะตัวอักษรคู่ที่พบบ่อยในภาษาอังกฤษ เช่น th, he เป็นต้น

ต้นแบบเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายเปียโน ภาพจาก https://www.si.edu/object/sholes-glidden-soule-typewriter-patent-model:nmah_850123

กำเนิดแป้นพิมพ์ QWERTY

หลังจากความล้มเหลวในการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดทำให้ Soulé ท้อและตัดสินใจออกจากกลุ่มนักประดิษฐ์ จึงทำให้เหลือแค่ Sholes และ Glidden เพียงสองคน ส่วน Densmore เป็นเพียงผู้ให้เงินสนับสนุน และในปี 1873 ทั้งคู่ก็ได้สร้างแป้นพิมพ์ที่ลดการติดขัด และทนทานมากขึ้น โดยแป้นพิมพ์คล้ายกับในปัจจุบัน คือมีจำนวน 4 แถว แต่การเรียงตัวอักษรแถวบนเป็น QWE.TY และได้หาผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดคือ Remington & Sons (ปัจจุบันคือ บริษัท RemArms) ผู้ผลิตปืนไรเฟิล ซึ่งในขณะนั้นความต้องการอาวุธปืนได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากเป็นช่วงหลังสงคราม Civil war ทางบริษัทจึงได้ซื้อสิทธิบัตรต่อจาก Sholes เพื่อทำการผลิตขาย แต่ในช่วงสุดท้ายก่อนออกที่จะได้ออกจำหน่าย ในปี 1878 Sholes ได้จดสิทธิบัตรใหม่โดยเปลี่ยนแป้นพิมพ์จากแบบเดิมเป็น QWERTY ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแป้นพิมพ์ที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน

Christopher Latham Sholes ผู้คิดค้นเครื่องพิมพ์ดีด และแป้นพิมพ์แบบ QWERTY ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sholes.jpg

QWERTY แป้นพิมพ์ที่ยังคงความลึกลับถึงปัจจุบัน

หลังจาก Sholes ได้ขายสิทธิบัตรเครื่องพิมพ์ให้กับ Remington แต่เขาเองก็ยังไม่หยุดที่จะออกแบบเครื่องพิมพ์ดีดต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1890 อย่างไรก็ดีการที่เขาได้เปลี่ยนแป้นพิมพ์ QWERTY นั้นยังเป็นข้อสงสัยต่อนักวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ er และ re เป็นคู่ตัวอักษรที่พบเจอบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจทำให้เครื่องพิมพ์ดีดเกิดการติดขัด หรือเสียหายได้

แป้นพิมพ์ QWERTY เกิดความ Popular ได้อย่างไร

ถึงแม้ในสมัยนั้นได้มีผู้คิดค้นเครื่องพิมพ์ดีด และแป้นพิมพ์จำนวนไม่น้อย แต่การสร้างตลาดเครื่องพิมพ์ดีดในยุคนั้นได้โดยฝีมือของ Remington ซึ่งนอกจากจะมีความช่ำชองในการผลิตชิ้นส่วนกลไกที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง และทนทานแล้ว ทางบริษัทยังได้จัดสอนอบรมการใช้งานเครื่องพิมพ์ดีด และศูนย์บริการ (เป็นการบุกเบิก Business Model นี้เป็นคนแรก ซึ่งถูกนำมาใช้กับ IBM และบริษัทไอทีต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน) โดยโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดนั้นได้ให้อบรมแก่ผู้หญิง และเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าไปทำงานในสำนักงาน (ที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดจาก Remingtion) มากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้การใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงได้มีการปรับปรุงแป้นพิมพ์ และคิดค้นการพิมพ์แบบสัมผัส จนกระทั่งปี 1893 ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดเจ้าใหญ่ในสมัยนั้นได้ยอมรับให้แป้นพิมพ์แบบ QWERTY เป็นมาตราฐาน และถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Gidden ผลิตโดย Remington ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Die_Schreibmaschine_Sholes_Glidden,_Remington%26Sons_Typerwriter_Co._Ilion_N.Y._(USA),_1876_08.jpg

