[ลองสรุป] การลงทุนด้านความรู้ของคุณ — จากหนังสือ The Pragmatic Programmer

Karan Sivarat
Siam Chamnankit Family
4 min readFeb 13, 2021

ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสปรับตารางเวลาของตัวเอง ให้มีเวลาได้อ่านได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ Blog หรือ Youtube ที่สอนในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในบริการที่ผมซื้อไว้แต่ไม่ค่อยได้ใช้อย่างเช่น การฟังหนังสือเสียงจาก Audible ก็เป็นอีกอันนึงที่ผมได้มีเวลากับมันมากขึ้น และหนังสือที่ชื่อว่า The Pragmatic Programmer ก็โผล่เข้ามาในกลุ่มหนังสือที่คุณน่าจะสนใจ ซึ่งผมคุ้น ๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่เก่ามาก ๆ (เห็นว่าพึ่งออก Version ใหม่มา) และเห็นหลายคนที่ผมติดตาม และหลาย ๆ คนที่ผมเคารพมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นหนังสือที่ต้องอ่านให้ได้ถ้าคุณคิดจะเป็น Programmer ผมจึงกดซื้ออย่างไว หลังจากเริ่มฟังไปได้สัก 3–4 ส่วน จึงได้พบว่าที่หลาย ๆ คนพูดนั้นไม่ได้เกินจริงเลย หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มนึงที่ Programmer ทุกคนควรอ่านจริง ๆ มันพูดถึงการที่จะพัฒนาตัวเองไปจนเป็น Programmer ที่ดี พูดถึงสิ่งที่ต้องคิด ต้องทำ ต้องฝึกฝนในเรื่องไหนบ้าง (ช่วงนี้มีโอกาสฟังนิ้วกลมตอนเช้าเรื่องการเปลี่ยนนิสัยด้วยยิ่งอินเลย) ผมจึงอยากเป็นคนนึงที่มีโอกาสได้ชักชวนให้ทุกคนได้ไปหามาอ่านกัน แต่เนื่องด้วยผมเป็นคนที่สรุปแบบย่อ ๆ ย่อย ๆ ไม่เก่ง ผมเลยเลือกที่จะหยิบบทที่ผมฟังแล้วชอบมา #ลองสรุป ตามรูปแบบของผมดู และหวังว่าเมื่อทุกคนได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนนี้ ทุกคนจะสนใจเข้าไปอ่านเนื้อหาบทอื่น ๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ แล้วมาช่วยกันทำให้เกิด Programmer ดี เกิดเพื่อนร่วมอาชีพเก่ง ๆ เยอะ ๆ ทำงานอย่างสนุกสนาน ตามความตั้งใจแรกของเราที่กลายมาเป็น Programmer กันนะครับ

https://pragprog.com/titles/tpp20/the-pragmatic-programmer-20th-anniversary-edition/

เริ่มกัน

การลงทุนในความรู้ ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเสมอ — An investment in knowledge always pays the best interest. — Benjamin Franklin

คำแปลจาก https://www.pinterest.com/pin/488640628299223092/

ความรู้เป็นสิ่งที่มีโอกาสหมดอายุได้ ยิ่งงานที่คุณทำเกี่ยวข้องกับ Technology แล้วด้วย ทุก ๆ วันนี้มีทั้ง Technology ใหม่ ๆ ภาษาโปรแกรมใหม่ ๆ หรือแม้กระทั้ง Environment ที่ใช้ในการพัฒนาเองก็ออกมาใหม่มาตลอด การเปลี่ยนแปลงของโลกบังคับให้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่คุณมี กลายสิ่งที่ล้าสมัย แถมมันยังดูเหมือว่ามันจะล้าสมัยอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วอีกด้วย (รู้จักมันยังไม่เท่าไหร่เลย มีของใหม่ที่เขาว่าดีกว่าออกมาอีกแล้ว)

และเมื่อคุณค่าในองค์ความรู้ของคุณลดลง คุณค่าของคุณกับองค์กร หรือลูกค้าก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งในฐานะที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโลกนี้ เราจำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา

ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เลยกลายเป็นความสามารถที่มีค่าและสำคัญยิ่งกับเรา แต่คุณรู้ได้ยังไงว่าวิธีการเรียนรู้ที่ดีทำได้อย่างไร หรือคุณจะรู้ได้ยังไงว่าต้องเรียนอะไรบ้าง

พอร์ตการลงทุนด้านความรู้ของคุณ

เราชอบคิดกันว่า Programmer ต้องรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องรู้เกี่ยวกับ Domain ของ Application ที่พวกเขาทำอยู่ และประสบการณ์ต่าง ๆ ของพวกเขา ก็จะกลาย พอร์ตความรู้ของพวกเขาเอง แต่การจะจัดการองค์ความรู้ และสะสมมันไว้เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ ก็มีแนวคิดที่คล้ายกับการจัดการ พอร์ตการลงทุนทางการเงิน โดยที่

  1. นักลงทุนที่แท้จริง จะลงทุนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
  2. การกระจายความเสี่ยงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาว
  3. นักลงทุนที่ชาญฉลาด จะสร้างสมดุลย์ระหว่างการลงทุนที่ได้ผลลัพท์แน่นอน กับการลงทุนแบบถึงแม้ว่ามันจะที่ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วย
  4. นักลงทุนพยายามที่จะลงทุนซื้อให้น้อย แต่ขายให้ได้ราคาสูง เพื่อผลตอบแทนสูงสุดที่ควรได้
  5. มีการทบทวนและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเป็นระยะ

เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคุณ คุณก็ควรที่จะลงทุนในองค์ความรู้โดยใช้แนวทางเดียวกันนี้

ข่าวดีก็คือการจัดการในการลงทุนแบบนี้เป็นทักษะ ซึ่งก็เหมือนกับทักษะอื่น ๆ คือ เราสามารถที่เรียนรู้มันได้ เคล็ดลับก็คือ คุณต้องเริ่มที่จะทำมัน และสร้างมันจนเป็นนิสัย โดยการค่อยปรับเปลี่ยนและพัฒนากิจวัตรประจำวันที่คุณจะปฏิบัติ จนกว่ามันจะซึมเข้าไปในสมอง และร่างกายของคุณและเมื่อถึงจุดนั้นคุณจะพบว่าคุณจะสามารถซึมซับความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างอัตโนมัติทีเดียว

