ก้าวแรกสู่การเป็น Full-Stack Developer Junior ( สำหรับเด็กจบใหม่ )

Nithiphat Ksr
Stories of Sellsuki
4 min readDec 27, 2022

เด็กจบใหม่อย่างเรา จะสมัครงานที่ไหนดี ตำแหน่งงานไหนที่เหมาะสมกับเรา แล้วตอนสัมภาษณ์ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง พอได้ที่ทำงานก็จะมีคำถามขึ้นมาเพิ่มอีกว่า เราจะต้องเตรียมใจยังไงบ้างในการทำงาน และความรู้ที่เราได้ศึกษามา ณ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย จะเพียงพอต่อการทำงานหรือไม่

หลังจากที่เรารู้ว่าตัวเองเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว อาจจะรู้สึกเคว้งๆ ( เราจะต้องทำอะไรต่อ ต้องทำ Resume ยังไง สมัครงานที่ไหน แล้วจะต้องสมัครงานในตำแหน่งอะไร ) ผมเองก็เคยรู้สึกเคว้งเช่นกันครับ โดยผมอยากจะแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ สิ่งที่ต้องทำเลยก็คือการทำ Resume ครับ ข้อดีของการเริ่มทำ Resume เป็นอันดับแรกเลยคือจะทำให้เรา รู้และเข้าใจตัวเองว่าเรานั้นมีความรู้ความสามารถอะไรบ้าง รวมไปถึงทำให้รู้ว่าเรายังขาดความสามารถอะไรได้อีกด้วย โดยผมจะไม่ขอบอก ว่าเราจะต้องทำ Resume ยังไงให้ดีนะครับ ( ลอง search ใน Googleได้เลยครับผม มีเยอะมากๆ แถมเราจะได้ลองฝึกค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองอีกด้วย )

Photo by James Harrison on Unsplash

Passion

หลังจากที่เราทำ Resume เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเรื่องที่ผมอยากจะพูดคือเรื่อง Passion เด็กจบใหม่หลายๆคนอาจจะอยากรู้ว่า เราจะรู้ได้ยังไง ว่าจะชอบหรืออยากทำงานในตำแหน่งไหน รวมไปถึงผมเองก็ด้วย เพราะในสายงาน Technology มีหลากหลายมากจริงๆ โดยที่ผมเองเริ่มจากถามตัวเองก่อนเลยว่าเราอยากทำอะไรหรืออยากลองศึกษาอะไร แล้วก็เริ่มลงมือ search บน Internet เลยครับผม และต่อมาผมเริ่มรู้จักการเขียนเว็บไซต์ช่วงเรียนมหาลัยปีที่ 3 ได้เรียนพื้นฐาน HTML, CSS, JavaScript โดยที่ JavaScript จะเป็นสิ่งที่ผมไม่ถนัดที่สุดเลย ต้องอาศัยศึกษาด้วยตัวเอง และเรียนกับ course online ที่ลงเรียนเอาไว้ ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และก็เริ่มศึกษามันอย่างจริงจังและตั้งใจมากขึ้น พอถึงในช่วงที่ผมเริ่มสมัครงาน จะต้องผ่าน Final Interview มันยิ่งทำให้ผมมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไปอีกว่า ผมอยากเป็น Web Developer เพราะมีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะมากๆ ที่ผมยังไม่เคยรู้จัก รวมไปถึงผมยังไม่มีโอกาสได้ลองการทำงานเป็นทีมอีกด้วยครับ

สิ่งที่จะทำให้เราหาตัวเองได้ง่ายที่สุด ( จากแนวคิดของผมเองนะครับ ไม่ได้หมายความว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่สุด )

  • เราถนัดสิ่งไหน
  • เราชอบอะไร
  • ลองศึกษาหาข้อมูล
  • ลงมือปฏิบัติ

อย่างแรกคือเราถนัดอะไร ให้เราถามตัวเองหรือสังเกตตัวเองก็ได้นะครับ ว่าเราถนัดอะไร เช่นถนัดเขียน Code, ถนัดเขียน Diagram, ถนัด Design UX/UI, ถนัด Research หาข้อมูล หรือถนัดอะไรก็ได้นะครับ เมื่อเรารู้แล้วว่าเราถนัดอะไร ลองตั้งคำถามกับตัวเองเพิ่มด้วยอีกว่า เราชอบมันจริงๆมั้ย ถ้าไม่ชอบก็ลองมองหาสิ่งใหม่ที่ชอบ และเริ่มลงมือศึกษามันเลยนะครับ ( ต้องลงมือปฏิบัติด้วยนะครับ จะทำให้เข้าใจมันมากยิ่งขึ้น ) ส่วนคนที่รู้แล้วว่าเราชอบอะไร เราอยากทำมันจริงๆ เหมือนกันเลยครับผม คือต้องลงมือศึกษามันเลย พร้อมกับลงมือปฏิบัติไปด้วย