การเข้ามาของยุคไฟฟ้า กับแป้นพิมพ์ที่ไม่ได้รับความนิยมนัก

เมื่อยุคไฟฟ้าได้เข้ามาเครื่องพิมพ์ดีดก็ได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าซึ่งให้ความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร รวมทั้งกลไกแป้นพิมพ์ก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ถึงแม้ว่าเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้านั้นจะไม่มีกลไกให้เกิดการติดขัด แต่แป้นพิมพ์รูปแบบ QWERTY ก็ยังถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการผลิต จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1930 ได้มีการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรแป้นพิมพ์ทางเลือกโดย Dr. August Dvorak ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบให้ตัวอักษรที่ถูกใช้บ่อยอยู่ที่จุดพักนิ้ว (Home row) เพื่อลดการขยับนิ้วมือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิมพ์​ และลดการบาดเจ็บข้อมือจากอาการ Repetitive Strain Injury

เครื่อง Teletype ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Teletype,_Intrepid_Museum_(7558594418).jpg

อย่างไรก็ตามแป้นพิมพ์ Dvorak (ตั้งชื่อตามผู้คิดค้น) นั้นไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะแป้นพิมพ์ QWERTY นั้นได้ครองตลาดผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก และรวมถึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดในสมัยนั้น หลังจาก Dvorak พยายามนำเสนอแป้นพิมพ์ของเขาต่อเนื่องอยู่หลายสิบปีแต่ก็ยังไม่ได้ความสนใจ เขาก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1975 แต่ในปี 1982 สถาบัน American National Standards Institute (ANSI) ก็ได้ยอมรับให้ Dvorak เป็นแป้นพิมพ์ทางเลือกอีกแบบหนึ่ง (ส่งผลให้ผู้ผลิต OS ใส่แป้นพิมพ์เข้ามา โดยผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้แป้นพิมพ์ Dvorak ได้โดยไม่ต้องลงโปรแกรมช่วยเหลือเพิ่มเติม)

รูปแบบแป้นพิมพ์ ​Dvorak ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:KB_United_States_Dvorak.svg

กำเนิดแป้นพิมพ์ยุคดิจิตอล

เมื่อยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาถึง และมีการพัฒนาความสามารถของ ​OS ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้งานแป้นพิมพ์ Dvorak มากขึ้นเพราะไม่ต้องง้อผู้ผลิตแป้นพิมพ์ แต่แป้นพิมพ์ Dvorak นั้นมีอุปสรรคแก่ผู้ที่จะเปลี่ยนมาใช้ เช่น ความแตกต่างของการจัดวางตัวอักษรระหว่างแป้นพิมพ์ QWERTY และ Dvorak ที่มากเกินไป และ shortcut key ที่อยู่มือซ้ายถูกย้ายออกไป เช่น copy, paste เป็นต้น (Copy/Paste Engineer ไม่ถูกใจสิ่งนี้)

ในปี 2006 Shai Coleman ได้นำเสนอแป้นพิมพ์ Colemax ที่ออกแบบมาปิดจุดด้อยของแป้นพิมพ์ Dvorak ที่กล่าวมา และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีก รวมถึงได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้แป้นพิมพ์ Colemax ยังไม่ได้รับเป็นมาตราฐานแต่ผู้พัฒนา OS ก็ได้เพิ่มมาเป็นตัวเลือกแก่ผู้ใช้งาน (สามารถเลือกใช้ได้ใน Mac OS และ Linux แต่ยังไม่รองรับใน Windows)

รูปแบบแป้นพิมพ์ Colemax ภาพจาก https://colemak.com/

ทิ้งท้าย —

เห็นได้ว่าแป้นพิมพ์ QWERTY ถูกคิดค้น ถูกเริ่มเผยแพร่การใช้งานจนเลยยุคสมัยของมันมานานมากแล้ว แต่ก็ยังเป็นแป้นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากการใช้งาน และการเรียนการสอนต่อ ๆกันมา แต่มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด การเรียนรู้ และเปลี่ยนไปใช้แป้นพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะในยุคนี้คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์ต่างโดยไม่ใช้แป้นพิมพ์ หากใครสนใจก็สามารถเข้าไปศึกษา และฝึกฝนกันได้จากลิ้งค์ใน references ข้างล่างได้

ภาพจาก https://flickr.com/photos/prelude-2000/20281492588/

References:

https://learn.dvorak.nl/

--

--