สร้างพอร์ตการลงทุนด้านความรู้ของคุณ

  • ลงทุนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย (Invest Regularly) — ทำเหมือนกับที่เขาลงทุนด้านการเงิน เราจำเป็นจะต้องลงทุนในด้านความรู้ อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อยก็ตาม สิ่งสำคัญจริง ๆ คือการสร้างนิสัยให้กับตัวเราเอง เพราะฉะนั้นการวางแผนแบบที่กำหนด เวลาที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ (ลองฟังเพิ่มจากเรื่องเล่าที่ 1 ของ “EP9: ฟัง 4 เรื่องนี้จบ คุณจะได้นิสัยใหม่ | Have a nice day! กับ นิ้วกลม” ในประมาณนาที่ 10:30 หรือถ้าจะแนะนำก็ฟังทั้ง EP เลยก็ได้) รวมถึงทำยังไงให้สามารถทำมันได้ง่ายที่สุดโดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง
นาทีที่ 10:30 พูดถึงงานวิจัยเทียบคนที่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการทำบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองมีโอกาสสำเร็จมากกว่าไม่ได้กำหนด
  • สร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ (Diversity) — ยิ่งสิ่งที่คุณรู้แตกต่างมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีคุณค่าเท่านั้น แน่นอว่าคุณจำเป็นต้องมีความรู้ในงานที่คุณทำอยู่ แต่อย่าพึ่งหยุดไว้แค่นั้น ความจริงเกี่ยวกับ Technology คือมันเปลี่ยนบ่อยมาก สิ่งที่เป็น Technology ที่ทุกคนพูดถึงในวันนี้ สำหรับวันพรุ่งนี้ อาจจะใช้ไม่มีคนสนใจจะใช้มัน (หรือคนอาจจะสนใจน้อยลงเพราะมีที่ใหม่กว่า) ยิ่งคุณถนัดใน Technology ที่แตกต่าง ๆ กันมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีกับคุณในการที่คุณสามารถที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับกับสิ่งใหม่ ๆ มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่ายังมีทักษะอื่น ๆ ที่คุณต้องใช้ในการทำงาน รวมถึงทักษะที่ไม่ได้เป็น Technical ด้วยอยู่เหมือนกัน
  • จัดการความเสี่ยง (Manage Risk) — ด้วย Technology ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากมาไวไปไว แล้วหลาย ๆ Techonoloy ก็เป็นพวก Technology เปลี่ยนโลกถ้ามันสำเร็จเราก็ได้ประโยชน์จากมันเยอะ แต่มันอาจจะเป็นคำว่า ถ้า ที่ตัวใหญ่มาก ๆ ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน หรือเป็นของพื้น ๆ ที่ประโยชน์จากมันไม่ได้ชัดเจน แต่การลงทุนในมันก็ไม่ได้สูงมากเช่นกัน มันคงไม่ใช้วิธีการลงทุนที่ดีที่จะเสียเงิน เสียเวลา ทั้งหมดไปกับ หุ้นที่มีความเสี่ยงสูง ๆ เพราะนั่นอาจจะหมายถึงไม่เหลืออะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปลงทุนกับของที่ความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นก็หมายถึงการเสียโอกาสไปไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นอย่าลงทุนทรัยากรทั้งหมดลงไปในกลุ่มเพียงกลุ่มเดียว
  • ลงทุนให้น้อย ให้ได้ผลตอบแทนเยอะ ๆ(Buy Low, Sell High) — เรียนรู้ Technology ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ก่อนที่มันจะกลายเป็น Technology ที่มีคนใช้อย่างแพร่หลาย นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่มันก็ให้ผลที่ดีเมื่อเทียบกับสิ่งลงทุนไป ลองนึกถึงว่าคุณเป็นคนแรกในเมืองไทยที่รู้จัก Java (ก่อนที่มันจะแพร่หลายอะนะ) ก่อนที่ใครก็เริ่มถามหามันดูสิ แต่ก็นั่นแหละนะ จะรู้ได้ไงในตอนนั้นว่ามันจะดัง
  • ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ (Reviews and Rebalance) — ในอุตสาหกรรมที่เรากำลังเผชิญอยู่ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สุดยอด Technology ที่คุณกำลังลงทุนเพื่อศึกษาเมื่อเดือนที่แล้ว อาจจะกลายเป็นของที่ไม่มีใครสนใจเลยก็ได้ในตอนนี้ (ย้ำเรื่องนี้เยอะหน่อย) เพราะฉะนั้นบางทีคุณอาจจะต้องลองทบทวนดูว่า Technology ของ Database ซึ่งคุณไม่เคยมีโอกาสได้ใช้เลยนั้น มันเป็นอย่างไร มันเหมาะกับปัญหาที่คุณเจอหรือเปล่า เผื่อว่าเมื่อถึงเวลาคุณอาจจะมีโอกาสได้ใช้มันแก้ปัญหาที่คุณเจออยู่ หรือบางทีคุณอาจจะได้โอกาสใหม่ ๆ ที่ทำงานใหม่ ๆ ถ้าคุณมีความรู้ในภาษาอื่น ๆ ที่คุณไม่ได้ทำอยู่เป็นประจำ

และด้วยข้อแนะนำทั้งหมดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด และเรียบง่ายที่สุด จริง ๆ เพียง 1 เรื่อง ก็คือ

เคล็ดลับ : ลงทุนบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในการสะสมองค์ความรู้ของคุณไป

