ทำไงดี? อยากเป็น UX Writer แต่ไม่มีประสบการณ์

Thiantawan
SCB TechX
Published in
3 min readNov 25, 2022

ถึงแม้ว่า UX Writer จะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในประเทศไทยมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความต้องการ UX Writer นั้นกำลังเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับข้อความบนหน้าจอ

เราเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้ก็คงมีความสนใจในสายงานนี้ไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากตรงไหนดี เพราะไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย เราเองก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อนเหมือนกันเลยอยากมาแชร์ 4 เคล็ด(ไม่)ลับที่จะช่วยทุกคนในการเปลี่ยนมาทำงานสาย UX Writer

1. ลงคอร์ส UX Writing

การลงคอร์ส UX Writing จะช่วยปูพื้นฐานด้านเขียนและสร้างความเข้าใจในเรื่องประสบการณ์ใช้งาน หรือ User Experience มากยิ่งขึ้น คอร์สที่เราแนะนำจะมี 2 คอร์ส ซึ่งเป็นคอร์สที่เราเรียนมาแล้วค่ะ

Fundamentals of UX Writing (UX Content Collective)

มี 7 บทเรียน:

  • UX Writing คืออะไร
  • การเขียนด้วยหลัก Voice and Tone
  • การเขียนให้ Concise (กระชับ)
  • การเขียนสำหรับ UI Component ต่างๆ
  • การเขียน Style guide
  • การทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ
  • การทำ Portfolio

**แต่ละบทเรียนจะมี 5–7 บทย่อย

ระยะเวลาเรียน: 2–6 เดือน

ข้อดี

- เหมาะสำหรับ Beginner ที่อยากเรียนรู้ UX Writing ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการทำงานของ UX Writer

- มีโค้ชตรวจการบ้านและโปรเจกต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำ

- สามารถติดต่อโค้ชได้โดยตรงผ่าน Slack หากมีคำถาม หรือ ต้องการคำแนะนำ

- เป็นการเรียนแบบ Self-paced ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามเวลาที่สะดวก

- หลังทำไฟนอลโปรเจกและสอบไฟนอลผ่าน จะได้รับใบประกาศณียบัตร

- หลังจากเรียนจบ ก็ยังสามารถติดต่อโค้ชได้เสมอ

ข้อเสีย

- ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน ผู้เรียนต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับ C1 (สามารถทดสอบระดับภาษาอังกฤษได้ที่นี่)

- ส่งไฟนอลโปรเจกและสอบไฟนอลได้เพียงอย่างละ 2 ครั้ง หากไม่ผ่าน จะไม่ได้รับใบประกาศณียบัตร

- เรียนโดยการอ่านเนื้อหาเป็นหลัก

- ราคาคอร์สอยู่ที่ USD 1,600 หรือ ประมาณ 60,400 บาท (สามารถผ่อนจ่ายได้)

UX Writing (Skooldio)

มี 5 บทเรียน:

  • UX Writing คืออะไร และต่างจาก Copywriting ยังไง
  • ขั้นตอนการเขียน UX Writing
  • หลักการเขียน UX Writing
  • ทฤษฎีจิตวิทยาสำหรับ UX Writing
  • การวัดประสิทธิผลของคอนเทนต์

ระยะเวลาเรียน: 3–4 ชั่วโมง

ข้อดี

- เหมาะสำหรับ Beginner ที่อยากเรียนรู้ UX Writing ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการทดสอบคอนเทนต์

- สามารถติดต่อโค้ชได้โดยตรงผ่าน Skooldio หากมีคำถาม

- เป็นการเรียนแบบ Self-paced ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามเวลาที่สะดวก

- หลังเรียนจบ จะได้รับใบประกาศณียบัตร

- ใช้ภาษาไทยในการเรียน

- เรียนผ่านวิดีโอ

- ราคาคอร์สอยู่ที่ 1,990 บาท

ข้อเสีย

- ไม่มีโค้ชตรวจแบบฝึกหัดต่างๆ

- เนื้อหาไม่ได้เจาะลึกเท่ากับ Fundamentals of UX Writing

- ไม่มีโปรเจกไฟนอล หรือ การสอบไฟนอล จึงไม่สามารถวัดระดับทักษะ UX Writing ได้

2. ทำ UX Writing Portfolio

ถึงแม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์​ ก็ควรมี Portfolio นะคะ เพราะ Portfolio เป็นตัวช่วยในการแสดงทักษะและความรู้ของเราได้ดีที่สุดเลย สำหรับใครที่ลงคอร์สเรียน ก็สามารถนำแบบฝึกหัด โปรเจก หรืองานต่างๆ ของคอร์สลงใน Portfolio ได้นะ