แต่ถ้าใครลองศึกษาแล้วลงมือปฏิบัติแล้วยังพบว่า มันยังไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ก็ให้เรากลับไปถามตัวเองใหม่อีกรอบ ว่าเราชอบหรืออยากทำอะไร และก็ลงมือศึกษามันเช่นเดิมเลยครับผม ( ผมเชื่อว่ามันจะต้องมีสิ่งที่เราชอบ และสิ่งที่เราถนัดเป็นแน่ อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่มันคุ้มค่าที่จะทำมันแน่นอนครับผม )

Don’t stop until you’re proud.

หลังจากที่เรารู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้ว ถ้าสังเกตดีๆผมจะเน้นย้ำเรื่องของการศึกษาหาข้อมูลเยอะมากๆ พอเราเริ่มมีความรู้มากยิ่งขึ้น เราก็เริ่มจำเป็นที่จะต้องวางแผนว่าเราอยากจะทำงานในตำแหน่งไหนในอนาคต เพื่อสร้างแรงจูงใจรวมถึงแรงบันดาลใจเพื่อให้เราไปถึงฝันของเรานั่นเอง

Inspiration usually comes during work, rather than before it.

Mindset

ต่อมาเป็นเรื่อง Mindset โดยผมเองชอบศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะในช่วงที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในช่วงมหาวิทยาลัย ผมยอมรับเลยครับ ว่าผมเป็นคนที่เรียนไม่เก่ง เลยต้องอาศัยศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองมาตลอด แต่ในการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ก็แอบมีข้อเสียอยู่เหมือนกันนะครับ คือการที่เราหาข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนเว็บไซต์ เราจะเจอกับ Framework อย่าง React, Express และตัวอื่นๆที่กำลังเป็นที่นิยม ด้วยความที่เราก็เห็นว่า Framework เหล่านี้เป็นที่นิยมอยู่ เลยเริ่มที่จะศึกษามันเลย โดยที่ไม่ได้ดูเรื่องปัจจัยอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการศึกษาข้อมูลหรือ Framework เหล่านั้น ใช่ครับมันดีมากๆเลย ถ้าเราได้ศึกษา Framework ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ เพราะจะมีแหล่งข้อมูลมหาศาลที่จะทำให้เราเพลิดเพลินกับการอยากลองของใหม่ๆ และตัดสินใจที่จะใช้มันได้ง่ายๆ โดยที่เราอาจจะมองข้าม Basic หรือ Life Cycle ของ Framework นั้นๆไปเลยก็ได้ เพราะยิ่งมีแหล่งข้อมูลมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่ง Copy มากขึ้นเท่านั้น เท่ากับว่าเราก็จะยิ่ง Copy Source Code เหล่านั้นมาใช้งานโดยที่เราเองก็ยังไม่ทราบถึงการทำงานพื้นฐานเหล่านั้นเลยด้วยซ้ำ ผมเริ่มได้คำแนะนำจากพี่ๆที่ทำงาน และเริ่มปรับตัว ทำตามที่พี่ๆเขาแนะนำมา คือไม่ว่าเราจะทำระบบแบบไหน เราถนัดภาษาอะไร เราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าระบบที่เรากำลังจะทำนั้น ทำไปเพื่ออะไร จากนั้นเราค่อยเริ่มหาเครื่องมือ ซื่งก็คือ Framework หรือ ภาษาที่เราจะนำมาพัฒนาระบบของเรา ว่ามีตัวไหนบ้างที่ตอบโจทย์ในการนำมาพัฒนาระบบของเรานั่นเอง ( เลือกมาหลายๆตัวเลย ) จากนั้นเราก็เริ่มวาง Scope ให้มันแคบลงด้วยการเปรียบเทียบว่า Framework หรือ ภาษาที่เราเลือกมานั้น มีข้อดีหรือข้อเสียต่างกันอย่างไร Performance ต่างกันมากน้อยแค่ไหน แล้วตอบโจทย์กับการนำมาพัฒนาระบบของเราจริงหรือไม่ โดยในขั้นตอนที่ผมเกริ่นมายาวๆเนี่ย ผมจะขอเรียกมันว่าการ Research นะครับผม ไม่ใช่การ Search ทั่วๆไปนะครับ ( โดยในส่วนนี้ผมจะขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ ต้องลองไป Research ดูแล้วนะครับ ว่ามันต่างกันยังไงบ้าง ) งั้นแปลว่าเราจะต้องรู้จักตั้งคำถามให้มากขึ้น ขี้สงสัยให้มากขึ้น เพราะยิ่งเรามีคำถามที่มากขึ้น เราก็ต้องการที่จะหาคำตอบมากขึ้นเช่นกันใช่มั้ยล่ะครับ นั่นแปลว่าเราจะได้อีกหนึ่งแนวทางในการหาความรู้เพิ่มเติมนั่นเองครับ