เป้าหมาย

ตอนนี้คุณก็มีแนวทางของการเรียนรู้แล้ว ว่าต้องทำอะไร และเมื่อไหร่ เพื่อจะสร้างสร้างพอร์ตการลงทุนด้านความรู้ของคุณ แต่อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดที่คุณจะลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีในสายงานนี้ ข้างล่างนี้คือสิ่งที่เราอยากจะแนำนให้พวกเราลองทำกัน

  • เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ อย่างน้อยปีละ 1 ภาษา — ภาษาโปรแกรมมิ่งที่ต่างกัน สามารถแก้ปัญหาเดียวกันได้ ด้วยแนวทางที่ต่างกันไป ด้วยการที่เรามีโกาสเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันนั้น จะช่วยให้คุณสามารถมองโลกได้กว้างขึ้น มองปัญหาเดียวกันด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่ทำให้คุณต้องหยุดอยู่กับวิธีการเพียงวิธีการเดียว ซึ่งเดี๋ยวนี้การเรียนรู้ภาษาโปรแกรมมิ่งหลาย ๆ ภาษา ไม่ได้ทำได้ยากอย่างเมื่อก่อน ต้องขอบคุณซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ที่เปิดให้เราใช้งานได้ฟรี ๆ
  • อ่านหนังสือ Technical ทุก ๆ เดือน เดือนละเล่ม — จริงอยู่ที่เดี๋ยวนี้มีพวกบทความ หรือ Blog ต่าง ๆ ให้เราอ่าน หรือมีกระทู้คำถามที่ช่วยเราแก้ปัญหาที่เจอได้เยอะแยะเต็มไปหมด แต่เพื่อให้เราเข้าถึง และเข้าใจในสิ่งที่เราใช้อยู่ได้ลึกพอ เราอาจจะต้องการหนังสือที่ลงลึกในเรื่องนั้น ๆ ลองไปเดินตามหาหนังสือ (เดินอาจจะหมายถึงไปตาม Web ก็ได้อะนะครับ) ที่เป็น Technical ตามเนื้อเรื่องที่เราสนใจ และเกี่ยวข้องกับงานโปรเจคที่เราทำอยู่มา และเมื่อคุณทำจนมันกลายเป็นนิสัย ในระดับที่อ่านได้เดือนละเล่ม จนคุณกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญใน Technology ที่คุณใช้งานมันอยู่ ค่อยเริ่มที่จะศึกษาในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโปรเจคของคุณ นั่นจะทำให้คุณได้ประโยชน์สูงสุดจากการอ่าน เพราะเนื้อหาที่กำลังอ่านจะถูกนำไปใช้ในงานที่คุณทำอยู่อย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่คุณจะไปสนใจหนงสือที่อยู่นอกเป้าหมายในงานของคุณ
  • อ่านหนังสือที่เป็น Non-Technical ด้วย — สิ่งสำคัญในการเรียนรู้คืออย่าลืมว่าคอมพิวเตอร์ถูกใช้โดยผู้คน ซึ่งเป็นผู้คนที่คุณจะต้องพยายามตอบสนองความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นมันแปลว่าคุณต้องทำงานกับคน ถูกจ้างให้มาทำงานโดยคน และบางครั้งระบบที่คุณทำก็ถูก Hack จากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งความสามารถในด้านการปฏิสัมพันธิ์กับผู้คน ซึ่งเป็นอีกด้านของทักษะเลย (เราส่วนใหญ่เรียกมันว่า Soft Skill ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นทักษะที่ทำให้เชี่ยวชาญได้ยากมาก)
  • ลงไปหาอะไรเรียนบ้าง — มองหา Course ที่คุณสนใจ ตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเสริมความรู้ แหล่งเรียน Online งานแสดงโชว์ Technology ใหม่ ๆ รวมถึง งานสัมมนาในที่ต่าง ๆ
  • มีส่วนร่วมในกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกับ เช่น งาน meetups ต่าง ๆ — อย่าทำงานคนเดียว ความโดดเดี่ยวเป็นอันตรายต่ออาชีพของคุณ ลองหาทางไปคุยกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำงานที่เดียวกับคุณซะบ้าง อาจจะเริ่มต้นด้วยการไปฟัง Meetup หรือ Conference ต่าง ๆ แต่อย่าปหยุดตัวเองๆไว้แค่นั้น จงกลายไปเป็นส่วนนึงของมัน ร่วมพูดคุย แชร์มุมมอง และประสบการณืที่เราได้เรียนรู้จากการทำงาน เพื่อเปิดรับมุมมอง และวิธีคิดอื่น ๆ ที่เราไม่เคยได้พบเจอ
  • ทดลองสิ่งที่ทำอยู่บน Environments ที่แตกต่างไป — ถ้าปกติคุณทำงานบน Windows ลองหาเวลาในการลองสิ่งเดียวกันนั้นบน Linux ดู ถ้าปกติคุณเขียน Makefile และทำงานบน Text Editor ก็หาเวลามาลองใช้ IDE เทพ ๆ เพื่อดูว่ามันทำสิ่งเดียวกันนั้นได้อย่างไร เพื่อเป็นทางเลือกในการทำงานในอนาคต
  • พยายามอยู่กับปัจจุบัน — อ่านข่าว หรือ post online ที่เกี่ยวข้องกับ Technolgy ซึ่งเป็นคนละ Technology กับงานที่ทำอยู่ เพราะมันเป็นทางนึงที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น ๆ ที่ต้องอยู่กับ Technology นั้น ๆ โดยที่เราไม่ต้องลงมือทำเอง เพื่อให้เราคุ้นเคยกับศัพท์แสงที่พวกเขาใช้กัน รวมถึงได้เห็นผลลัพท์ทั้งในเรื่องที่ดี และไม่ดี เกี่ยวกับ Technology นั้น ๆ