ถ้ายังไม่มีโอกาสลงคอร์สเรียน ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะยังมีอีกหลายวิธี เพื่อนๆ สามารถทำ​ 15-Day UX Writing Challenge ของ UX Writing Hub ได้ค่ะ ทุกคนจะได้รับโจทย์ให้เขียนข้อความต่างๆ ผ่านอีเมลเป็นเวลา 15 วัน

“แล้วหลังจาก 15 วัน จะทำอะไรต่อดี ;-;”

อย่างที่กล่าวไปในตอนแรก ทุกวันนี้เราอยู่กับหน้าจอตลอดค่ะ เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็นข้อความต่างๆ ของแอปพลิเคชัน หรือ เว็บไซต์ที่ใช้ในแต่ละวัน หากเจอข้อความที่เรารู้สึกว่า “เอ๊ะ! ข้อความนี้ควรเขียนใหม่นะ” เราสามารถนำข้อความนั้นมาเขียน Case study ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่เราชื่นชอบมากๆ เพราะได้แสดงขั้นตอนการทำงานและความคิดของเราอย่างชัดเจนที่สุด

Photo by Arnel Hasanovic on Unsplash

3. เข้าร่วม UX Writing Communities

มาจอย UX Writing Communities ตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook group กันเถอะ! เพื่อนๆ จะได้รับข้อมูลใหม่ล่าสุดในวงการ UX Writing อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้าน User Experience หรือ ตำแหน่งงานในบริษัทต่างๆ ที่หลายคนอาจตามหาอยู่ 😁

หากมีคำถาม หรือ ต้องการคำแนะนำสำหรับการเขียน หรือ ทำพอร์ต สามารถเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกรุ๊ปได้เลย โดยกรุ๊ปหลักๆ ที่ควรติดตามมากที่สุดจะมีอยู่ 4 กรุ๊ป

Photo by Brooke Cagle on Unsplash

4. สมัครงานวนไป

การหางานตำแหน่ง UX Writer ในประเทศไทยอาจจะยากเล็กน้อย เพราะถือว่ายังเป็นตำแหน่งงานที่ยังใหม่อยู่ แถมบริษัทที่ต้องการ UX Writer ก็มักขอคนมีประสบการณ์อย่างน้อย 1–2 ปี เชื่อว่าหลายคนต้องถอดใจกันแน่ๆ ขอคุณสมบัติขนาดนี้ มือใหม่หลายคนคงจะไม่กล้าสมัครกัน

แต่ว่าเราแนะนำให้สมัครไปก่อนนะคะ ถึงแม้การสมัครงานที่เราไม่มีประสบการณ์โดยตรงอาจทำให้เราพบเจอกับการปฏิเสธหรือความเงียบงัน (ไร้การตอบกลับ) แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสมัครไป เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับแบบทดสอบมาทำ หรือ เข้ารอบสัมภาษณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พัฒนาทักษะของเราดียิ่งขึ้น

การลงสนามการสมัครงานนี่แหละ จะทำให้เรารู้ว่าบริษัทต้องการคนที่มีทักษะแบบไหนบ้าง และเราจะได้นำคำติชมมาพัฒนาตัวเองและเตรียมตัวสำหรับแบบทดสอบหรือการสัมภาษณ์ครั้งต่อไปในอนาคต มองการปฏิเสธเป็นการเรียนรู้กันนะคะ 😊

Photo by Christina @ wocintechchat.com on Unsplash

หวังว่า 4 เคล็ดลับของเราจะช่วยสร้างกำลังใจและเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเป็น UX Writer แต่ยังไม่มีประสบการณ์นะคะ เราเชื่อว่าใครๆ ก็สามารถเป็น UX Writer ได้ เพียงแค่รักการเขียนกับการทำความเข้าใจผู้ใช้ ก็เดินทางมาได้ครึ่งทางแล้วค่ะ

สำหรับเพื่อนๆ ที่พร้อมลงสนามแล้ว ก็อย่ารอช้า เพราะทาง SCB TechX เปิดรับสมัคร UX Writer อยู่ค่ะ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย ✨

--

--

Thiantawan
SCB TechX

full-time ux writer | part-time ranter (TH/EN)