First Man: มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์

First Man: มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์

มนุษย์คนแรกที่ว่านี้คือใคร? ก็คงไม่ยากเกินไปสำหรับทุกคนแน่นอน เพราะจากตำราเรียนที่เราได้เคยเรียนมาตั้งแต่สมัยประถม ก็บอกไว้อย่างชัดเจนว่า มนุษย์คนแรกที่สามารถเหยียบดวงจันทร์ก็คือ นีล อาร์มสตรอง (ส่วนคนที่สองก็คือ บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) ซึ่งเราจะจดจำคนแรกมากกว่า แต่ถึงยังไงทั้งคู่ก็เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่สามารถเดินทางไปสู่ดวงจันทร์และเหยียบดวงจันทร์ได้) จากภารกิจสำรวจอวกาศอันโด่งดังที่สุดแห่งยุคอย่าง อะพอลโล 11 (Apollo 11) พร้อมกับจรวด แซทเทิร์น ไฟว์ (Saturn V) ที่ว่ากันว่าคือจรวดที่ทรงพลังที่สุดตั้งแต่มนุษย์เคยได้สร้างมาเลยทีเดียว ซึ่งในภาพยนตร์ First Man ก็ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมันได้อย่างน่าประทับใจมากๆ

ภาพยนตร์ First Man นั้นคือภาพยนตร์แนวชีวประวัติของ นีล อาร์มสตรอง ที่บอกเล่าเรื่องราวของเขานับตั้งปี 1962 ครั้งสมัยที่ยังเป็นนักบินทดสอบให้กับกองทัพอากาศ ตลอดไปจนถึงเรื่องราวของความเศร้าที่ต้องมาความสูญเสียลูกสาว รวมถึงเพื่อนร่วมงานขณะปฏิบัติภารกิจไป อีกทั้งท่ามกลางความกดดันจากครอบครัวของเขาเอง ที่ไม่ต้องการให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ อะพอลโล 11 ซึ่งเป็นภารกิจที่ถูกมองว่า คือภารกิจที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็นอย่างมาก นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจได้ยากที่สุด ในการบอกลาต่อลูกๆและภรรยาของเขาที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ในขณะที่ความกดดันของภาครัฐเอง ก็มีอยู่มิใช่น้อย เพราะจากความล้มเหลวของหลายๆภารกิจก่อนหน้า ก็ทำให้ประชาชนต่างมองว่าโครงการสำรวจอวกาศของนาซ่า ที่ประสงค์ต้องการจะไปดวงจันทร์นั้น มันสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีของประชนชนมาก ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลเองก็ต้องบอกได้เลยว่า พวกเขาเป็นรองทางด้านเทคโนโลยีสำรวจอวกาศต่อสหภาพโซเวียตในหลายด้านด้วยเช่นกัน

จุดเริ่มต้นอาชีพนักบินอวกาศ

เอาเข้าจริงๆในเดือนมิถุนายนปี 1958 นีล อาร์มสตรองเคยได้ถูกรับเลือกจากกองทัพอากาศสหรัฐไว้แล้ว เพื่อเตรียมเข้าร่วมโครงการ Man In Space Soonest Program ซึ่งเป็นโครงการของทางกองทัพอากาศเอง โดยมีเป้าหมายหลักก็คือ การพยายามนำพามนุษย์ออกไปสู่อวกาศ (Outer Space) ให้ได้ก่อนสหภาพโซเวียต แต่แล้วในวันที่ 1 สิงหาคม โครงการดังกล่าวก็ได้ถูกปฎิเสธไป และถูกแทนที่ด้วย โครงการเมอร์คิวรี (Project Mercury) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน ซึ่งโครงการเมอร์คิวรีก็คือโครงการของพลเรือนและดำเนินการภายใต้องค์การนาซ่า (National Aeronautics and Space Administration) ที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม ปี 1958 หรือเพียง 2 วันก่อนที่ Man In Space Soonest Program จะถูกยุบไป โดยในขณะเวลานั้น อาร์มสตรอง เองก็ยังไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเข้าร่วมเป็นนักบินอวกาศได้ เพราะการคัดเลือกทั้งหมดจะถูกจำกัดสิทธิ์ไว้แต่เพียงผู้ที่เป็นทหารนักบินทดสอบเท่านั้น