มันสำคัญมาที่จะทำให้เกิดการลงทุนในความรู้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเราเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับภาษาใดภาษานึง หรือ Technology ใด Technology นึงแล้ว ก็อาจจะได้เวลาไปลองอันอื่น ๆ

มันไม่สำคัญนะครับว่าเราเคยได้ใช้ Technology นั้นกับโปรเจคใด โปรเจคนึงในมาก่อน หรือหรือมันไม่ได้สำคัญว่าคุณจะใส่มันไว้ใน Resume ของคุณไหม กระบวนการในการเรียนรู้จะขยายขอบเขตวิธีคิดของคุณออกไป มันจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคุณ รวมถึงมัจะสร้างทางเลือกใหม่ในการทำงานให้กับคุณด้วย การผสมผสานไอเดียต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ต่างหากหล่ะที่สำคัญ คุณอาจจะลองเอาสิ่งที่คุณเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับโปรเจคที่คุณทำอยู่ก็ได้ ถึงแม้ว่าโปรเจคที่คุณทำอยู่อาจจะไม่ได้ใช้ภาษานั้น หรือ Technology นั้น แต่เราก็สามารถยืมไอเดียบางอย่างมาใช้ได้อยู่ดี เช่น การเข้าใจ Functional Programming จะทำให้คุณเขียนโปรแกรมแบบ OOP ต่างไปจากเดิม

โอกาสสำหรับการเรียนรู้

เมื่อเรากลายเป็นนักอ่านที่ไม่ยอมหยุดกับที่ กลายเป็นคนที่ล้ำหน้ากว่าทุกคน สามารถที่จะพูดคุยในทุกเรื่อง เป็นหนึ่งไม่เป็นรองใคร (ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ) แต่เมื่อมีใครบางคนถามคำถามที่คุณไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เมื่อถึงตอนนั้น อย่าหยุดตัวเองไว้แค่นั้น ให้ถือว่าการหาคำตอบนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของคุณ หาข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้น

หากไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ก็หาว่าใครที่จะสามารถตอบคำถามนั้นได้ การพูดคุยกับคนอื่น ๆ จะช่วยสร้างเครื่อข่ายให้กับคุณเอง และคุณอาจจะได้ทางแก้ของปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังหาคำตอบอยู่ระหว่างทางของการแก้ปัญหานั้น ๆ นั่นส่งผมให้งานเก่า ๆ ที่ทำอยู่เติบโตไปด้วยเช่นกัน

การอ่านและการค้นคว้าข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และเวลาก็เป็นสิ่งที่เรามักจะขาดแคลน เพราะฉะนั้นคุณต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การอ่านของเราเป็นไปได้ หาทางที่เราจะมีอะไรติดมือให้อ่านอยู่เสมอ เวลาที่ต้องนั่งรอคิว เวลาที่ต้องเดินทาง เป็นโอกาสที่ดีที่จะอ่าน แต่ให้แน่ใจว่ากำลังอ่านในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ

ให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ — CRITICAL THINKING

สิ่งสำคัญสุดท้ายคือ การคิดอย่างอย่างมีเหตุมีผล ในทุก ๆ สิ่งที่คุณได้อ่าน หรือได้ฟังมา คุณต้องมั่นใจว่าความรู้ที่คุณได้รับ และกำลังจะเก็บไว้ในพอร์ตของคุณนั้นถูกต้อง และไม่ได้โน้มเอียงไปเพราะเหล่าคนที่จะขาย Technology นั้น ๆ จะระมัดระวังในคนที่พยายามและกระตือรือร้นที่จะยืนยันว่าความเชื่อของพวกเขาเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง หรือ เป็นเพียงคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ซึ่งบางทีมันอาจจะใช้กับงานของคุณไม่ได้ก็ได้นะ

อย่าประมาทในพลังของการโฆษณา การที่เราค้นหาเจอใน Google เป็นอันแรก ไม่ได้แปลว่ามันตรงกับสิ่งที่เราค้นหามากที่สุด คนที่สร้างเนื้อหาเหล่านั้นมาสามารถที่จะจ่ายเพื่อให้ไปอยู่บนนั้นได้ การที่ร้านหนังสือเอามาตั้งโชว์ก็ไม่ได้แปลว่ามันเป็นหนังสือที่ดี หรือมีคนสนใจเยอะ เราสามารถจ่ายเพื่อให้หนังสือของเราไปวางตรงนั้นได้

เคล็ดลับ : จงวิเคราะห์สิ่งที่คุณอ่าน และได้ยินอย่างมีวิจารณญาณ — Critically Analyze What You Read and Hear

การคิดอย่างมีเหตุมีผล และวิเคราะห์ทุกสิ่งอย่างมีวิจารณญาณ เป็นสิ่งที่ต้องทำจนเป็นวินัย ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกเพื่อให้มีวินัยในเรื่องนี้ เราขอเสนอคำถามสัก 2–3 ข้อที่เราควรถามเมื่อเราอ่าน หรือฟังอะไรมา