หลังจากที่เรามีความคิดที่จะเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งความคิดที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การคิดบวก เราอาจจะเคยรู้สึกผิดหวังจากงานที่เราทำ เราพยายามแล้ว เราเต็มที่แล้ว ทุกคำพูด ทุกประสบการที่เราเคยผิดพลาด คือแรงพลักดันชั้นยอดที่จะทำให้เราแกร่งขึ้นในวันข้างหน้า อย่ามองว่ามันคือความผิดพลาดที่ไม่อาจแก้ไขได้ แต่ลองมองว่าความผิดพลาดที่เราเจอนั้น ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่สอนให้เรารู้จักข้อผิดพลาดของตนเอง เพื่อให้เรานำความผิดพลาดเหล่านั้นมาพัฒนาและแก้ไขตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น

Every moment is a fresh beginning.

Photo by Iewek Gnos on Unsplash

NSL — Never Stop Learning

หัวข้อนี้ผมอาจจะเกริ่นไปตั้งแต่ในหัวข้อ Mindset ไปแล้วบ้าง ก็คือการหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองโดยไม่หยุดที่จะเรียนรู้นั่นเอง แต่ในหัวข้อนี้ผมจะขอลงรายละเอียดเพิ่มอีกหน่อย เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น รวมถึงอาจจะเป็นแนวทางให้ใครหลายๆคน ใช้วิธีเหล่านี้ในการพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นด้วยนะครับ โดยผมได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ผมค่อนข้างเรียนไม่เก่ง เลยต้องขยันให้มากขึ้นกว่าคนอื่นๆ ผมเริ่มที่จะศึกษาข้อมูลด้วยตนเองช่วงมหาลัยปีที่ 2 เพราะในช่วงมหาลัยปีที่ 1 จะได้เรียนเกี่ยวกับ Basic Programing เพื่อเพิ่ม Logical ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้ Logical ค่อนข้างมาก และยากมากด้วยครับ ( ผมเริ่มมีบทเรียน ว่าเรายังไม่เก่ง เลยต้องหาวิธีศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติม ) ผมเรียนจนมาถึงช่วงมหาลัยปีที่ 3 ผมได้ลงเรียนวิชา Web Development ผมรู้สึกชอบวิชานี้มากก เป็นวิชาแรกๆเลยที่ผมรู้สึกว่าเรียนแล้วเข้าใจจริงๆ มีความรู้ไปสอบ รวมไปถึงนำความรู้ที่ได้เรียนไปทำโปรเจคจบด้วย ซึ่งโปรเจคจบของผม ผมใช้ PHP เป็น Backend ส่วน Frontend ผมเขียนเป็น HTML แบบ Native แล้วก็ใช้ AdminLTE มาเป็นส่วน theme หลักของระบบ จากนั้นผมก็เริ่มศึกษาเพิ่มอีกว่า มีภาษาหรือ Framework ไหน ที่นำไปพัฒนา Website ได้บ้าง ที่ผมเริ่มศึกษาในตอนนั้นก็จะมี JavaScript, React, Laravel, Node.js ปัจจุบัน พอได้เริ่มทำงาน ผมก็ศึกษาสิ่งที่จำเป็น ที่จะต้องใช้ในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆครับ

โดยส่วนใหญ่ที่ผมศึกษาด้วยตัวเอง ผมจะศึกษา Basic ต่างๆ เช่น HTML, CSS, JavaScript จาก Website นี้เลยครับ

จากนั้น พอเราเริ่มมีพื้นฐาน หรือเป็น Basic ของภาษานั้นๆแล้ว ผมก็จะใช้ Website นี้ในการดูรายละเอียด คำสั่งต่างๆ ของภาษา HTML, CSS, JavaScript ( ส่วนใหญ่จะได้ใช้แบบจริงจัง ตอนที่ผมหาคำสั่งใหม่ๆ ที่ผมยังไม่เคยใช้มาก่อนครับ )

แล้วสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย ก็คือ Docs หรือ Document ของภาษาหรือ Framework นั้นๆนั่นเองครับ อย่าง Vue.js ก็จะมี Website Official ก็คือ

พอเรารู้แล้วว่า เราจะต้องศึกษาและหาข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง เราจะต้องค่อยๆเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในด้านการศึกษาความรู้เหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ( ทุกสิ่งที่เราเคยเรียน เคยศึกษา หรือพบเจอมา ล้วนแต่เป็นประสบการณ์ทั้งสิ้นเลยครับ ) ยิ่งเราสะสมประสบการณ์มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีประสบการมากขึ้นเท่านั้น ( ใช่ครับ ทำไมผมถึงพูดซ้ำอีกครั้งล่ะ ) เพราะประสบการณ์จะคอยเป็นเครื่องขับเคลื่อนให้กับเราในหลายๆด้าน มีทั้งประสบการณ์ที่ดี และประสบการณ์ที่เราเคยผิดพลาด เราจะใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในการทำงาน แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมไปถึงใช้ในการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย

เมื่อเรามีเป้าหมายที่อยากจะทำงานในสายงาน Developer แล้วล่ะก็ เราจะต้องรู้จักที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ชื่อ Developer ก็น่าจะบอกได้อยู่แล้วนะครับ ว่าคือนักพัฒนาหรือผู้พัฒนา ถ้าเราไม่พัฒนาตนเอง เราเองก็ไม่อาจที่จะนำความรู้ของเรา ไปพัฒนาอะไรต่อได้

Never stop learning, because life never stops teaching.

Photo by Tim Mossholder on Unsplash

Up Skills

ผมชอบลงเรียน course online ซึ่งผมลงไว้เยอะมาก ผมยอมรับตามตรงเลยว่า ผมเรียนไม่หมด555+ ผมเริ่มลงเรียน course online ตอนช่วงเรียนมหาลัยปีที่ 3 ช่วงนั้นมีเวลาเรียน และก็ศึกษาควบคู่ไปกับการหาข้อมูลทั้งบน Google และ Youtube ครับผม แต่ตอนนั้นก็ยังต้องโฟกัส เนื้อหาที่เรียนในมหาลัยด้วย ซึ่งเยอะมากๆ แต่หลังจากเรียนจบ บอกได้เลยครับว่าจะเหลือเวลาน้อยลงแน่ๆ ( แต่ถ้าเราแบ่งเวลาได้ดี เราก็จะมีเวลาเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองแน่นอนครับ ) ข้อดีของการลงเรียน course เรียนต่างๆ คือจะทำให้เรารู้และเข้าใจได้ไวมากยิ่งขึ้นครับ เพราะผมเชื่อเลยว่าผู้สอนทุกๆคน จะต้องเรียบเรียงข้อมูลในการสอนเสมอ แต่การที่เราหาข้อมูลและศึกษาด้วยตัวเอง อาจจะศึกษาจากตำราต่างๆ หรือ search บน Google รวมไปถึงหาดูบน Youtube ล้วนแต่มีข้อดีทั้งนั้น หากเรามีความพยายามที่อยากจะเรียนรู้ เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าเราสามารถเก่งขึ้นได้จริงๆ ถ้าเราทำมันด้วยความตั้งใจ ต่อมาผมจะขอเล่าประสบการที่ผมเจอ ณ ที่ทำงาน ที่ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองนอกเหนือจากการเรียน course online และในตำราเรียน คือพี่ๆที่ทำงานทุกคน ค่อนข้างมีแนวคิดที่ดีมากๆเลยครับ โดยที่นี่จะทำงานในรูปแบบของ Scrum โดยในช่วงที่ปิด Sprint พี่ๆก็จะบอกกับผมเลยว่า เราสามารถที่จะเอาเวลาที่เหลือในส่วนนี้ ไปศึกษาหาความรู้เพื่อ Up Skills ของเราเพิ่มได้นะ โดยในช่วงที่ผมทำงานแรกๆ ผมจะใช้เวลาในส่วนนั้น ไปศึกษาเกี่ยวกับ Framework ต่างๆที่ผมจะต้องใช้เพื่อการทำงาน ( Framework ที่ทีมใช้พัฒนา Software ครับผม ) ก่อนอื่นเราลองตั้งเป้าหมายเล็กๆ ว่าวันนี้เราจะอยากจะศึกษาค้นคว้าอะไร ( ไม่จำเป็น ที่จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ Development ก็ได้นะครับ อาจจะเป็นการตั้งเป้าหมายว่า เราจะเริ่มออกกำลังกาย 2 วันต่อสัปดาห์ก็ได้เช่นกันครับผม ) แล้วก็ทำตามเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้

