Facebook ตอกย้ำฉันอีกครั้งว่า “เครื่องจักรผลิตเงินไม่มีจริง”

Kansapat Asawarujanon
Stories of Sellsuki
2 min readJan 7, 2017
เครื่องจักรผลิตเงิน — ปาฐิหาริย์ไม่มีจริง

ใจความสำคัญ
- ความเข้าใจผิดของคนทั่วไป กับการขายของบน Facebook
- ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เจอมา
- ทุกอย่างบนโลกนี้ยุติธรรมเสมอ ทุ่มเทมาก ก็ได้ผลกลับมามาก
- เบื้องหน้าคือความเรียบง่าย เบื้องหลังคือความซับซ้อน คือกุญแจของทุกแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมาก ที่เคยคิดว่า Facebook คือ platform ที่สุดแสนอัศจรรย์ เปลี่ยนคนธรมดาให้เป็นคนดัง เปลี่ยนคนจนให้กลายเป็นเศรษฐี ขอเพียงแค่โพสต์ง่ายๆ สร้างเนื้อหาให้กระแทกใจหน่อย ถ่ายรูปสินค้าแชะๆ แล้วรอคนมาไลค์เยอะๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถขายของออนไลน์ได้แล้วเป็นกอบเป็นกำ — สิ่งเหล่านี้เป็นภาพความสำเร็จที่เราเห็นกันเสมอ

ลามไปจนถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่บนโลกออนไลน์ ที่หวังจะมาขุดสมบัติจาก Facebook คาดหวังกับมันไว้เกินความเป็นจริง ซึ่งมันไม่ผิดหรอก เพราะในเมื่อภาพความสำเร็จจากการขายของและทำโฆษณาออนไลน์มันช่างดูหอมหวนขนาดนั้น ผู้คนมักมอบหมายภารกิจมาให้ผู้เขียนทำ (ในฐานะนักการตลาดออนไลน์) ด้วยโจทย์คล้ายๆ กันคือ มีงบให้ XX,XXX บาท คุณมุกช่วยทำให้มันกลายเป็น XXX,XXX บาท ภายใน 1 เดือนนี้ที

เห้ย… นี่มันคือฟังก์ชั่นของ “เครื่องจักรผลิตเงินเลยนี่หว่า”
ถ้าเราทำได้เองแบบนี้ เราคงลาออกไปผลิตเงินที่บ้านเป็นของตัวเองแล้วเปล่าวะ?

(ประโยคติดตลกที่ผู้เขียนมักจะพูดกับรุ่นน้องร่วมทีมเสมอ เวลาได้รับมอบ KPI แปลกๆ)

“คุณมุก ช่วยปั๊มเงินให้พี่หน่อยสิ ภายใน 1 เดือนนี้เลยนะ ใจพี่ร้อน”

พอจะนึกออกมั้ย? การอยากได้เงินแสนโดยฝากความหวังไว้กับคนกดโฆษณา กดๆ คลิกๆ หากลุ่มเป้าหมาย มันก็เหมือนกับให้เรือลำนึงที่ตกแต่งอย่างสวยงามที่เจ้าของ (และผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ที่คิดว่ามันดี) มอบเรือลำนี้ให้คนกดโฆษณาขับออกไปล่าปูยักษ์อลาสก้าในทะเลที่คลั่งที่สุดในโลกอย่าง Bering Sea

ในทะเล Bering Sea คุณจะขี่เรือที่คุณคิดเอาเองว่าเท่ ไม่ได้หรอก

สิ่งที่คุณต้องการคือเรือเดินสมุทรที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงโครตๆ ความสวยช่างมันก่อน แต่ต้องมีกำลังขับเคลื่อนที่ดีมาก ต้องมีอุปกรณ์จับ มี Hook ที่แข็งแรง บรรทุก “เหยื่อล่อ” ที่มีความน่าสนใจมากพอที่จะล่อปูยักษ์มาติดกับได้

ที่ผ่านมา นักกดโฆษณาออนไลน์มาถึงก็จะได้รับเรือมา (Content ที่ใช้ทำโฆษณา) แล้วให้ออกทะเลเลย ไม่มีสิทธิ์ได้ออกแบบเรือและเลือกเหยื่อล่อด้วยตัวเอง (ออกแบบ Branding strategy และ content ที่ใช้ทำโฆษณา) มันจึงไม่แปลกเลยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เวลาไปจ้างเขาลงโฆษณาแล้วมันจะแป้ก เว้นเสียแต่ว่านักกดโฆษณาได้มีสิทธิ์เข้าไปร่วมออกแบบเรือพร้อมเหยื่อนั้นตั้งแต่แรก

ความสวยและความเพ้อเจ้ออาจจะไม่มีประโยชน์ ถ้าฟังก์ชั่นในการจับปลาและการเผชิญสภาพอากาศไม่ตอบโจทย์
บรรยากาศการจับปูยักษ์อลาสก้า — นักล่าควรได้ร่วมออกแบบเรือและเลือกเหยื่อจับปูด้วยตัวเอง

แล้วภาพที่เราเห็นว่าโพสต์ง่ายๆ โง่ๆ แต่รวยมาก คืออะไร?

