ยานอวกาศเคปเลอร์ เสร็จสิ้นภารกิจ

ปิดตำนาน ยานอวกาศเคปเลอร์

หากจะพูดถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space telescope) ที่โด่งดังจนเป็นที่คุ้นหูเรากันเป็นอย่างดี ก็คงหลีกหนีไม่พ้นกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) และเร็วๆนี้ที่เพิ่งจะได้เป็นข่าวไปก็คือ ยานอวกาศเคปเลอร์ หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซ่า ได้หยุดการทำหน้าที่ของตัวเองลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2018 รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 9 ปี, 7 เดือน กับอีก 23 วัน นับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ปี ค.ศ. 2009 ที่มันได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งเคปเลอร์นั้น จะแตกต่างไปจากกล้องสำรวจอวกาศในกลุ่มของ Great Observatories อย่างฮับเบิล, สปิตเซอร์, และ กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ตรงที่เคปเลอร์เป็นทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศและเป็นยานอวกาศภายในตัว ที่มีอิสระในการโคจรไปรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวโลก (อยู่ในวงโคจร เฮลิโอเซ็นทริค (Heliocentric orbit) ของโลก) โดยภารกิจสำคัญที่มันได้รับมอบหมายไว้ก็คือ การเสาะแสวงหาดาวเคราะห์คล้ายโลกภายในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกเรา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินเอาไว้ว่า น่าจะมีดาวฤกษ์อยู่เป็นจำนวนหลายพันล้านดวงภายในทางช้างเผือก และเช่นเดียวกันในแต่ละระบบดาวฤกษ์เองก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีดาวบริวารเป็นของตนนั่นก็คือ ดาวเคราะห์ ส่วนลักษณะของการตรวจหาดาวดาว นาซ่าจะใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าโฟโตมิเตอร์ (photometer) ในการตรวจค่าความสว่างต่อเนื่องของดาวฤกษ์จำนวนกว่า 150,000 ดวง ในแถบลำดับหลัก (main-sequence stars) ผ่านมุมกล้องที่ถูกเซ็ตให้คงที่เอาไว้ในอวกาศ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถนำภาพเหล่านี้มาทำการเปรียบเทียบ และตรวจหาค่าความเบี่ยงเบนของแสงดาวฤกษ์ขณะที่ถูกดาวบริวารของมันเคลื่อนผ่านตัดหน้า (Transit photometry) ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ มันก็ได้สร้างผลงานการค้นพบเอาไว้ให้เราได้ศึกษาอยู่มากมาย นั่นก็คือการติดตามดาวฤกษ์ไปทั้งหมด 530,506 ดวง และค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกไปแล้วกว่า 2,662 ดวง!

ยานอวกาศเคปเลอร์ ถูกตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ นักโหราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) เคปเลอร์เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กับผลงานของเขาอันเป็นที่โด่งดังก็คือ ในเรื่องของกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ (laws of planetary motion) ซึ่งในภายหลังก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานสำคัญในการศึกษาเรื่องของแรงโน้มถ่วงของนิวตัน

ภารกิจ Second Light หรือ K2

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013 แผนดำเนินงานที่ชื่อว่า K2 ก็ได้ถูกนำเสนอขึ้น ซึ่งจะใช้ข้อจำกัดที่มีอยู่ของยานอวกาศเคปเลอร์ ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในการตรวจหาดาวเคราะห์ โดยตัวยานอวกาศเคปเลอร์เองจะคอยทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนมุมองศาของกล้องอวกาศในทุกๆ 3 เดือน และอาศัยเทคนิคพิเศษในการปรับชี้ตำแหน่งของกล้องโดยอาศัยแรงดันจาดแสงอาทิตย์ (ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นล้อที่ 3 ให้กับยาน) มาคอยช่วยพยุงตัวกล้องให้สามารถชี้ตำแหน่งไปยังกลุ่มดวงดาวตามความต้องการของนักวิทยาศาสตร์ได้ และในวันที่ 16 พฤษภาคม 2014 นาซ่าก็อนุมัติขยายแผนดำเนินการของยานอวกาศเคปเลอร์ในชื่อภารกิจ K2 หรือ Second Light ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในเดือนมกราคม 2015 เคปเลอร์ในภากิจ K2 ก็สามารถยืนยันการพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้เป็นจำนวนมากถึง 1,000 ดวง กับอีกประมาณ 440 ระบบดาวฤกษ์ ซึ่งในปีนั้นเอง ก็ปรากฎดาวเคราะห์ที่น่าสนใจอยู่ 4 ดวงภายในเขตอยู่อาศัย (habitable zones) ได้แก่ Kepler-438b, Kepler-442b และ Kepler-452b ซึ่งดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงนี้เป็นดางเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก โดยมีอีก 1 ดวงที่น่าสนใจก็คือ Kepler-440b ที่ได้รัยฉายาว่าซูเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) ซึ่งมีขนาดรัศมีใหญ่กว่าโลกถึง 1.86 เท่า และในวันที่ 10 พฤษภาคม 2016 นาซ่าก็ออกมาประกาศยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์เพิ่มเติมอีก 1,284 ดวง

สิ้นสุดภารกิจ

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2018 นาซ่าก็ออกมาประกาศปลดระวางยานอวกาศเคปเลอร์หลังจากที่ยานอวกาศได้หมดเชื้อเพลิงเพลิงไป พร้อมๆกับการหยุดทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศในวันเดียวกัน เป็นอันสิ้นสุดภารกิจในตลอดระยะเวลา 9 ปีของการปฏิบัติงาน ด้วยผลการค้นพบดาวฤกษ์ไปทั้งหมด 530,506 ดวง และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอีก 2,662 ดวง!

อ่านเพิ่มเติม

--

--

นักเดินทางข้ามเวลา
SCIWAYS
Editor for

ผู้เขียนบทความ/เรียบเรียง