ในช่วงเดือนแรกของการเริ่มงานของผม ผมต้องศึกษาเกี่ยวกับ Vue.js, JavaScript เพิ่มเติมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และศึกษา Nest.js, TypeScript, Go อีก 2 สัปดาห์ ( ที่ผมต้องศึกษาทั้ง Frontend และ Backend เพราะผมเป็น Full-Stack นั่นเองครับ ก็จะแอบเยอะหน่อยครับ555+ ) โดยผมก็จะใช้สิ่งที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้นทั้งหมด ในช่วง 1 เดือนแรกของการทำงานเลยครับ ศึกษาข้อมูลจากการ search บน Google และเรียน course online บวกกับเราจะต้อง Active อยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น พยายามสร้างแรงบันดาลใจจากพี่ๆที่ทำงาน ว่าเราอยากเก่งเหมือนกันพวกพี่ๆเขา ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ต่อมาผมก็เริ่มที่จะเรียนรู้จากการเริ่มทำงานจริงๆบ้าง ว่าทำ API ด้วยภาษา Go ยังไง ต้องศึกษาเกี่ยวกับ Clean Architecture รวมไปถึงพัฒนาด้าน Logical เพิ่มจากการทำงานจริงๆด้วยครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะขอให้กำลังใจ กับผู้อ่านทุกคนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย หรือใครที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ รวมถึงตัวผมเองในอนาคตด้วย ว่าเมื่อใดที่เรารู้สึกท้อ หรือผิดหวังกับอะไรก็ตามแต่ ขอให้บทความนี้ช่วยเติมไฟและกำลังใจให้กับผู้อ่านทุกๆคน มีพลังในการทำงานและการใช้ชีวิตต่อไปนะครับผม สู้ๆ✌🏻

There is no success without effort and time.

สรุป

  • Passion เข้าใจตนเองให้มากขึ้น ค้นหาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก ศึกษามันด้วยความตั้งใจ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมทั้งค้นหาแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นแรงผลักดัน ให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
  • Mindset รู้จักตั้งคำถาม สงสัยให้มากขึ้น ศึกษาหาข้อมูล เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คิดบวกเข้าไว้😊
  • NSL — Never Stop Learning ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์
  • Up Skills พัฒนาตนเองอยู่เสมอ พยายามให้มากยิ่งขึ้น จัดสรรเวลาให้ดีมากขึ้น

ขอบคุณทุกคนมากๆเลยนะครับ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ จนจบบทความแรกในชีวิตของผมเลย ผมพยายามเรียบเรียงให้ทุกคนที่อ่าน เห็นภาพเหมือนกับสิ่งที่ผมเจอหรือประสบพบเจอมา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งเลยว่าบทความนี้ อาจจะเป็นแนวทางๆเล็กให้ทุกคนที่เข้ามาอ่าน ได้รับความรู้ไปเพิ่มไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณครับ

📢 มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้วงการ E-Commerce ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ส่งประวัติการทำงานพร้อมตำแหน่งงานที่คุณสนใจมาได้เลยที่อีเมล hr@sellsuki.com หรือเข้าชมเว็บไซต์ของเราที่ https://lnkd.in/gUqNHSEW 🐶

--

--