โครงการอวกาศ เจมินี (Project Gemini)

ในเดือนเมษายนปี 1962 นาซ่าประกาศรับสมัครและค้นหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนักบินอวกาศสำหรับกลุ่มที่ 2 ให้กับโครงการอวกาศ เจมินี ซึ่งการรับสมัครในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นักบินพลเรือน สามารถเข้ามาร่วมรับการคัดเลือกได้เป็นครั้งแรก และในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปี 1962 อาร์มตรองก็มีโอกาสไปร่วมนิทรรศการแห่งศตวรรษที่ 21 (Century 21 Exposition หรือ Seattle World’s Fair) และได้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศที่ได้รับการสนับสนุนจาก NASA จากความสนใจในอวกาศของเขาจึงทำให้หลังกลับจากนิทรรศการในวันที่ 4 มิถุนายน นีล อาร์มสตรองจึงตัดสินใจ ยื่นใบสมัครเข้าร่วมรับการคัดเลือกเพื่อเป็นนักบินอวกาศ แต่เนื่องจากใบสมัครของเขามาถึงล่าช้าเกินกว่ากำหนดเป็นสัปดาห์ (โดยวันสุดท้ายของการสมัครก็คือวันที่ 1 มิถุนายน ปี 1962) แต่ด้วยความช่วยเหลือจาก เพื่อนเก่าของเขานามว่า Dick Day ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจำลองการบินอยู่พอดี เขาจึงช่วยนำใบสมัครของ นีล ไปกองรวมเข้ากับใบสมัครของคนอื่นๆไว้ได้ทันก่อนที่จะถูกที่สังเกตเห็น และในวันสิ้นสุดของเดือนมิถุนายน ณ ฐานทัพอากาศบรูคส์ (Brooks Air Force Base) อาร์มสตรองก็สามารถผ่านการทดสอบสภาพร่างกายได้สำเร็จซึ่งจากคำอธิบายของผู้สมัครหลายๆคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาต้องพบกับความยากลำบากในขั้นนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่การทดสอบสภาพร่างกายเท่านั้นที่พวกเขาต้องเจอ โดยผู้สมัครทุกคนยังจะต้องทำการเรียนปรับพื้นฐานในวิชาฟิสิกส์ของการเคลื่อนที่กันอย่างเข้มงวดอีกด้วย จนเวลาผ่านไปราว 4 เดือน ในวันที่ 13 กันยายน ปี 1962 เดกี สเลตัน (Deke Slayton) ผู้อำนวยการฝ่ายบุคลากรการบินของนาซ่า (NASA’s Director of Flight Crew Operations) ก็ได้ต่อสายตรงไปหาอาร์มสตรองเพื่อขอคำตอบรับการเป็นนักบินอวกาศให้แก่นาซ่า หรือพูดง่ายๆก็คือ อาร์มสตรองได้ผ่านหลักสูตรจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศกลุ่มที่ 2 ของการรับสมัครในครั้งนี้แล้วนั่นเอง แน่นอนอาร์มสตรองไม่ลังเล และตอบตกลงไป โดยผลการคัดเลือกนักบินอวกาศนี้จะถูกเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด จนเวลาผ่านไป 3 วันให้หลัง ในวันที่ 17 ของเดือนเดียวกัน นาซ่าจึงประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกของโครงการอวกาศเจมินีในรุ่นที่ 2 หรือที่รู้จักกันในนาม The New Nine ต่อสาธารณะชน แม้ว่าสื่อมวลชนได้เคยทำข่าวเอาไว้ตั้งแต่ปีก่อนหน้าแล้วว่า เขาจะต้องเป็นนักบินอวกาศพลเรือนคนแรกที่ถูกรับเลือกไว้แล้วก็ตาม ถึงยังไง อาร์มสตรองก็คือ 1 ใน 2 ของนักบินพลเรือนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าในกลุ่มนี้ โดยอีกคนก็คือ เอลเลียท ซี (Elliot See) ส่วนเพื่อนคนอื่นๆก็ต่างมีอดีตที่เคยเป็นนักบินเรืออากาศ (Naval Aviator) ทั้งสิ้น ซึ่งหากเทียบกับกลุ่มนักบินอวกาศรุ่นที่ 1 ของโครงการเจมินีเองแล้ว ต้องบอกได้เลยว่า กลุ่มนักบินอวกาศรุ่นที่ 2 หรือกลุ่ม The New Nine ของอาร์มสตรอง นั้นมีความเป็นวัยรุ่นหรือมีพลังหนุ่มที่ไฟแรงกว่า อีกทั้งพวกเขายังมีผลงานวิชาการที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นว่า นี่จึงทำให้ The New Nine ได้รับความสนใจในหลายๆสื่อ ว่าพวกเขานี้แหละ ที่จะกลายมาเป็นอนาคตอันแสนภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน ที่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในช่วงนั้น สหรัฐตกเป็นรองทางด้านอวกาศต่อสหภาพโซเวียตหลายด้าน