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ กฏข้อนี้เป็นจริงเสมอ คนทั่วไปไม่มีใครรวยเปรี้ยงมาตั้งแต่เดือนแรก เว้นเสียแต่ว่า เค้าคนนั้นจะมีทีมงานที่เก่ง มีงบให้ลองทดสอบโฆษณาโดยหวังเพียงแค่ “หาแนวทางที่ใช่” ไม่ใช่ “ยอดขาย” ไปก่อนในช่วงแรก ส่วนคนทั่วไปที่ขายแล้วรวย เกิดจากการทดลอง+ลงมือทำมาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีถึง 2 ปี ดังนั้นการหวังยอดขายตั้งแต่ 3 เดือนแรกจึงเป็นอะไรที่ “ออกเรือไปล่าปลาโดยที่ยังไม่เคยทดสอบสมรรถภาพเรือของตัวเอง” เลย

ถ้าคุณจำภาพความสำเร็จจากคนอื่น โปรดจำไว้ว่า คุณกำลังจะออกไปล่าปลาเหมือนคนอื่น เพียงแต่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เค้ากำลังล่าปลาชนิดไหน? เค้ามีอุปกรณ์เหยื่อล่ออะไรอยู่บนเรือ? เค้าเจอพายุมาแล้วกี่ครั้ง? เค้ามีอุปกรณ์กู้ชีพอะไรบ้าง? ภาพที่คุณเห็น คือภาพสุดท้ายที่เค้ากลับเข้าฝั่งโดยมีปลาเต็มเรือ เท่านั้นเอง

ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นตอนประสบความสำเร็จแล้ว ยิ้มแฉ่ง เข้าฝั่ง

เบื้องหน้าคือความเรียบง่าย เบื้องหลังคือความซับซ้อน

ทุกแคมเปญโฆษณาออนไลน์ที่เราเห็นว่าเจ๋งดี ตรงใจ น่าซื้อ ที่ดูเหมือนว่ามันจะคิดมาอย่างง่ายๆ แต่เอาจริงๆ แล้วมันคือแคมเปญที่คิดมาอย่างหนัก
นักการตลาดออนไลน์ที่ดีต้องอย่าดูถูกผู้บริโภค” คิดให้แตกว่าอะไรคือ pain ของผู้บริโภคที่แท้จริง อะไรคือตัวตนของเค้า (อย่ามโนไปเอง แต่ต้องการเกิดจากการศึกษาพฤติกรรม) เพราะถ้าคุณคิดว่าตัวเองรู้จักกลุ่มลูกค้าด้วยการมโน message ของคุณในเวลานำเสนอตามสื่อ จะให้เกิดความรู้สึกเหมือน “ดูถูกลูกค้า” หรือ “เฟคๆ” โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าคุณศึกษามาดีแล้ว คุณก็จะสามารถสื่อสารในภาษาเดียวกับพวกเค้า จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำไปสู่การซื้อในสุด ซึ่งขั้นตอนการค้นหาสิ่งเหล่านี้แน่นอนว่าใช้เวลามากกว่า 1 เดือนขึ้นไปแน่ๆ

การคิดไปเองว่ารู้จักลูกค้าดี อาจทำให้เกิดหายนะเป็นโดมิโน ไล่ไปตั้งแต่การทุ่มเงินทำ branding แบบผิดฝาผิดตัว key message ที่สื่อออกไปแบบไม่โดนใจ ไปจนถึงเสนอสินค้าที่ดีมีคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ผิดคน

ดังนั้น อยากจะสรุปง่ายๆ ว่า เครื่องปั๊มเงินไม่มีจริง ภาพที่เห็นว่าสำเร็จคือผ่านการค้นหา-ทดลอง-ลงมือทำ อย่างหนักตลอดเวลา เพียงแต่ว่าหน้าฉากจะต้องดูเหมือนเรียบง่าย ซื้อง่าย ขายคล่อง เท่านั้นเอง โลกออนไลน์คือละครเวที ลูกค้าคือผู้ชมที่เข้ามาดู และเรานำเสนอแต่ความสะดวกสบายและน่าประทับใจ ถ้าคุณคุมหลังเวทีที่แสนอลม่านได้ การได้ค่าตํ๋วจากผู้ชมหน้าฉากหลักแสนหลักล้าน ก็ตามมา — มีแต่คุณเท่านั้นที่รู้ ว่าตัวเองเจอพายุอะไรมาบ้าง

สวัสดีปีใหม่ค่ะ
ขอให้เป็นปีที่คนอยากรวยด้วยโลกออนไลน์
เจอพายุที่น่าสนุกนะคะ

--

--

Kansapat Asawarujanon
Stories of Sellsuki

Social Media: a place where an introvert digital marketer can be extrovert.