  • ถาม ทำไม 5 ครั้ง — เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มากโดยเหล่า Consulting มันคือการถามคำถาม ทำไม เป็นจำนวน 5 ครั้ง โดยถามคำถามแรก เมื่อได้คำถามตอบแล้ว จึงถามคำถาม ทำไม ลึกลงไปจากคำตอบแรก เหมือนกับตอนที่เด็กเล็กถามคำถาม ทำไม กับเรา แล้วก็เอาคำถามของเรามาถาม ทำไม ต่อไปเรื่อย ๆ (จนบางครั้งเราต้องให้ฉายาว่า “เจ้าหนูจำไม” — มีใครเกิดทันไหมนะ) ซึ่งสุดท้าย เราอาจจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับต้นเหตุของปัญหาที่เราเจอ หรือเราอาจจะได้คำตอบของเหตุผลในเรื่องที่เราอ่านอยู่ หรือได้ฟังมา
เพื่อให้เข้าใจลองดู VDO อันนี้ครับ ผมชอบมาก ๆ
  • ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ — อาจจะฟังดูไม่ดีเท่าไหร่กับคำถามแบบนี้ แต่การตามกลิ่นของเงินไปอาจจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น บางครั้งผลประโยชน์ส่วนใหญ่จริง ๆ ของเรื่องนั้น ๆ ก็อาจจะไปตกอยู่กับองค์กรอื่น ๆ ไม่ใช่คุณก็เป็นได้
  • มันใช้ได้กับบริบท หรือสิ่งแวดล้อมแบบไหน — สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเกิดขึ้นบนไม่บริบทใด ก็บริบทนึง ไม่หรอกที่มันจะเป็นแบบกระสุนเงินที่ฆ่าปีศาจได้ทุกประเภท เพราะฉะนั้นจงระวังบทความ หรือหนังสือหลาย ๆ เล่มที่บอกว่านี่เป็น Best Practices นะ ให้ลองถามกลับไปว่ามันดีที่สุดสำหรับใครเหรอ คน ๆ นั้น ต้องมีอะไรมาก่อนไหม แล้วผลที่ได้จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • เมื่อไหร่ หรือที่ไหนของสิ่งนี้ถึงจะทำได้ตามที่บอก — ภายใต้สถานการณ์บางอย่างหรือเปล่า หรือมันเร็วไปไหม หรือช้าไปแล้ว สำหรับเวลานี้ และเราอย่าพึ่งจบแค่เมื่อไหร่ ขั้นต่อมาคือแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นหล่ะ
  • ทำไมต้องเป็นปัญหานี้ — มีต้นแบบไหม มีคนเคยทำมาก่อนหรือเปล่า แล้วของพวกนี้ทำงานยังไงเหรอ มันแก้ปัญหาอะไร ทำไมถึงต้องแก้

ความท้าทายที่เริ่มต้นได้เลย

  • เริ่มเรียนภาษาโปรแกรมใหม่ ๆ ในสัปดาห์นี้เลยสิ จะเขียนแค่ภาษาที่เคย ๆ แบบนั้นไปตลอดเลยเหรอ (ผู้แปล ของผมกำลังลอง Golang อยู่ฮะ)
  • เริ่มอ่านหนังสือใหม่ ๆ สักเล่ม (แต่จะให้ดีก็จบเล่มเก่าก่อนนะ — ผู้แปลยังทำไม่ได้เลย มีหนังสือคงค้างอีกเพียบ) ถ้างานของคุณคือเขียนโปรแกรม ลองอ่านหนังสือพวกการออกแบบ หรือพวกสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ดู ถ้างานของคุณเป็นการออกแบบภาพรวม ก็ลองอ่านพวกเทคนิคในการเขียนโปรแกรมดู
  • ออกไปคุยกับผู้คนที่ไม่ได้ทำโปรเจคเดียวกับคุณบ้าง จะเป็นคนที่อยู่นอกบริษัทเลยก็ได้

สรุป

สุดท้ายขอฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ สำหรับใครที่มองว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะแพงเกินไป ผมแนะนำว่าใน oreilly.com เองก็มีหนังสือเล่มนี้ให้อ่านอยู่ วิธีที่ผมคิดว่าประหยัดที่สุดในการที่เราจะสามารถอ่านหนังสือเป็นพัน ๆ เล่ม VDO ร้อย ๆ อันจาก oreilly.com ได้คือการเป็นสมาชิกรายปีของ acm.org ซึ่งในฐานะของประเทศไทย เราจะสามารถเป็นสมาชิกได้โดยการเสียค่าสมาชิกรายปีอยู่ที่ 40$ เท่านั้นเอง ถ้าสนใจสามารถไปตาม Link ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

สุดท้ายขอฝากหนังสือเล่มนี้อีกครั้งนะครับ (หรือว่าผมจะได้ประโยชน์จากหนังสือนะ เห็นเชียร์จัง 555+)

--

--