เจมินี 8: Gemini 8

ในวันที่ 16 มีนาคม ปี 1966 เจมินี 8 ก็ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ นำทีมโดย นีล อาร์มสตรอง และเดวิด สก็อตต์ (David Scott) และจากการเดินทางในครั้งนี้จึงส่งผลให้ อาร์มสตรอง ได้กลายมาเป็น พลเรือนชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ออกไปสู่อวกาศ แต่ถึงกระนั้นในหลักไมล์ของการแข่งขันทางด้านอวกาศในเรื่องนี้ ก็ยังคงตกเป็นความสำเร็จของ สหภาพโซเวียตในก่อนหน้านั้นอยู่ดี จาก วาเลนตีนา เตเรชโควา (Valentina Tereshkova) ซึ่งเธอได้กลายมาเป็นพลเรือนคนแรก และ เป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้เดินทางออกสู่อวกาศ ในวันที่ 16 มิถุนายน ปี 1963 หรือ 3ปีให้หลังจากที่ภารกิจเจมินี 8 ได้เริ่มเดินทาง อย่างไรก็ดีในภารกิจ เจมินี 8 ของอาร์มสตรองพวกเขาก็สามารถ ทำการเทียบท่าของสองยานอวกาศได้เป็นครั้งแรก ระหว่างยานอวกาศ เจมินี 8 และ อาจีนา (Agena target vehicle) แต่หลังจากทำการเชื่อมต่อได้ไม่นานพวกเขาก็ต้องประสบพบเจอกับเหตุฉุกเฉิน เมื่อยานอวกาศ เจมินี 8 กับ อาจีนา เริ่มค่อยๆหมุนตัวเองไปพร้อมๆกัน จากความพยายามเดินเครื่อง OAMS ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับการเปลี่ยนระดับวงโคจรของตัวยานให้สูงขึ้น จากนั้นอาร์มสตรองเห็นท่าว่าจะไม่ดี เขาจึงตัดสินใจปลดล็อคการเชื่อมต่อกับอาจีนาออก แต่กลับพบว่าตัวยานเจมินี 8 เองต่างหากที่เป็นต้นเหตุของการหมุนในครั้งนี้ เมื่อตัวยานเริ่มหมุนแรงขึ้นเรื่อยๆไปจนถึงจุดวิกฤตหรือ การหมุนประมาณ 1 รอบต่อวินาที ซึ่งเป็นการหมุนที่เร็วเอามากๆจนเกินกว่าที่ร่างกายมนุษย์จะทนไหว (จากภาพยนตร์อธิบายว่า หากหมุนไปแบบนั้นอีกเพียงไม่ถึงนาที พวกเขาอาจจะหมดสติได้) ณ เสี่ยววินาทีชีวิต อาร์มสตรองจึงตัดสินใจปิดการทำงานของเครื่องเปลี่ยนระดับวงโคจรลง และหันไปใช้ระบบขับดันทิศทางสามมิติ RCS หรือ Reaction Control System (ดังที่เคยประสบปัญหาคล้ายๆกัน ครั้งสมัยยังเป็นนักบินทดสอบให้กับเครื่องบินจรวด X-15) เมื่อสถานการณ์สงบลง นีล อาร์มสตรอง และ เดวิด สก็อตต์ ก็สามารถเดินทางกลับโลกมาได้อย่างปลอดภัย สรุปการเดินเนินงานในภารกิจ เจมินี 8 ก็คือ พวกเขาสามารถเชื่อมต่อยานในวงโคจรนอกโลกได้เป็นครั้งแรก และเป็นกรณีของการประสบปัญหาครั้งแรกของยานนอกอวกาศด้วยเช่นกัน ซึ่งต่อมาในภายหลังก็ตรวจพบว่า สายไฟของเครื่อง OAMS หรือเครื่องยนต์เปลี่ยนระดับวงโคจรของพวกเขาชำรุด จนเป็นเหตุทำให้หนึ่งในท่อขับแรงดัน ได้ทำงานผิดปกติไป และกลายเป็นที่มาของความไม่สมดุลในตัวยานเจมินี 8 นั่นเอง

อพอลโล 11 (Apollo 11)

หลังจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ อพอลโล 1 ทั้งนาซ่า และนักบินอวกาศต่างก็ทำงานกันอย่างหนัก ท่ามกลางความกดดันจากประชาชนที่เริ่มถาโถมเข้ามาใส่ และแล้วเวลาแห่งความท้าทาย ในขีดความสามารถของมนุษยชาติก็มาถึง ซึ่ง ณ ขณะนั้น แม้ว่าปฎิบัติการณฺ์ในครั้งนี้จะถูกมองว่ามันคือไพ่ไม้ตายของสหรัฐที่จะสามารถเอาชนะการแข่งขันทางด้านอวกาศกับสหภาพโซเวียตได้ก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์ก็กำลังจะได้ถูกจาลึกเอาไว้อย่างแน่นอน โดยนับตั้งแต่โคลัมบัสได้ค้นพบทวีปอเมริกา (เชิงเปรียบเทียบ) และในตอนนี้มนุษย์กำลังจะเดินทางออกจากโลกไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก สำหรับภารกิจอพอลโล 11 ของการไปดวงจันทร์ในครั้งนี้นำทีมโดย นีล อาร์มสตรอง, บัซซ์ อัลดริน (มนุษย์คนที่สองที่เหยียบดวงจันทร์) และ ไมเคิล คอลลินส์ (คนที่คอยควบคุมยาน โคจรรอบดวงจันทร์) พวกเขาถูกส่งตัวออกจากโลกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1969 โดยจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn V) และในวันที่ 20 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน พวกเขาก็เดินทางมาถึงดวงจันทร์และสามารถมารถปล่อยยานลูก ลงไปจอดยังพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยในเวลา 20:17 นาฬิกา (UTC) อาร์มสตรองก็สามารถเหยียบผิวของดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก นี้จึงส่งผลทำให้เขาได้กลายมาเป็น “มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์!”
อ่านเพิ่มเติม
https://www.sciways.co/first-man/

--

--

นักเดินทางข้ามเวลา
SCIWAYS
Editor for

ผู้เขียนบทความ/เรียบเรียง